10 มิ.ย. 2023 เวลา 08:16 • การเมือง

|วิเคราะห์| นโยบาย: ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง

ชี้แจง: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ "เนื้อหา" และให้เข้าใจถึง "ความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น" ณ ปัจจุบันโดยอิงตามตัวเนื้อหาจากข้อความเท่านั้น ดังนั้นแล้วผู้อ่านสามารถผนวกบทวิเคราะห์ให้เข้ากับสถานการณ์จริงเพื่อสร้างภาพมุมกว้างในรูปแบบของตัวเอง...ทั้งนี้ทั้งนั้นหากทางผู้จัดทำเขียนผิดพลาดประการใด หรืออยากเสนอแนะจุดไหนก็สามารถทำได้ ทางเราจะรีบปรับปรุงแก้ไขทันทีเมื่อทราบ
ผู้เขียน: หากผู้อ่านต้องการเข้าใจในส่วนของการวิเคราะห์นโยบาย ท่านสามารถเลื่อนลงไปจนกว่าจะเจอ "รูปภาพ" ได้เลยครับเพราะผมเน้นการวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เราอาจละเลยเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักรู้และความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาวและอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ครับ
[ พรรคก้าวไกลอธิบายปัญหา]
“ปัจจุบันนโยบายสาธารณสุขของไทย เน้นเรื่องด้านการรักษามากกว่าด้านการป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้คนรักษาสุขภาพโฆษณาของ สสส. ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีแรงจูงใจที่มากพอให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านการบริโภค (เช่น กินอาหารรสจัด ดื่มสุรา สูบบุหรี่) ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย”
>>> ข้อพินิจวิเคราะห์มีอยู่ 3 ส่วน (1/3)
“นโยบายสาธารณสุขของไทย เน้นเรื่องด้านการรักษามากกว่าด้านการป้องกัน”
> ข้อความนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่
ตามเว็บไซต์ของกรมสาธารณสุข ได้เขียนถึงนโยบายกรมสารธารณสุขของปี 64 65 ไว้ทั้งหมด 9 ข้อได้แก่
1. ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง
2. เศรษฐกิจสุขภาพ
3. สมุนไพร กัญชา กัญชง
4. สุขภาพดีวิถีใหม่
5. Covid-19
6. ระบบบริการก้าวหน้า
7. ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
8. ธรรมาภิบาล
9. องค์กรแห่งความสุข
จากทั้งเก้าข้อที่กล่าวมา โดยรวมแล้วมีจุดเด่นไปที่การปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ส่งเสริมมาตรการป้องกัน บูรณาการเทคโนโลยี รับรองการเข้าถึงบริการสุขภาพ เสริมความแข็งแกร่งในการรักษาระดับปฐมภูมิโดยยังมีธรรมาภิบาลเป็นตัวขับเคลี่ยน
ดังนั้นแล้วข้อมูลนี้ถูกต้องทุกประการ แม้จะมีมาตรการป้องกันแต่ก็ไม่ได้มากกว่าการรักษาที่เขียนไว้ในนโยบาย
> มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
ข้อดี
1. สามารถรักษาผู้คนได้เร็ว บรรเทาอาการได้ไว ฟื้นตัวได้ง่าย
2. เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังมีการสนับสนุนด้านทรัพยากรทางการแพทย์ อุปการณ์ และบุคลากรพร้อมกับการบริการสุขภาพสำหรับผู้เร่งด่วนที่ต้องรักษาทุกที
3. พัฒนาความสามารถเฉพาะทาง การให้ความสำคัญของนโยบายทำให้ส่งเสริมในแง่ดีกับผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนหรือร้ายแรงเนื่องจากได้รับการสนับสนุน
ข้อเสีย
1. ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสูงขึ้นเพราะคนป่วยมากขึ้นเนื่องจากไม่ได้ดูแลตัวเองก่อนหน้านี้จนทำให้คนภายในโรงพยาบาลมากขึ้นเป็นพิเศษส่งผลให้ของขาดตลาด ราคาขยับตัวมากขึ้นตามค่าใช้จ่ายและผู้ผลิตบางรายที่หวังทำกำไรจากความแออัดนี้
2. ภาระในการดูสุขภาพ เมื่อจำนวนคนมากเกินไปก็ทำให้แต่ละคนนั้นต้องไปรักษาที่อื่นนอกเหนือจากโรงพยาบาลส่งผลให้แต่ละคนนั้นได้รับการรักษาที่ไม่มีคุณภาพมากพอแม้เข้าถึงด้านการบริการได้ง่ายแต่ก็ไม่ง่ายที่จะได้คุณภาพการรักษาที่ดี
3. ข้อจำกัดในการป้องกัน เมื่อนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากเกินไปก็ทำให้การป้องกันคนไม่ให้กลายเป็นโรคต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทน้อยลง
4. สภาวะโรคชุกชุม เมื่อคนมากไป การดูแลในสถานพยาบาลก็จะน้อยลงเนื่องจากคนมีอยู่อย่างจำกัด บวกกับประชากรที่มากทำให้อาจมีหลายคนอาการแย่ลงจนนำมาสู่การสุ่มเสี่ยงที่จะมีโรคเรื้อรังมากขึ้นในหมู่ผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยที่โชคร้ายจ่ายค่ารักษามากขึ้นแล้ว ผลการรักษาก็น้อยลงเพราะไม่ได้เป็นกันแค่คนเดียว
> ข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ
1. การเน้นรักษานั้นใช้งบประมาณมากไป เราควรพิจารณานโยบายป้องกันที่ดีกว่าเพราะสามารถประหยัดต้นทุนในระยะยาวทั้งยังลดภาระต่าง ๆ ได้มากมายที่สร้างความตึงเครียดได้อีกด้วย
2. การเข้าถึงและผลลัพธ์ด้านสุขภาพ แม้จะสามารถใช้บริการสุขภาพได้ง่ายแต่ก็ไม่อาจยอมรับได้ว่าแต่ละที่นั้นมีคุณภาพตรงตามมาตราฐานได้ทั้งหมด และนี่คือความไม่เท่าเทียมกันของการรักษา
3. ความยั่งยืน การเน้นแก้ปัญหาปลายเหตุไม่ใช่การจัดเรียงลำดับความสำคัญที่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งยังมีข้อปัญหาเยอะเกินในกรณีที่มุ่งเน้นอีกด้วย
> ควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่
เราต้องรู้ก่อนว่า นโยบายนี้เกิดขึ้นได้ไงเสียก่อน
ต้องเข้าใจก่อนว่าในปลายปี 62 ต้นปี 63 หรือคริสต์ศักราช 2019 และ 2020 นั้นมีการระบาดของโควิด 19 ในต่างประเทศมากมายก่อนจะรุกล้ำเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทางกรมสาธารณสุขต้องใช้นโยบายเร่งรัดของผู้บริหารกระทรวงในปราบปรามทำให้ในปี 63 มีผู้ติดเชื้อสะสม 6,884 ราย รักษาแล้ว 4,240 ราย และเสียชีวิตเพียง 61 คนตามรายงานของกรมควบคุมโรคในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (ซึ่งข้อมูลของคนที่ทำนโยบายนี้ไม่แน่ชัดและหาไม่ได้ว่าบุคคลใดจึงขอกราบอภัยใน ณ ที่นี้)
เมื่อสิ้นสุดปี 63 และเข้าสู่ปี 64 และสถานการณ์ที่ไม่ได้ร้ายแรงทำให้เรามุ่งเน้นไปที่การรักษา วิจัย และสนับสนุนสิ่งใหม่เพื่อบริการทางด้านสุขภาพมากขึ้นให้กำจัดโควิดออกไปก่อนที่จะแพร่ระบาด ทำให้มีนโยบายใหม่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกูลกับผู้ช่วย ปลัดกระทรวง และนายแพทย์จากสุราษฎร์ธานีเริ่มลงมือใช้นโยบายปี 64 หรือก็คือนโยบายที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2,178,575 ราย รักษาแล้ว 2,121,331 ราย โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ไม่นับรวมกับปี 63 แสดงแค่ปี 64 ที่เกิดจากนโยบายนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 21,464 คน เป็นข้อมูลจากวันที่ 1 เม.ย - 25 ธ.ค 64 โดย ศบค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
จากข้อความที่กล่าวมา เมื่ออิงกับผู่ป่วยในของทั่วราชอาณาจักรจากสำนักงานสถิติแห่งขาติจะพบว่าในปี 63 มีทั้งหมด 41,882,348 ขณะที่ปี 64 มีประชากรผู้ป่วยถึง 43,804,774 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 1,922,426 ราย พร้อมยอดผู้เสียชีวิตในปีนั้นภายในโรงพยาบาลมีทั้งหมด 550,042 เพิ่มจากปีที่แล้ว 60,325 ราย (+10.96%)
แต่ถึงแบบนั้นข้อมูลอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือจำนวนผู้ป่วยภายนอก ต้องขอเกริ่นก่อนว่าจำนวนตัวเลขต่อไปนี้รวบรวมสาเหตุการป่วย 21 โรค และแต่ละคนนั้นสามารถเป็นได้หลายโรคในคน ๆ เดียวกันฉะนั้นตัวเลขจึงจะสูงมาก
ในปี 63 มีคนป่วยจากทั้ง 21 โรคจำนวนกว่า 209,613,842 (ตัวเลขนี้เป็นความถี่ของคนที่ป่วยซ้อนทับกัน ยกตัวอย่างเช่น รินป่วยเป็นโรคระบบไหลเวียนเลือดนับหนึ่ง โรคระบบหายใจนับหนึ่ง และเนื้องอก (รวมมะเร็ง) นับหนึ่ง รวมกันเป็นสามจากคนคนเดียว เป็นต้น)
ซึ่งในปีต่อมา 64 มีการลดลงของผู้ป่วยนอกถึง 34,243,522 จากเดิมปกติลดได้ 32 ล้าน หรือเพิ่มเป็น 38 ล้าน
จากข้อสรุปดังกล่าวเราจะเห็นว่ามีผู้ตายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญขณะที่จำนวนผู้ป่วยภายในตามมาติด ๆ แต่แลกกับการที่คนจำนวนมากรักษาหายขาดในโรคต่าง ๆ เพิ่มอีกเพียงสองล้านคนและไม่กลายเป็นผู้ป่วยใน ในอนาคต
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้ค่อนข้างร้ายแรงเพราะผู้ป่วยในมากขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่มีนโยบายมุ่งเน้นการรักษา ผิดกับปี 63 ที่ไม่ได้ลงลึกแบบนี้แต่ก็ทำได้ดีกว่าในเชิงศักยภาพ
ทำให้เรารู้ว่านโยบายนี้ควรที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น และเปลี่ยนมันไป
เราต้องมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและกระจายไปยังการรักษาแต่ไม่ควรมากเกินไปนั่นคือโจทย์ของพรรคก้าวไกลที่จะหาความสมดุลที่มุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าแต่ก็ไม่ลืมการรักษาร่วมกันด้วย แม้ทางนโบาย 64 - 65 จะให้ความสำคัญเหมือนที่กล่าวไปแต่ตอนนั้นก็ไม่ถูกจุดที่มุ่งหวังเมื่อเทียบกับปี 63 เป็นต้น
>>> ข้อพินิจวิเคราะห์มีอยู่ 3 ส่วน (2/3)
“ไม่มีแรงจูงใจที่มากพอให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านการบริโภค (เช่น กินอาหารรสจัด ดื่มสุรา สูบบุหรี่) ”
> ข้อความนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่
ต้องเข้าใจก่อนว่า แรงจูงใจนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ เช่น
ความต้องการ และแรงปราถนา เช่น อยากได้รับการยอมรับจากสังคม อยากถูกนับถือ การชื่นชม ความรู้สึกสำเร็จเมื่อถูกสนใจ ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก ความเชื่อ ความหวัง แรงศรัทธา ความสนใจ เป้าหมาย รางวัล และผลกระทบที่เราอยากให้ตามมาเป็นต้น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจที่ทำให้ใครสักคนจะลงมือทำอะไรสักอย่างได้ และเมื่อเราลองมองสถานการณ์ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และสังคมปัจจุบัน เราจะพบว่าหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง และให้ความสำคัญ มันก็จะล้มเหลวไม่เป็นท่า
จากคำกล่าวที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราจะพบว่าข้อมูลที่เกริ่นออกมามีความถูกต้อง และน่าเชื่อถือ เพราะนอกจากการใช้ชีวิตของคนเราแล้ว ยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องอื่นอย่างนโยบายปี 65 ที่ไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ในเชิงศักยภาพนโยบายมากนัก และมีการละเลยวัตถุประสงค์ที่ดีไปจนทำให้หลายคนไม่มีความสามารถ หรือแรงผลักดันที่จะไปต่อ
> ผลกระทบ
1. ปัญหาด้านสุขภาพ
การดิ่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ และบริโภคอาหารที่ไม่ดีทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมถึงการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันนำไปสู่ปัญหาหัวใจ หลอดเลือด มะเร็งบางชนิด และโรคทางเดินหายใจ
2. การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมและจิตใจ
เมื่อสุขภาพไม่ดี ร่างกายก็จะทรุดโทรมทำให้เป็นโรคภัยได้ง่ายขึ้นจนทำอะไรไม่ค่อยได้ นำไปสู่การเห็นค่าในตัวเองน้อยลงจนคิดในใจเสมอว่า อยู่ไปเพื่ออะไร และยิ่งคิดแบบนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะจมดิ่งเพื่อลบล้างเรื่องแย่ ๆ โดยการหันไปพึ่งแอลกอฮอล์จนเกิดลูปที่ยากจะหลุดพ้น
3. ความสามารถในการต้านทานโรค
แอลกอฮอล์ เมื่อคุณดื่มมากไปจะเป็นอันตรายกับระบบภูมิคุ้มกัน (เปรียบเสมือนแทงค์หรือทีมป้องกันร่างกายจากศัตรูที่เรียกว่าไวรัสไม่ให้เข้ามาในร่างกาย อันเต็มไปด้วย เชื้อโรค และการติดเชื้อเป็นต้น)
แค่นั้นยังไม่พอ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลงจนอาจไม่สามารถปกป้องคุณได้ นำไปสู่ปัญหาในลำไส้ซึ่งเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย (แบคทีเรียนี้ไม่ต่างจากฝ่ายอธรรมและธรรมะ บางตนดี บางตนเลว) แบคทีเรียที่ดีนั้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงแต่เมื่อมันโดนแอลกอฮอล์ก็จะถูกทำลายได้จนร่างกายเรามีการป้องกันอ่อนแอลง
การสูบบุหรี่ สิ่งนี้ไม่ดีต่อปอดและทำลายระบบทางเดินหายใจ ปกติอากาศที่เข้ามาเราจะกรองได้สบายแต่พอสูบบุหรี่ไปมาก ๆ ปอดก็จะอ่อนแอ กำจัดเชื้อโรคได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย พาให้ปอดอักเสบ ระคายเคือง ทำงานได้ไม่ปกติ เป็นต้น
4. ค่าใช้จ่าย
4.1. ด้านสุขภาพ ความผิดปกติของร่างกายพาทำให้เกิดความเสี่ยงหลายรูปแบบที่นำมาให้ใช้จ่ายเกินตัวอย่างค่ารักษาพยาบาลจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
4.2. ต้นทุนทางการเงิน การจับจ่ายใช้สอยแบบนี้มีโอกาสนำไปสู่นิสัยราคาแพงที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งใช้จ่ายกับมันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลงเริ่มตัวตนของตนเองในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง พอมาตระหนกได้ภายหลังถึงผลกระทบก็เกิดความตึงเครียดในใจ
4.3. ความเสี่ยง การขาดงาน สมาธิ การทำงานลดลง เกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น มีความขัดแย้งในองค์กร จ่ายค่าปรับ รถชน ส่งผลเสียต่อสายสัมพันธ์ พลาดโอกาสต่าง ๆ และมีโอกาสในการบาดเจ็บนำไปสู่การขาดรายได้
5. สิ่งแวดล้อม
5.1. มลพิษ การผลิตและกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อแหล่งน้ำและดิน รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และสารเคมีต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทิ้งขวด กระป๋อง และวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมและเกิดปัญหาสะสมของเสียได้
5.2. การทำไร่ยาสูบ โดยปกติแล้วการปลูกยาสูบเพื่อผลิตบุหรี่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งขนาดไร่ใหญ่ก็ยิ่งต้องใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง และเริ่มตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายขอบเขตการผลิต นำไปสู่การเสื่อมโทรมของดิน มลพิษทางน้ำ และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพราะอาจทำให้สัตว์บางชนิดอ่อนแอ บางตัวหนีไป เกิดความขัดแย้งในระบบนิเวศแบบใหม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้สารเคมีวงกว้างในไร่ยาสูบยังส่งผลเสียต่อคนงานภายในและชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย
5.3. มลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่จะปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายออกไปส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ของคนนั้นในกรณีที่อยู่ในสังคมระยะใกล้
> ข้อถกเถียงที่น่าสนใจ
1. ประเด็น (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
ผู้สนับสนุน
"การดื่มเหล้ามีไว้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทางสังคม ส่งเสริมมิตรไมตรี รู้จักคนอื่นมากขึ้น ผ่อนคลายในเวลาต่าง ๆ ทำให้สะดวกสบายที่จะเปิดกว้างกับใครสักคนที่ไม่รู้จัก รวมไปถึงลืมเรื่องเศร้า ๆ มากมาย"
ผู้รณรงค์
"ถ้าดื่มจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ การเสพติด ตับเสียหาย จิตใจไม่มั่นคง ทำลายความเป็นอยู่โดยรวม ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ อย่างการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุบนท้องถนน"
2. การอ้างอิง
ผู้สนับสนุน
"ตามปกติในประเพณี วัฒนธรรม และสังคมในองค์กรมักเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งนั้น เช่น การดื่มฉลองในงานมงคลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งหลังเลิกงาน สิ่งเหล่านี้ก็มักเป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมให้เราอยู่ด้วยกันและเสริมสร้างความสนิทสนม"
ผู้รณรงค์
"จากการวิจัยหลายฉบับ และการศึกษามากมาย บ่งชี้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีข้อเสียมากมายในเชิงสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจซึ่งทางออกที่ดีที่สุดก็คือการละเว้นของมึนเมาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในอนาคตและส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีขึ้น"
3. ประสบการณ์ส่วนตัว
ผู้สนับสนุน
"โดยปกติแล้วเราก็แค่ดื่มรังสรรค์เพื่อความสนุกสนาน บันเทิง และเพลิดเพลินกับเพื่อน ๆ ของตัวเอง หรือคนในครอบครัวเพื่อให้มีบรรยากาศสบาย ๆ อบอุ่น และเข้าใจง่าย เปิดกว้างสำหรับเรื่องราวต่างต่างเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของเราที่บางทีก็ไม่เคยเปิดอกพูดคุยกันหรือไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น เราจะได้เคลียร์ใจด้วยเหล้า แก้ปัญหาด้วยแอลกอฮอล์"
ผู้รณรงค์
"จากที่ผ่านในชีวิตนี้ เราพบเห็นเพื่อนสนิท คนรู้จัก หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า ทะเลาะกันด้วยเรื่องง่าย ๆ ไม่กี่อย่างเพียงเพราะดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้ตอนนั้นเพื่อน หรือคนรู้จัก ยับยั้งใจตัวเองไม่ได้ ประคองสติไม่ค่อยดี และมักตัดสินใจผิดพลาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบางอย่างจนต้องสูญเสียเขาคนนั้นไป นั่นทำให้เรารู้ว่าเพราะความใจอ่อนของเราในวันนั้นทำให้ใครบางคนเสียใจในวันนี้ ฉะนั้นประสบการณ์ที่เรียนรู้มา เราจะไม่ให้ดื่มเหล้าอีกต่อไป"
4. ข้อตกลงร่วม (โน้มน้าวและผ่อนปรนให้อีกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน)
ผู้สนับสนุน
"เราก็ดื่มอย่างคนมีความรับผิดชอบ ไม่ให้ตัวเองป็นภาระต่อสังคมและเพื่อนฝูงโดยการดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ โดยมีการคำนึงถึงขีดจำกัดของตัวเองเสมอ เพราะนอกจากจะทำให้เราได้รับประโยชน์จากมันเช่น ไวน์แดง แล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในอนาคตด้วย"
(แน่นอนว่าข้อมูลส่วนนี้สามารถหาเพิ่มเติมได้ที่ WHO หรือ CDC เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเข้าใจภาพมุมกว้างมากขึ้นเพราะแต่ละเครื่องดื่มก็มีขีดจำกัดแตกต่างกันไปและโดยรวมแล้วทั้ง WHO และบทวิจัยหลากหลายฉบับยังมุ่งเน้นไม่ให้ดื่ม เว้นแต่อยากเลือกบริโภคครั้งนึงเท่านั้น)
ผู้รณรงค์
"งั้นบางช่วงแทนที่ไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ หรือมีความสุ่มเสี่ยงบางอย่าง งั้นเราลองมาหากิจกรรมทางเลือกอื่นที่มีประโยชน์ใกล้เคียงกันแต่ไม่เป็นอันตรายดีไหม ยกตัวอย่างเช่น มีส่วนรวมในงานอดิเรก เล่นเกม ออกกำลังกายกัน หรือทำในสิ่งที่ชื่นชอบเหมือนกันในเวลาเดียวกันกับคนที่เราให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีความสุขแล้ว ยังช่วยทำให้สายสัมพันธ์กลับมาดีขึ้น และสนิทสนมมากกว่าเดิม"
ประเด็น (การสูบบุหรี่)
ในส่วนของบุหรี่นั้นแม้การสูบบางครั้งบางคราวอาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่ก็ยังมีผลเสียที่แสดงอยู่และมีประโยชน์เชิงอารมณ์ที่ใช้กิจกรรมอย่างอื่นทดแทนได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะไม่หยิบยกให้มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจเพราะไม่อาจให้เหตุผลที่ฟังขึ้นในการสูบบุหรี่ได้ ต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดที่ให้คุณประโยชน์อย่างไวน์แดงแต่ถึงแบบนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับมาก็ไม่ใช่ความคิดที่ดีสักเท่าไหร่ กลับกัน ในกรณีของการสูบบุหรี่นั้นมีแต่โทษจึงสามารถละเว้นข้อถกเถียงที่น่าสนใจได้
>>> ข้อพินิจวิเคราะห์มีอยู่ 3 ส่วน (3/3)
“กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย”
> ข้อความนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่
อิงตามความน่าจะเป็น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง อาทิ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไต และอื่น ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าข้อความนี้จะถูกต้องเพราะประชากรในประเทศไม่ได้มีมาตรการที่ดีในการป้องกันในแต่ละวัน หรือการดำเนินชีวิต
อิงตามข้อมูล
นโยบาย “ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง” ถูกเผยแพร่ใน Google เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2566 เมื่อพิจารณาตามเวลา ข้อมูลอ้างอิงในเว็บไซต์ และหลักฐานหลายอย่างก็ไม่อาจแน่ชัดได้ถึงสถิติจากการเก็บรวบรวมของภาครัฐในปี 65 หรือความถี่สะสมปี 66
และในการรวบรวมของ WHO ว่าด้วยฐานข้อมูลผู้เสียชีวิต และ GHE (ข้อมูลล่าสุดที่เกี่ยวกับสาเหตุการตายและความทุพพลภาพ) ก็ไม่ได้ถูกลงบันทึกตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไปและความไม่สอดคล้องของข้อมูลที่ต้องการใน Data.go จากกรมสาธารสุขและอื่น ๆ ทำให้ข้อความดังกล่าวนี้ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่มากพอจึงไม่สามารถรับประกันความเชื่อถือได้
[พรรคก้าวไกลอธิบายปัญหา]
นอกจากนี้ภาครัฐยังขาดการส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย (เช่น การออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปี และการรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด) ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยระยะยาว ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
> ข้อความนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่
ข้อความนี้กล่าวถูกต้องตามลักษณะนิสัยของคนในประเทศและนโยบายก่อนหน้าที่เน้นการรักษาแทนการส่งเสริมการป้องกัน
นอกจากนั้น สิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บางประการที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของคนไทย อาทิ แว่นตาสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การคัดกรองมะเร็ง วัคซีนป้องกันโรคบางโรคสำหรับเด็กกับผู้ใหญ่ และการตรวจสุขภาพจิต ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีความคุ้มค่าในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา หรือหากพบโรค (ในกรณีโรคมะเร็ง) ในระยะเวลาที่รวดเร็วย่อมทำการรักษาได้ง่ายกว่าและประหยัดค่าใช้ในการรักษาได้มาก
> ข้อความนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่
เริ่มแรกต้องเข้าใจก่อนว่า สปสช. คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการสร้าง “กองทุนหลักประกันสุขภาพ” หรือที่เราเรียกกันสมัยก่อนว่า “กองทุนสุขภาพตำบล”
แต่ในปัจจุบันเราเรียกสั้น ๆ ว่า กทป. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ สร้างหลักประกันสุขภาพแก่คนในชุมชน ป้องกันโรค และฟื้นฟูในรูปแบบต่าง ๆ จากงบประมาณมีอยู่เพื่อลงมือรักษาเชิงรุกในขอบเขตของระดับพื้นที่และท้องถิ่นจึงไม่สามารถเติมคำหลังได้ว่า “แห่งชาติ” เพราะจะสร้างความเข้าใจผิด
ข้อสงสัยที่ 1
พิจารณาว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หมายถึง กทป.
1. ซื้อแว่นสายตาสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
ถือว่าเป็นการแก้ไขสายตาสามารถช่วยให้สุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ดีขึ้นในราคาย่อมเยา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ กทป. และประชากรสามารถยื่นเรื่องขอได้ฉะนั้นแล้วคำกล่าวที่ว่าไม่ครอบคลุมสิทธินั้นถือเป็นโมฆะ
2. การตรวจคัดกรองมะเร็ง
ในการตรวจคัดกรองนั้นต้องมีกำหนดบุคคลที่มีสิทธิ์ซึ่งรวมถึงการตรวจแมมโมแกรม แพปสเมียร์ และส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หากอิงตามนี้แล้ว ผนวกกับกองทุนตามท้องถิ่นจะพบว่าแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะโรคของกลุ่มชุมชน ดังนั้นแล้วจึงไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าครอบคลุมและไม่ครอบคลุมในเวลาเดียวกัน
3. วัคซีนป้องกันโรคบางโรคสำหรับเด็กกับผู้ใหญ่
ส่วนนี้ในวัตถุประสงค์ของ กทป. ก็สอดคล้องกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย และรับประกันว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าถึงวัคซีนได้เพื่อสุขภาพตัวเองและไม่มีภาระการเงิน
4. การตรวจสุขภาพจิต
กองทุนประกันสุขภาพในพื้นที่ย่อมมีมาตรการส่งเสริมสุขภาพอันเป็นหัวข้อใหญ่ที่แยกย่อยเป็นร่างกาย อารมณ์ ความคิด เป็นต้นเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาอันตรายของบุคคลในภายหลังภายในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้งฟรีและใช้งบประมาณ
ข้อสรุปข้อสงสัยที่ 1
จากที่กล่าวมาเราจะพบว่า ความสอดคล้องของข้อความที่เป็นปัญหาอันกล่าวในพรรคนั้นไม่เป็นความจริง
ข้อสงสัยที่ 2
พิจารณาว่า “สิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หมายถึง สปสช. โดยอิงจาก NHSF อันมาจากชื่อย่อแฝงในภาษาอังกฤษที่ตัวแปลสะกดตรงตัวเมื่อผันเป็นภาษาไทยซึ่งใจความสำคัญของประโยคนี้ ความหมาย และปัญหาที่พรรคก้าวไกลเขียนมาไม่สอดคล้องกันจึงระบุว่าไม่ถูกต้อง
ฉะนั้นจึงสร้างขอบเขตคำกำจัดความที่ลดหลั่นลงมานั่นคือ NHI ที่มาจากคำว่า “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) “ ที่มีความสอดคล้องกับความเข้าใจผิดของประชากรและคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ไม่ละเอียดอ่อน
จากการเขียนต่อไปนี้ อิงตามข้อมูลจากวันเผยแพร่เว็บไซต์ของนโยบายดังกล่าว ณ วันที่ 2 เม.ย 2566 กับสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพในช่วงเวลาที่ลดลงมาจาก สปสช. ให้สอดคล้องกับข้อมูล
1. ซื้อแว่นสายตาสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
ตามคณะกรรมการหลักประกันแห่งชาติกำหนดไว้ 13 ประการ ประการแรกอันว่าด้วย “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” เมื่อคำนึงคำจำกัดความที่บัญชีหมายเลขหนึ่ง ข้อหนึ่งในการแนบท้ายประกาศพบว่าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เป็นวัตถุประสงค์ดังกล่าว…จึงกล่าวได้ว่าประการแรกนั้นไม่ครอบคลุมอย่างที่กล่าวไว้ และประการอื่น ๆ
ละเว้นในส่วนประการ 13 “บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมหลักประกันสุขภาพกำหนดเพิ่มเติม”
1. 1. จากข้อความส่วนนี้ ได้อิงสัมผัสกลุ่มเป้าหมายที่สองตามตารางที่หนึ่ง อันว่าด้วย กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปีในลำดับที่ 18 “บริการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ” กิจกรรมได้แก่
1.1.1 ตรวจคัดกรองการมองเห็นด้วยแผ่นวัดรูปภาพในเด็กอนุบาล
1.1.2. รายที่มีผลคัดกรองผิดปกติ ได้รับการส่งต่อ และตรวจยืนยันวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์
1.1.3. ได้รับแว่นตาและตรวจติดตาม กรณีสายตาผิดปกติที่จำเป็นต้องใช้แว่นตา” ภายใต้กลุ่มเป้าหมายจำกัด เด็กอายุ 3-5 ปี
1.2. กลุ่มที่สาม “เด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี” ในลำดับที่ 10 และรายการบริการ “คัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ” โดยมีกิจกรรมดังนี้
1.2.1. ตรวจคัดกรองการมองเห็นของเด็กในชั้นประถมศึกษา ด้วยแผ่นวัดสายตา E chart หรือแผนภูมิสเนลเลนหรือแผ่นวัดเลข
1.2.2. รายที่มีผลคัดกรองผิดปกติ ได้รับการส่งต่อ และตรวจยืนยันวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์
1.2.3. ได้รับแว่นตาและตรวจติดตาม กรณีสายตาผิดปกติที่จำเป็นต้องใช้แว่นตา” ภายใต้กลุ่มเป้าหมายจำกัด เด็กอายุ 6-12 ปี
จากการยกตัวอย่างทำให้ตรวจสอบได้ว่า กลุ่มเป้าหมายจำกัดมีอายุต่ำสุดเพียง 3 ปีแม้อยู่ในหัวข้อใหญ่ 0-5 ปีแต่ก็พิจารณาตัวเลขอายุตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางสายตาอย่างเดียว
ดังนั้นเมื่ออิงคำจำกัดความที่ว่า “ไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ของการซื้อแว่นสายตาสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี” จะพบว่าคำกล่าวนี้ถูกต้องเพราะตามกลุ่มเป้าหมายไม่ได้กำหนดให้ต่ำกว่า 3 ปี
2. การตรวจคัดกรองมะเร็ง
จากข้อมูลพบว่าในกลุ่มที่สี่ ผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี ในลำดับที่ 13 รายการบริการ “คัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ที่มีกิจกรรมดังนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์ หรือ HPV DNA Test ในหญิงอายุ 30-59 ปี หรือในวิธี VIA ในผู้หญิง 30-45 ปี
จากข้อความดังกล่าวถือว่า มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเช่นกันแต่ถึงกระนั้นคำจำกัดที่ว่า “ไม่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์บางประการ” ก็มีความหมายสองแง่มุม
2.1. ไว้บอกถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ไม่มีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งชนิดเดียว ซึ่งตามการค้นคว้าถือว่า ไม่ถูกต้อง
2.2. ไว้บอกถึงสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้วแต่มีการรักษา ดูแล ป้องกันไม่ครอบคลุมเท่าควรจะถือว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้แล้ว ผนวกกับข้อมูลจะพบว่า “วัคซีนป้องกันโรคบางโรคสำหรับเด็กกับผู้ใหญ่” และ “การตรวจสุขภาพจิต” ก็มีลักษณะไม่ต่างกันเนื่องจากไม่ได้มีกิจกรรมครอบคลุมอย่างที่กล่าวว่าไว้จึงสรุปได้ว่าข้อความกับปัญหาที่กล่าวมาสอดคล้องกันและถือว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้
>>> การเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกล
ตรวจสุขภาพประจำปีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมกับให้ค่าเดินทางสำหรับเดินทางมาตรวจสุขภาพ
> ข้อความนี้ถูกต้องตามปัญหา และน่าเชื่อถือในด้านวัตถุประสงค์หรือไม่
ความถูกต้องในแง่ของปัญหา
1. นโยบายนี้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาต้นเหตุ ให้ประชาชนได้เข้าใช้บริการสุขภาพเพื่อให้รู้ถึงโรคภัยที่ตัวเองเป็นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้น
แต่ถึงกระนั้น ข้อพิจารณาที่น่าสนใจคือการส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมที่ดีเช่น ทานยาตามที่หมอสั่งนั้น หรือการมาตรวจสุขภาพทุกปีนั้น นโยบายดังกล่าวไม่ใช่ตัวบ่งชี้โดยตรงที่ช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจมากพอ และมีบางคนไม่ต้องการเข้ารับการตรวจเพื่อไม่ให้รู้ถึงภัยร้ายในตนเองเพื่อความสบายใจ
ดังนั้นแล้วทางรัฐบาลควรมีมาตรการเสริม เพิ่มเติมใหม่ในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไปได้
2. ความขัดแย้งในตัวบทของนโยบายกับปัญหาที่เกริ่นไปนั้น ไม่สอดคล้องกันเพราะให้ข้อเสนอในการตรวจสอบสุขภาพ และปัจจัยต่าง ๆ ที่ระบุไว้ กลับไม่กล่าวถึงความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์ที่เป็นปัญหาในส่วนของหลักประกันสุขภาพที่ติไว้
จากข้อความที่กล่าวมาบ่งบอกว่านโยบายนี้เป็นการแก้ไขปัญหาในระดับความลึกของข้อมูลที่ไม่มีรายละเอียดในการแก้ไขปัญหาที่ดี บ่งชี้ว่า ความน่าเชื่อถือในด้านวัตถประสงค์ของนโยบายถูกพิจารณาว่า สอดคล้องกับปัญหาในขั้นพื้นฐานเท่านั้น
> ข้อบกพร่องที่ซ่อนอยู่ นิยามชั่วคราว “คำอธิบาย ข้อบกพร่อง หรือความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ผลลัพธ์หลังดำเนินการที่อาจเกิดขึ้นและไม่ถูกสังเกตุก่อนเริ่มการทำงาน”
1. การเข้าถึงและความเสมอภาค
โดยพื้นฐานแล้ว สถานให้บริการสุขภาพมีอยู่อย่างจำกัดในขอบเขตของชมุชนแต่บางสถานการณ์ ใน ชุมชนที่ห่างไกล การคมนาคมขนส่งแย่ และห่างไกลความเจริญ ระยะห่างของการเดินทางแม้ถูกจ่ายโดยงบประมาณนโยบายที่เสนอให้
แต่ความเสี่ยงในการรักษาบางกรณีที่เป็นโรคไข้เจ็บได้ป่วย และอาการสาหัสปางตาย หากไม่ได้ดูแล หรือเข้าใช้บริการทันท่วงทีอาจนำมาสู่การเสียชีวิตและผลข้างเคียงที่ต้องใช้จ่ายสูงขึ้นตามกาลเวลา
ดังนั้นทางนโยบายดังกล่าวอาจต้องเพิ่มเติมในส่วนของการสร้างคลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ หมั่นตรวจสอบในชุมชนห่างไกลเพื่อจัดแจงค่ายผู้ป่วยชั่วคราวในระยะเวลาที่สำคัญเพื่อลดผลกระทบที่อาจตามมาในภายหลัง
นอกจากนี้เมื่อกล่าวถึงชุมชนห่างไกล อุปสรรคที่สำคัญก็คือ ภาษา และความแตกต่างด้านวัฒนธรรม พร้อมกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แม้ทางรัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะรับรู้ว่าชุมชนนั้นสามารถใช้ในส่วนนั้นได้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประชากรได้เข้าถึงและรับรู้ว่าตนเองมีสิทธิประโยชน์จากนโยบายนี้
ดังนั้นแล้วเราอาจต้องใช้สิ่งที่ทุกคนมี หรือส่วนใหญ่เช่น เบอร์มือถือ โทรศัพท์ ไม่ก็อีเมลในการส่งข้อมูลนโยบายไปโดยดีลกับทางบริษัทเป็นต้นเพื่อสร้างความต่างที่เมื่อเข้าไปแล้วจะสังเกตเห็นได้ทันทีว่านี้คือ ข้อมูลสำคัญจากรัฐบาลที่ควรให้ความสนใจ เป็นต้น แน่นอนว่านี้เป็นการแก้ไขเบื้องต้นในฐานะไอเดียเท่านั้น
2. เงินทุน ประชากร งบประมาณ และทรัพยากร
อย่างที่เข้าใจกันดีว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชากรต้องเข้ารับการดูแลรักษา นางพยาบาล หมอ หรือที่ปรึกษาทางการแพทย์จะถูกจำกัดด้วยขอบเขตของเวลาและการดูแลในแต่ละบุคคลทำให้ผู้ป่วยบางกรณีภายในโรงพยาบาลอาจไม่ได้รับการดูแลทั่วถึงเนื่องจากเกิดความขาดแคลนในตำแหน่งงานอย่างมีนัยสำคัญ
และทำให้เกิดภาระทางค่าใช้จ่าย แม้ประชาชนจะคิดว่าการที่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการกับโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้สถานรักษาได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลแต่ในอีกมุม โรงพยาบาลดังกล่าวอาจต้องจัดหาพนักงาน อุปกรณ์ การตรวจวินิฉัย และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้นในกรณีที่จะลงมือรักษาทันทีไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพ
และค่าใช้จ่ายนี้ทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลอยู่ในภาวะตึงเครียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นกะทันหัน
อีกทั้งนโยบายนี้ยังมีผลประโยชน์ต่อบุคลทั่วไปในเชิงการป้องกันดูแล แต่สำหรับคนที่สุขภาพแข็งแกร่ง หรือมีเงินพอที่จะตรวจสุขภาพประจำอยู่แล้วโดยไม่ต้องกังวลภาระการเงิน อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยร่วมสักเท่าไหร่ ดังนั้นในส่วนนี้อาจต้องพิจารณาเพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปจัดการส่วนอื่นน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบุคคล
อย่างที่เราแน่ชัดแล้วว่า นโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นให้มีส่วนร่วมในการตรวจสุขภาพแบบสมัครใจโดยคาดหวังว่า ความพื้นฐานในส่วนนี้จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ในส่วนของปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเพราะจะทำให้วิถีชีวิตของเรา หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมส่วนบุคคล” ได้รับผลกระทบในทางที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการบริโภคและออกกำลังกาย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป การตรวจสอบสุขภาพอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอให้มั่นใจว่า ทุกอย่างจะดำเนินตามแบบแผนที่วางไว้
ยกตัวอย่างเช่น ลาร์ย (ชื่อสมมติ) ได้เข้าร่วมโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีและรู้ว่าตัวเองมีความเป็นไปได้ในอนาคตว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ในตอนนั้นทางพยาบาลก็ให้เอกสารเกี่ยวกับข้อเสียการสูบบุหรี่และประโยชน์หลังเลิกบุหรี่
ลาร์ยที่เห็นแบบนั้นก็อ่านจนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเป็นโรคหัวใจ และภัยร้ายต่าง ๆ มากมาย แต่ถึงอย่างนั้น ลาร์ยก็พบว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นอะไรที่ยากมากสำหรับเขา เพราะเขาเองก็สูบมานานหลายปีแล้ว และการติดนิโคตินก็ฝังลึกในสมองตั้งแต่กิจวัตรประจำวันจวบจนการนอนราตรีสวัสดิ์ก็มีผลกระทบอย่างยิ่งยวด
ทั้ง ๆ ที่รู้ถึงผลกระทบอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่รู้แล้วว่าเป็นอันตราย ทั้ง ๆ ที่เป็นอย่างนั้น แต่กลับล้มเลิกจากการเสพติดนี้ไม่ได้สักที…และจากที่กล่าวมาเราจะรู้ว่า สิ่งนี้คือตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำซึ่งการจะฟันผ่าไปได้ มีองค์ประกอบหลายปัจจัยเช่น การเสพติดมากน้อยเพียงใด อิทธิพลทางสังคงต่อบุคคล กำลังใจ แรงจูงใจ ครอบครัว เป้าหมาย ความต้องการ การเอาตัวรอด และอื่น ๆ มากเพียงพอที่จะทำให้เราเลิกสิ่งนั้นได้หรือไม่
4. ช่องโหว่
นโยบายว่าด้วยการเดินทางฟรีในกรณีตรวจสุขภาพ หากประชากรคนหนึ่งต้องการใช้สถานรักษาราคาแพง หรือเที่ยวทริปส่วนตัวไปแดนไกลอาจเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่งบประมาณได้ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับขอบเขตการให้ค่าเดินทางและจรรยาบรรณของนายแพทย์ ผู้ออกเอกสาร
ยิ่งมีประชากรหยิบยืมจุดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ งบประมาณก็จะถูกลดทอนลงไปทำให้เงิน เข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบสุขภาพซึ่งมาจากเขตนอกความเจริญเนื่องจากงบประมาณดังกล่าวไม่มีมากพอสำหรับตัวเอง ณ ขณะนั้น
ซึ่งจากที่กล่าวมาจะพบว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากหากพิจารณาตามขอบเขตที่มีในแต่ละบุคคลว่ามีข้อกำหนดอย่างไรที่นโยบายจะกักกันปัญหาไว้
5. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
ในการพัฒนาด้านสาธารณสุขและจัดการกับความท้าทายที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ แม้นโยบายดังกล่าวจะถูกปรับเปลี่ยนในอนาคตจนอยู่ในศักยภาพที่ดีขึ้นแต่ก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ว่าจะสมบูรณ์แบบ
ซึ่งแน่นอนว่าข้อบกพร่องอีกอย่างนึงที่ควรให้ความสำคัญ ใส่ใจ และรอบคอบก็คือ ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวในบุคคลที่ได้เข้ารับการบริการสุขภาพ และจำเป็นต้องลงรายละเอียดในเชิงลึกที่ละเอียดอ่อนดูอ่อนไหว
ทั้งในรูปแบบของประวัติการรักษา พฤติกรรมการใช้ชีวิต และอื่น ๆ ของผู้เข้ารับบริการ และหากทางเจ้าหน้าที่ หรือโรงพยาบาลนั้น ๆ ไม่มีความโปร่งใสและปลอดภัย อาจนำมาสู่การเผยแพร่ข้อมูลสู่ตลาดในบางบริษัทอย่างลับ ๆ อันได้แก่ ประกันชีวิต ประกันภัย หรือแม้กระทั่งเหล่าคอลเซนเตอร์ที่พยายามฉกฉวยโอกาสนี้ในการทำกำไรมากมายจากคนเฒ่าคนแก่ และผู้ที่ไม่ได้รับข้อมูลในการป้องกันอย่างถูกต้อง
จนนำไปสู่ความเสียหายในวงกว้างเพราะยิ่งแรงกดดันของเจ้าพนักงานมากเกินไป ขณะที่ค่าจ้างเท่าเดิม เวลาพักผ่อนไม่มี ความคิดต่าง ๆ มากมายในเชิงปฏิบัติงานแง่ลบก็อาจจะปรากฏขึ้น
ซึ่งทางผู้ให้บริการ และรัฐบาลต้องคอยกำกับดูแลอย่างละเอียด ทั้งในส่วนของนโยบายการป้องกัน โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การเข้ารหัส ความโปร่งใส ประเมินผลอยู่เป็นนิจ ฝึกอบรมพนักงานอยู่เป็นประจำ หมั่นตรวจประเมินมาตรการ และพยายามทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
>>> โดยสรุปแล้ว ในแง่ของความผิดพลาดที่ระบุไว้หลังวิเคราะห์ บ่งบอกมีความไม่สอดคล้องกันกับปัญหาเชิงลึกอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นการนำแนวทางที่ครอบคลุมและเป็นกลางมาใช้เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เป็นอยู่จึงมีความสำคัญมากเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้
ฉะนั้นจึงต้องนำมาตรการอย่างการวิเคราะห์แบบรอบคอบ การรวบรวมข้อมูล และทำนายความเป็นไปได้ต่าง ๆ โดยคำนึงถึงนโยบายปัจจุบันของประเทศ สภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่ามีข้อผิดพลาดหรือผลกระทบในอนาคตแบบใดบ้าง
นอกจากนี้ การดำเนินการให้สำเร็จต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริม ร่วมมือกัน และเจรจาอย่างเปิดกว้างเพื่อให้แน่ใจว่าคำนึงถึงมุมมองที่หลากหลายแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของงบประมาณ ทางการเงินที่ไว้ใช้จำทำนโยบายดังกล่าวให้เป็นไปตามมุ่งหวังนั้นก็ต้องประเมินอย่างรอบคอบ และสร้างความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายของภาครัฐให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งหากไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ดี ครอบคลุม และรอบด้าน ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ปัญหาที่ระบุไว้หากถูกบรรเทาลงในระดับหนึ่งเท่านั้นแต่ก็ยังเหลืออุปสรรค ความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติมอยู่ต่อไป ดังนั้นแนวทางที่ครอบคลุมและพิถีพิถันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและจัดการกับปัญหาพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษณา