12 มิ.ย. 2023 เวลา 02:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ฤา AI จะเป็นภัยต่อมนุษย์

เช้าวันก่อนผมตื่นนอนมาเจอบทความใน Flipboard กล่าวถึงภัยคุกคามจาก AI ในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน 2 ข้อ
ข้อแรกคือ อาจมีคนสัปดนใช้มันสร้างสูตรอาวุธทางชีวภาพที่ไม่มีทางจะหายารักษาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ในการศึกษาทางพันธุกรรมระดับลึกๆ แล้ว เรื่องนี้ดูจะไม่พ้นจินตนาการว่าอาจจะเกิดขึ้น และสถานการณ์อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา
กับข้อ 2 คือใช้ AI เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งอาจทำได้ขนาดล่มระบบเศรษฐกิจของประเทศกันเลย ไม่ใช่แค่ขโมยรายละเอียดส่วนบุคคลมาเผยแพร่ให้ตื่นเต้นอย่างที่เป็นข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้
ยังดีที่ไม่มีเรื่องถล่มโลกด้วยอาวุธนิวเคลียร์อย่างในภาพยนตร์สุดฮิตเรื่อง Terminator
ก็เลยอดสงสัยไม่ได้วาในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับ AI เขามีความเห็นแบบไม่สุดโต่งกับเรื่องภัยคุกตามของ AI กันอย่างไรบ้าง
ปฏิกิริยาแรกที่วงการศึกษาของโลกตะวันตกแสดงออกหลังจากการเปิดตัว Chat GPT คือ ความตื่นตระหนกที่ว่ามีเครื่องมือที่นักเรียน นักศึกษาสามารถจะใช้เขียน essay ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งมันจะทำลายความสามารถเรื่อง critical thinking ของเด็กไป [1]
แต่หลังจากความแตกตื่นเริ่มหายไปดูเหมือนทุกคนจะคิดได้ว่า ในเมื่ออย่างไรก็ต้องอยู่ร่วมกับมันอย่างแน่นอนแล้ว สู้หาวิธีสอนแบบใหม่ที่ทำให้เด็กใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าๆ กับที่ยังไม่สูญเสียความสามารถเรื่อง critical thinking ไปจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
ซึ่งปฏิกิริยาแบบที่สองนี้สอดคล้องกับการเปิดรับ AI เข้ามาใช้งานในหลายแวดวงมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ และการวิจัยหลายๆ สาขา
บทความหนึ่งใน Website ของ World Economic Forum ผู้เขียนได้เสนอมุมมองของผู้คนที่เขาพบเจอที่มีต่อ AI ไว้เป็น 3 ประการคือ [2]
กลุ่มแรกคือคนที่ไม่เข้าใจ AI ถ่องแท้ และมองมันอย่างงงๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไรกันแน่ แทนที่จะเห็นว่านี่คือพลังขับเคลื่อนอันทรงอานุภาพที่จะสร้างคุณค่าใหม่ๆ แก่สังคม
กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นพวกล้าหลังไปเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงอาชีพการงานของตัวเอง น่าแปลกเหมือนกันว่าเท่าที่ผมเองเจอ คนที่มีความกังวลเรื่องนี้คือกลุ่มที่งานประจำห่างไกลจากเทคโนโลยีค่อนข้างมากอย่างนักเขียนนิยาย ส่วนคนในสายอาชีพที่ AI ทำงานได้เร็วกว่า แม่นยำกว่าแน่นอนอย่างโปรแกรมเมอร์กลับอ้าแขนรับมันเป็นอย่างดี เพราะสบายตัวขึ้นเยอะ
และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มองด้วยความกังวลว่า แนวทางและกฎระเบียบที่จะควบคุมการใช้งาน AI ตามไม่ทันคนที่อ้าแขนรับมันมาใช้งานไปแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในเรื่องนี้คือ การใช้งาน AI ในกลุ่ม image generator ที่กำลังถกกันฝุ่นตลบเรื่องลิขสิทธิ์
คนในกลุ่มแรกอาจต้องใช้เวลานิดหนึ่งในการปรับตัวเพื่อรับรู้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลกแบบเดียวกับที่สมาร์ทโฟนเคยทำมาแล้ว แต่ความกังวลของคนในกลุ่มที่สองและสามไม่ถึงกับไร้สาระเสียทีเดียว
ณ ระดับของการพัฒนาในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า AI สามารถย่นระยะเวลาการทำงานของพนักงานลงได้มาก แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สามารถทำแทนได้โดยอัตโนมัติ ใครที่มีประสบการณ์รบรากับ chat bot ของธนาคารคงเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า ถ้าเมื่อไรคุณถามไม่ตรงคำตอบ เมื่อนั้นขอคุยกับพนักงานดีกว่า
เมื่อ AI จะถูกใช้งานอย่างกว้างขวางทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา การบริการสาธารณะสุขหรือแม้กระทั่งงานศิลปะหลายแขนง ผู้ใช้พยายามจะรีดเอาขีดความสามารถของมันออกมาให้ได้สูงสุด ในขณะที่กฎระเบียบที่จะใช้ควบคุมยังตามไม่ทัน เพราะไม่รู้ว่าจะควบคุมอะไร ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้งาน AI อย่างไม่ระมัดระวังหรือขาดความรับผิดชอบจึงอาจเกิดได้ในหลายรูปแบบเช่น [3]
1 การสร้างข่าวปลอม ซึ่ง ณ เวลานี้ยังคงเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลเท็จประกอบหลักฐานด้วยการสร้างภาพหรือภาพเคลื่อนไหวจาก AI เพื่อให้ดูสมจริง ถ้ามันเป็นเรื่องตลกขบขันอย่างข่าวพบสัตว์ประหลาดที่เป็นจระเข้ก็ไม่ใช่ปลาก็ไม่เชิงอย่างที่เคยแชร์กันในโซเชียลมีเดียบ้านเรา จนต้นตอในกลุ่ม AI art ต้องขอกันให้ลงลายน้ำในรูปที่เอาขึ้นมาอวดกัน นั่นยังพอทำเนา
แต่ถ้าเป็นข่าวผู้นำประเทศมหาอำนาจออกมาแถลงอะไรสักอย่างที่จริงครึ่งเท็จครึ่ง หรือสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นขึ้นลองฮวบฮาบ เรื่องนี้จะเริ่มไม่สนุกแล้ว
2 การใช้ข้อมูลที่ไม่ได้สอบทานเสียก่อนว่าถูกต้องแม่นยำแค่ไหน กรณีนี้เป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าข้อมูลที่ได้รับจาก AI เป็นจริงทุกประการ ใครที่ใช้งาน Chat GPT เป็นประจำจะรู้ปัญหาข้อนี้ดีว่ามันสร้างคำตอบที่ผิดได้แนบเนียนแค่ไหน เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าทนายความในสหรัฐฯ คนหนึ่งโดนศาลเรียกไปตำหนิเพราะอ้างอิงข้อมูลของคดีที่ไม่มีอยู่จริง โดยได้มาจาก Chat GPT
อีกข้อที่พึงสังวรณ์ในประเด็นนี้คือ AI ถูกเทรนโดยข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้น information ที่ป้อนเข้าไปจึงอาจมี bias ได้ตามกระแสสังคม และมันก็จะตอบสนองตามนั้นซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือเลือกที่จะข้ามข้อเท็จจริงบางส่วนไปเมื่อ algorithm บอกว่าข้อมูลนี้ไม่มีน้ำหนักพอ
3 ปัญหาความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อนี้ฝุ่นคงจางในไม่ช้า หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีแนวทางที่ยอมรับกันได้
4 การเพิ่มอัตราการว่างงาน ข้อนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นทำให้คนที่มีงานอยู่แล้วต้องตกงาน เพราะ AI ยังไม่สามารถทำงานแทนคนได้โดยอัตโนมัติดังที่กล่าวแล้ว แต่จากการสอบถามพรรคพวกที่อยู่ในธุรกิจโฆษณาและ software house AI ช่วยให้พนักงานที่มีอยู่ productive มากขึ้น
ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันแปลว่่า ถ้าขยายงาน จะสามารถเพิ่ม workload ได้โดยไม่ต้องเพิ่มพนักงานหรือเพิ่มพนักงานน้อยกว่าจำนวนที่เคยทำมาแต่ก่อนหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแม้ AI จะยังไม่ทำให้คนที่มีงานอยู่แล้วต้องตกงาน มันก็ทำให้โอกาสของคนที่กำลังหางานลดน้อยลง
ในบทความบน Website ของ World Economic Forum ได้เสนอแนวทางการจัดการ AI ไว้สรุปได้ว่า AI ควรเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ และทุกคนพึงเข้าใจคุณค่าที่ AI สามารถสร้างให้แก่สังคม
ทำใจเสียเถอะว่ายุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงแล้ว
อ้างอิง
โฆษณา