12 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • หนังสือ

ว่าด้วยความหมายของความสุขในชีวิต

“เรามีความสุขกับอะไร คือคำถามที่คุณควรตอบตัวเองในทุกวัน”
เดือนมกราคมปี 1915 เรือสำรวจ “เอ็นดูเรนซ์” (Endurance) แล่นเข้ามาอยู่ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก ก่อนได้รับความเสียหายและอัปปางลงสู่ก้นมหาสมุทรในที่สุด
หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 20 เดือนที่เซอร์ เออร์เนสต์ แช็คเลตัน (Sir Ernest Shackleton) และลูกเรือจำนวน 27 นายใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมา แล่นไปตามสายลำธารบ้างบนเรือกู้ชีพลำเล็กที่ขนลงมาด้วย ท่ามกลางอุณหภูมิดั่งนรกแช่แข็งที่ -10 องศาเซลเซียส
พวกเขาทั้งหนาวเหน็บ หิวกระหาย และอดหลับอดนอนยาวนานหลายคืน อาหารที่พวกเขาหาได้ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แห้งแล้งและล้อมรอบไปด้วยน้ำแข็งเช่นนั้น มีเพียงแมวน้ำผู้น่าสงสารและสาหร่ายทะเลเปื่อยแฉะเพียงอย่างเดียว
ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็มีชีวิตรอดออกมาจากขุมนรกนั้นได้ เรื่องราวของเซอร์แช็คเลตันและลูกเรือจึงเป็นหนึ่งในเรื่องราวการรอดชีวิตที่เหนือคำบรรยายสำหรับใครหลายคนอย่างแท้จริง
แต่สำหรับผมแล้ว มันกลับต่างออกไป เพราะสิ่งที่ผมได้จากเรื่องนี้คือความประหลาดใจและข้อคิดที่มาจากตอนจบของการผจญภัยครั้งนี้
อัลเฟรด แลนซิง (Alfred Lansing) ผู้เขียนหนังสือ “เอ็นดูเรนซ์” หนังสือที่ตั้งชื่อตามเรือของเซอร์แช็คเลตัน บรรยายไว้ว่า:
ทุกคนได้รับการช่วยชีวิตในวันที่ 30 สิงหาคม 1916 หรือกว่า 19 เดือนหลังจากการอัปปางของเรือเอ็นดูเรนซ์ พวกเขาขึ้นฝั่งที่สถานีล่าวาฬบนเกาะเซาต์จอเจีย ซึ่งห่างจากประเทศอาร์เจนตินาไปทางตะวันออกถึง 1,600 ไมล์ (ประมาณ 2,600 กิโลเมตร)
ทันทีที่ขึ้นฝั่ง ทั้งเซอร์แช็คเลตันและลูกเรือของเขาได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พวกเขาอาบน้ำอุ่นในถังไม้ โกนหนวดเคราที่รกรุงรัง จัดแต่งหน้าผมเสียใหม่ ได้สวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สะอาดเอี่ยม ได้ทานอาหารที่ร้อนและสดใหม่ ก่อนจะได้นอนหลับบนเตียงที่นุ่มสบายเป็นแรมวัน
คุณพอจะจินตนาการถึงความสุขที่พวกเขามีออกไหม
ความรู้สึกของการที่ได้อาบน้ำอุ่นจนสดชื่น ได้ทานอาหารอุ่นร้อนกำลังดี ได้เอนกายบนเตียงที่นุ่มดั่งปุยเมฆ หลังจากต้องผ่านความทุกข์ทรมาน ความหนาวเข้ากระดูกดำ และความหิวกระหายบนแผ่นน้ำแข็งเป็นเวลานานกว่าแรมปี
เชื่อเหลือเกินว่า ต่อให้น้ำอาจจะไม่ได้อุ่นเท่าที่ควร หรืออาหารไม่ได้อร่อยเท่าที่ใครหลายคนคิด พวกเขาก็จะยังมีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม
ทุกคนพยายามไขว่คว้าชีวิตที่เลิศหรูและไร้ที่ติ เพียงเพราะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ความสุขกลับเป็น “ความแตกต่าง” ระหว่างสิ่งที่คุณเป็นตอนนี้กับอะไรก็ตามที่คุณเคยเป็น
เครื่องดื่มที่สดชื่นที่สุดในชั่วโมงที่กระหายจนสากคอคือน้ำประปาธรรมดาแก้วหนึ่ง
อาหารที่อร่อยที่สุดในเย็นหลังเลิกงานที่หิวจนแทบสิ้นสติกลับเป็นข้าวราดแกงหน้าปากซอยเจ้าประจำ
เป็นความรู้สึกของการได้นั่งลงบนโซฟานุ่มๆ หลังจากที่เพิ่งวิ่งมาราธอนจบ หรือการได้นอนหลับสนิทหลังจากกล่อมลูกน้อยแรกเกิดของคุณเข้านอนได้เสียที
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความแตกต่างที่ทำให้ชีวิตเกิดความสุข
ไม่เพียงแต่เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องเงินก็ไม่แตกต่างกัน คุณจะรู้สึกราวกับมหาเศรษฐีในวันที่คุณได้รับเงินเดือนแรกในชีวิต ได้มองเห็นตัวเลขในบัญชีธนาคารเปลี่ยนจาก 200 เป็น 20,000 บาท อาจเป็นความรู้สึกที่เปี่ยมปิติเสียยิ่งกว่าการที่เศรษฐีได้เห็นเงินในบัญชีของเขาเปลี่ยนจาก 50 ล้าน เป็น 60 ล้านบาทเสียอีก
ไม่ใช่จำนวนหรือปริมาณ หากแต่เป็นความแตกต่างระหว่างสองสถานการณ์ในชีวิตต่างหากที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา
ความสุขคืออารมณ์ชั่วครู่ มันจะไต่ระดับขึ้นสูงเมื่อเราก้าวจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่งที่ความแตกต่างกันเช่นได้เลื่อนตำแหน่ง ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้อยู่ในความสัมพันธ์ หรือการได้รับประทานของอร่อย แต่ในท้ายที่สุด เราจะชินกับสถานะที่เป็นและความสุขที่เคยรู้สึกจะแปรเปลี่ยนเป็นความเคยชินแทนที่
มื้อที่ 12 ของเหล่าลูกเรืออาจไม่ได้รู้สึกอร่อยล้ำเหมือนจานแรกที่พวกเขาได้ทานหลังจากรอดชีวิตมาได้ และค่ำคืนที่ 12 บนเตียงอุ่นอาจไม่ได้ทำให้พวกเขาฝันหวานเท่ากับคืนแรก หลังจากคืนทรหดอันหนาวเหน็บและแสนยาวนานที่พวกเขาเคยต้องเผชิญ
ไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกหรือผิดหวังแต่อย่างใด แต่แทนที่เราจะคอยไล่ล่าตามหาความสุข ซึ่งมักล่องลอยและหายไปจากเราอย่างรวดเร็ว เราควรไล่ตาม “ความพอใจ” ในชีวิตเสียมากกว่า
ความพอใจมีลักษณะคล้ายความสุข ต่างกันตรงที่มีรูปลักษณ์ที่สมถะ และอยู่กับเราได้นานกว่า
แต่ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแบบใด ความสุข ความพอใจ ความร่าเริง หรือความปิติยินดี ล้วนเกิดจากช่องว่างระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริงในชีวิต สิ่งที่เราควรทำจึงเป็นการคอยปลอบประโลมความคาดหวังของตัวเอง ไม่ให้อยู่สูงจนกดรั้งความสุขของเรา
ลูกเรือทุกคนคงได้เรียนรู้ข้อคิดสำคัญนี้ด้วยกันทั้งหมด หลังจากผ่านบทพิสูจน์อันแสนทรหด พวกเขาจึงมองเห็นความสุขและความปิติในสิ่งเล็กๆ ที่พวกเขาเคยมองข้ามไป
หนึ่งในลูกเรือเขียนไว้ในสมุดบันทึกของเขาว่า “ทุกวันคืนที่ผ่านล้วนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตที่เคยมี รู้สึกยินดียิ่งแล้วที่ได้มีชีวิตอยู่ต่อไป”
แลนซิงเขียนปิดท้ายไว้ในหนังสือ “ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งเย็นยะเยือกที่ปล่าวเปลี่ยวใจ พวกเขาค้นพบความพึงพอใจที่ไม่เคยพบมาก่อน นั่นคือความรู้สึกของการได้มีชีวิตอยู่ต่อไป”
มันจะมีอะไรดีไปกว่านี้อีกเล่า
แปลและเรียบเรียงเพิ่มโดย JPM จากบทความ “What Makes You Happy” โดยมอร์แกน ฮอเซล (Morgan Housel) ตีพิมพ์ลงบนเว็บไซต์ Collab Fund เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2023
บทส่งท้ายผู้แปล
มอร์แกน ฮอเซลคือนักเขียนที่ผมชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้เขียนหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) ซึ่งเป็นมหากาพย์ของการศึกษาพฤติกรรมและความนึกคิดของมนุษย์ที่มีต่อเงินอย่างแยบยลและครบถ้วนในหนังสือเล่มเดียว
คุณจะออกเดินทางไปพร้อมกับหนังสือ เพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมมนุษย์จึงมีพฤติกรรมที่ชวนสับสนกับทรัพย์สินเงินทองของตนเอง
คุณจะเข้าใจว่าเหตุใด พฤติกรรมเหล่านี้จึงอธิบายด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ แต่ต้องอาศัยหลักการแบบจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ในการทำความเข้าใจ
ทุกอย่างอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ในหนังสือการเงิน จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอ่านสักครั้งในชีวิต
จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) โดย มอร์แกน ฮอเซล (Morgan Housel)
🌟 ฉบับภาษาไทยจากร้านค้านี้มีส่วนลดและโบนัสเงินคืน เล่มละ 239 บาท
🌟 ฉบับภาษาอังกฤษกำลังลดราคาอย่างเร่าร้อน เหลือเพียงเล่มละ 105 บาท
โฆษณา