Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Preservation Pokpong
•
ติดตาม
14 มิ.ย. 2023 เวลา 10:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พิพิธภัณฑ์แร่-หิน กรมทรัพยากรธรณี
ทำความรู้จักกับวาฬอำแพง EP1 พาร์ทขุดค้น
รักก็คือรัก หลงก็คือหลง ถ้าถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ เพราะชั้นนั้นเป็นวาฬที่เกย ตื้นน้ำตาย ใจสลายแหลกลงไปในทะเล ~~
ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ ว่าหนึ่งในการค้นพบซาก "วาฬเกยตื้น" ที่โด่งดังมากของไทยก็คือการค้นพบกระดูกวาฬอำแพงเมื่อประมาณปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์แร่-หิน กรมทรัพยากรธรณีได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ รวมไปถึงการจัดเสวนาที่เกี่ยวข้องกับวาฬอำแพงขึ้น ซึ่งในวันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องของเจ้าวาฬตัวนี้ให้ทุกคนได้รับอ่านกันครับ
ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ก็จะมาจากการเสวนาทั้ง 3 ครั้งบวกกับที่ผมไปค้นหาเพิ่มเติมกันนิดหน่อย ฉะนั้น ถ้าผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
เรื่องทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านคลองหลวง ตำบลอำแพง จังหวัดสมุทรปราการ ในที่ดินแปลงหนึ่งของบริษัท Bright Blue Water ในระหว่างที่มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำ ได้มีการขุดพบวัตถุสีขาว 4 ชิ้น เมื่อทำการขุดเพิ่มเติมรอบ ๆ ซักเล็กน้อยก็ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นกระดูกของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่
ภาพจากงานเสวนาวิชาการ เล่าเรื่องรูปวาฬอำแพง
ทางบริษัทจึงได้ทำการโทรติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ้ว, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กลุ่มวาฬไทย, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสาคร, กองคุ้มคองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี เป็นต้น
**ขอโน๊ตเป็นความรู้เพิ่มเติมนะครับว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้องเมื่อเราพบกระดูกหรือซากดึกดำบรรพ์ครับ เพราะหากเราหยิบมันขึ้นมาเก็บไว้ก่อนทำการโทรแจ้ง ก็อาจจะส่งผลทำให้นักธรณีวิทยาไม่สามารถศึกษาลักษณะบางปราการได้เช่นการวางตัวของกระดูกและรูปแบบการสะสมตัว ฯลฯ นั่นเองครับ
และเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาทำการตรวจสอบก็พบว่ากระดูกชิ้นนี้น่าจะเป็นกระดูกส่วนหางของวาฬ ซึ่งเจ้าวาฬตัวนี้ก็คงไม่ใช่วาฬเกยตื้นธรรมดาที่มีการนำซากมาฝังไว้แน่ ๆ ครับเพราะว่าพื้นที่ในบริเวณนี้อยู่ห่างจากทะเลกว่า 15 กิโลเมตร และกระดูกบางชิ้นก็มีมวลมากกว่าที่จะเป็นกระดูกทั่ว ๆ ไป
ด้วยความที่ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปลายฤดูฝน เพื่อไม่ให้กระดูกเหล่านั้นเสียหายจากการโดนน้ำจึงได้มีการเร่งขุดกระดูกขึ้นมา แต่ด้วยความที่พื้นที่ในบริเวณนี้เป็นดินตะกอนยุค Quaternary ซึ่งอยู่ในชั้นที่เรียกกันว่า Bangkok Clay ทำให้ดินในบริเวณนี้เป็นดินเหนียวซึ่งมีความอ่อนและอุ้มน้ำ ดินและน้ำจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการขุดค้นในครั้งนี้
เมื่อการขุดเริ่มต้นก็ได้มีการขุดรอบ ๆ กระดูกหางลงไปในแนวดิ่งและทำการเข้าเฝือกกระดูกในทันที เฝือก ๆ นี้ก็เหมือนเฝือกอ่อนที่เราเข้าเวลาแขนหักนั่นแหละครับ เพียงแต่จะมีการใช้ Aluminum Foil ในการห่อกระดูกไว้ก่อนชั้นหนึ่งไม่ให้กระดูกสัมผัสกับปูนปลาสเตอร์โดยตรง โดยสาเหตุที่ต้องรีบเข้าเฝือกก็เป็นเพราะป้องกันกระดูกไม่ให้เสียหายจากน้ำและอากาศนั่นเองครับ
หลังจากมีการเข้าเฝือกกระดูกทั้ง 4 ชิ้นก็จะมีการขุดเพื่อเปิดหน้าดินไปทางฝั่งหางและฝั่งหัวนะครับ ซึ่งในช่วงนี้ก็จะมีการตีกริดขนาด 50x50 เซนติเมตร และจากนั้นจะทำการสเก็ตภาพการวางตัวของกระดูกคร่าว ๆ ครับเพื่อบันทึกลักษณะการวางตัวและสะสมตัว ไว้ใช้ในการวางแผนขุดค้นในอนาคตและศึกษาต่อไปนั่นเองครับ
ในระหว่างที่มีการขุดอยู่นั่นเองนะครับก็จะมีการนำดินแห้งมาปูบริเวณพื้นของหลุมขุดเพื่อดูดซับความชื้นจากดินเหนียวที่ทำการอุ้มน้ำเอาไว้และเมื่อดินแห้งที่ใส่ไปเริ่มชื้น ก็จะต้องมีการขุดดินชุดเดินออกและนำดินแห้งชุดใหม่ลงไปแทน
นอกจากนี้พื้นที่ในบริเวณหลุมขุดก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 6.5 เมตรนั่นส่งผลทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างยากลำบาก หากวันไหนมีฝนตกหนักจนมีน้ำทพลักเข้าไปในหลุมขุด ก็เรียกว่าแทบจะต้องหยุดกระบวนการทั้งหมดและเกณฑ์คนมาวิดน้ำออกกันเลยทีเดียวครับ
ลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งขุดค้น
กระดูกของเจ้าวาฬวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เมื่อทำการขุดไปทางส่วนหางก็ได้พบแต่เศษกระดูกที่แตกหักและกระดูกหางส่วนที่เหลือที่สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นัก แต่เมื่อขุดไปทางส่วนหัวผลลัพธ์ที่ได้กับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง
เราได้พบกระดูกสันหลัง กระดูกสะบัก กระดูกซี่โครง กระดูกครีบหน้าข้างซ้ายในสภาพที่สมบูรณ์มาก ๆ จึงคาดว่าถ้าเราโชคดีอาจมีการขุดพบส่วนกะโหลกของวาฬ แต่บริเวณที่คาดว่าจะพบกะโหลกนั้นอยู่ใต้คันดินที่มีการก่อไว้เพื่อใช้ทำเป็นถนน
ทางทีมขุดข้นจึงขอความอนุเคราะห์ในการยืมรถ Backhoe จากทางบริษัท Bright Blue Water มาช่วยในการขุดคันดินออก ก่อนจะลงมือขุดค้นต่อด้วยมือจนกระทั่งสามารถพบส่วนของกะโหลกและครีบน้าข้างขวาได้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน
โครงกระดูกของวาฬ
นอกจากการะดูกของวาฬเรายังมีการค้นพบฟันฉลาม, ฟันกระเบน, ซากปู, ซากหอย ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์กินซากทั้งสิ้น ทั้งเรายังพบกับรอยครูดของฉลามบนตัวกระดูกของวาฬด้วย ฉะนั้นจึงมีการสันนิฐานว่าการที่กระดูกส่วนหางนั้นได้รับความเสียหาย รวมถึงการที่กรามล่างของวาฬไใ่ได้สบกับกรามบน จึงน่าจะเป็นฝีมือของสัตว์กินซากเหล่านี้
ตัวอย่างของซากสัตว์กินซากที่พบในบริเวณเดียวกับวาฬ
รอยครูดของฝันฉลาม ที่ปรากฎบนแบบจำลองที่สร้างจากการนำกระดูกไปแสกน
ในบรรดาซากสิ่งมีชีวิตที่เราพบนั้นก็มีหอยอยู่สามพันธุ์หนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษนั่นคือหอย Orbitestella amphaengensis หรือหอยอำแพง ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหอยสายพันธุ์ใหม่ของโลกนั่นเอง
Orbitestella amphaengensis หรือหอยอำแพง
ไม่ใช่แค่นั้นนะครับบนกระดูกของตัววาฬยังพบกับซากเพรียงที่มาเกาะอีกด้วย ทำให้เราสันนิฐานได้ว่าหลังจากที่วาฬตัวนี้ตายแล้วก็ได้ถูกซัดไปเกยตื้นในทะเลน้ำตื้นแห่งหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้เราสามารถเห็นซากเพรียงบนตัววาฬเป็นแนวตามขอบอขตอิทธิพลของน้ำขึ้น-น้ำลงได้เลยครับ
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ไฮไลท์ที่สำคัญสุด ๆ ของเจ้าวาฬตัวนี้ครับเพราะสิ่งที่เป็นไฮไลท์สุด ๆ ของเจ้าวาฬตัวนี้มี 2 อย่างครับ อย่างแรกก็คือกระดูกหูของวาฬ โดยส่วนมากวาฬที่จะมาเกยตื้นในปัจจุบันมักจะไม่พบกระดูกส่วนหูแล้ว แต่กลับกันเจ้าวาฬอำแพงนั้นเราค้นพบกระดูกส่วนหูของมันครับ
กระดูกหูของวาฬ
อีกอย่างนึงที่เป็นไฮไลท์ของวาฬครับคือลักษณะของอะไรบางอย่างที่เป็นแพขนาดใหญ่ครับ ในตอนแรกทางทีมขุดค้นคิดว่ามันคือพืชชายฝั่งที่ติดกันเป็นแพแล้วลอยมาติดซากวาฬ แต่เมื่อส่งไปให้สถาบันที่วิจัยเกี่ยวกับเรื่องพืชตรวจสอบปรากฎว่าสิ่ง ๆ นี้ไม่ใช่พืชครับ
ในเวลาต่อมาได้มีการนำแพ ๆ นี้มาศึกษาจนได้พบว่ามันคือ Balean หรือซี่กรองของวาฬนั่นเองครับ ซึ่งความน่าอัศจรรย์ของบาลีนที่เราพบนั้นนอกจากจะมีสภาพสมบูรณ์แล้ว ยังมีการซึมเข้าไปของสารละลายแร่ในตัวซี่กรองด้วยครับ
การพบซี่กรองเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะซี่กรองของวาฬนั้นประกอบขึ้นจากสารเคราตินเหมือนในนอแรดหรือว่าเส้นผมของเรานั่นเองครับ ซึ่งตามปรกติมักสลายไปก่อนโครงร่างแข็งอย่างกระดูก แต่เรากลับพบมันในสภาพที่สมบูรณ์และมีการซึมเข้าของสารละลายแร่ก่อนกระดูกบางชิ้นอีกครับ
ซากซี่กรองของวาฬ
ในส่วนของการขนย้ายและการศึกษาวาฬในส่วนอื่น ๆ นั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
วาฬ
ซากดึกดำบรรพ์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย