12 มิ.ย. 2023 เวลา 07:57 • ประวัติศาสตร์

ทำไมหนังอเมริกันเต็มไปด้วยบรรยากาศแบบญี่ปุ่น

ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติแออัดวุ่นวายกันอยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้าร้านอาหารริมทางที่กำลังเสิร์ฟอาหารโดยพ่อค้าชาวญี่ปุ่น บรรยากาศรอบข้างปรากฎให้เห็นเป็นตึกระฟ้าสูงตระหง่าน ท่ามกลางแสงสว่างของป้ายไฟนีออนที่ปรากฏให้เห็นพร้อมตัวอักษรคันจิ ป้ายโฆษณาตามตึกสูงฉายภาพโฮโลแกรมเกอิชาที่ถูกบดบังเป็นระยะๆ โดยพาหนะที่บินได้ ที่หน้าตาดูคลับคล้ายคลับคลาราวกับเป็นกับรถยนต์แห่งโลกอนาคต
นี่ไม่ใช่การพรรณนาโวหารบรรยากาศของประเทศญี่ปุ่น แต่หากเป็นบรรยากาศของภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “Blade Runner” ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1982 ที่ได้จำลองบรรยากาศของเมือง L.A. (Los Angeles) ในปี ค.ศ. 2019 หรือในอนาคตอีก 37 ปีข้างหน้าเอาไว้
แน่นอนว่าเราผ่านปี 2019 มาแล้ว
และหากเราย้อนกลับไปดูหนังเรื่อง Blade Runner(1982) อีกครั้งเราจะพบว่าบรรยากาศของเมือง L.A. ในหนัง กลับไม่ทำให้เรานึกถึงเมือง L.A. ในปัจจุบันแม้สักนิดเดียว หากแต่เมืองที่นึกถึงกลับเป็นโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นแทนซะอย่างงั้น และบ่อยครั้งที่เรามักเห็นหนังอเมริกันผสานวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นผสมไว้ในเรื่อง
ดังเช่นที่เราเคยเห็นใน “The Matrix”
ผ่านฉากอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีรหัสสีเขียวที่ประกอบไปด้วยตัวเลข และตัวอักษรวิ่งเลื่อนสลับขึ้นลงไปมาคล้ายสายฝนภายใต้ฉากหลังสีดำ ชวนให้ความรู้สึกถึง “กลิ่นหอมของโลกอนาคต” ที่กำลังจะมาถึง ก่อนที่ความจริงจะถูกค้นพบในภายหลังว่าข้อความทั้งหมดนั้นคืิอตัวอักษรฮิรางานะ คาตาคานะ และคันจิในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมันไม่ได้เป็นการบอกใบ้ข้อความอะไรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหนังแต่มันคือ “สูตรการทำซูชิ” ที่ทีมงานบังเอิญไปเจอมันจากหนังสือเล่มนึงก็เท่านั้น
แล้วอะไรที่ทำให้โลกในอนาคตที่ถูกนำเสนอผ่านมุมมองของอเมริกัน
มักจะมีวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเป็นองค์ประกอบซุกซ่อนอยู่เสมอ ?
ต้องย้อนกลับไปยังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากความอดทนอดกลั้นของอเมริกาต่อประเทศญี่ปุ่นได้หมดลง ประตูบานสุดท้ายของสงครามที่เรียกว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” ได้ถูกเปิดขึ้น และนำมาสู่การที่อเมริกาได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ ฮิโรชิม่า และ นางาซากิ ซึ่งนำไปสู่การพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นและเป็นการสิ้นสุดลงของสงครามโลกในที่สุด
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองกับการสิ้นสุดลงของสงคราม
ญี่ปุ่นเองกลับกำลังเข้าสู่กระบวนการในการ “ฟื้นฟูประเทศ”
ญี่ปุ่นได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูและบูรณะประเทศครั้งใหญ่เพื่อสร้างประเทศที่เสียหายจากสงครามขึ้นมาใหม่ ความพยายามในครั้งนี้ถูกทั่วโลกนิยามว่า “Japanese Economic Miracle” หรือ “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” อันเนื่องมาจากการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ช่วงปี ค.ศ.1950-1970)
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น
จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปี ค.ศ.1980
ญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลก การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ส่งผลให้ทั่วโลกรวมถึงอเมริกาต่างจับตามองด้วยความกังวลใจเพราะคาดการณ์ว่า การเติบโตอันก้าวกระโดดของญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน
เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นในปี 1980 ที่ทำให้โลกต้องจับตามอง ?
1.การเติบโตของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในปี 1980
ในขณะนั้นญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่น ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆส่งออกไปยังผู้บริโภคทั่วโลกเสมอๆ อย่างเช่น ยานยนต์ (Toyota,Honda),อิเล็กทรอนิกส์(Sony,Panasonic) และเทคโนโลยี(Nintendo)
การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากและสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการแข่งขันทางธุรกิจในระดับโลก ส่งผลให้เกิดความกลัวที่จะสูญเสียการครอบงำทางเศรษฐกิจแก่นานาประเทศ รวมถึงอเมริกาเองที่ในขณะนั้นก็มีปัญหาจากการที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นจนเสียดุลทางการค้าซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ “U.S.-Japan trade war” หรือสงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ถูกจับตามองจากทั่วโลกเป็นพิเศษในฐานะ “ประเทศมหาอำนาจรายใหม่ของโลก”
2.การลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากของญี่ปุ่นในปี 1980
การเติบโตภายในของประเทศญี่ปุ่นช่วงปี 1980 มันชลอตัวครับ หรือพูดง่ายๆว่ามันเติบโตช้ามากประกอบกับปัจจัยต้นทุนการผลิตภายในประเทศเริ่มสูงขึ้น เพื่อความอยู่รอดก็จำเป็นที่จะต้องขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
ด้วยความที่สินค้าของญี่ปุ่นหลายๆอย่างนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดังนั้นเราจึงเห็นการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา อันเนื่องมาจาก ความสามารถในเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน และนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง นั่นเป็นผลให้เราเห็นการลงทุนเข้าซื้อกิจการและการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากของคนญี่ปุ่นในอเมริกา ส่งผลให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ขยายมายังอเมริกาและอีกหลายๆประเทศทั่วโลกในช่วงปี 1980
3.การขยายตัวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในปี 1980
วัฒนธรรมของญี่ปุ่นขยายตัวไปพร้อมๆกับเศรษฐกิจเช่นกัน
ดราก้อนบอล,กันดั้ม และเซเลอร์มูน รวมถึงวิดีโอเกมอย่าง มาริโอ้ และ โซนิค ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลกในแง่ของวัฒนธรรมความบันเทิง ทั่วโลกได้รู้จักนักออกแบบเสื้อผ้าอย่าง Issey Miyake, Yohji Yamamoto และ Rei Kawakubo (Comme des Garçons) และสตรีทแฟชั่นที่ปรากฏให้เห็นในย่าน “ฮาราจูกุ” ที่ถูกนำเสนอสู่ชาวโลกในแง่ของวัฒนธรรมแฟชั่น โลกได้รับรู้การรับประทานปลาดิบผ่านการรับประทานอาหารแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ซูชิ” ที่ถูกนำเสนอในแง่ของวัฒนธรรมอาหาร
ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆประเทศได้หลงไหลและซึมซับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้าไปโดยไม่รู้ตัวและมักวาดภาพประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่ก้าวล้ำหน้าอยู่เสมอๆ ทั้งหมดนี้คือการฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงครามให้ก้าวไปสู่มหาอำนาจที่ไม่ใช่แค่เพียงเศรษฐกิจ แต่ยังกลายเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม ดังที่เราเห็นวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นที่ไม่เคยเสื่อมคลายลงแม้ในปัจจุบันนี้
Ref:
The Japanese Economic Miracle – Berkeley Economic Review
'The Matrix' Code Came From Sushi Recipes—but Which? | WIRED
การตัดสินใจไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของธุรกิจขนาดย่อมและกลางการลงทุนของญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1980 กับประเทศกำลังพัฒนา - ผาสุก พงษ์ไพจิตร วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2530
รูป : Vox
โฆษณา