Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Kenko2022
•
ติดตาม
12 มิ.ย. 2023 เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์
- จิ๋วแต่แจ๋ว -
ผมได้มีโอกาสไปชมการแข่งขันกีฬาคาราเต้มือสมัครเล่น เนื่องจากเจ้าตัวเล็กคนโต (728 กรัม) กำลังหัดเรียนอยู่และลองลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งแรก ในงานมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนมากทุกเพศทุกวัย มีสายคาดเอวหลากสี ทั้งขาว (ระดับต้น) ส้ม (ไม่ใช่เรื่องการเมืองนะครับ) เขียว น้ำตาล หรือแม้กระทั่ง ดำ (ระดับสูงสุด)... แต่แล้วการได้มีโอกาสโดยค่อนข้างบังเอิญไปชมการแข่งขันครั้งนี้ กลับทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าใจและลึกซึ้งถึงคำคมในอดีตที่ว่า ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ นั้นเป็นอย่างไร
คำว่าคาราเต้ (空手) ถ้าแปลความหมายโดยตรงตามตัวอักษรญี่ปุ่นก็คือ ‘มือเปล่า’ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือกำเนิดที่โอกินาว่า เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยเป็นการผสมผสานการต่อสู้ของชาวโอกินาว่ากับชาวจีน และได้เผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1921 โดยหลักการพื้นฐานแล้วคือการต่อสู้ด้วยมือเปล่าซึ่งรวมถึงอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย แต่พอถูกดัดแปลงเป็นการแข่งขันกีฬาแล้วเหลือเพียง ‘มือและเท้า’ เท่านั้น
ที่มา http://xn--ncke3ad8b7p8dx307b7q0b.com/2335.html
ในการแข่งขันของระดับชั้น ป.2 มีเด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งรูปร่างตัวเล็กกว่าคู่แข่งขันทุกคนเป็นอย่างมาก เวลายืนเทียบกับคู่ต่อสู้จะเห็นได้ชัดเลยว่าเสียเปรียบเรื่องความสูงเป็นอย่างยิ่ง อาวุธที่สำคัญในการต่อสู้คือมือและขาก็สั้นกว่าคู่ต่อสู้อย่างเห็นได้ชัด ตอนแรกผมเองยังแอบเป็นห่วงเจ้าเด็กน้อยคนนี้ไม่ได้
แต่แล้วพอการแข่งขันเริ่มขึ้น สีหน้าอาการและสายตาของเด็กคนนั้น กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยวิญญาณและหัวใจของ ‘นักต่อสู้’พยายามเดินเข้าหาฝ่ายตรงข้าม แต่ก็มักจะถูกโต้ตอบด้วยหมัดและการเตะที่มีช่วงระยะยาวกว่า ทำให้ไม่สามารถเข้าใกล้คู่ต่อสู้ได้ แต่เจ้าหนูตัวเล็กคนนั้นก็ไม่ยอมแพ้ พยายามหาโอกาสทำแต้มตอบกลับด้วยความว่องไวและไหวพริบอย่างไม่ท้อแท้ จนในที่สุดก็สามารถเป็นแชมป์การแข่งขันจนได้ พร้อมกับเสียงปรบมือโดยพร้อมเพรียงจากผู้ชมรอบสนาม (รวมถึงตัวผมเองด้วย)
ในหนังสือ Mindset (ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา) เขียนโดย Carol S. Dweck ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนที่ “เก่งแต่เกิด” โดยมี ‘พรสวรรค์’ ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่น มีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบนักกีฬา เคลื่อนไหวได้เหมือนนักกีฬาอาชีพ และเป็นนักกีฬาได้โดยไม่ต้องพยายามแม้แต่น้อย แต่ถ้าขาด ‘กรอบคิดของผู้ชนะ’ เมื่อไหร่ สุดท้ายแล้วก็คงไม่สามารถเป็นนักกีฬามืออาชีพที่ประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบ
คำว่ากรอบคิดของผู้ชนะนั้นผู้เขียนได้ให้คำนิยามว่าจริงๆ แล้วคือ ‘กรอบคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset)’ ซึ่งเน้นเรื่อง ‘ความพยายาม’ หรือ ‘พรแสวง’ ในการฝึกซ้อมพัฒนาปรับปรุงความสามารถของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถึงแม้ว่า ‘ต้นทุน’ ทางร่างกายที่ได้ติดตัวมาโดยกำเนิดจะด้อยและต่ำกว่าคนทั่วไป
ตัวอย่างเช่น คนตัวเตี้ยมีรูปร่างเล็กนั้นไม่เหมาะกับการเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล แต่ก็มีตำนานในอดีตของนักกีฬาที่ชื่อ ไมเคิล จอร์แดน หรือนักกีฬามวยที่มีรูปร่างเล็กปล่อยหมัดได้สั้นๆ แต่สุดท้ายก็มีตำนานของนักชกมวยที่ชื่อว่า มูฮัมหมัด อาลี ซึ่งได้ถูกยอมรับว่าเป็นนักมวยที่สามารถใช้ ‘สมองกับร่างกาย’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการพยายามเอาชนะคู่ต่อสู้ได้เมื่ออยู่บนสังเวียนการต่อสู้ ถึงแม้จะมีรูปร่างที่เป็นรองอย่างมากก็ตาม
ในทางกลับกันนักกีฬาที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ถึงแม้จะมีแต้มต่อในการที่มี ‘พรสวรรค์’ ผ่านคำที่ว่า ‘เก่งแต่กำเนิด’ โดยมีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบในการเป็นนักกีฬา แต่ถ้าขาดกรอบคิดของผู้ชนะ ไม่พยายามฝึกซ้อมอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือมองว่าถ้าทำผิดพลาดเมื่อไหร่ก็กลัวการถูกตำหนิจากคนรอบข้าง เลยกลัวที่จะพัฒนาสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ เพื่อใช้ในการแข่งขันเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน
คำว่า ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ น่าจะมีความหมายสอดคล้องกับคำสุภาษิตโบราณที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ ถึงแม้จะมีความด้อยทั้งทางกายภาพ สังคมหรือทางเศรษฐกิจโดยกำเนิดเป็นจุดเริ่มต้น เช่น ร่างกายพิการ พ่อแม่หย่าร้าง ครอบครัวฐานะยากจน เป็นต้น แต่ก็ไม่ย่อท้อและสิ้นหวังกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว โดยพยายามแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้และเหมาะสมที่สุดกับความต้องการทางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณของชีวิตตัวเอง
EP038
Kenko2022
2023/06/12
พัฒนาตัวเอง
ปรัชญา
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย