13 มิ.ย. 2023 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น

STARK : ปัญหาของมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี

  • คณะกรรมการบริษัท
ในโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียน มีการกำหนดให้มีเครื่องมือหลายชิ้นในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นกรรมการอิสระมาตั้งแต่ปี 2542 เพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบภายใน และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี แถมยังมีการส่งเสริมให้คณะกรรมการต้องผ่านการอบรมจากสมาคมกรรมการบริษัทไทย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการก็ได้ทำงานย่อหย่อน ไม่ได้ตรวจพบความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบันทึกการประชุมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างเคสของคุณพิธา หรือความเป็นไปได้ในการทุจริตของบริษัท STARK เป็นต้น ซึ่งตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.​ 2535 ได้กำหนดความรับผิดทางอาญา หากกรรมการคนใดกระทำการฝ่าฝืนต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหลักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เช่น
1
  • กรรมการของบริษัทใดโดยทุจริตแสดงออกซึ่งความเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องฐานะการเงินของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
  • กรรมการของบริษัทใดกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสดงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
  • กรรมการของบริษัทใดทำให้เปลี่ยนแปลงหรือปลอมบัญชี เอกสารของบริษัทหรือลงความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของบริษัท เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้น มาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้สิทธิแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นที่จะฟ้องร้องกรรมการเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือเพื่อระงับการกระทำดังกล่าว
กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องกรรมการ และเงื่อนไขเกี่ยวขอบเขตแห่งการใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการที่กรรมการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท (มาตรา 85 วรรคสอง (1) ) หรือ การที่กรรมการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนและอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท (มาตรา 85 วรรคสอง (2) )
  • การตรวจสอบบัญชี
บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบบัญชีจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย รวมไปถึงการส่งงบการเงินรายงบการเงินไตรมาส 1 ​​ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ฉบับสอบทาน ภายใน 45 วัน นับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส และงบการเงินประจำรอบปีบัญชี ฉบับตรวจสอบ
ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจสอบบัญชีมีความรับผิดชอบต่อการตรวจสอบบัญชี และต้องมีหลักประกันในความรับผิดต่อบุคคลที่ 3 ตามกฎกระทรวงที่ออกในปี พ.ศ.​ 2553 และถึงแม้หลักประกันของบริษัทอาจจะไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ.​ 2547 ยังกำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และหุ้นส่วนต้องมีความรับผิดชอบในความเสียหายต่อบุคคลที่ 3 ตามไปด้วย
ในเวลานี้ ถึงจะไม่ทราบว่า เกิดอะไรขึ้น แต่การที่ผู้สอบบัญชียังไม่ได้รับรองงบการเงินประจำปี 2565 ก็แปลว่าอาจจะพบเจอความผิดปกติอะไรบ้าง หากมีการตรวจพบจริง ผู้สอบบัญชีชุดก่อนหน้าที่เคยตรวจสอบบริษัทมานานหลายปี และไม่เคยตรวจพบความผิดปกติใดๆ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทางผู้ถือหุ้น และผู้เสียหายมีโอกาสที่จะกล่าวโทษว่าผู้สอบบัญชีอาจจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มที่ และฟ้องร้องให้รับผิดชอบร่วมกับบริษัทได้
อย่างไรก็ดี ถึงเวลานี้แล้ว การที่ผู้เสียหายจะเฝ้ารองบการเงิน ส่วนตัวผมกลับคิดว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่ากับการที่จะต้องมีทีมงานใหม่ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลเข้าสืบสวนเส้นทางการเงินว่า ทรัพย์สินของบริษัทหายไปไหน ทำการติดตาม และอายัดทรัพย์สินเหล่านั้นให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้น ทรัพย์สินเหล่านั้น นับวันคงจะยิ่งติดตามเอากลับมาได้ลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ
2
โฆษณา