13 มิ.ย. 2023 เวลา 01:56 • สุขภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้า

โรคต้อหิน ภัยเงียบที่อาจทำให้ตาบอดได้

โรคต้อหิน เป็นโรคของดวงตาที่พบได้บ่อย มีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทตาถูกทำลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถาวร ทำให้การมองเห็นลดลง หรือรุนแรงจนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น
โรคต้อหินสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะมีอาการ หรือสังเกตเห็นความผิดปกติในผู้สูงอายุที่อาการเป็นมากแล้ว ในคนอายุน้อยมักจะไม่ทราบว่าตนเองป่วย เนื่องจากจะไม่มีอาการ หรือยังไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ ทำให้การมองเห็นใกล้เคียงกับหรือยังค่อนข้างปกติ แต่มีความดันตาที่เพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ หรือเช็คสุขภาพประจำปี ซึ่งหากรอจนตามัวจึงมักจะสายเกินไป
โรคต้อหินจึงถือเป็นภัยเงียบ ดังนั้นหากมีอาการสงสัย หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
ต้อหิน คืออะไร?
โรคต้อหิน (glaucoma) เป็นภาวะความผิดปกติของขั้วประสาทตาจากการที่เซลล์ประสาทตาถูกทำลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างถาวร จนทำให้ลานสายตาค่อย ๆ แคบลง โดยเริ่มจากทางด้านข้างเข้ามาบริเวณตรงกลางของดวงตา ทำให้มีการมองเห็นลดลง หรือรุนแรงจนถึงสูญเสียการมองเห็นไปถาวร
โรคต้อหินเกิดจากอะไร?
โรคต้อหินสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญคือ ความดันลูกตาที่สูง จนทำให้ลูกตาแข็งคล้ายหิน จึงเป็นที่มาของชื่อโรคต้อหิน และก็มีโรคต้อหินชนิดที่ความดันตาไม่สูง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจาก เส้นประสาทตามีการเสื่อมตัวลงอย่างช้า ๆ จากภาวะการไหลเวียนของเลือดไม่สมบูรณ์ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน ความดัน และไมเกรน ซึ่งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของต้อหินมักเกิดจากสาเหตุดังนี้
- ความเสื่อมตามวัย จะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบได้ในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคต้อหิน
- ในคนที่สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ (สายตาสั้นเกิน 600 หรือสายตายาว เกินกว่า 400 )
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
- เคยเป็นโรคทางตามาก่อน เช่น ภาวะตาติดเชื้อ หรืออักเสบในตา หรือโรคต้อกระจกที่ปล่อยทิ้งไว้นานจนเลนส์ตาสุกหรือบวม
- เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา
- มีประวัติใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
โรคต้อหินมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคต้อหินแบบเรื้อรัง
- ในช่วงแรกผู้ป่วยโรคต้อหินจะไม่มีอาการใด ๆ เลย การมองเห็นจะเป็นปกติ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่จะมีความดันตาที่เพิ่มขึ้น โดยไม่มีอาการแสดงอื่น ๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคต้อหินจะตรวจพบได้เมื่อเข้ารับตรวจสุขภาพตาประจำปี
- จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ความดันตาที่เพิ่มขึ้นจะไปทำลายขั้วประสาทตา ทำให้เกิดเป็นอาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือน เช่น เริ่มรู้สึกเดินชนสิ่งของบ่อย ๆ ล้มบ่อย เกิดอุบัติเหตุรถชนบ่อยขึ้น เหล่านี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก โดยอาการของโรคต้อหินจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นปี ๆ หรือ หลาย ๆ ปี
- ลานสายตาผู้ป่วยต้อหินจะค่อย ๆ แคบลง มองเห็นได้ไม่ชัดเจน
- อาการจะเกิดขึ้นกับตาทั้ง 2 ข้าง โดยข้างใดข้างหนึ่งจะเป็นเยอะกว่า
อาการต้อหินชนิดเฉียบพลัน
หากมีอาการของโรคต้อหินแบบเฉียบพลันดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างรีบด่วน
- ปวดตาทั้ง 2 ข้าง โดยอาจมีอาการปวดตาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า
คลื่นไส้ อาเจียน
- ตาแดง
- ปวดหัว
- ปวดเบ้าตาบ่อย ๆ
- เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ
- ตามัวลง คล้ายมีหมอกมาบัง
โรคต้อหินในผู้สูงอายุ
โรคต้อหินในผู้สูงอายุจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความจำกัดด้านการมองเห็น โดยจะมีลานสายตาแคบลง มองเห็นได้ไม่ชัดเหมือนเดิม ไปจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร การมองเห็นของผู้สูงอายุต้อหินจะค่อย ๆ ลดลง ส่งผลทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุนั้นทำได้ลำบากมากขึ้น เช่น การขับรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถยนต์ตอนกลางคืน การทำอาหาร หรือแม้กระทั่งการเดิน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคต้อหินจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มสูงมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เป็นโรคต้อหิน
ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรได้เข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการรักษาความดันตาให้อยู่ในระดับปกติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา ชะลอความเสื่อมของดวงตา และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โรคต้อหินนับว่าโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว โดยผู้ป่วยจะค่อย ๆ สูญเสียลานสายตาจากบริเวณรอบนอกเข้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว ตาเบลอ มองเห็นภาพไม่ชัด และหากปล่อยไว้จนอาการรุนแรง จะทำให้ตาบอดถาวรในที่สุด
การตรวจพบและได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการควบคุมอาการป่วยที่ดีที่สุด เนื่องจากโรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นหากตรวจพบและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถรักษาลานสายตาให้เสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีกว่าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรง
ผู้เขียนบทความ : นพ.ดิษณ์กร คชไกร
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ด้วย VDO call
คลิกเลย https://hubs.li/Q01SfbSg0
#โรงพยาบาลพระรามเก้า
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
โฆษณา