Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anuj
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2023 เวลา 02:28 • การเมือง
การชิงความเป็นใหญ่ของ 2 ค่าย(2)
ตอนจบ: ความเสี่ยงสูง อันตรายยิ่ง จะทำอย่างไรดี
ประเทศตลาดเกิดใหม่ประเทศแรกที่ประกาศทวงความเป็นอิสระจากสหรัฐและตะวันตกอย่างเป็นผลได้แก่รัสเซีย (ปี 2007) เพราะว่ารัสเซียเป็นประเทศใหญ่ ทรัพยากรมาก มีคลังอาวุธนิวเคลียร์มหึมา เคยเป็นจักรวรรดิใหญ่ เป็นอภิมหาอำนาจมาก่อน หลังจากประกาศท้าทายแล้ว ก็ยังสามารถรุกคืบ ไม่ได้ถูกรุมปิดล้อมเหมือนประเทศเล็กกว่าอย่างอิหร่าน เป็นต้น การรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ได้แก่การผนวกดินแดนแหลมไครเมียของยูเครน แต่การรุกขนาดใหญ่กว่าโดยก่อสงครามในยูเครน มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น พาทั้งโลกเสี่ยงตามไปด้วย
ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ประกาศตัวเป็นอันดับต่อมาได้แก่จีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เป็นชาตินักค้าขาย นายช่างและนักประดิษฐ์มาตั้งแต่โบราณ จนถึงขณะนี้ ในปี 2013 จีนได้ประกาศโครงการ “แถบและทาง” ที่ขีดเส้นเขตแดนผลประโยชน์ของตน ครอบคลุมทั่วเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทั้งขีดเส้นประ 9 เส้นในบริเวณทะเลจีนใต้ เป็นเหมือนเส้นแดง ห้ามใครล้ำเส้นเข้ามา
เห็นกันว่า จีนนั้นมีน้ำหนักหมัดที่หนักหน่วงกว่ารัสเซียเสียอีก การปะทะกันระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในยูเครนว่าดุเดือดแล้ว ก็ยังไม่รุนแรงเท่าการปะทะกันระหว่างสหรัฐกับจีน
การปะทะกันระหว่างค่ายทั้งสองแสดงว่าโลกาภิวัตน์แบบเก่าได้สิ้นสุดลงแล้ว การเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของสหรัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อความสะดวก ขอกำหนดให้ปี 2018 เป็นจุดพลิกผันของโลกาภิวัตน์และการแย่งชิงความเป็นใหญ่ของ 2 ค่าย โดยกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญดังต่อไปนี้คือ
1) เดือนมกราคม 2018 ทรัมป์เปิดฉากการทำสงครามการค้ากับจีน ก่อนหน้านั้นในปลายปี 2017 ระบอบทรัมป์ได้ออกยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ ถือว่า จีนและรัสเซียเป็น “อำนาจท้าทายใหม่” (Revistionist Power) ที่สหรัฐต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้น “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” ที่ออกในสมัยไบเดน ปลายปี 2022 ยิ่งระบุชัดเจนว่า สหรัฐมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างพันธมิตรพลังประชาธิปไตยต่อสู้กับจีนและรัสเซียที่ใช้ระบอบรวบอำนาจ
2) ทางฝ่ายจีนและรัสเซียได้เปิดฉากท้าทายอำนาจของสหรัฐ หลายครั้งทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น คือ ปี 2014 รัสเซียผนวกดินแดนแหลมไครเมีย ต่อมาได้ก่อสงครามรุกรานยูเครน จีนในปี 2013 ได้ประกาศโครงการแถบและทาง และมีการเคลื่อนไหว สร้างเขตผลประโยชน์ของตนอย่างครึกโครม ปี 2015 ประกาศแผน “ทำในประเทศจีน 2025” หวังครอบครองตลาดการผลิต การค้า และการเงินโลก
3) ในเดือนพฤศจิกายน 2018 การผลิตน้ำมันดิบของโลกขึ้นสู่ขีดสูงสุด อยู่ที่ 82.5 ล้านบาเรลต่อวัน นับแต่นั้นมาก็ไม่เคยสูงเท่า การผลิตน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจนถึงระดับนี้ได้ ที่สำคัญเกิดการการผลิตที่เพิ่มขึ้นในน้ำมันในหินดินดาลของสหรัฐ โดยใช้เทคนิคแฟรกกิ้ง
การผลิตน้ำมันดิบถึงขีดสูงสุดดังกล่าวถือเป็นตัวแทนของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว และหายนะภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทั้งหลาย
4) การค้าโลกมีการไหวตัวรุนแรง คล้ายกับการไหวตัวของราคาน้ำมัน ตั้งแต่ปี 2012 อัตราขยายตัวของการค้าโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด การไหวตัว ยิ่งรุนแรงขึ้นอีกจากการทำสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และการะระบาดใหญ่ของโควิด-19 การค้าของโลกปี 2022 พุ่งสูง แต่ในปี 2023 กลับจะทรุดลง การไหวตัวรุนแรงนี้ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของโลกาภิวัตน์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง จากการปะทะกันของสองค่าย
การเสื่อมถอยของสหรัฐ-นาโต้ การรุ่งเรืองของจีนและรัสเซีย สร้างความหวังน้อยๆขึ้นว่า จะทำให้เกิดโลกหลายขั้วอำนาจ ทั้งโลกเข้าสู่ความสงบสุข ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่ต้องทำตามคำบงการของสหรัฐและตะวันตกเหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่เมื่อเกิดการปะทะจริงจังระหว่างสองค่าย จึงได้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น โลกยังคงไม่สงบ ความไร้ระเบียบดูเหมือนยิ่งขยายตัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ด้านบวกของโลกาภิวัตน์ถูกลดทอนลง ขณะที่ก็ไม่สามารถแก้ด้านลบของมันได้
โลกหลายขั้วอำนาจ นอกจากค่ายทั้งสองแล้ว ที่มองเห็นคือกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะชาติอาหรับ นอกจากนี้มีอินเดีย และประเทศอื่นที่เหลือมีกลุ่มประเทศอาเซียนที่เริ่มขัดแย้งกันมากขึ้นเป็นต้น ขั้วอำนาจที่มากขึ้นนี้ทำให้การควบคุมของศูนย์กลางเป็นได้ยากขึ้น เช่นจู่ๆก็เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศซูดาน ที่อาจลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้
แนวคิดด้านภูมิศาสตร์การเมือง ที่เคยเห็นว่าน่าจะลดความสำคัญลงจากกระแสโลกาภิวัตน์ กลับเป็นที่ยอมรับและพูดถึงมากขึ้น จากการเฟื่องฟูของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และความสำคัญของแร่ธาตุพลังงาน ทุกพื้นที่สามารถกลายเป็นเขตแดนผลประโยชน์มหาอำนาจ และเป็นสมรภูมิได้ทั้งสิ้น ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
สงคราม โรคระบาด ความอดอยาก การชะงักงันทางเศรษฐกิจยาวนาน หายนะภัยทางธรรมชาติ สภาพที่ต้องอพยพลี้ภัยด้วยสาเหตุต่างๆ จะกัดกร่อนพลังชีวิต ของผู้คนได้มาก
พบว่าในการแย่งชิงความเป็นใหญ่ของมหาอำนาจ ชาติที่สามารสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรได้เป็นปึกแผ่นกว่า ย่อมได้เปรียบชาติที่ปิดตนเองในกรอบของรัฐชาติ ชนเผ่า ชนชั้นและเชื้อชาติของตน และเป็นผู้ชนะ ตัวอย่างดูได้จากกรณีสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และในสงครามเย็น
จะทำอย่างไรดี
เมื่อเกิดวิกฤติและมหันตภัย ผู้คนทั้งหลายย่อมปฏิบัติตัวเป็นต่างๆและหลากหลาย อาจจำแนกเป็น 5 กลุ่มดังนี้คือ
1) กลุ่มหนึ่งต้องการปฏิวัติ ซึ่งในขณะนี้มีหลายรูปแบบ ไม่มีเพียงการใช้กำลังอาวุธเข้ายึดอำนาจรัฐ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมด้วย เป็นต้น
2) กลุ่มปฏิรูปต้องการการเปลี่ยนผ่านที่ยอมรับกันได้ ปฏิบัติได้ และได้ผลตามการเรียกร้องของสถานการณ์ กลุ่มปฏิรูปนี้ยิ่งหลากหลายในด้านต่างๆ เช่น ทางสิ่งแวดล้อมเสนอให้เปลี่ยนการใช้แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเห็นเชื้อเพลิงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในทางเศรษฐศาสตร์เช่น การเสนอลัทธิไม่โต และเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น ในทางการเมืองเสนอให้มีการกระจายอำนาจ
3) กลุ่มรักษาสถานะเดิม เห็นว่าควรรักษาสถานะเดิม เพราะที่เป็นอยู่ก็ถือว่าดีแล้ว เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอาจเกิดความวุ่นวายหรือแย่กว่า กลุ่มรักษาสถานะเดิมสามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย
กลุ่มย่อยหนึ่งเป็นพวกรักษาสถานะเดิมเชิงบวก เป็นพวกขวาเก่าหรือย้อนยุค ปรากฏทั่วอยู่ทั่วโลก เช่นลัทธิทรัมป์ในสหรัฐ อีกพวกหนึ่งเป็นกลุ่มรักษาสถานะเดิมเชิงลบ ปรากฏไม่นานนี้เอง แต่ก็ก่อความสับสนได้หากมีการปฏิบัติกว้างขวาง กลุ่มนี้เห็นว่าการพยายามรักษาสถานะเดิม มีแต่จะเร่งให้ระบบเก่าเสื่อมถอยเร็วขึ้น ดังนั้นควรยุส่ง ไม่ต้องต่อต้าน
4) กลุ่มรั้งรอ มีอยู่จำนวนมากด้วยกัน เช่น ก) กลุ่มนั่งดูสถานการณ์บนรั้ว ไม่ยอมเข้าข้างใคร ข) กลุ่มฉวยโอกาสรอเข้าฝ่ายได้เปรียบ 3) กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ เนื่องจากความไม่แน่นอนสูง ข้อมูลไม่พอเพียง
5) กลุ่มเตรียมพร้อม มีตั้งแต่ระดับสูงจนถึงรากหญ้า เป็นปฏิบัติการกลุ่มเล็กเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและอันตรายที่คาดไม่ถึง มีเว็บไซด์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมจำนวนมาก
สำหรับบุคคลทั่วไปคือการไม่ประมาท สนุกแต่พอควร ไม่เพลิดเพลินจนเกินไป ไม่กลัวจนเกินเหตุ เตรียมพร้อมทางวัตถุเพื่อความอยู่รอด เตรียมพร้อมทางจิตใจเพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ไว้เป็นจุดตั้งต้น
ภาพประกอบบทความโดย กันต์รพี โชคไพบูลย์
1 บันทึก
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย