13 มิ.ย. 2023 เวลา 13:16 • การศึกษา

Theory of Mind

วันหยุดนี้ครูนึกถึง Theory of Mind ในการทดลอง Sally-Anne Task* และอยากนำมาเล่าแลกเปลี่ยนกันถึงพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
ในการศึกษา Sally-Anne Task ได้ให้เด็กเล็กนั่งดูเหตุการณ์ต่อไปนี้ (เล่าแบบคร่าวๆนะคะ)
เด็กผู้หญิงสองคนชื่อแซลลี่และแอนนั่งเล่นตุ๊กตา แซลลี่มีตะกร้าและผ้าคลุม แอนมีกล่อง
แซลลี่นำตุ๊กตาใส่ตะกร้าแล้วนำผ้าคลุมไว้ แล้วเดินออกจากห้องไป จากนั้นแอนก็นำตุ๊กตาออกมาจากตะกร้าแล้ววางในกล่อง และคลุมผ้าตะกร้าไว้เหมือนเดิม
คำถามคือ
"เมื่อแซลลี่กลับมาในห้อง จะมองหาตุ๊กตาจากที่ใด”
เด็กเล็กแทบทั้งหมดตอบว่า “หาจากในกล่อง”
ในขณะเดียวกัน เด็กที่โตกว่าจะตอบว่า “หาจากในตะกร้า”
เด็กเล็กจะยังคงมองสถานการณ์จากที่ตนเห็น แต่เด็กโตขึ้นจะค่อยๆเข้าใจความคิด ความเชื่อ อารมณ์ในมุมมองของคนอื่น และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของ empathy
ทฤษฎีนี้บอกอะไรเรามากมาย – เด็กเล็กจึงต้องการประสบการณ์คุณภาพ, พัฒนาการนี้สำคัญในการเติบโตมาเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจคนอื่น, เด็กไม่สามารถเลือกและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลรอบคอบ, เด็กเล็กไม่สามารถรักษากติกาได้ 100% แต่นั่นไม่ใช่เพราะเขาไม่เคารพกฎหรือไม่รู้จักเคารพผู้อื่น แต่นั่นคือส่วนหนึ่งในพัฒนาการของเขา เขายังมองความคิดคนอื่นและประมวลสถานการณ์ในมุมของคนอื่นไม่ออก เราจึงมีหน้าที่มอบประสบการณ์คุณภาพเพื่อส่งเสริมพัฒนาการนี้ให้เกิด
เด็กอาจจะตัดต้นไม้และปลูกใหม่ได้ทันทีในเกม การทำอาหารอาจจะง่ายดายเพียงกดปุ่มบนจอ เด็กเล็กจะรับเอาไป ในสมองของเด็กเล็กไม่สามารถแยกจริงหลอกได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ เหล่านี้บั่นทอนพัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development) และส่งผลเสียต่อพัฒนาการอื่นๆต่อไป
และนี่คือ Theory of Mind ในมุมของครู ทุกวันนี้นั่งดูเด็กสามขวบคุยกันคนละเรื่องแต่ก็คุยได้นานมาก วันก่อนมีเด็กคนหนึ่งเล่าเรื่องทางช้างเผือกและเด็กอีกคนเล่าว่าไปเที่ยวปางช้างมา คุยเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน เอ็นดูจริงๆ
*โดย Simon Baron-Cohen, Alan M. Leslie, and Uta Frith (1985)
#montessoriguidesdiary
#บันทึกครูมอนเตสซอรี
โฆษณา