13 มิ.ย. 2023 เวลา 13:17 • สัตว์เลี้ยง

🐰 สายพันธุ์กระต่ายยอดนิยมในเมืองไทย 🐰

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนส่วนใหญ่หันมานิยมเลี้ยงกระต่ายกันมากขึ้น โดยเฉพาะกระต่ายที่มีขนาดตัวเล็กและมีสีขนที่สวยงาม แต่ก่อนอื่นลองมาดูกันว่ากระต่ายแต่ละตัวนั้น มีสายพันธุ์อะไรกันบ้างที่คนส่วนใหญ่เค้านิยมเลี้ยงกัน
ต้องขอออกตัวก่อนว่า กระต่ายทั้ง 13 สายพันธุ์ที่จะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักนี้ เป็นสายพันธุ์ที่ได้มีโอกาสพบกัน ทำความรู้จักกัน และได้เคยมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันในช่วงเวลาสั้นๆ นะคะ และทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในบทความนี้ เป็นสายพันธุ์ที่ยังสามารถพบเจอได้ในฟาร์มกระต่าย และยังพบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มคนรักกระต่าย
“กระต่ายทุกสายพันธุ์มีความน่ารักและมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป บางสายพันธุ์มีสีขนที่สามารถพบเจอได้มากกว่า 20 เฉดสี ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจรับเลี้ยงกระต่ายได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ”
แต่ไม่ว่าจะถูกใจกับกระต่ายสายพันธ์ุไหน ขอแนะนำว่าควรศึกษาการเลี้ยงกระต่ายก่อนรับเลี้ยงจริง ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำและการทำความเข้าใจธรรมชาติของกระต่ายก็จะช่วยให้ดูแลกระต่ายได้อย่างถูกวิธี เพื่ออายุที่ยืนยาวของกระต่ายที่รับเลี้ยงด้วยนะคะ
สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ
เริ่มกันที่สายพันธุ์แรกกับ “Netherland Dwarf [เนเธอร์แลนด์ดวอฟ]”
คุ้นตากันดีใช่ไหมคะ กระต่ายตัวเล็กที่ใครๆ ก็ชอบเข้าใจและเรียกติดปากว่า “กระต่ายแคระ” จริงๆ แล้วก็ตามนั้นเลยค่ะ แต่ไม่ได้แคระแค่ตัวเล็กนะคะ แต่ “แคะเงินในกระเป๋า” ออกไปเยอะมากเลยทีเดียวค่ะ
ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงศตวรรษที่ 20 กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกระต่ายสายพันธุ์ Polish [โปแลนด์] และ สายพันธุ์ Hermelin [เฮอร์เมลิน] จนให้กำเนิดลูกกระต่ายสีขาวล้วนตาฟ้า [Ruby-Eyed White] จากข้อมูลหนังสือของ Bob D. Whitman เรื่อง "Domestic Rabbits & their Histories" กระต่ายสายพันธ์นี้ได้ถูกนำเข้ามายังประเทศอังกฤษในปี 1984 และแพร่หลายต่อมาในสหรัฐอเมริกา
จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากสมาคมผู้เพาะพันธุ์กระต่ายอเมริกันในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งกระต่ายสายพันธุ์นี้ถือได้ว่าเป็น อัญมณีแห่งกระต่ายสวยงาม [Gem of the Fancy] ด้วยขนาดตัวที่เล็ก เลยกลายเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยงกันมากในยุคต่อๆมานั่นเองค่ะ
สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ
Netherland Dwarf [เนเธอร์แลนด์ดวอฟ] มีขนาดลำตัวกลมกระทัดรัด มีความคล่องตัวสูง น้ำหนักตัวจะอยู่ที่ประมาณตั้งแต่ 7 ขีดแต่ไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม มีลักษณะนิสัยที่ร่าเริง ช่างสงสัย โลกส่วนตัวสูงในบางเวลา บางครั้งชอบสันโดษ ส่วนเฉดสีสำหรับกระต่ายสายพันธุ์นี้มีมากกว่า 20 เฉดสี
และยังมีการพัฒนาสีขนออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเฉดสีที่พบได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นสีขาวล้วนตาฟ้า , สีดำสร้อยเงิน (Black Silver Marten) , สีควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl) , สีดำสร้อยทอง (Black Otter) , สีเชสนัท (Chestnut) , สีชินชิล่า (Chinchilla) และกลุ่มสีเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปนะคะ
Model : คุณป้ามาม่อน
มาต่อกันที่สายพันธุ์ที่มีหน้าตาคล้ายกันมากๆ กับสายพันธุ์ Netherland Dwarf ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัว รูปลักษณ์โดยรวมเหมือนกันยังกับแกะพิมพ์เดียวกันออกมาเลย หน้าตาแบบนี้คือสายพันธุ์โปแลนด์ หรือ โปลิช ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีส่วนในการถูกนำมาร่วมพัฒนากระต่ายสายพันธุ์ Netherland Dwarf ด้วยนั่นเองค่ะ
สายพันธุ์โปแลนด์
ว่ากันว่าในยุคต้นกำเนิดกระต่ายสายพันธุ์โปแลนด์ ถูกพัฒนาให้เป็นกระต่ายสายพันธุ์เนื้อ หลายที่มากล่าวกันว่าเป็นกระต่ายที่มีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษราวๆช่วงปี 1800 ซึ่งสายพันธุ์นี้ได้ถูกพัฒนามาจากสายพันธุ์ดัตช์และสายพันธุ์หิมาลัย และพอเข้าสู่ในช่วงปี 1900 สายพันธุ์นี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในตลาดเนื้อโซนยุโรป และในประเทศเบลเยียมเป็นอย่างมาก ด้วยโครงสร้างที่กระทัดรัด มีขนาดเล็ก แต่ว่าเนื้อของสายพันธุ์นี้นั่นอร่อยนุ่มไม่แพ้เนื้ออื่นๆ เลยทำให้เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมเนื้อเป็นอย่างมาก
หลังจากที่มีชาวโปแลนด์ ได้นำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้สู่สหรัฐอเมริกาในปี 1912 ก็ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับจาก American Rabbit Breeders Association (ARBA) ในที่สุด และได้กลายเป็นกระต่ายสวยงามน่าเลี้ยง แทนการถูกค้าเนื้อไปโดยปริยาย
สายพันธุ์โปแลนด์
เห็นขนาดตัวที่เล็กแบบนี้ แน่นอนว่าอ้วนกลมเนื้อเยอะกว่ากระดูก มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักตามมาตรฐานของสายพันธุ์นี้เลยนะคะ และที่ยิ่งน่ารักมากไปกว่านั้น ลักษณะนิสัยโดยรวมค่อนข้างรักสงบอยู่มาก แต่ยังช่างสำรวจและรักพื้นที่ของตัวเองอยู่บ้าง จึงยังได้รับความนิยมสำหรับการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะขนาดตัวที่เล็ก ใช้พื้นที่น้อย ทำให้ดูแลง่ายเป็นพิเศษนั่นเองค่ะ
Model : หนุ่มน้อยเป่าเปา
มาต่อกันที่สายพันธุ์สุดฮิตที่ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก สายพันธุ์นี้พบได้บ่อยถึงบ่อยมากๆ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนค่อนข้างนิยมเลี้ยงกันมากๆ เลย จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าขนปุยหูตกตัวน้อยอ้วนกลม สายพันธุ์นี้มีชื่อว่า “Mini Lop Rabbit [มินิลอป]”
สายพันธุ์มินิลอป
นับว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ ด้วยขนาดตัวที่กระทัดรัด มีใบหูตกที่ชวนให้ดูแปลกตา บวกกับหน้าตาที่ดูน่ารักชวนหลงไหล ก่อนอื่นขอเล่าที่มาของกระต่ายสายพันธุ์นี้กันก่อนนะคะ
ว่ากันว่าในปี 1970 ที่ประเทศเยอรมนี Bob Herschbach ได้พบกับกระต่ายสายพันธุ์ German Big Lop และได้พากระต่ายสายพันธุ์นี้เข้าสู่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับเพื่อน Herb Dyck จนถือกำเนิดกระต่ายที่มีขนาดเล็กลงอย่างสายพันธุ์ Mini Lop นั่นเอง และในปี 1980 กระต่ายสายพันธุ์นี้ก็ได้รับการรับรองจาก American Rabbit Breeders Association (ARBA) อย่างเป็นทางการอีกด้วย
สายพันธุ์มินิลอป
ปัจจุบันสายพันธุ์นี้ยังเป็นที่นิยมเลี้ยงกันเยอะมาก เพราะนอกจากหน้าตาน่ารักและขนาดตัวที่เล็กแล้ว ทำให้ตัดสินใจรับเลี้ยงได้ไม่ยากเลย อีกจุดเด่นสำคัญของกระต่ายสายพันธุ์นี้คือความเป็นมิตร ดูแลง่าย ลักษณะนิสัยไม่ซับซ้อน น้ำหนักโดยรวม ไม่เกิน 2 กิโลกรัม มีอายุราวๆ 8-10 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างยาวนานใกล้เคียงกับน้องหมาน้องแมวกันเลยค่ะ
สำหรับเฉดสีของสายพันธุ์นี้ นับว่ามีมากไม่แพ้กลุ่มสีของกระต่ายสายพันธุ์อื่นเลย ส่วนใหญ่สีที่มักพบเจอบ่อยๆ จะเป็นเฉดสีชินชิล่า (Chinchilla) , สีเชสนัท (Chestnut) , สีส้ม (Orange) และ สีฟรอสตี้ (Frosty) ซึ่งเฉดนี้เป็นเฉดที่มักสะกดสายตาผู้พบเห็น เพราะเป็นสีขาวครีมดูสะอาดตา แต่สีขนใน 1 เส้นจะมีการไล่ระดับสีจากสีขาว สีครีมและสีดำระเรื่อที่ปลายขน ทำให้ขนดูสวยและน่าสนใจต่อผู้พบเห็นด้วยนะคะ
Model : หนุ่มน้อยกงซุน
ต่อด้วยสายพันธุ์ฝาแฝดที่ดูแล้วใกล้เคียงจนแทบแยกไม่ออก และก็เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงกันมากที่สุดอย่างสายพันธุ์ “Holland Lop [ฮอลแลนด์ลอป]”
สายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป
ด้วยความน่ารักน่ากอดทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมมากทั้งในอเมริกาและแถบเอเชีย ในปี 1949 ได้มีการรวมคุณสมบัติหลักของ French Lop และ Netherland Dwarf เข้าด้วยกัน และผสมร่วมด้วยสายพันธ์ุ English Lop แน่นอนว่าเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น และเมื่อคอกแรกถือกำเนิดขึ้น ก็ไม่ประสบผลสำเร็จด้วยยีนที่มีความผิดปกติ
จากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาจนได้เจ้ากระต่ายน้อยหูตกน่ารักน่ากอดอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่นานกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนโดย ARBA อย่างเป็นทางการในปี 1980 ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับความนิยมกันแพร่หลายไปทั่วโลกตั้งแต่นั้นมา
สายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป
ลักษณะของกระต่ายสายพันธุ์นี้ค่อนข้างโดดเด่น ด้วยขนาดตัวที่เล็ก หูตกความยาวจากกรามลงมาไม่เกิน 1 นิ้ว ขาสั้น ลำตัวและหัวกลม มีน้ำหนักส่วนใหญ่ไม่เกิน 1.8 กิโลกรัม ส่วนนิสัยของสายพันธุ์นี้ค่อนข้างโดดเด่นเช่นกัน เพราะนอกจากเป็นมิตรกับผู้คนแล้ว ช่างสงสัย และไม่ค่อยกลัวคนสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายเข้าหาคนก่อน แต่ในกระต่ายบางตัวอาจยังมีความขี้อายและกลัวอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับหวาดกลัว หรือระแวงนะคะ
กระต่ายสายพันธุ์นี้จะมีกลุ่มเฉดสีมากที่สุดถึง 7 กลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม (Pointed White) กลุ่มสีพื้น (Self) กลุ่มสีเฉด (Shaded), กลุ่มอะกูติ (Agouti) กลุ่มสีขาวแต้ม (Broken) และสีอื่นที่แปลกตาและมีพัฒนาเฉดสีออกมาอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นเฉดสีไหน ก็น่ารักน่ากอดหมดทุกสีนะคะ
Model : สาวน้อยน้องจิ๊กโก๋
สายพันธุ์ที่กำลังจะแนะนำต่อไปนี้ เป็นสายพันธุ์ที่หลายคนอาจจะคุ้นตากันอยู่ไม่น้อย เพราะนับว่าเป็นสายพันธุ์ฝาแฝดอีกเช่นกันค่ะ โดยสายพันธุ์นี้จะมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์มินิเร็กซ์ แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ในบางอย่างนะคะ สำหรับสายพันธุ์นี้มีชื่อว่า “Rex” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มินิเร็กซ์” นั่นเอง
สายพันธุ์เร็กซ์
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีความโดดเด่นเป็นที่สุดแห่งความงามคือ “ขนกำมะหยี่” กระต่ายที่มีขนนุ่มฟูคล้ายกำมะหยี่ ทำให้ได้รับการขนานนามมายาวนานว่าเป็น “กระต่ายของราชา” ด้วยขนที่นุ่มฟู เงางามดูหรูหรามากๆ เลย
ช่วงต้นทศวรรษ 1900 ได้ถือกำเนิดกระต่ายสายพันธุ์เร็กซ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยผู้เพาะพันธุ์กระต่ายชาวอเมริกันนามว่า John C. Fehr และ Alfred Zimmerman ได้พา Rex Rabbit ออกอวดโฉมความสวยงามของขนกำมะหยี่ต่อผู้คนเป็นครั้งแรกในงาน Paris International Rabbit Show ในปี 1924 การอวดโฉมครั้งนั้นสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นภายในงานเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นกระต่ายสายพันธุ์นี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกด้วยขนกำมะหยี่ที่เป็นเอกลักษณ์นั่นเอง
สายพันธุ์เร็กซ์
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีขนาดตัวที่จัดอยู่ในระดับกลาง ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไปมีขนาดเท่าน้องแมวโตเต็มวัย มีขนาดหัวกว้าง หนวดหยิก มีใบหูที่ตั้งตรง ขายาวและแข็งแรง พร้อมกับขนที่นุ่มหรูหรา
การดูแลขนของกระต่ายสายพันธุ์นี้จึงไม่ค่อยเป็นปัญหากับผู้เลี้ยงนะคะ แต่ด้วยขนที่ฟูแต่สั้น ทำให้สายพันธุ์นี้ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษที่ไม่ใช่ขนบนลำตัว แต่เป็น “ฝ่าเท้า” เพราะขนที่สั้นทั่วลำตัว ทำให้ขนที่ฝ่าเท้าก็จะมีขนาดที่สั้นไปด้วย เหตุนี้ทำให้อาจเกิดแผลกดทับที่ฝ่าเท้าได้ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยในกระต่ายสายพันธุ์นี้คือ ฝ่าเท้าอักเสบ นั่นเองค่ะ
Model : สาวน้อยมินิ
เอ๊ะ!! หน้าตาคล้ายกันเลย ใช่แล้วค่ะ อีกหนึ่งสายพันธุ์ฝาแฝดของ Rex Rabbit!!
เรียกได้ว่าเป็นแฝดคนละฝา ระหว่างกระต่ายสายพันธุ์ Rex Rabbit ก็คือสายพันธุ์ Mini Rex [มินิเร็กซ์] จะเห็นได้ว่ารูปลักษณ์โดยรวมค่อนข้างเหมือนกัน ด้วยหน้าตาที่มีความละม้ายคล้ายกันมากๆ ทั้งรูปลักษณ์และขนฟูนุ่มเหมือนกัน แต่ที่สุดทั้ง 2 สายพันธุ์ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ด้วยลำตัวที่มีขนาดเล็กลง ค่อนข้างกระทัดรัด และปราดเปรียวขึ้น รวมถึงเฉดสีถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีมากถึง 20 เฉดสีกันเลยทีเดียวค่ะ
สายพันธุ์มินิเร็กซ์
แน่นอนว่ากระต่ายสายพันธุ์ Mini Rex เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ถูกพัฒนามาจากสายพันธุ์ Rex ในรัฐเท็กซัส เมื่อปี 1984 โดย Monna Berryhill ผู้หลงใหลการพัฒนาสายพันธุ์ Rex ผู้ล่วงลับ สายพันธุ์นี้ยังค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับผู้คนอยู่มาก จึงยังได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี 1988 ทาง Berryhill ได้ส่งกระต่ายสายพันธุ์นี้สู่สายตาสาธารณชนอีกครั้ง จนในที่สุดได้รับการยอมรับสายพันธุ์ และยังถูกจัดเป็นอันดับต้นๆ สำหรับการได้รับความนิยมของ ARBA จนถึงปัจจุบันอีกด้วยนะคะ
สายพันธุ์มินิเร็กซ์
Mini Rex เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม และสิ่งที่ทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้โดดเด่นที่สุดนอกจากขนกำมะหยี่แล้ว คือ เฉดสี ซึ่งปัจจุบันมีเฉดสีสำหรับกระต่ายสายพันธุ์นี้มากกว่า 20 เฉดสี โดยเฉดสีที่พบเห็นในปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นสี chinchilla, broken group, Orange สร้างความแปลกตาและแน่นอนว่าทำให้สายพันธุ์นี้ยังได้รับความสนใจไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
Model : หนุ่มน้อยทับบี้
เรายังอยู่กันที่กระต่ายหูตั้งนะคะ และจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “กระต่ายไทย” หรือกระต่ายพื้นบ้านของเราเอง น่ารักไม่เบา เพราะจริงๆ แล้วกระต่ายไทยมีหน้าตาน่ารักไม่แพ้กระต่ายสายพันธุ์อื่นเลย และยังเป็นกระต่ายที่มีโครงสร้างของกระดูกที่แข็งแรงมากๆ อีกด้วย
สายพันธุ์ไทย
ก่อนหน้านี้ หากพูดถึงกระต่ายไทย เรามักจะนึกถึงหน้าตารูปทรงแหลม รูปร่างโปร่งสูง ขาสั้นเรียว ดูมีขนาดตัวโต แต่ปัจจุบันกระต่ายก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายว่า “กลายพันธุ์” จนทุกวันนี้จะเห็นกระต่ายไทยน่ารัก รูปร่างกระทัดรัด มีความคล่องตัวสูง จัดอยู่ในกระต่ายขนาดกลาง มีน้ำหนักราวๆ 1 กิโลกรัม มีนิสัยค่อนข้างรักสงบแต่เป็นมิตรกับผู้คน ไม่หวาดระแวง เลยทำให้สมัยนี้มักจะเห็นกระต่ายไทยได้รับความนิยมมากขึ้นพอๆ กับสายพันธุ์นำเข้ากันเลย
สายพันธุ์ไทย
สำหรับการดูแลกระต่ายไทยส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลคล้ายกับการดูแลกระต่ายสายพันธุ์อื่น เน้นอาหารหลักที่เป็นหญ้าแห้ง หรือหญ้าสดได้นิดหน่อยบางเวลา หรือผักผลไม้ที่เหมาะสำหรับกระต่ายกินได้นะคะ ส่วนผักบุ้งไม่แนะนำเลยจริงๆ ค่ะ
ดังนั้นสรุปแล้วสำหรับกระต่ายไทยที่น่ารักของเรา มีความน่ารักพอๆ กับสายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ ดูแลง่ายด้วยนิสัยเฉพาะของสายพันธุ์นี้ มักจะเป็นมิตรอยู่แล้ว และยังสามารถอยู่ร่วมกันได้กับผู้คนทั่วไปได้ง่าย หรือสามารถเลี้ยงในครอบครัวที่มีเด็กหรือคนชรา ก็จะช่วยฮีลใจไปได้อีกเยอะเลยนะคะ
Model : หนุ่มน้อยเจ้าส้ม
มาต่อกันที่กระต่ายสายพันธุ์นำเข้ากันบ้าง แต่รอบนี้ยังคงอยู่ในกลุ่มหูยาวนะคะ ตามภาพที่เห็นนี้ เป็นกระต่ายสายพันธุ์ที่ชื่อว่า “Ducth” หรือ “ดัตช์” เรียกอีกอย่างว่า “Hollander หรือ Brabander” เป็นกระต่ายจากเชื้อสายหรือลูกหลานของ Petite Brabançon กระต่ายสายพันธุ์จากประเทศเบลเยียม ภูมิภาค Brabant ใน Flanders
สายพันธุ์ดัตช์
เดิมทีกระต่ายสายพันธุ์ดัตช์มีต้นกำเนิดในประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งเรียกอีกชื่อว่ากระต่ายฮอลแลนเดอร์ ในยุคนั้นกระต่ายดัตช์ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากในตลาดค้าเนื้อสัตว์ ต่อมาในช่วงปี 1830 กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำเข้ามายังประเทศอังกฤษ และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาจนเข้าสู่ช่วงปี 1900 ด้วยความโดดเด่นของลายบนตัว และลักษณะในส่วนของนิสัยที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น จึงทำให้ได้รับการยอมรับจาก American Rabbit Breeders Association (ARBA) ในปี 1910 อย่างเป็นทางการ
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีความโดดเด่นที่ลายบนตัวที่ชัดเจน จุดสังเกตุที่ดึงดูดผู้คนไม่ว่าจะเป็นหน้ากากบนใบหน้า หรือสีขนตัดกลางลำตัวคล้ายใส่เสื้อผ้า หรือใส่กางเกง ทำให้สร้างการจดจำได้ง่าย ด้วยขนาดตัวที่สมส่วน ทำให้โครงสร้างของกระต่ายสายพันธุ์นี้ดูสวยงามสะดุดตาต่อสายตาผู้คนเป็นอย่างมาก เมื่อเข้าสู่ในช่วงโตเต็มวัย จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 กิโลกรัม ค่อนข้างเป็นมิตรและมีความว่องไว มีความฉลาดและเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตได้เร็ว
สายพันธุ์ดัตช์
ด้วยภาพรวมเหล่านี้ทำให้กระต่ายดัตช์ ออกจากตลาดค้าเนื้อสัตว์ และก้าวเข้าสู่วงการกระต่ายสวยงามจนได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันกันเลย
และทุกวันนี้ในประเทศไทย ยังสามารถพบเห็นกระต่ายสายพันธุ์นี้จากฟาร์มกระต่ายได้ทั่วไป ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวลือว่าจะมีการยุติการแพร่สายพันธุ์ดัตช์ในประเทศไทย เนื่องจากค่อนข้างล้นตลาดสัตว์เลี้ยง แต่เพราะยังเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอยู่มาก ข่าวลือนี้ก็เลยกลายเป็นเพียงแค่ข่าวลือนะคะ แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าสายพันธุ์นี้ค่อนข้างฉลาดและปรับตัวง่าย แค่ลักษณะนิสัยก็ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยากที่รับเลี้ยงแล้วนะคะ
Model : หนุ่มน้อยมารวย
ความสง่างามทะลุกล้องกันเลยทีเดียว กับกระต่ายสายพันธุ์ Lionhead Rabbit สายพันธุ์ที่มีแผงคอคล้ายกับสิงโตเจ้าป่า จะนั่งหรือจะนอนนิ่งๆ ก็ดูสง่างามจริงๆ ค่ะ
สายพันธุ์ไลอ้อนเฮดท์
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีส่วนผสมที่ลงตัวจากกระต่ายสายพันธุ์ Swiss Fox และ สายพันธุ์ Netherland Dwarf ซึ่งหลังจากการผสมสายพันธุ์แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกระต่ายที่มีขนยาวบริเวณแผงคอคล้ายกับสิงโต ซึ่งแผงคอจะมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบแผงคอคู่นะคะ แผงคอแบบเดี่ยวจะสังเกตุได้ง่ายด้วยเครื่องหมาย V ตรงด้านหลัง เห็นได้ชัดในช่วงวัยเด็ก และอาจลดลงเมื่อโตเต็มวัย แต่สำหรับแผงคอคู่นอกจากส่วนหัวแล้ว อาจมีให้เห็นส่วนของช่วงตัวหรือขาหลังด้วยเช่นกันค่ะ
ต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้ได้ถูกเริ่มต้นพัฒนาจากประเทศฝรั่งเศสและในเบลเยียม หลังจากนั้นสายพันธุ์นี้ก็ได้ถูกนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1990 โดยได้มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับสายพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 2013 จากทางสมาคมผู้เพาะพันธุ์กระต่ายอเมริกัน (ARBA)
สายพันธุ์ไลอ้อนเฮดท์
กระต่ายสายพันธุ์นี้นับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยแผงคอคล้ายสิงโตที่โดดเด่น ดังนั้นจีงไม่ยากที่จะได้รับการยอมรับสายพันธุ์ รวมกับขนาดตัวที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป น้ำหนักตัวโดยรวมของสายพันธุ์นี้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 กิโลกรัม ในส่วนของลักษณะนิสัยส่วนตัวที่โดดเด่นคือสายพันธุ์นี้ไม่หวาดระแวง ไม่ซับซ้อน ค่อนข้างมีความรักสงบและเป็นมิตร ทำให้เข้ากับผู้คนได้ง่าย กลายเป็นเจ้าป่าหน้ากระต่ายที่สวยสง่าสมกับหน้าตาจริงๆ ค่ะ
Model : หนุ่มน้อยปุกปุย
มาต่อกันที่อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กน่ารัก น่ากอดไม่แพ้กับสายพันธุ์อื่นๆเลย ขอแนะนำกระต่ายสายพันธุ์ “Teddy Dwerg” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “เท็ดดี้แบร์” เท่าที่สืบค้นข้อมูลพบว่า สายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในประเทศเยอรมนี ถูกพัฒนาสายพันธุ์ต่อจากกระต่ายสายพันธุ์ “Angora” หลังการพัฒนาสายพันธุ์ จะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยสายพันธุ์นี้ได้รับยีนที่แตกต่างกันในเรื่องขนและขนาดที่เล็กกระทัดรัด ขนยาวเฉพาะส่วน ลักษณะนิสัยค่อนข้างรักสงบและอ่อนโยนมากๆ แต่มีความฉลาดในตัวนะคะ
สายพันธุ์เท็ดดี้แบร์
เนื่องจากสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีข้อมูลการค้นพบสายพันธุ์ไม่นานนัก จึงกลายเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
ในปี 2012 กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากๆในประเทศสเปน สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ แต่ด้วยสายพันธุ์นี้มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างเฉพาะในส่วนของขนยาวเท่านั้น ทำให้ภาพรวมในส่วนอื่นๆ ดูคล้ายกับสายพันธุ์อื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และประกอบกับสายพันธุ์ที่ยังไม่นิ่งมากนัก จึงทำให้กลายเป็นแค่สายพันธุ์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยงเพียงเท่านั้น และในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการรับรองสายพันธุ์จากสมาคมผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระต่ายแต่อย่างใดนะคะ
สายพันธุ์เท็ดดี้แบร์
ปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นกระต่ายสายพันธุ์นี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้แพร่ขยายมากนัก เนื่องจากขนที่อาจทำให้ดูแลยากอยู่บ้าง เลยยังไม่เป็นที่สะดุดตาหรือสร้างความตื่นเต้นกับผู้คนมากนัก แต่แน่นอนว่าสำหรับคนที่รักกระต่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ก็น่ารักน่าเลี้ยงทุกสายพันธุ์จริงไหมคะ
Model : หนุ่มน้อยเทา
ใครเคยผ่านตากับกระต่ายขนยาวแบบนี้บ้างเอ่ย? กระต่ายสายพันธุ์นี้มีชื่อสายพันธุ์ว่า “Angora Rabbit” ภาษาไทยเรียกว่า แองโกล่า กระต่ายสายพันธุ์นี้โดดเด่นด้วยขนที่มีลักษณะยาวมาก ขนนุ่มฟูและมีความพริ้วไหวมากๆ ได้รับฉายาว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีขนยาวที่สุดในโลกด้วยนะคะ
สายพันธุ์แองโกล่า
Angora Rabbit ถือกำเนิดมาจากประเทศตุรกี เมืองแองโกล่า ราวๆ ปี 1700 ของยุคสมัยโรมัน ว่ากันว่าเป็นกระต่ายสายพันธุ์เก่าแก่สายพันธุ์หนึ่งที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว และเมื่อถูกนำเข้ามายังประเทศฝรั่งเศสในปี 1723 กระต่ายสายพันธุ์นี้ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและมีความสง่างาม จึงกลายเป็นกระต่ายที่ราชินี Marie Antoinette ทางโปรดปรานเป็นอย่างมากอีกด้วย
ในปี 1900 กระต่ายสายพันธุ์แองโกล่า ได้ถูกนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกา และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่องจนสามารถจำแนกสายพันธุ์ออกมาได้รวมทั้งหมด 5 สายพันธุ์ อาทิ English Angora , French Angora , Satin Angora , Giant Angora และ German Angora และในปัจจุบันกระต่ายแองโกล่า ยังได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีทั้งหมดราวๆ 11 สายพันธุ์ และใน 11 สายพันธุ์นี้มี 4 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก American Rabbit Breeder's Association (ARBA) เรียบร้อยแล้วด้วยนะคะ
สายพันธุ์แองโกล่า
โดยรวมกระต่ายสายพันธุ์แองโกล่า มีความเหมือนกันในเรื่องของขนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์สำหรับสายพันธุ์นี้ ทำให้กระต่ายแองโกล่า ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับผู้คนเสมอมาจนถึงยุคปัจจุบันนั่นเอง
กระต่ายแองโกล่า มีลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยขนที่ยาวสวย นุ่มฟู สร้างความสง่างามและอ่อนโยนแล้ว ยังมีลักษณะนิสัยที่โดดเด่นด้วยความรักสงบและนิ่งเงียบอย่างมีชั้นเชิง ยิ่งทำให้สายพันธุ์นี้ดูโดดเด่นและน่าสนใจในกลุ่มผู้คนมากขึ้น กระต่ายแองโกล่าเป็นกระต่ายที่จัดอยู่ในกลุ่มกระต่ายขนาดใหญ่ มีน้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัมเมื่อสมบูรณ์เต็มที่ มีอายุขัยถึง 12 ปี นับว่าเป็นอายุขัยที่ยาวนานกว่ากระต่ายสายพันธุ์อื่นด้วยนะคะ
Model : สาวน้อยถ้วยฟู
ต้องขอออกตัวก่อนว่ากระต่ายสายพันธุ์ในภาพนี้ เป็นกระต่ายที่ได้พบกันจริงๆ และเป็นเพียงตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับกระต่ายสายพันธุ์ English Spot ที่สุดเท่าที่เคยพบมานะคะ เพราะอะไรถึงออกตัวว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียง เนื่องจากสายพันธุ์ English Spot ที่แท้จริงจะมี marking ที่ชัดเจนและครบตามจำนวนของทางสมาคมที่ให้การรับรองสายพันธุ์ไว้นะคะ ดังนั้นกระต่ายในภาพนี้จึงเป็นเพียงกระต่ายสายพันธุ์ตัวอย่างที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับสายพันธุ์จริงที่สุดในเวลานี้
สายพันธุ์อิงลิชสปอต
สำหรับต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้มีการกล่าวอ้างจากหลายที่มา บ้างเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากมหาลอร์เรนนีส (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อของปาปิยองยักษ์) ในขณะบางที่มาเชื่อว่ามาจากประเทศอังกฤษ และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
เดิมทีกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มกระต่ายโชว์ หรือกระต่ายสวยงาม ด้วยเครื่องหมายบนลำตัวที่สร้างความโดดเด่นเป็นอย่างมาก มี Marking ที่สวยงามเช่น จมูกผีเสื้อ จุดก้างปลาบนลำตัว วงกลมดวงตาที่โดดเด่น รวมถึงจุดบนแก้มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ English Spot รูปลักษณ์โดยรวมถือว่าค่อนข้างโดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น รวมถึงความซุกซนไม่อยู่นิ่ง ขนาดตัวที่หนักไม่เกิน 3 กิโล จัดอยู่ในกลุ่มกระต่ายขนาดใหญ่ ทำให้สร้างความตื่นเต้นต่อสายตาผู้คนในยุคนั้นเป็นอย่างมากทีเดียวค่ะ
สายพันธุ์อิงลิชสปอต
หลังจากที่สายพันธุ์นี้ได้เข้าสู่สหรัฐอเมริกาในปี 1910 ก็ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์วิ่ง เพราะการโชว์ตัวในแต่ละครั้ง สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่เคลื่อนไหวมากที่สุด ไม่ค่อยอยู่เฉยสักเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นสายพันธุ์นี้ก็ได้รับการยอมรับสายพันธุ์จาก American Rabbit Breeders Association (ARBA) ใน 12 ปีต่อมาเช่นกัน
Model : หนุ่มน้อยสมเกียรติ
มาถึงกระต่ายสายพันธุ์ล่าสุดที่ได้เคยมีโอกาสพบกันอยู่หลายครั้ง กับเจ้ากระต่ายยักษ์หูยาว ขอแนะนำกระต่ายสายพันธุ์ French Lop หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์นี้เป็นกระต่ายที่มีขนาดตัวที่ใหญ่ มีใบหูยาวและใหญ่มาก เชื่อกันว่ากระต่ายสายพันธุ์นี้ได้รับการพัฒนาโดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง English Lop และ Giant Pappillon French Lop จนได้ถือกำเนิดกระต่ายยักษ์ตัวใหญ่หูยาวตามในภาพเลยค่ะ
สายพันธุ์เฟรนช์ลอป
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 19 ในประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาและได้รับความนิยมจากทั้งในสหราชอาณาจักรในปี 1965 และสร้างความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในปี 1971 ที่สหรัฐอเมริกา
เดิมกระต่ายเฟรนช์ลอปเป็นกระต่ายพื้นบ้านจากแถบประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อได้ถูกผสมข้ามสายพันธุ์ จึงกลายเป็นกระต่ายที่มีความโดดเด่น สง่างาม และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยขนาดตัวที่มีขนาดใหญ่ ทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้ค่อนข้างใช้พื้นที่เยอะ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะนอกจากน้ำหนักตัวที่อาจมีมากถึง 4 กิโลกรัมแล้ว การดูแลในส่วนของโภชนาการ และขนที่มีความยาวเป็นพิเศษนั้น อาจทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าการดูแลสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่า
สายพันธุ์เฟรนช์ลอป
อาจมีการตั้งข้อสงสัยกันว่า กระต่ายสายพันธุ์นี้ถือกำเนิดมานานแล้ว แต่ทำไมถึงเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทย
ด้วยสาเหตุของสภาพอากาศที่ประเทศไทยค่อนข้างร้อน และสายพันธุ์นี้เนื่องจากถูกผสมข้ามสายพันธุ์ ทำให้มีข้อจำกัดหลักๆ คือ สภาพอากาศในการใช้ชีวิตที่ควรเป็นพื้นที่อากาศเย็น เพื่อช่วยดูแลในเรื่องของสภาพผิวหนังและขน หากอากาศร้อนมีผลทำให้ขนร่วงได้ง่ายและอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนในกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นข้อจำกัดหลักๆ ของสายพันธุ์นี้คือหากเลี้ยงในประเทศไทย ควรให้อยู่ในพื้นที่อากาศเย็นอย่างเช่นกันการเลี้ยงในห้องแอร์นะคะ
ในปัจจุบันหลายคนอาจจะมีโอกาสได้เห็นหรือเคยได้สัมผัสกับกระต่ายสายพันธุ์นี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเริ่มมีผู้คนหันมาสนใจเลี้ยงกระต่ายกันมากขึ้นแล้ว และแน่นอนว่ากระต่ายที่มีขนาดใหญ่อย่างสายพันธุ์ French Lop แบบเด็กยักษ์ในภาพ ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน
Model : หนุ่มน้อยบิ๊กเบน
สรุปบทความนี้อาจทำให้หลายคนรู้จักกับกระต่ายในแต่ละสายพันธุ์กันมากขึ้นแล้วนะคะ หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าถ้าได้มีโอกาสพบเจอกับกระต่ายสายพันธุ์อื่นที่น่าสนใจ ไว้จะมาแนะนำเพิ่มเติมในบทความนี้อีกครั้งนะคะ
🔘 ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
🔘 ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
- สมาคมผู้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายโปลิชของอเมริกา A[merican Polish Rabbit Club](http://www.americanpolishrabbitclub.com/)
🔘 บทความและรูปภาพโดย : Rabbitbellus
โฆษณา