15 ก.ค. 2023 เวลา 00:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

บทความ Blockdit ตอน เมื่อออพเพนไฮเมอร์สร้างระเบิดล้างโลก

ในเดือนกันยายน ปี 1942 นายพลจัตวา เลสลี โกรฟส์ เดินทางไปพบอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้สอนวิชาฟิสิกส์คนหนึ่ง
1
"ผมต้องการให้คุณมาทำงานกับเรา"
"ทำงานกับกองทัพ?"
1
รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ น่าจะเป็นคนสุดท้ายในโลกที่นายพลควรไปหา เพราะบุรุษผู้นี้เป็นพวกหัวเอียงซ้าย มีเพื่อนฝูงหลายคนที่เป็นพวกคอมมิวนิสต์ แม้ไม่ได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐฯ แต่ออพเพนไฮเมอร์เป็นหนึ่งในปัญญาชนในยุค 1930 ที่มีแนวคิดก้าวหน้าฝ่ายซ้าย ดังนั้นการที่นายทหารจากเพนตากอนคนหนึ่งมาหาออพเพนไฮเมอร์ เพื่อขอให้ไปทำงานกับกองทัพ ย่อมเป็นเรื่องแปลก
2
แต่นี่ไม่ใช่โครงการธรรมดา
วันที่ 9 เดือนตุลาคม 1941 สองเดือนก่อนสหรัฐฯเข้าสงครามหลังจากเหตุการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ สั่งให้เริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตามคำแนะนำของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะกลัวว่านักวิทยาศาสตร์นาซีจะทำระเบิดปรมาณูสำเร็จก่อน
5
เรียกว่าโครงการแมนฮัตตัน
ในเดือนกันยายน 1942 ทางการแต่งตั้งนายพลจัตวา เลสลี โกรฟส์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ
8
เลสลี โกรฟส์ ไม่ใช่ทหารธรรมดา เขามีผลงานควบคุมการก่อสร้างอาคารกระทรวงการสงคราม (War Department) ในปี 1941 ที่ต่อมาคือเพนตากอน มันเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดยักษ์ จุคนทำงานสี่หมื่นคน เป็นสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก รูปตึกห้าแฉกเป็นที่มาของนามเพนตากอนในเวลาต่อมา
8
โครงการแมนฮัตตันตั้งชื่อโดยโกรฟส์และวิศวกร พันเอก เจมส์ ซี. มาร์แชล เป็นเรื่องปกติที่ตั้งชื่อตามที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของโครงการ (เลขที่ 270 ถนนบรอดเวย์ แมนฮัตตัน) เบื้องบนต้องการคนที่มีภาวะผู้นำและวางแผนเป็น ตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของโกรฟส์
เพื่อไม่ให้ใครสงสัยและเก็บความลับของโครงการสร้างระเบิดมหาประลัย โกรฟส์ใช้หน้าฉากว่ายังทำงานสร้างตึกเพนตากอนอยู่
1
และงานแรกๆ คือหานักวิทยาศาสตร์มาทำงานนี้
เป็นที่มาของการเข้าหาออพเพนไฮเมอร์
1
แม้ความคิดของการสร้างระเบิดมาจากไอน์สไตน์ และหลักการทางฟิสิกส์ก็มีแนวคิดของไอน์สไตน์ แต่ทางการไม่ยอมให้ไอน์สไตน์มาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เพราะไอน์สไตน์เป็นพวกต่อต้านสงคราม และไม่น่าเก็บความลับได้
2
พวกเขาต้องการนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ฉลาด มีความทะเยอทะยานสูง
1
ปัญหาคือออพเพนไฮเมอร์มีมุมมองทางการเมืองออกไปทางฝ่ายซ้าย ทว่าโกรฟส์ต้องการมือดีที่สุด
2
แต่จะมีใครสักกี่คนอยากทำงานสร้างระเบิดที่จะฆ่าคนตายเป็นหมื่นเป็นแสน?
โกรฟส์ชอบใจที่ออพเพนไฮเมอร์เข้าใจงานและภาระนี้ และมองงานนี้เป็นความท้าทาย เวลานั้นออพเพนไฮเมอร์เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง และกำลังศึกษาเรื่องระเบิดปรมาณู
ออพเพนไฮเมอร์กับนายพลจัตวา เลสลี โกรฟส์
ทางการก็รู้ว่าเขาเป็นพวกหัวเอียงซ้าย แต่จำเป็นต้องใช้ความสามารถของเขา ก็มองข้ามจุดเหล่านี้ไป
2
ออพเพนไฮเมอร์เกิดในตระกูลยิวเหมือนไอน์สไตน์ เกิดที่นิวยอร์ก ฐานะดี ครอบครัวไม่ใช่ยิวที่เคร่งครัดในศาสนา
ตอนเด็กเขาสนใจหลายศาสตร์ เรียนรู้กว้าง หลายสาย ฉลาดปราดเปรื่อง เขาชอบวิทยาศาสตร์ แต่ก็ชอบบทกวีและวรรณกรรม
2
หลังจากจบจากฮาร์วาร์ดทางเคมี ก็ไปเรียนต่อสายฟิสิกส์ หลังจากนั้นเขาทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กลีย์ และ Caltech (The California Institute of Technology) ออพเพนไฮเมอร์ทำงานสำคัญด้านฟิสิกส์จำนวนมาก ผลงานของเขามีด้านดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป, รังสีคอสมิค, quantum electrodynamics, quantum mechanics และฟิสิกส์นิวเคลียร์
7
เลสลี โกรฟส์ ดูแลโครงการแมนฮัตตันทุกขั้นตอน เลือกสถานที่ จัดการวางแผน ฯลฯ
1
โครงการแมนฮัตตัน
บิดาแห่งระเบิดปรมาณู
ออพเพนไฮเมอร์กับโกรฟส์เห็นพ้องว่าสถานที่ทดลองควรห่างไกลจากผู้คน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกลอส อลามอส ในรัฐนิวเม็กซิโก
1
โกรฟส์เป็นทหาร แต่ก็เป็นวิศวกร เขารู้ว่างานนี้ต้องการไม่เพียงนักฟิสิกส์ ยังต้องการวิศวกร นักเคมี นักโลหะวิทยา นักออกแบบอาวุธ ฯลฯ
1
พวกเขาควานหานักฟิสิกส์ นักเคมี วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์มือดีจากทั่วประเทศ ออพเพนไฮเมอร์ระดมนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิจากทั่วประเทศ ในกาลต่อมาเพื่อนร่วมงานหลายคนต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ
ออพเพนไฮเมอร์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กำกับทุกขั้นตอน ดูแลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เขาจับความได้รวดเร็ว และตัดสินใจไว เขาอยู่ในกระบวนการสัมมนาและห้องทดลองเสมอ ทำให้ลูกน้องรู้สึกมั่นใจ
ภาวะผู้นำของเขารวมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้โครงการนี้สำเร็จ
3
ในเดือนพฤษภาคม 1945 ระเบิดลูกแรกก็สำเร็จ
การทดลองระเบิดครั้งแรกเรียกว่า The Trinity test เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945
2
ออพเพนไฮเมอร์เรียกชื่อจุดที่ระเบิดเป็นรหัสว่า Trinity เป็นคำที่มาจากบทกวีของ John Donne
1
ระเบิดลูกแรกมีชื่อว่า The Gadget เป็นแบบเดียวกับ Fat Man ที่หย่อนลงนางาซากิในเวลาไม่ถึงเดือนต่อมา
1
ก่อนหน้านั้นเป็นปี เขาแบกภาระหนักหน่วงว่าโครงการจะสำเร็จหรือไม่ เขม็งเกร็ง จับเสาแน่น ในวินาทีสำคัญ คนประกาศว่า เดี๋ยวนี้! พลันปรากฏแสงสว่างวาบเจิดจ้าเบื้องหน้า พร้อมเสียงคำรามของระเบิดมหาประลัย ใบหน้าของออพเพนไฮเมอร์ผ่อนคลายลง
The Trinity test วันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ( ภาพจาก Federal government of the United States)
เมื่อระเบิดขึ้น ออพเพนไฮเมอร์เอ่ย "ผมคิดว่ามันสำเร็จนะ" (I guess it worked.)
2
ออพเพนไฮเมอร์บรรยายการระเบิดครั้งนั้น โดยใช้คำจากคัมภีร์ภควัทคีตา: ถ้าความสว่างไสวของตะวันหนึ่งพันดวงปรากฏจ้าบนนภาโดยพลัน ก็จักเป็นพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่
3
ผู้ร่วมงานเล่าในเวลาต่อมาว่า ท่าเดินของออพเพนไฮเมอร์ในวันนั้นเหมือนตัวเอกในหนังคาวบอยเรื่อง High Noon เดินกร่างเพราะทำสำเร็จ
4
หลังการทดลองระเบิดลูกแรกสำเร็จ สหรัฐฯก็ไม่รอช้า หย่อนระเบิดลงบนแผ่นดินญี่ปุ่น
1
ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 หลังจากเครื่องบินอีโนลา เกย์ หย่อนระเบิดที่ฮิโรชิมา สารก็ถูกส่งไปที่นายพล เลสลี โกรฟส์ ที่กำลังรอฟังข่าวที่วอชิงตันตลอดคืน ผลลัพธ์ชัดเจน สำเร็จในทุกจุด ภาพที่เห็นดีกว่าการทดลองที่นิวเม็กซิโก
4
โกรฟส์ส่งข่าวต่อไปให้ออพเพนไฮเมอร์ ตามด้วยโทรศัพท์ตอนบ่ายสองโมงวันนั้น
1
โกรฟส์: ผมภูมิใจในคุณและคนทั้งหมดของคุณ
ออพเพนไฮเมอร์: ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีหรือ?
1
โกรฟส์: ชัดเจนที่สุด มันเป็นเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว
ออพเพนไฮเมอร์: เกิดขึ้นเมื่อไร? เป็นตอนอาทิตย์ตกแล้ว?
1
โกรฟส์: เปล่า มันเป็นตอนกลางวัน เพื่อความปลอดภัยของเครื่องบิน
ออพเพนไฮเมอร์: ครับ ทุกคนรู้สึกดีกับเรื่องนี้ และผมขอแสดงความยินดี มันเป็นทางที่ยาวเหลือเกิน
1
โกรฟส์: ใช่ มันเป็นทางที่ยาว และผมคิดว่าเป็นสิ่งฉลาดที่สุดที่ผมเคยทำตอนที่ผมเลือกผู้อำนวยการ ลอส อลามอส
ออพเพนไฮเมอร์: อืม! ผมไม่แน่ใจนะครับ นายพลโกรฟส์
โกรฟส์: คุณก็รู้ว่าผมไม่เคยเห็นด้วยกับข้อสงสัยเหล่านั้นตลอดมา
4
สงครามจบในเวลาอันสั้น พิสูจน์ว่าการเลือกออพเพนไฮเมอร์เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
1
ตลอดเวลาของการพัฒนาระเบิดปรมาณู สาธารณชนไม่เคยรู้ จนเมื่อมีการระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ชื่อออพเพนไฮเมอร์ก็เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน ภาพของเขาปรากฎบนปกนิตยสาร Life และ Time
3
เขาได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของระเบิดปรมาณู ชื่อเสียงของเขาขึ้นเทียบชั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
1
ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้รู้สึกผิดในการใช้ระเบิดในสงคราม มันเป็น necessary evil (ความชั่วร้ายที่จำเป็น) แต่เขาและทีมงานหลายคนไม่เห็นด้วยว่าทำไมต้องทิ้งระเบิดลูกที่สองที่นางาซากิ เพราะมองไม่เห็นความจำเป็น
8
เขาสะท้อนความรู้สึกด้วยคำที่ยกมาจากคัมภีร์ภควัทคีตาว่า บัดนี้ข้าฯกลายเป็นยมทูต ผู้ทำลายโลกต่างๆ (Now I am become Death, the destroyer of worlds.)
3
ในปี 1946 เขาพูดถึงโครงการแมนฮัตตันว่า โดยเปรียบกับตำนานของโพรมีเธียส (Prometheus)
2
ในตำนานกรีก โพรมีเธียสเป็นเทพแห่งไฟ โพรมีเธียสขโมยไฟจากเหล่าเทพไปให้มนุษย์ ไฟก็คือความรู้ เทคโนโลยี อารยธรรม
แต่ไฟแห่งปรมาณูคือความชั่วร้ายอย่างหนึ่ง
1
เขาเริ่มเสียใจงานที่ทำ มันเปลี่ยนโลกไปในทางที่มืดลง โลกกำลังก้าวสู่ทิศทางใหม่ของการสะสมอาวุธนิวเคลียร์หลังสงคราม
1
วันที่ 17 สิงหาคม 1945 แปดวันหลังทิ้งระเบิดที่นางาซากิ ออพเพนไฮเมอร์ก็ไปวอชิงตัน ยื่นจดหมายถึงหัวหน้าแผนกสงคราม Henry L. Stimson ขอให้แบนระเบิดปรมาณู
3
ในเดือนตุลาคม เขาได้พบประธานาธิบดีทรูแมน เขาบอกว่ามือของเขาเปื้อนเลือด การประชุมยุติลงกะทันหัน ประธานาธิบดีทรูแมนบอกลูกน้องว่า "ผมไม่ต้องการเห็นหน้าไอ้เวรนี่ในออฟฟิศนี้อีก"
2
เดือนต่อมา เขาก็กลับไปสอนหนังสือที่ Caltech แต่ทำได้ไม่นานก็เลิก เพราะเขาไม่มีใจให้การสอนอีกแล้ว เขาไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการ The Institute for Advanced Study ที่พรินซตัน ที่เดียวกับไอน์สไตน์
1
สหภาพโซเวียตทำระเบิดปรมาณูสำเร็จในปี 1949 เร็วกว่าที่ฝ่ายอเมริกันคาด โลกเข้าสู่ยุคอันตราย
4
ออพเพนไฮเมอร์เห็นว่ามันเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ และไปทำงานด้านต่อต้าน
4
หลังระเบิดปรมาณู ออพเพนไฮเมอร์มองเห็นภยันตรายใหม่ของโลก และจับมือกับไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าหลายคน รณรงค์ต่อต้านอาวุธปรมาณู และใช้ปรมาณูเพื่อสันติ
4
ในปี 1951 อดีตเพื่อนร่วมงานโครงการแมนฮัตตันสองคน เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ และ สตานิสลอว์ ยูลัม พัฒนาระเบิดไฮโดรเจนสำเร็จ
2
ออพเพนไฮเมอร์แสดงความเห็นต่อต้านการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนและอาวุธที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ทั้งหลาย เพราะโลกกำลังเข้าสู่วิถีทางใหม่ของการทำลายล้าง
2
จุดยืนใหม่ของเขาในเรื่องระเบิดไฮโดรเจนกลายเป็นเรื่องการเมือง เขาถูกเล่นงานข้อหาคอมมิวนิสต์ และเป็นสายลับโซเวียต เวลานั้นสหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการล่าแม่มดคอมมิวนิสต์พอดี หลายคนถูกจับด้วยข้อหา ไม่เป็นอเมริกัน (un-American)
4
ออพเพนไฮเมอร์ถูกสอบสวนและมีตำรวจลับตามรอยเขาตลอดเวลา
1
คล้ายๆ ไอน์สไตน์ เขาก็โดนเอฟบีไอตรวจสอบ เอฟบีไอใส่ชื่อออพเพนไฮเมอร์ในรายการ Custodial Detention Index (หรือ FBI Index) เป็นพวกที่จะถูกจับเมื่อประเทศเกิดภาวะฉุกเฉิน
6
ในปลายปี 1953 มีคนกล่าวหาว่าออพเพนไฮเมอร์เป็นสายลับคอมมิวนิสต์ ช่วงทำโครงการแมนฮัตตัน เขาให้ข้อมูลแก่สายลับโซเวียต ทำให้ทางการไม่มีทางเลือก ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ในปีต่อมา
3
ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ เขาให้การในปี 1954 ว่า ผมมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์ เขาเคยอยู่ร่วมในกลุ่มใน Berkeley ที่สมาชิกหลายคนเป็นคอมมิวนิสต์ ฯลฯ
6
ออพเพนไฮเมอร์กับไอน์สไตน์
เขาเห็นด้วยกับบางหลักการของคอมมิวนิสต์ แต่เขาปฏิเสธว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
2
คนในวงการวิทยาศาสตร์มองว่า เขาเป็นเพียงเหยื่อในลัทธิล่าแม่มดของแม็คคาร์ธีเท่านั้น
1
แม้แต่คนประดิษฐ์ระเบิดไฮโดรเจน เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ ก็ให้การว่า เขาเชื่อว่าออพเพนไฮเมอร์จงรักภักดีต่อสหรัฐฯ
1
บิดาแห่งจรวดของสหรัฐฯ เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ บอกว่า "ถ้าเป็นในอังกฤษ ออพเพนไฮเมอร์คงได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินไปแล้ว"
1
ตลอดชีวิตของออพเพนไฮเมอร์มีอาการซึมเศร้าเป็นระยะ ออพเพนไฮเมอร์สูบบุหรี่จัด ตอนยุ่งกับงานหรือขบคิดเรื่องสำคัญ มักไม่ค่อยกิน ฟิสิกส์เป็นโลกส่วนตัวของเขา เขาเคยเขียนจดหมายถึงน้องชายเขา ลงวันที่ 14 ตุลาคม 1929 ว่า "ฉันต้องการฟิสิกส์มากกว่าเพื่อน"
2
ฟิสิกส์เป็นโลกส่วนตัวของเขา
แต่โลกฟิสิกส์ของเขากำลังพังทลาย
1
โลกฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ก็กำลังปริร้าว ระเบิดปรมาณูที่ทำลายล้างสองเมืองในญี่ปุ่นแม้ไม่ได้สร้างโดยเขา แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขา
1
หลังจากรู้ว่าพวกนาซีพัฒนาระเบิดปรมาณูไม่สำเร็จ ไอน์สไตน์ก็รู้สึกเสียใจที่เขียนจดหมายไปหาประธานาธิบดีรูสเวลต์
2
เขาบอกว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ เขาคงเลือกเป็นช่างประปามากกว่านักฟิสิกส์
7
ทั้งไอน์สไตน์และออพเพนไฮเมอร์มีประสบการณ์ตรงอันเลวร้ายในเรื่องการจัดการอำนาจของความรู้ในโลกที่การเมืองเข้าไปเกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์
5
ทั้งสองตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ต่อมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์สมควรสร้างอาวุธร้ายหรือไม่
บทบาทของนักวิทยาศาสตร์กับ ความชั่วร้าย ควรเป็นเช่นไร
1
ไม่มีใครตอบได้ และโลกวันนี้ก็ยังคงมีการสร้างอาวุธชั่วร้ายต่อไป
3
หมายเหตุ ในปี 2022 ห้าทศวรรษหลังจากออพเพนไฮเมอร์ตาย รัฐบาลสหรัฐฯลบล้างคำกล่าวหาเขาในปี 1954 และยืนยันความจงรักภักดีต่อประเทศของเขา
9
โฆษณา