เปิดข้อมูลเชิงลึก ย้อนรอยข้อพิพาทระหว่าง "ไอทีวี" กับ "สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี" (สปน.) ยาวนานนับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันกินระยะเวลารวม 16 ปียังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
สำหรับการหยุดออกอากาศของไอทีวี เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหนังสือไปยังบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีวี เพื่อบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) พร้อมให้ระงับการออกอากาศมีผลวันที่ 7 มีนาคม 2550
ต่อมาไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อให้พิจารณาว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ฉบับดังกล่าวของ สปน.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาร่วมงานฯ ของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงให้ สปน.ชดใช้ความเสียหายให้แก่ไอทีวี รวม 2,890,345,205.48 บาท และชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง จำนวน 2,886,712,328.77 บาท พร้อมดอกเบี้ย 3,632,876.77 บาท รวมเป็นเงินที่ไอทีวีต้องชำระให้แก่ สปน. จำนวน 2,890,345,205.48 บาท
แต่เมื่อไอทีวีและสปน. ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205.48 บาทเท่ากัน ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน
จากนั้นในวันที่ 29 เมษายน 2559 สปน.เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างเหตุว่า คำชี้ขาดดังกล่าวนั้นไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
กระทั่งปลายปี 2563 ( 17 ธันวาคม 2563) ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อพิพาทและพิพากษาว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับใช้ได้ ไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2564 สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปที่ศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 54/2564 ซึ่งปัจจุบันคดีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด