16 มิ.ย. 2023 เวลา 13:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Spencer (2021) เจ้าหญิงไดอาน่ากับเครื่องประดับที่น้ำหนักมากกว่าตัวเธอ!

ทันทีที่สกอร์ของ Jonny Greenwood เสียดสีกับ Porsche 911 ของไดอาน่าในซีนแรกๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าหลังจากออกจากโรงไปแล้วจะไม่เสียดายตัง (อันนี้ต้องฟังหูไว้หู เพราะแอบได้ยินป้าที่ไปดูรอบเดียวกันออกมาคุยกับเพื่อนว่า ช่วงต้นเรื่องส่งแกเข้าบรรทมอย่างสงบ)
สำหรับเรา Greenwood เป็นคนที่เล่นกับ moving image ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ความสำเร็จและคำชื่นชมของ Paul Thomas Anderson จะไม่มากมายขนาดนี้ถ้าหนังของเขาไม่มี guitar leader จากวง Radiohead คนนี้
หนังใช้ไดอาน่าเป็นแกน และวาดให้ไดอาน่าเป็นแม่เหล็กขั้วบวกที่ดึงดูดอะไรลบๆ เข้ามาตลอดเวลา เสียงและพื้นที่ในแต่ละซีนถ่ายทอดความรู้สึกถูกบีบและบดขยี้อย่างตรงไปตรงมา
หนังฉายภาพไดอาน่าที่ไปด้วยกันไม่ได้กับธรรมเนียมปฏิบัติไร้แก่นสารของราชวงศ์ ธรรมเนียมที่ทุกอย่างถูกจัดวาง ('setting') ไว้ล่วงหน้าหมดเรียบร้อยแล้ว ตัวเธอไม่ต่างอะไรกับหุ่นไล่กาและหุ่นลองชุด "ไร้หัว" ที่มีหน้าที่เพียงแค่สวมอาภรณ์และห้อยเครื่องประดับที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามคำสั่ง ความรู้สึกไม่มีหัวนี้เองที่อาจทำให้เธอรู้สึก identify กับ Anne Boleyn ราชินีที่ถูกบั่นหัวตามคำสั่งของ Henry VIII
ไดอาน่าในเรื่องมี death drive สูงมาก และถ้าเลือกได้เธอคงอยากถูกบั่นหัวเพื่อถอดสร้อยไข่มุก (ภาพแทนของธรรมเนียม) ที่พันธนาการอยู่บนคอของเธอตลอดเวลา
ครั้งหนึ่งเราเคยเข้าฟังบรรยายของ อ. Mindy Chen-Wishart จาก Oxford ในคลาส LA303 ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า (ถ้าจำไม่ผิด) กฎหมายมีแนวโน้มที่จะอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว เพราะขาหนึ่งมันเหยียบอดีตตลอดเวลา (ลองนึกถึงหลัก Precedent หรือมองในแง่ว่า กฎหมายมีสถานะไล่ตามให้ทันปัจจุบันเสมอ)
ถ้าขยับมาที่ราชวงศ์ภายใต้ constitutional monarchy ของอังกฤษ ประโยค "There is no future (tense), only past and present" ก็ valid ไม่แพ้กัน เพราะในระบอบแบบนี้สถาบันกษัตริย์หรือกษัตริย์ในฐานะ head of state ต้องเป็นร่างกายที่เชื่องของรัฐประชาชาติ (รัฐ+ชาติ/ประชาชน) การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์จะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เท่านั้น นั่นทำให้เกิดหลักอย่าง The King Can Do No Wrong (because The King Can Do Nothing) และจัดวางให้มีสถานะ 'อยู่เหนือการเมือง'
แต่อย่างที่รู้กัน กว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะอยู่เหนือการเมืองได้ก็ผ่านอะไรมาไม่น้อย ดู Charles I เป็นตัวอย่าง การคงสถานะให้อยู่เหนือการเมืองในเริ่มแรกจึงมีการเมืองเป็นแรงผลักดัน (ในความหมายที่แยกไม่ออกจากสงคราม) ส่วนการคงสถานะให้อยู่เหนือการเมืองในปัจจุบันก็จำเป็นต้องอาศัยการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะมันสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจของราชวงศ์ด้วย (บทบาทของ Queen Elizabeth เป็นตัวอย่างสำคัญ)
ประชาชนคาดหวังให้เราทำตัวเหนือคนธรรมดา คือคำที่เจ้าฟ้าชาย Charles ผัวของไดอาน่า พูดกล่อมให้เธอทำตัวอยู่ในร่องในรอยและยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ 'เรา' เกลียดให้เสร็จๆ ไปเสีย ทั้งยังให้เหตุผลว่าคนในราชวงศ์ต่างมี 2 ตัวตนกันทั้งนั้น (public and private persona)
ธรรมเนียมไร้เหตุผลที่ไดอาน่าเจอเป็นเหมือนการที่พระราชตำหนักไม่ยอมติดตั้งฮีตเตอร์ ทั้งที่อากาศหนาวเย็นจัด อันที่จริง สิ่งที่ไดอาน่าในเรื่องต้องการก็ไม่ต่างอะไรกับความต้องการให้พระราชตำหนักติดตั้งฮีตเตอร์เพื่อปรับอุณภูมิให้เหมาะสมเสีย แถมยังสะท้อนผ่านคำสอนที่เธอพูดกับ Prince William และ Prince Harry ว่าถ้าหนาวก็จุดไฟซะ (การรู้คาแรคเตอร์ของทั้งสองคนในปัจจุบันเลยน่าจะทำให้หลายอย่างในเรื่อง 'ตลก' มากขึ้น)
ตรงนี้ก็ชัดว่า แม้สถาบันอังกฤษจะถูกยกย่องว่ามีการปรับตัวตามยุคสมัยตลอด แต่มันก็ไม่ได้ตามทันขนาดนั้นหรอก เพราะขณะที่สถาบันพยายามโอบอุ้มยุคสมัย (พยายาม Precedent) ยุคสมัยกลับหนีห่างสถาบันไปเรื่อยๆ และหากเชื่อคำของ Eric Hobsbawm มันจะชัดขึ้นหลัง Queen Elizabeth ตาย
สุดท้ายสิ่งที่จะปลดปล่อยไดอาน่าไม่ใช่ความตาย แต่คือการลบสถานะ princess หรือ your highness ออกไปเสีย เพราะ "น้ำหนักตัวเธอกว่าครึ่งคือเครื่องประดับ" และเพื่อไม่ต้องมีใครมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่อยากกระชากสร้อยไข่มุก หรือไปล้วงคออ้วกลงชักโครก หรือเป็นร่างกายที่ไร้หัว ไร้วิญญาณเช่นนี้อีก สหราชอาณาจักรก็น่าลอง cancel the monarchy ดูสัก 10000 ปี
แต่ก็ไม่รู้นะว่า ถ้าไม่มี monarchy เธอจะยังมี Porsche 911 ให้ขับอยู่รึเปล่า 😉😉
โฆษณา