16 มิ.ย. 2023 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

TENET │ 10/10

ระหว่างหนึ่งเดือนเศษที่เรารอหนังเรื่องใหม่ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ย้อนไปดูเรื่องล่าสุดของเขาก่อน Tenet บทความนี้เคยลงมาก่อน แต่รีไรต์บางท่อน หลังจากดูมา 4 รอบ
ในวงการหนังและงานเขียน ไอเดียที่สดใหม่ แปลก หลุดโลก เรียกว่า high-concept หรือบางทีเรียก big idea
งาน high-concept ไม่ได้คิดง่าย มักเกิดจากวิธีคิดแบบ “what if?” ยกตัวอย่างเช่น เกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถโคลนไดโนเสาร์ใน Jurassic Park, เกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถควบคุมความฝันของคนอื่นได้ใน Inception, เกิดอะไรขึ้นถ้าเราต้องใช้ชีวิตวันหนึ่งซ้ำกันเรื่อย ๆ ใน Groundhog Day, เกิดอะไรขึ้นถ้าโลกที่เรารู้จักเป็นเพียงภาพลวงตาใน The Matrix เป็นต้น
คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็เป็นคนสร้างหนังคนหนึ่งที่ชอบทำหนัง high-concept เรื่องที่โดดเด่นที่สุดของเขาในฐานะ high-concept คือ Inception
หลังจากงานชิ้นนั้น งานของเขาไม่จัดเป็น high-concept ทีเดียว
จนมาถึงงานชิ้นล่าสุด - Tenet
มันเป็นหนังไซไฟที่มีความพยายามในการคิดระดับ Inception ครั้งนี้มันพูดเรื่อง temporal paradox และ entropy (temporal แปลว่าเกี่ยวกับเวลา)
นักเขียนไซไฟที่เขียนนิยายแนว temporal paradox ที่เก่งที่สุดในความเห็นของผมคือ รอเบิร์ต ไฮน์ไลน์ งานโดดเด่น เช่น By His Bootstraps (เขียนเมื่อปี 1941) และ ‘—All You Zombies—’ (เขียนเมื่อปี 1959)
ส่วนคนที่เขียนเรื่องเอนโทรปีก็มี ไอแซค อสิมอฟ เช่นเรื่อง The Last Question (เขียนเมื่อปี 1956) ซึ่งเป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก
ใน The Last Question ตัวละครตั้งคำถามว่า “มีทางไหนที่ทำให้เอนโทรปีย้อนกลับได้หรือไม่?” และคำตอบของอสิมอฟในเรื่องนั้นคือความอัศจรรย์ของพล็อต
สองคนนี้คือเซียนแห่งเซียน เขียนเรื่องพวกนี้มา 60-70 ปีแล้ว
Tenet ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เล่นกับทั้งสองจุดนี้ ด้วยพล็อตเรื่องที่ว่าไปแล้วไม่ซับซ้อน แต่การเล่าเรื่องซับซ้อนระดับโคตร และอาจทำให้ผู้ชมหัวหมุนยิ่งกว่าเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ห้าสิบรอบติดกัน
1
ในการชมเรื่องนี้ ผู้ชมต้องมีสติสัปชัญญะเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ เปิดสมองกว้าง และควรเสพยาบ้าสักสองสามเม็ดก่อนเข้าโรงหนัง
3
อ้อ! ควรอ่านหนังสือ ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล และ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล ให้จบก่อนด้วย
มีศัพท์วิทยาศาสตร์คำหนึ่งที่ต้องอธิบาย นั่นคือ เอนโทรปี (entropy)
อธิบายแบบง่ายที่สุด เอนโทรปีคือการวัดความเสื่อมของระบบ จากความเป็นระเบียบสู่ความไม่เป็นระเบียบ ประมาณนั้น ค่าเอนโทรปีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ย้อนกลับ
แต่ถ้ามันย้อนกลับได้ล่ะ?
นี่ก็คือสิ่งที่โนแลนนำไปผูกเป็นเรื่อง
ปัญหาใหญ่ของ Tenet คือ เนื่องจากคอนเส็ปต์ยากมาก จำเป็นต้องอธิบายให้คนดูเข้าใจไอเดียพื้นฐาน บางท่อนจึงดูเหมือนการเลกเชอร์ ถ้าคนดูที่ไม่มีความรู้มาเลย จะหลงทางอย่างรวดเร็ว
1
คอนเส็ปต์ของ Tenet จะว่าไปแล้วลึกกว่า Inception เพราะมันสะท้อนปัญหามนุษยชาติ แต่ในด้านความบันเทิง Inception สนุกกว่า
นี่เป็นหนังไซไฟทริลเลอร์มากกว่าตระกูลสายลับอย่างที่บางคนจัด หนังมีกลิ่นการนำเสนอแบบ Memento ผู้ชมต้องเตรียมรับความมึนงง แต่หากปรับสมองทัน ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น
ในด้านความตื่นตาตื่นใจ ยี่ห้อโนแลนรับประกันเหมือนเดิม
สรุปคือเป็นหนังที่ทำให้ต่อมสมองทำงานหนักถึงหนักที่สุด ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการเสพแต่ความบันเทิง และดูสองรอบอาจยังไม่พอ
1
ดังนั้นไม่ว่ามันจะเป็นหนังน่าปวดหัวแค่ไหน ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า
1 มันเป็นหนังสร้างสรรค์ที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี
2 คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นมนุษย์ต่างดาว
1
10/10
(ตอนนี้ฉายอยู่ช่อง HBO)
2
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา