16 มิ.ย. 2023 เวลา 12:13 • ครอบครัว & เด็ก

มาตาลดา : เมื่อคำว่าพ่อแม่ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเพศอีกต่อไป

มาตาลดา เป็นละครไทยที่กำลังได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เรื่องราวของมาตาลดา หญิงสาวที่เติบโตมากับพ่อที่เป็น LGBTQ
2
แต่เธอก็เติบโตมาได้อย่างดีด้วยความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากพ่อ และกลุ่มเพื่อนๆ ของพ่อที่ช่วยกันเลี้ยงดูเธอมา
เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของละครไทย ที่เลือกจะเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของกลุ่ม LGBTQ และถ่ายทอดให้เห็นถึงความปกติ ในการที่คนกลุ่มนี้จะสร้างครอบครัว เลี้ยงดูลูกจนเติบโตมาได้ไม่ต่างจากครอบครัวทั่วๆ ไป
📌 ครอบครัวหลากหลายทางเพศ...เมื่อคำว่าพ่อแม่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเพศอีกต่อไป
ในสหรัฐฯ หลังจากคำวินิจฉัยของศาลในคดี Obergefell v. Hodges ส่งผลให้การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายในทุกรัฐ ของสหรัฐฯ
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2015 ประมาณกันว่ามีคู่รักร่วมเพศกว่า 300,000 คู่ได้เข้าพิธีแต่งงานกันตามกฎหมาย ซึ่งงานวิจัยจาก School of Law Williams Institute คาดว่างานแต่งงานของพวกเขาได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2020 กว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลทั้งระดับรัฐและท้องถิ่นก็สามารถเก็บภาษีขายได้กว่า 244.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่รวมว่าสามารถสร้างงานเพิ่มให้คนกว่า 45,000 งานในหนึ่งปี
ถึงแม้ว่าทัศนคติต่อสิทธิในการสมรสเพศเดียวกันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
แต่หลายๆ คนก็ยังคงกังวลถึงผลที่ตามมาของการสมรสเพศเดียวกันกับการเลี้ยงลูกโดย พ่อ-พ่อ หรือ แม่-แม่ เหล่านี้ ว่าอาจจะไม่ดีเท่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อและแม่ และยังเกิดการแบ่งแยกครอบครัวหลากหลายทางเพศอยู่บ้าง
1
อย่างไรก็ดี งานวิจัยหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงใน American Sociological Review ได้ใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่อนุญาติให้การสมรสเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาเปรียบเทียบผลการเรียนของเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศ กับครอบครัวหลากหลายทางเพศ
ซึ่งผลของงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยผู้ปกครองที่มีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่เกิด กลับมีคะแนนสอบไล่ตอนเรียนจนชั้นประถมโดยเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่โตมากับครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศ และยังมีโอกาสเรียนจบชั้นมัธยมปลายสูงกว่าถึง 5%
แม้หลายคนอาจจะมองว่าส่วนใหญ่ครอบครัวหลากหลายทางเพศในกลุ่มตัวอย่างอาจจะได้เปรียบกว่าในเรื่องของการศึกษาและรายได้ รวมถึงคุณลักษณะบางอย่างที่นักวิจัยไม่ทราบได้ อย่างการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครอง หรือการวางแผนก่อนมีบุตร แต่เมื่อขจัดผลของปัจจัยเหล่านี้ออกไปแล้วก็พบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาโดยครอบครัวหลากหลายทางเพศก็ยังมีผลการศึกษาอย่างน้อยที่สุดก็พอๆ กันกับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศอยู่ดี
ดังนั้นการมีครอบครัว หรือการจะเป็นพ่อแม่คน คงไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดโดยกรอบของเพศอีกต่อไป ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถมีครอบครัวที่ดี และเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ ขอแค่มีความพร้อม ความรัก และความเข้าใจกัน
ถ้าใครที่ดูละครเรื่องมาตาลดา น่าจะได้ฟังประโยคที่พ่อของมาตาลดาสอนเธออยู่หลายประโยค ซึ่งเป็นประโยคที่เต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวก และเต็มไปด้วยความรัก ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมมาตาลดาถึงเติบโตมาได้อย่างดี
📌การกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศ…กำแพงล่องหนที่ไม่ให้คนแสดงศักยภาพเต็มกำลัง
ในเรื่อง หลังพ่อของมาตาลดาถูกตัดขาดจากครอบครัว ก็เลยพาเธอหนีไป และเปิดบาร์ชื่อดังอยู่ที่พัทยา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นดินแดนแห่งความมุ่งหวังของเหล่าสาวประเภทสองที่จะแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นให้ตนเอง
1
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล, ทรานส์เจนเดอร์ และเพศหลากหลายอื่นๆ (LGBTQ) มีจำนวนมากและต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ทั่วทุกมุมโลก ประกอบไปด้วยคนทุกช่วงวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายต่อหลายครั้ง คนที่มีความหลากหลายทางเพศกลับต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเพศสภาพของพวกเขาไม่ตรงตามบรรทัดฐานของสังคม เหมือนกับที่พ่อของมาตาลดาโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน เพียงเพราะเขาไม่ใช่ผู้ชาย
การกีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ให้มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมอย่างเต็มที่และมีเกียรติ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานระหว่างประเทศและภาครัฐทั่วโลกเป็นอย่างมาก
การปิดกั้นโอกาสในระดับบุคคล ไม่เพียงแค่ปิดกั้นโอกาสของคนเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว แต่เสมือนเป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ จากการกีดกันกลุ่มคนที่มีศักยภาพแต่เพียงเพราะเพศสภาพของเขาไม่ตรงตามที่สังคมคาดหวัง ไม่ให้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง โดยเรื่องเหล่านี้อาจจะก่อตัวตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน ไปจนถึงวัยทำงาน
นักเรียนที่เป็น LGBTQ มีโอกาสที่จะโดนแบ่งแยกทั้งจากครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเรียน และในบางครั้งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กหลายคนอยากลาออกกลางคัน หรือในกรณีที่เลวร้ายสุดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งทำให้ทักษะและความรู้ของคนเหล่านี้ต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย
การแบ่งแยกในที่ทำงาน อาจทำให้กลุ่ม LGBTQ ต้องกลายเป็นคนว่างงาน หรือไม่ก็ต้องทำงานต่ำกว่าระดับความรู้ที่มี ซึ่งนั่นหมายถึงว่าศักยภาพของคนเหล่านี้ไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ นั่นจึงทำให้หลายๆ คนที่กลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ตัดสินใจที่จะไม่เปิดเผยรสนิยมทางเพศในที่ทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา
คนกลุ่ม LGBTQ มีแนวโน้มที่จะเผชิญความเครียด และอาการเจ็บป่วยทางร่างกายบางอย่างมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานได้ อีกทั้งในบางครั้งคนกลุ่มนี้ไม่ถูกยอมรับจากคนในครอบครัว จึงขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวยามเจ็บป่วย
 
ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ก็อาจใช้อำนาจกักขัง จับกุม หรือข่มขู่กลุ่ม LGBTQ อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นผลให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องสูญเสียโอกาสในการทำงานไป
ในโลกปัจจุบันที่บางประเทศยังไม่ค่อยเปิดใจยอมรับการสมรสเท่าเทียม คู่รักร่วมเพศหลายคู่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และสูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิตเพียงเพราะเพศสภาพของเขาไม่ได้เป็นไปตามกรอบที่สังคมกำหนด มันอาจถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดใจให้กว้าง ยอมรับทุกความหลากหลายทางเพศในโลกนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ต้องการความรักและการยอมรับ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นต่อไป
ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ มนุษย์ไม่ใช่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีแค่ 0 กับ 1 หรือเป็นสีขาวกับสีดำ แต่เป็นเฉดสีที่แตกต่างหลากหลายนับล้านเฉด ซึ่งความหลากหลายนี้เองที่เป็นส่วนช่วยแต่งเติมประเทศให้งดงาม
ถ้าคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง Pride month ก็ช่วยแชร์บทความนี้ให้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง Bnomics จะยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศนี้
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา