Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมะ คือ คุณากรณ์
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2023 เวลา 23:43 • ปรัชญา
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีผู้ส่งคลิปมาให้ดู
เป็นบุคคลหนึ่งที่น่าจะ "สิ้นคิด" ถึงได้กล่าวว่า "การภาวนาพระคาถาเงินล้านนั้นไร้ประโยชน์ เสียเวลาไปทำเปล่า ๆ"
กระผม/อาตมภาพเห็นอย่างชัดเจนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านเมตตาสั่งสอนมา ก็คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านสอนพวกกระผม/อาตมภาพมาให้รู้กรรมฐานครบทั้ง ๔๐ กอง เมื่อถึงเวลา จะได้ไม่ไปตำหนิใครที่เขาประพฤติปฏิบัติคนละแนวทางกัน เหตุเพราะว่าถ้าเราศึกษาไม่ครบ ก็จะไปเข้าใจผิดว่าสิ่งที่คนอื่นเขาทำนั้นไม่ใช่กรรมฐานในพระพุทธศาสนา
เป็นต้น
ดังนั้น..ถ้าญาติโยมทั้งหลายมาพิจารณาดูว่า กระผม/อาตมภาพสอนให้ท่านทั้งหลายทำอะไรบ้าง ? ก็คือสอนให้ท่านทั้งหลายภาวนาพระคาถาเงินล้านอย่างน้อยวันละ ๑๐๘ จบ ในขณะที่ภาวนา ก็ต้องไม่ลืมว่าเราต้องมีการให้ทานเป็นปกติ ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะทำบุญใส่บาตรได้ตามปกติ อย่างน้อย ๆ ก็ให้หยอดกระปุกไว้วันละ ๑ บาท เมื่อถึงเวลาแล้ว
ก็รวบรวมเอาไปถวายพระเป็นสังฆทาน แล้วสิ่งที่ท่านทำก็คือต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยสองเดือนขึ้นไปถึงจะเกิดผล
ดังนั้น..สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่ว่ามา ถือว่าอยู่ในหมวดของศีล ก็คือเราต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ในขณะที่ท่านภาวนาพระคาถาเงินล้าน ๑๐๘ จบ อย่างน้อย ๆ สมาธิของท่านก็ต้องทรงตัวในเบื้องต้น ไม่เช่นนั้นแล้ว
อันดับแรกเลยก็คือจะต้องเผลอว่าผิด สวดผิด หลังจากนั้นก็คือพลั้งเผลอ จดจำไม่ได้ว่าตนเองว่าไปแล้วกี่จบ ก็แปลว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติในสมาธิภาวนา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนเรามา
หลังจากนั้นยังให้ท่านทั้งหลายพินิจพิจารณาดูว่า ถ้าทำรวดเดียวแล้วเสียเวลามากเกินไป ก็ให้ท่านทั้งหลายแบ่งการภาวนาออกเป็นวันละ ๓ ช่วง ก็คือตอนเช้าภาวนา ๓๖ จบ
ตอนกลางวันภาวนา ๓๖ จบ ตอนเย็นภาวนา ๓๖ จบ รวมแล้วก็จะได้ ๑๐๘ จบพอดี
ในส่วนนี้ เมื่อท่านภาวนาแล้วต้องตัดความอยากรวยออกไปด้วย เพราะว่าถ้าท่านทำเพราะอยากรวย ความอยากที่ขึ้นหน้ามาก็จะบังผลที่จะพึงได้ของพระคาถาไปเสียหมด ดังนั้น..ก่อนภาวนาท่านจะอยากขนาดไหนก็ตาม ถึงเวลานั้นท่านจะต้องลืมความอยากนั้นเสีย ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาอย่างเดียว
ก็แปลว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือการใช้ปัญญาในเบื้องต้น คือแบ่งเวลาแบ่งจำนวนในการปฏิบัติ พยายามที่จะวางกำลังใจให้ถูกต้อง จัดเป็นปัญญาเบื้องกลาง ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายภาวนาไป แล้วเห็นทุกข์เห็นโทษว่าเราต้องมาเหน็ดเหนื่อยทำอยู่ทุกวัน กว่าที่จะร่ำรวยอย่างที่ตนเองต้องการได้ ขึ้นชื่อว่าความทุกข์ยากลำบากเช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก ตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ก็แปลว่าท่านทั้ง
หลายมีปัญญาในเบื้องปลาย คือรู้สึกเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ วาง จากสิ่งที่ท่านยึดถือ
ก็คือตอนแรกเราต้องยึดดี เกาะดี เพื่อป้องกันการพลาดไปสู่ทุคติ ในเมื่อท่านทั้งหลายเกาะดีไปจนถึงที่สุดแล้ว ท่านทั้งหลายปล่อยจากความดีนั้น กำลังใจไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว ก็เป็นอันว่าท่านทั้งหลายพ้นดี พ้นชั่ว พ้นจากโลก สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
นี่คือสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเมตตาสั่งสอนลูกศิษย์มา แล้วกระผม/อาตมภาพนำมาบอกกล่าวให้ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติต่อ บุคคลที่ตั้งใจทำตามและเห็นผล มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งหน้าที่การงาน ฐานะ และการเงินมามากต่อมากแล้ว แต่ว่าบุคคลที่ท่าน "สิ้นคิด" ยังไม่ได้ทดลองทำด้วยตัวเองแม้แต่น้อย มากล่าวในลักษณะที่ว่า "เสียเวลาที่ไปทำ
ให้ไปภาวนาดีกว่า" แสดงว่าท่านไม่ได้เข้าใจเลยว่า คำว่าภาวนานั้นคือทำอย่างไร ?
ทำให้กระผม/อาตมภาพนึกถึงองค์สมเด็จพระบรมครูของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่เผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ต้องเผชิญกับแนวคิดของศาสดาเจ้าลัทธิต่าง ๆ อย่างน้อยก็ถึง ๖๒ ลัทธิด้วยกัน พระองค์ท่านไม่เคยตำหนิติเตียนเลยว่าแนวทางการปฏิบัติของใครไม่ดี
หากแต่พระองค์ท่านต่อยอดให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่ดีกว่าเสมอ
อย่างเช่นในอาทิตตปริยายสูตร เมื่อชฎิลสามพี่น้อง ก็คือท่านอุรุเวลกัสสป ท่านนทีกัสสป และท่านคยากัสสป กล่าวถึงการบูชาไฟว่าเป็นของดี เป็นของเลิศ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นของเลว เป็นของที่ทำไม่ถูกต้อง
แต่พระองค์ท่านบอกว่า "การบูชาไฟภายนอกถึงแม้จะดี แต่ท่านทั้งหลาย ถ้าบูชาไฟภายในจะดีกว่านั้น"
แล้วพระองค์ท่านก็บอกวิธีการบูชาไฟภายใน ซึ่งก็คือไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลงนั่นเอง โดยใช้คำว่า ราคัคคินา ไฟคือราคะ โทสัคคินา ไฟคือโทสะ โมหัคคินา ไฟคือโมหะ ซึ่งจะเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ไปกระทบกับ รูป รส กลิ่น เสียง
สัมผัส และธรรมารมณ์ ทำให้เกิดไฟ คือความร้อนของกิเลสขึ้นมาแผดเผาตัวเรา
ถ้าหากว่าถึงเวลาเราดับรูป ดับรส ดับกลิ่น ดับเสียง ดับสัมผัส ดับการครุ่นคิด ลงได้ ก็คือสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่เอาเข้ามาสู่ใจ ไฟทั้งหลายเหล่านี้ก็จะดับลง ในเมื่อไฟทั้งหลายเหล่านี้ดับลง ท่านก็จะเข้าถึงความดับอย่างแท้จริง ก็คือพระนิพพาน
เราจะเห็นได้ว่า
สิ่งหนึ่งประการใดที่คนอื่นทำมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าผิด ไม่ได้บอกว่าไม่ดี หากแต่พระองค์ท่านต่อยอดด้วยสิ่งที่ดีกว่าให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นเสมอ หรือแม้กระทั่งยุคปัจจุบัน ครูบาอาจารย์รูปหนึ่งของกระผม/อาตมภาพ คือหลวงปู่ดู่ พรฺหมฺปญฺโญ แห่งวัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงเวลา ลูกศิษย์มาบ่น มาว่า มานินทาใครก็ตาม หลวงปู่ท่านพูดสั้น ๆ ชนิดที่คนฟังได้ยินแล้วสะอึกว่า
"คนดีเขาไม่ตีใคร"
ดังนั้น..สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง เช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี หรือว่าหลวงปู่ดู่ก็ตาม ท่านไม่ใช่ผู้ "สิ้นคิด" ที่จะไปตำหนิโทษใคร เพราะเห็นอยู่อย่างชัดเจนว่า ทุกคนกำลังเป็นไปตามกรรม
กระผม/อาตมภาพเมื่อนึกมาถึงตรงจุดนี้ ก็ได้แต่แผ่เมตตาให้ หวังว่าให้ท่านทั้งหลายที่มีความ
"สิ้นคิด" ในลักษณะนี้จงกลับมาคิดได้ แล้วถ้ามีการขอขมาพระรัตนตรัย เชื่อว่าความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็จะมีพึงมีพึงเกิดขึ้น
แต่ถ้าหากว่ากรรมทั้งหลายเหล่านั้นหนัก ท่านไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริง แล้วเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครดี ไม่มีใครชั่ว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรม เราไม่ควรตำหนิใคร
หากแต่คอยส่งเสริมในส่วนที่ดีให้เขาเสมอ ถ้าท่านไม่สามารถมาถึงตรงจุดนี้ได้ ขึ้นชื่อว่าหนทางในวัฏสงสารของท่านก็ยังอีกยาวไกลจนน่าสงสาร..!
ดังนั้น..แทนที่จะรู้สึกว่าโกรธเคืองที่ท่านได้กล่าวถึงในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ว่าการภาวนาพระคาถาเงินล้านไม่มีผล เสียเวลาไปทำ กระผม/อาตมภาพกลับรู้สึกสงสารว่าถ้าท่านเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง
ท่านก็คงจะไม่กล่าวอย่างนี้
ได้แต่หวังว่าท่านจะมีดวงปัญญา ที่มองเห็นในอุปเท่ห์ต่าง ๆ ที่ครูบาอาจารย์นำมาสอนให้บุคคลที่ยังหนาด้วยกิเลส ได้ปฏิบัติกรรมฐานในเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย เป็นไปตามวิสัยของแต่ละคนที่จะพึงมีพึงได้ เมื่อท่านเข้าใจแล้ว ได้แต่หวังว่าท่านจะกราบขอขมาพระรัตนตรัยได้ทัน เพื่อที่จะได้ไม่ติดกั้นมรรคผลของท่านเองต่อไป
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย