17 มิ.ย. 2023 เวลา 03:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดความลับ 50 ปี ค่าแรงแบบนี้ ตลาดหุ้นไปทางไหน 👀

ช่วงที่ผ่านมาคุณคงเคยได้ยินเรื่อง การปรับขึ้น #ค่าแรงขั้นต่ำ มาไม่มากก็น้อย เพราะเป็นนโยบายที่ถูกยกขึ้นมาพูดทุกครั้ง ที่มีการ #หาเสียง #เลือกตั้ง เลยครับ 📢
พรรคการเมืองมักชูนโยบาย #ขึ้นค่าแรง และผลตอบรับที่ได้ก็ดีเสมอเลยครับ เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้เงินมากขึ้นแบบนี้ใครๆ ก็ชอบใช่ไหมครับ 😅
แต่การขึ้นค่าแรง มักมี #ความกังวล ตีคู่มาด้วยเสมอครับว่า แล้วนายจ้างจะรับภาระตรงนี้ได้หรือไม่ จะมีการ #layoff เพื่อลดค่าใช้จ่ายของกิจการหรือไม่ 🥺 อีกแง่คือ ราคาสินค้าและบริการก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปตามค่าแรงด้วยก็ได้ 🛍️
ใหญ่ไปกว่านั้น หากบริษัทต่างๆ รับภาระตรงนี้ไม่ไหว สุดท้ายอาจจะไม่ได้ไปต่อ เลิกกิจการไปเลยก็มี 😱
…และเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่ได้ล้มแค่บริษัทเดียว แต่เป็นการล้มกันแบบโดมิโน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีกับเศรษฐกิจแน่ๆ ใช่ไหมครับ
คำถามคือ ความกังวลที่เชื่อมโยงเป็นทอดๆ แบบนี้ มันเป็น #เรื่องจริง หรือแค่ #คิดไปเอง
1
💰การขึ้นค่าแรงส่งผลต่อ #เศรษฐกิจ หรือ #การลงทุน หรือไม่ แล้วถ้าใช่ มันส่งผลอย่างไร
เริ่มกันที่ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ 💸
มาย้อนอดีตไปดูตั้งแต่วันแรกที่มีการบังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำกันครับ
การประกาศเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำเริ่มตั้งแต่ ปี 2516 ครับ ซึ่งย้อนกลับไปไกลถึง 50 ปี เลยทีเดียว
โดยฉบับแรก เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516 และบังคับใช้วันที่ 17 เมษายน 2516 อัตราขั้นต่ำที่กำหนด ณ ตอนนั้นก็คือ 12 บาทเท่านั้น 😧
ความลับที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ก็คือ จริงๆ แล้ว มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงแทบจะทุกปีครับ
…เพียงแค่ว่า แต่ละปีปรับขึ้นในจำนวนที่น้อยจนไม่เป็นที่สนใจเท่านั้นเอง 🥲
และในช่วงปี 2556-2560 ที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยด้วย!
แล้ว…ค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัด ก็ไม่เท่ากันด้วยครับ จะมีกลุ่มจังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ
จังหวัดที่ครองแชมป์แทบจะทุกปี ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
แต่ก็มีบางปีครับ ที่จังหวัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ภูเก็ต, ชลบุรี หรือเชียงใหม่ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง 🥇
การประกาศขึ้นค่าแรงแต่ละฉบับ จะมีการประกาศใช้ก่อน หลังจากนั้นถึงจะบังคับใช้ โดยระยะเวลาระหว่างประกาศและบังคับใช้จะประมาณ 1 เดือนครับ แต่ก็มีบางฉบับ ที่นานกว่า หรือเร็วกว่านั้น
ค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลอะไรกับตลาดหุ้น 📈
จากประกาศขึ้นค่าแรง 10 ฉบับล่าสุด ในช่วงวันที่มีการประกาศใช้ จนถึงวันที่มีการบังคับใช้ ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงเป็นบวก 6 ครั้งครับ
ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก อาจเป็นเพราะ ประกาศแต่ละฉบับไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างมากนัก
ทีนี้มาดูกันครับว่า ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นยังไงบ้าง โดยใช้ค่าแรงของจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นเกณฑ์ และเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
เราจะแบ่งเป็น 5 ช่วง ช่วงละ 10 ปี เพื่อให้คุณได้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้แบบชัดๆ มากขึ้น
เริ่มจากที่มีการประกาศเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรก ปี 2516
🌟ช่วงที่ 1 ปี 2516-2525 ค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มจาก 12 บาท เป็น 64 บาท เพิ่มมา 52 บาท
ส่วนตลาดหุ้นจะไม่สามารถเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2516 ได้ครับ เพราะตลาดหุ้นไทย หรือ SET เปิดให้ซื้อขายอย่างเป็นทางการ วันที่ 30 เมษายน 2518
ซึ่งหากดูตั้งแต่วันที่ตลาดเปิด จนถึงสิ้นปี 2525 ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก 100 จุด เป็น 123.5 จุด คิดเป็น +23.5%
🌟ช่วงที่ 2 ปี 2526-2535 ค่าแรงขั้นต่ำมีการเปลี่ยนแปลง จาก 66 บาท เป็น 115 บาท เพิ่มมา 49 บาท (ปี 2526 ปรับเพิ่มขึ้นมาจากปี 2525 จำนวน 2 บาท) ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก 138.6 จุด เป็น 893.42 จุด คิดเป็น +544.6%
🌟ช่วงที่ 3 ปี 2536-2545 ค่าแรงขั้นต่ำมีการเปลี่ยนแปลง จาก 125 บาท เป็น 165 บาท เพิ่มมา 40 บาท (ปี 2536 ปรับเพิ่มขึ้นมาจากปี 2535 จำนวน 10 บาท) ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก 845.29 จุด เป็น 356.48 จุด คิดเป็น -57.83%
🌟ช่วงที่ 4 ปี 2546-2555 ค่าแรงขั้นต่ำมีการเปลี่ยนแปลง จาก 169 บาท เป็น 300 บาท เพิ่มมา 131 บาท (ปี 2546 ปรับเพิ่มขึ้นมาจากปี 2545 จำนวน 4 บาท) ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก 370.01 จุด เป็น 1,391.93 จุด คิดเป็น +276.19%
🌟ช่วงที่ 5 ปี 2556-2565 ค่าแรงขั้นต่ำมีการเปลี่ยนแปลง จาก 300 บาท เป็น 353 บาท เพิ่มมา 53 บาท (ปี 2556 ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นมาจากปี 2555) ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก 1,474.20 จุด เป็น 1,668.66 จุด คิดเป็น +13.19%
จากการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วง คุณจับสังเกตอะไรบางอย่างได้ไหมครับ 😎
เริ่มจากเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงครับ จะเห็นได้ว่าแต่ละช่วง มีการเพิ่มขึ้นประมาณ 50 บาท แต่มีในช่วงที่ 4 (ปี 2546-2555) ที่เพิ่มขึ้นมาถึง 131 บาท เลยทีเดียว 💸
มาดูกันต่อครับว่าเกิดอะไรขึ้น 🧐
ในช่วงปี 2546 เป็นช่วงที่ เศรษฐกิจฟื้นตัวจาก #วิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) ครับ แต่หลังจากนั้น ก็มีภัยพิบัติและเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย
มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจหลายครั้ง ซึ่งค่าแรงถูกผลักดันด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้นั่นเองครับ
ส่วนตลาดหุ้น ภาพรวมในช่วง 10 ปีดังกล่าว ถือว่ามีการปรับตัวขึ้นมาเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกันครับ 📈
แต่หากมองให้ลึกไปในช่วงแต่ละปี จะพบว่ามีความผันผวนไม่น้อยเลยครับ โดยเฉพาะในปี 2551 ที่ดัชนีลดลงไปกว่า 50% ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน จากความไม่แน่นอนทางการเมือง (เปลี่ยนนายกเป็นว่าเล่นกันเลยทีเดียว) 😵‍💫
แต่ไม่ว่าจะลดลงมายังไง สุดท้ายในช่วงระยะเวลา 10 ปี ก็กลับมาเป็นบวกได้ครับ 😎
แล้วอย่างนี้ ช่วงที่ 3 ปี 2536-2545 ระยะเวลา 10 ปีเหมือนกัน ทำไมตลาดหุ้นถึงยังคงเป็นลบ ⁉️
ลองดูตัวเลขดัชนีตลาดตั้งแต่ในช่วงที่ 2 ปี 2526-2535 ครับ ตลาดหุ้นขยับจาก 138.6 จุด เป็น 893.42 จุด คิดเป็น +544.6% สูงมากเลยใช่ไหมครับ 😲
แต่พอมาในช่วงที่ 3 ปี 2536-2545 หากนับจากจุดที่พีกที่สุด คือวันที่ 30 ธันวาคม 2536 ที่ 1,682.85 จุด จนถึงสิ้นปี 2545 จะเห็นว่าในช่วงที่ 3 นี้ ตลาดหุ้นลดฮวบลงมา 78.82% กันเลยทีเดียว 😱
สาเหตุเป็นเพราะว่า ในขณะนั้นประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ นั่นเองครับ
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ดัชนีจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ 2 ก่อนจะลดฮวบลงมาในช่วงที่ 3 เหมือนฟองสบู่ที่โตอย่างรวดเร็ว และ แตกโป๊ะ ในที่สุด 🫧
แต่หลังจากนั้นในช่วงที่ 4 ก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในที่สุดครับ ✅
จากการเปรียบเทียบทั้งทางฝั่งการขึ้นค่าแรง และตลาดหุ้น คุณพอจะเห็นความเชื่อมโยงอะไรบ้างไหมครับ 🤔
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือ ทั้งค่าแรงและตลาดหุ้น จากอดีต ปรับเพิ่มขึ้นมาด้วยกันทั้งคู่ครับ
…แล้วในปีที่ตลาดหุ้นตกทำไมค่าแรงไม่ตกตาม…
นั่นคงจะใจร้ายเกินไปครับ ถ้าจะลดค่าแรงที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก ในช่วงวิกฤตเลยเกิดการเลิกจ้าง เพื่อให้ไปเจอหนทางที่ดีกว่าแทนครับ 😅
แล้วแบบนี้ ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ มีผลอะไรกับ ‘ตลาดหุ้น’ 🤑
จริงๆ แล้ว การขึ้นค่าแรง ไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นโดยตรงครับ ส่วนมากจะเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอื่นๆ ที่มากระทบมากกว่า
โดยค่าแรงจะมีผลในเชิงโครงสร้าง ทั้งทางฝั่งเม็ดเงินที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบเศรษฐกิจและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในทางฝั่งธุรกิจครับ
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่การจ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนที่สูง เช่น ภาคเกษตร ที่พักแรม บริการด้านอาหาร ก่อสร้าง และบริการด้านอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนตลาดหุ้น การขึ้นค่าแรง จะส่งผลกระทบโดยตรงในวงแคบๆ แค่กับหุ้นบางตัวเท่านั้นครับ ผลกระทบในวงกว้างจะเกิดเนื่องจากข่าวมากกว่า และจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น 🗞️
ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้เราวิเคราะห์ว่ามันกระทบต่อหุ้นหรือธุรกิจที่เราลงทุนอยู่หรือไม่ กระทบในลักษณะใดบ้าง และอย่าเพิ่งตกใจครับว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วจะเกิดผลกระทบ ในแง่ลบ
เพราะอย่างที่กล่าวไปคือ เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เม็ดเงินก็จะไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการขยายตัว วนกลับมาเป็นกำไรของธุรกิจได้อีกอยู่ดี
และจากสถิติตลอดระยะเวลา 50 ปีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะมีการขึ้นค่าแรงมาโดยตลอด แต่ตลาดหุ้นก็ยังคงเติบโตได้อยู่ดี
ในการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดหุ้นตกลงมายังไงก็ตาม หากยึดมั่นใจหลักการที่ถูกต้อง มีสติที่มั่นคง คิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วละก็…
ต่อให้ใครจะไม่กลับมา ยังไงตลาดหุ้นก็กลับมาแน่นอนครับ
โฆษณา