17 มิ.ย. 2023 เวลา 04:15 • ธุรกิจ

บทเรียน ‘กัลฟ์’ 20 ปี

มีทุนอย่างเดียวก็ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้
ชื่อของเสี่ยกลาง หรือ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้สะสมความมั่งคั่งมาจากธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจนขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี
โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่เป็นกิจการผูกขาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ในเป็นยุคที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขยายตัวแบบก้าวกระโดดช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น
จึงเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 พ.ค.2537 ให้รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปแบบ Independent Power Producer (IPP) โดยให้ กฟผ.รับซื้อระยะแรก 3,800 เมกะวัตต์ ในยุคที่ ‘ปิยะสวัสดิ์ อัมรนันท์’ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
การรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตเอกชนเป็นผู้เสนอสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในช่วงนั้นมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันตก ทำให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถูกกำหนดเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะมีโรงเหล็กขนาดใหญ่ของกลุ่มสหวิริยามาตั้งอยู่
พร้อมกับมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่บางสะพาน โดยมีเป้าหมายไปถึงการสร้างโรงถลุงเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำแห่งแรกของไทย
บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาและลงนามในสัญญาร่วมกับ กฟผ.มีทั้งหมด 7 ราย และหนึ่งในนั้น คือ กัลฟ์ เพาเวอร์เจนเนอร์เรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ ถ. เพชรเกษม ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์
มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ลงนามเมื่อเดือน ก.ค.2540 กำลังการผลิต 1,468 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินที่มีปริมาณกำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิง และมีกำหนด COD ส่งไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ.ในปี 2546 มูลค่าการลงทุน 30,050 ล้านบาท
'สารัชถ์ รัตนาวะดี' CEO กัลฟ์ มหาเศรษฐีที่สะสมความมั่งคั่งจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า และกำลังขยายไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล (ภาพจากรายงานประจำปี 2651 ของกัลฟ์)
โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงไปพร้อมกับโรงไฟฟ้าหินกรูดของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
เป็นการต่อต้านจากชุมชนด้วยความกังวลถึงผลกระทบจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ถึงแม้ว่าจะเป็นประเภทที่มีกำมะถันต่ำ รวมทั้งต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้น และมีข้อเสนอให้ย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้า
หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และคีย์แมนคนสำคัญของกัลฟ์ที่ร่วมผลักดันโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ในครั้งนั้น วันนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกัลฟ์
หนึ่งในนั้นมี ‘บุญชัย ถิราติ’ จากผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจอเนอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2544 ขึ้นมาเป็น กรรมการและรอง CEO บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานใกล้ชิด ‘สารัชถ์’ ในการบริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
ย้อนไปเมื่อปี 2544 กัลฟ์ ต้องเผชิญหน้ากับหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบปัญหา รวมถึงการเผชิญหน้ากับผู้ที่ชุมนุนคัดค้าน
รวมทั้งมีนักวิชาการและ NGO เข้าไปร่วมวงด้วย เช่น ‘เดชรัตน์ สุขกำเนิด’ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
‘เดชรัตน์’ ในปัจจุบันในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ Think Forward Center และอยู่ในทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายไม่เป็นมิตรกับกลุ่มบริษัทใหญ่และต้องการลดการผูกขาด
รวมถึงมีนโยบายปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เห็นว่ามีต้นทุนแฝง เช่น ค่าความพร้อมจ่ายที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเพื่อเตรียมเดินเครื่องทันทีเมื่อต้องการไฟฟ้าเข้าระบบ
ในวันนั้น ‘เดชรัตน์’ เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก ในฐานะกลุ่มตัวแทนราษฎรผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน และทำหน้าที่ชี้แจงหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
ผ่านมา 20 ปี เศษ ทั้ง ‘บุญชัย’ และ ’เดชรัตน์’ ยังดูเหมือนเดินกันบนเส้นทางคู่ขนานเหมือนเดิม
'บุญชัย ถิราติ’ รอง CEO กัลฟ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ ดูแลโรงไฟฟ้าบ่อนอก และต้องทำหน้าที่ชี้แจงหน่วยงานต่างๆ แต่สุดท้ายโครงการนี้ต้องย้ายไปที่สระบุรี (ภาพจาก www.gulf.co.th)
ความขัดแย้งและการประท้วงจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ยืดเยื้อทำให้เกิดเครือข่ายชุมชน นักศึกษา นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมตัวกับย่างเข้มแข็งเพื่อรถรงค์ต่อต้านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าบ่อนอกของกัลฟ์ และโรงไฟฟ้าหินกรูดของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ที่ล่าสุดจดทะเบียนเลิกบริษัทไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565
แรงต่อต้านทำให้เกิดกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดและกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ที่เป็นมวลชนหลักในการขับเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด
และเริ่มมีการคัดค้านตั้งแต่รับรู้ว่ากัลฟ์และยูเนียน เพาเวอร์ จะมาสร้างโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์
คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้สรุปความขัดแย้งในหลายประเด็น ดังนี้
 
ประเด็นความจำเป็นของโครงการ
กลุ่มคัดค้านเห็นว่าไม่มีความจำเป็นทางด้านพลังงานเพราะปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงเกินความต้องการ
กลุ่มสนับสนุนเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องจัดหาพลังงานให้เพียงพอ
ประเด็นผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสังคม
กลุ่มคัดค้านเห็นว่าโรงไฟฟ้าเป็นต้นเหตุของความแตกแยกที่รุนแรงขึ้น และไม่ต้องการความเจริญจากอุตสาหกรรม โดยต้องการคงวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ประมงขนาดเล็กและท่องเที่ยวเชิงนิวศ
กลุ่มสนับสนุนเห็นว่ากลุ่มคัดค้ายยังไม่เข้าใจโครงการแท้จรอง ในขณะที่การพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมจะสร้างรายได้ให้ชุมชน และโรงไฟฟ้าเสนอสัญญาประชาคม เพื่อทดแทนความสูญเสียของชุมชนในรูปเงินช่วยเหลือและการส่งเสริมอาชีพ
ประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
กลุ่มคัดค้านเห็นว่าการใช้ถ่านหินจะเกิดมลพิษทางอากาศ ดินและน้ำในชุมชน การก่อสร้างสะพานลำเลียงถ่านหินจะกระทบระบบนิเวศชายฝั่ง การปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าที่มีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำทะเลปกติและการขนถ่านหินตลอด 25 ปี จะกระทบระบบนิเวศทางทะเล
ส่วนกลุ่มสนับสนุนเห็นว่าการทำรายงาน EIA สรุปว่าไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือมีบ้างแต่ไม่มีนับสำคัญ รวมทั้งเชื่อว่าเจ้าของโครงการจะทำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเคร่งครัด และมีมาตรการชดเชยไว้แล้วหากมีผลกระทบ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญให้ ‘กัลฟ์’ ที่จะประมาทพลังชุมชนไม่ได้ และทำให้เรียนรู้ว่าการทำธุรกิจที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องทำอย่างไร เพราะลำพังการมีเงินทุนอย่างเดียวก็ไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้
โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ภาพจาก www.gulf.co.th
ผลของความขัดแย้งที่รุนแรงทั้งการตั้งเวทีชุมชนคัดค้าน รวมถึงเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าทำให้ ‘กัลฟ์’ ยอดถอยออกจากพื้นที่ โดยย้ายโรงไฟฟ้ามาที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ทำให้เราได้เห็น ‘กัลฟ์’ ไปสนับสนุนทีมฟุตบอลอยู่ช่วงหนึ่งในนามทีม ‘กัลฟ์ สระบุรี’ เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร
ถึงแม้จะยอมถอย แต่ระดับ ‘สารัชถ์’ ได้ใช้เป็นเงื่อนไขเจรจากับภาครัฐขอมาตรการชดเชยผลกระทบครั้งนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทหลายรายใช้วิธีนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ
สำหรับ ‘สารัชถ์’ บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกทหาร หลานคุณพระ เขยนักการเมือง เป็นผู้ที่เกิดในครอบครัวทหาร
มีบิดา คือ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด
และเป็นหลานปู่ พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุต (สด รัตนาวะดี) อดีตนายทหารกรมจเรทหารบก อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตอธิบดีกรมรถไฟ
ที่มาของตระกูล ‘รันตนาวะดี’ รวบรวมไว้ที่บทความ https://www.blockdit.com/posts/60e97f32ed094f0c8662fd71
อ้างอิง
1.ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2542 กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมถ่านหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เม.ย.2544
โฆษณา