Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บันทึกของฉัน
•
ติดตาม
17 มิ.ย. 2023 เวลา 13:13 • หนังสือ
ถ้าเงินไม่ใช่พระเจ้าแล้วใครเป็น: อ่าน What Money Can't Buy ของ Michael Sandel
หนังสือเล่มนี้สามารถเขียนให้จบภายใน 20 หน้าได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเขียนให้หนาถึง 2000 หน้าได้เช่นกัน เพราะเนื้อหาทั้ง 5 บท คือการหยิบเคสขึ้นมาตีแผ่ให้ดูว่า ลัทธิตลาดมันเบียดบังและบ่อนทำลาย ปทัสถาน (Norm) ที่สูงกว่า เช่น ศีลธรรม อย่างไร มันเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นการค้า (Commercialized) ได้ถึงขนาดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะมันจะมีเรื่องที่ผู้อ่าน concerned และ unconcerned
"เราลังเลที่จะนำความเชื่อทางศีลธรรมและจิตวิญญาณเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ"
ประโยคดังกล่าวปรากฎในตอนท้ายของหนังสือ เป็นประโยคที่มีความลักลั่นอยู่ในตัว เพราะในโลกเสรีนิยมที่ขับเคลื่อนและต้องการจำกัดพื้นที่ของความเชื่อให้อยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวของปัจเจก ตลอดถึงการที่พื้นที่สาธารณะ ก็กลายเป็นพื้นที่หรืออาณาเขตสาธารณะแบบกระฎุมพี ที่เป็นเพียงแค่การมาแชร์อาณาเขตส่วนตัวกันเฉยๆ (เช่น co-working space) ไม่ได้มีการตอบโต้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรกัน อย่างที่ฮาเบอร์มาสเคยเสนอไว้ว่าพื้นที่สาธารณะถูกทำลายด้วยระบบทุนนิยมไปแล้ว
ดังนั้นจึงยากที่จะหาฉันทามติ (concensus) อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มันไม่สามารถหาข้อสรุปไม่ได้ว่า เรื่องใดควรหรือไม่ควรให้สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าได้
ด้วยพลังของทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ (ซึ่งแปลกใจที่ไม่มีการพูดถึงสองแนวคิดนี้เลย ทั้ง ๆ ที่ตีพิมพ์ปี 2012) ที่ต้องการจะเปลี่ยนทุกอณูในชีวิตให้กลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจ กล่าวคือ เปลี่ยนให้เราเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Hono economicus) ที่คิดทุกเรื่องเป็นอรรถประโยชน์ โดยจะต้องเลือกวิถีทางที่ประหยัดและคุ้มค่าที่สุด อันสะท้อนถึงการครอบงำของเหตุผลแบบเหตุผลเชิงเครื่องมือ (instrumental rationality)
โดยการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจนี้แยกไม่ออกกับการขยายตัวของวิชาเศรษฐศาสตร์ ในเล่มนี้มีการหยิบยกนิยามของเศรษฐศาสตร์จากหนังสือ Economics ที่เขียนโดย Paul Samuelson ในปี 1958 มาเปิดดู ปรากฎว่า นิยามและหน้าที่ ที่พอลได้ให้ไว้นั้นชัดเจนว่าเป็นสาขาที่จำกัดอยู่แค่ในเรื่องการผลิต การกระจายและการบริโภคสินค้าเชิงวัตถุ และมีหน้าที่ในการอธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ
แต่ขอบเขตของมันเริ่มเปลี่ยนไป โดยแซนเดลยกตัวอย่างนิยามของ Gregory Mankiw ในหนังสือ Principles of Economics (2002) ว่า "เศรษฐกิจ เป็นกลุ่มคนที่มีปฎิสัมพันธ์ต่อกันในการดำรงชีวิต" โดยแมนคิวตั้งข้อสังเกตว่า หลักการที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ "การตอบสนองต่อแรงจูงใจ"
การสร้างแรงจูงใจ (incentivize) จึงเป็นแพ็กเกจที่แผ่ขยายไปพร้อมกันกับเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสอดคล้องกับรัฐในสภาวะสมัยใหม่ที่จะไม่มีการปกครองด้วยการบังคับ หากแต่จะใช้การโน้มน้าวหรือจูงใจ หรือด้วยเหตุผลนั่นเอง
ด้วยการแผ่ขยายของเสรีนิยมใหม่ ที่รัฐจะต้องเป็น minimal state ทำให้พื้นที่ทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะปัจเจกหรือเอกชนเท่านั้น องค์กรของรัฐเองก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง โดยต้องดำเนินการแบบ commercial ส่งผลให้วัตถุประสงค์ขององค์กรเหล่านี้ต้องลดความสำคัญลง ดังที่ในหนังสือยกตัวอย่างเรื่อง โรงเรียนและสถานีตำรวจต้องวิ่งเต้นหาสปอนเซอร์มา เป็นต้น
แซนเดลเสนอสิ่งที่สามารถนำมาเป็นการโจมตีกระบวนการ (ทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่) นี้ได้ คือ
1. สำนึกพลเมือง โดยตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ชุมชนในสวิตเซอร์แลนด์ยอมรับการให้รัฐเลือกชุมชนของพวกเขาเป็นที่ทิ้งกากนิวเคลียอย่างสมัครใจฟรีๆ มากกว่าข้อเสนอที่รัฐจะจ่ายเงินให้ เพราะเห็นว่ามันลดระดับความเป็นพลเมืองของพวกเขาไปเป็นการคอร์รัปชัน และกรณีที่ให้เด็กนักเรียนไปเดินขอเงินบริจาค โดยกลุ่มที่ทำฟรีๆ มียอดบริจาคเยอะกว่ากลุ่มที่ทำแล้วได้ค่าตอบแทน
2. เรื่องความมีอิสระในการตัดสินใจและความเป็นธรรม เช่น กลุ่มคนที่ขายอวัยวะ อาจไม่ได้มีความสมัครใจที่จะขาย เพียงแต่จำเป็นต้องใช้เงิน
ทั้งนี้การจะต่อต้านกระแสของทุนนั้นก็คงจะยากที่จะต้านทานได้ อีกทั้งการจะคาดหวังให้ทุกคนมีศีลธรรมในจิตใจก็ยากมากขึ้นตามกันไป เพราะวิถีชีวิตกำลังถูกกำกับด้วยอำนาจของตลาด
ไลฟ์สไตล์
ปรัชญา
ธุรกิจ
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย