18 มิ.ย. 2023 เวลา 04:09 • นิยาย เรื่องสั้น

ตอนที่ 22 วิธีการพัฒนาชาวบ้านของหลวงพ่อ

วันหนึ่งหลวงพ่อธีรวัฒน์นั่งครุ่นคิดอยู่รูปเดียวที่กุฏิของท่าน เพื่อหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม  เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกหลาน  และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องอพยพไปหางานทำที่อื่นให้ครอบครัวต้องมีปัญหา  และจะทำอย่างไรให้ท้องที่ ท้องถิ่น โรงเรียน นักธุรกิจ คหบดีที่มีฐานะดีมาร่วมกันช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังมีปัญหาเหล่านี้
ท่านคิดต่อไปอีกว่า  การจะทำให้ทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ก็จะต้องมีเวทีให้พวกเขามาพูดคุยรับรู้ข้อมูล รู้ปัญหาให้ตรงกันก่อน  จึงจะทำให้เขาเกิดความตระหนักและมีใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นตามความรู้ความสามารถและศักยภาพที่ตนมีอยู่   แล้วใครล่ะจะเป็นสื่อกลางจัดเวทีอย่างนี้ได้  เพราะแต่ละคนแต่ละหน่วยงานต่างยังทำงานแยกส่วนกัน  แม้แต่นายอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ปกครองท้องที่ในอำเภอ ก็อาจยังไม่มีบารมีพอที่จะโน้มน้าวหรือเป็นสื่อกลางให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมารวมตัวกันได้
ท่านเลยหันกลับมาดูศักยภาพตัวท่านเอง  ตอนนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาส  เป็นเจ้าคณะอำเภอ เป็นพระอุปัชฌาย์  ที่สำคัญคือเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีผู้เคารพศรัทธาทั้งในอำเภอและที่อื่นๆมากมาย  ท่านก็น่าจะพอนำทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่นี้ได้กระมัง  และนี่ก็ถือเป็นภารกิจของสงฆ์ที่เป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย  ท่านเลยคิดว่า
“จะต้องลองทำงานใหญ่นี้ดูสักตั้ง  แต่ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป”
หลวงพ่อเลยเริ่มต้นด้วยการหาโอกาสพูดคุย ชักชวน เสนอความเห็นนี้แก่บุคคลสำคัญในท้องถิ่นแต่ละคน แต่ละกลุ่มเพื่อเป็นการสำรวจเสียงคนในพื้นที่ก่อน  ท่านคิดว่า เวลาที่เหมาะที่สุดก็คือตอนที่พวกเขามาทำบุญที่วัด  หรือตอนที่เขานิมนต์ไปในงานบุญงานพิธีต่างๆ   เริ่มจากนายอำเภอก่อน  แล้วตามด้วยผู้กำกับการตำรวจ  ชาวบ้าน  ฝ่ายสาธารณสุข เกษตรอำเภอ   เครือข่ายผู้ปกครอง  พ่อค้า คหบดี ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งประถมและมัธยม  กำนันผู้ใหญ่บ้าน  ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอ ฯลฯ
ปรากฏว่าทุกคนทุกฝ่ายล้วนเห็นด้วยและจะสนับสนุนแนวคิดของหลวงพ่ออย่างเต็มที่ ท่านจึงตั้งคณะทำงานเล็กๆเพื่อรับผิดชอบ ดูแลประสานงานเรื่องนี้ขึ้น  ซึ่งหลวงพี่ชัชพงศ์ ธรรศและนิพาดาก็เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานที่หลวงพ่อตั้งขึ้นด้วย
คณะทำงานฯได้ทำหนังสือเชิญประชุมจากหลวงพ่อให้ทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่หลวงพ่อไปทาบทามไว้ มาประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันที่ศาลาการเปรียญในตอนบ่ายของวันพระวันหนึ่ง  โดยก่อนกำหนดการประชุมหลวงพ่อได้ให้คณะทำงานไปสำรวจทาบทามก่อนแล้ว ว่าทุกฝ่ายสามารถมาร่วมประชุมในวันนี้ได้  โดยขอร้องไปว่าการประชุมครั้งแรกนี้อยากให้นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานและคนสำคัญต่างๆที่ท่านเคยพูดคุยไว้ มาประชุมด้วยตนเอง
เมื่อถึงวันนัดทุกคน ทุกฝ่ายมากันอย่างพร้อมเพรียง  หลวงพ่อธีรวัฒน์นั่งเป็นองค์ประธาน นำพูดคุยซักถามสารทุกข์สุกดิบทั่วๆไป แลกเปลี่ยนกันอย่างสุนทรีนสนทนา แล้วโยงเข้าสู่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในอำเภอ   เรื่องการทำมาหากิน  การอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน
ปัญหาและสาเหตุของปัญหาต่างๆที่แต่ละหน่วยงาน แต่ละคนพบในชุมขนของตน  ทำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้สภาพข้อมูลและปัญหาต่างๆตรงกัน ซึ่งปัญหาที่พบมีสองเรื่องใหญ่ๆคือ  ปัญหาความยากจนของประชากรในอำเภอ  และปัญหาความประพฤติที่บกพร่องในศีลในธรรมของผู้คน  ซึ่งทั้งสองปัญหาส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมามากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการอพยพออกไปหางานทำที่อื่น ปัญหาการหย่าร้าง  ทำให้เด็กๆและคนชราขาดการดูแลเอาใจใส่ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจ  ปัญหาจากโรคภัยต่างๆเบียดเบียน  เกิดการลักเล็กขโมยน้อยเพิ่มมากขึ้น  และมีแนวโน้มว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด
พอทุกคนรับรู้และยอมรับว่าเป็นปัญหาของชุมชนและท้องถิ่นนี้จริงๆ  หลวงพ่อจึงพยายามพูดกระตุ้นให้ทุกคนทุกฝ่ายเกิดความตระหนักว่า เราจะปล่อยปละละเลยไม่ได้แล้ว เราจะต้องมาหาทางช่วยเหลือแก้ปัญหาและพัฒนาอำเภอของเราให้น่าอยู่  ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ในที่สุดกลวิธีในการแก้ปัญหาสองเรื่องใหญ่นี้ก็พรั่งพรูออกมา   ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าปัญหาเรื่องแรกคือความยากจน  เราจะต้องร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติกันให้จริงจัง โดยต้องคำนึงถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล และมีระบบคุ้มกันที่ดี
โดยบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยสร้างความรู้เรื่องการประกอบอาชีพให้แก่ชาวบ้าน  บ้านเราชาวอยุธยาส่วนใหญ่ก็ทำนากัน เราต้องหาทางช่วยให้เขาเพิ่มมูลค่าในการทำนาให้เกิดผลผลิตสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น และต้องสอนให้เขาทำอาชีพที่สุจริตอย่างอื่นเสริมเข้ามา ต้องสร้างกลไกตลาดที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน  ผู้ที่มีที่ดินมากๆแล้วไม่ได้ทำประโยชน์ ก็ควรมาพิจารณาจัดสรรแบ่งปันให้ผู้ไม่มีที่ดินได้เช่าทำกินในราคาถูก หรือไม่เก็บค่าเช่าเลยก็จะเป็นบุญกุศลและเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น
ที่สำคัญคือต้องสอนเขาให้มีความขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์และอดทน ไม่นานเชื่อว่าความยากจนก็จะค่อยๆหมดไปจากอำเภอเรา
นั่นคือแนวคิดและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในการแก้ปัญหาเรื่องความยากจน  แล้วหลวงพ่อได้ถามเสริมอีกว่า แล้วเราจะทำยังไงให้แนวคิดนี้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมขึ้น  ที่ประชุมจึงเสนอแนวการปฏิบัติที่แต่ละคนสามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านพัฒนาได้หลายเรื่องตามสภาพของแต่ละพื้นที่
โดยกำหนดให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบดูแลในแต่ละเรื่อง เช่น การจัดระบบชลประทานให้มีน้ำทำนาได้หลายครั้ง การจัดการป้องกันน้ำท่วม การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตและราคาสูง การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีการเกษตรเสริมการใช้แรงงานคนและสัตว์   การผลิตและใช้ปุ๋ยชีวภาพ  การรื้อฟื้นประเพณีการเอาแรงกันขึ้นมาใหม่   การปลูกผักทำสวนครัวหลังเลิกทำนา  การแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสนอแนะไว้  การทำเกษตรแบบผสมผสาน
แต่ละครอบครัวมีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนผลผลิตซึ่งกันและกัน  การแบ่งพื้นที่ทำนามาปลูกพืชเศรษฐกิจบางชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่น กล้วยหอม เป็นต้น แต่จะต้องหลีกเลี่ยงการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  จะใช้การตลาดนำการผลิต และจะต้องจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร ให้เป็นความร่วมมือกันทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่ายที่ครบวงจร
โดยสหกรณ์นี้จะเน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามวัฒนธรรมไทย มากกว่าทำในรูปแบบธุรกิจ  แต่ก็ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะช่วยขจัดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย คนจน นายทุนกับเกษตรกรให้น้อยลง และจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและเป็นสุขด้วย
ส่วนปัญหาเรื่องที่สองคือการการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลในธรรม  หลวงพ่อบอกว่า ถ้าเราแก้ไขเรื่องนี้ได้ก็จะเป็นพื้นฐานและเกิดภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อแรกได้อย่างยั่งยืน
เรื่องการประพฤติที่บกพร่องในศีลธรรมความดีงามนี้ นายอำเภอได้เสนอโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งทางการได้รณรงค์กันอยู่แล้ว โดยเราจะทำกันอย่างจริงจัง  มีการติดตาม ประเมิน  ให้รางวัลกันเป็นหมู่บ้าน  และขอให้หลวงพ่อช่วยเป็นศูนย์รวมจิตใจอบรมกล่อมเกลาในเรื่องนี้  ส่วนเรื่องการช่วยรณรงค์การประสานงาน การจัดประกวดและมอบรางวัลขอเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการร่วมมือกันทำ
หลวงพ่อได้โอกาสเลยเสนอโครงการที่ท่านเคยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างกว้างขวาง  เพื่อให้มีเจ้าภาพเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น คือ โครงการส่งเสริมให้ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน ภิกษุสามเณร ไปอบรมปฏิบัติธรรมหลักสูตร 10 วันอย่างต่อเนื่องให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ท่านกล่าวตบท้ายด้วยสุ้มเสียงที่หนักแน่นว่า
ผู้ใหญ่ และผู้บริหารหน่วยงานทุกหน่วยทุกองค์กรควรเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างในการไปอบรมปฏิบัติด้วย  แล้วมารวมกลุ่มปฏิบัติกันในทุกวันอาทิตย์  และยังมีโครงการอบรมอานาปานสติหลักสูตร 1 วันแก่เด็กและเยาวชนด้วย ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะให้พระชัชพงศ์ ร่วมกับธรรศและนิพาดาช่วยประสานงานดูแลรับผิดชอบ  ที่ประชุมต่างเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนทุกโครงการ
นายอำเภอและผู้กำกับการตำรวจเสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องข้อตกลงที่ประชุมกันในวันนี้ ควรให้คณะทำงานสรุปออกมาเป็นมาตรการปฏิบัติแต่ละประเด็น  เขียนเป็นข้อๆให้สั้นและกระชับ สื่อความได้ชัดเจน พิมพ์ออกมาให้ได้หนึ่งหน้ากระดาษ แล้วทางอำเภอจะนำไปติดในทุกบ้าน ทุกหน่วยงานทั่วทั้งอำเภอ เพื่อเตือนใจให้รับผิดชอบกันตามบทบาทหน้าที่ แล้วจะมีการติดตาม นำประเด็นเหล่านี้มาประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคที่พบในทุกเดือนกันที่วัดนี้ และขอนิมนต์หลวงพ่อช่วยเป็นองค์ประธานให้ทุกครั้งด้วย
บัดนี้งานที่หลวงพ่อตั้งใจไว้ ได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างงดงามขึ้นแล้ว
----------------
โฆษณา