KARO ”คนล้นร้าน รถล้นลาน”

คุณผู้อ่านเข้าข่ายกระหายใด?
กระหาย กระปรี้กระเปร่า
กระหาย ลิ้มสร้างลิ้นช่ำชอง
กระหาย ใคร่รู้ร้านอยู่ในซอยบ้าน
กระหาย หมายนัด รอเวลา ห้องทำงาน หรือเหตุผลหย่อนใจแบบใดก็ตาม
ทุกกลุ่มกระหายร่วมร้อยหลักหมาย และหากหมายรวมกาแฟคือวัฒนธรรม
“เดิมดุจเครื่องดื่มชูกำลัง สู่เครื่องดื่มชูรสนิยม”
คาโร คาโร่
ลองจินตนาผับบาร์ คือสวรรค์ของนักท่องราตรี ต่างคนต่างจุดมุ่งหมาย แต่ร่วมหลักหมายคือผับ กลับมาที่ร้านกาแฟ หลายคนพบเพื่อนใหม่ ได้คุยกับเพื่อนเก่า พื้นที่ของร้านคือหลักแหล่งพบปะ แม้กระทั่งผู้เพียงผ่านเพื่อนั่งดื่ม ตรงรี่ซื้อหาแล้วลี้ลา หรือเลือกผ่านเครือข่ายไรเดอร์ ทุกท่านต่างอุดหนุนให้เกิด “สังคมกาแฟ”
ก่อนเสือหัวขาดผงาด
ซุบซิบชุมชนแว่วว่า จะมีสถานะร้านใหม่ คำถามในใจ ร้านอะไรหนอ? คล้อยครบขวบ “ห้องคูหาเดียวสีทึบเทาขนาดกะทัดรัด ปรับโฉมสู่ร้านกาแฟ“ วางตนจำเพาะพิเศษ (Specialty coffee)
แน่ละว่าร้านอย่างคาโร คือความใหม่ของคนท้องถิ่นบางกลุ่ม “คุณป้านิรนาม สวมวิญญาณครูใหญ่ ปฐมนิเทศเด็กใหม่ ข้อหาราคาหรูมิคุ้นหู” การรับมือคือการรับฟัง นี่กระมัง จุดเริ่มต้นของเสือหัวขาด!!
พบรอยสัก ปะรอยยิ้ม
เช้าตรู่บานเลื่อนคลี่เพียงกึ่ง ประหนึ่งสัญญาณควานค่านิยม ตัวเลขบ่งความเที่ยงบนเครื่องชง เย้ายวนน้อยกว่า “วิธีลิ้มใช้ลิ้นตัดสิน” บางคราลงมามาดชุดนอน กุลีกุจอจดจ่อจนได้รสอันรัญจวน บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกะคาโร มักมิถกเนื้อหากาแฟ สัพเพเหระประสาเพื่อนบ้าน
เค้าโครงภาพลักษณ์ “คมเข้มยิ้มง่าย ลวดลายเรือนร่าง ค่อนข้างฮิปปี้”
จากขาจรแวะเจรจา เบ่งบานเป็นขาประจำ เข้าข่ายคำ “People of Karo”
ทำนองของทำเล
ถ้าขับขี่เข้าท้ายซอยร้านอยู่ซ้ายมือ หลักหมายอาจเร้นตาสักหน่อย เพราะโรงเรือนค้าของเก่ากลบสายตา ทั้งที่ใช้เทคโนโลยีนำทางและจวนจะถึงจุดหมาย ด้านหลักหมุดพลันหายคล้ายอับสัญญาณ บางวันเพื่อนบ้านนำรถรุ่นลายครามออกจากพิพิธภัณฑ์ จุดจอดประชิดชายแดนแผนที่ รอยต่อดังว่าดั่งจุดพลัดหลง กระทั่งฉงนฉงายกลับกลายคุ้นชิน ละม้ายหลักชัยใช้สังเกต (นี่กระมัง คุณลักษณะของร้านที่จะดัง)
ถ้าเข้าต้นซอยเรื่อยมาตามทางบังคับ สายตาบรรจบแฟมิลี่มาร์ท เยื้องกันนั้นคือตึกแถวหกคูหา สามห้องแรกเป็นของร้านขายส่งสุรา คูหาถัดร้านซักรีด ลึกสุดของตึกแถวคาโรพำนักและทำร้าน อีกคูหาฟากขวาแนบคาโรคือร้านเสริมสวย นอกจากจะสะสวยยังส่งเสริมเสวนา หัวข้อคุยเผาขนคงเรื่อง ”ร้านใหม่ แรงราคา”
หัวคะแนนชุมชน
ช่วงแรกการรับรู้ของข้างบ้านมิกระจ่าง วันเคลื่อนเดือนเปลี่ยนต่างแลกไมตรี ประกอบคุณลุงที่ร้านเสริมสวยรับจ้างซ่อมบำรุง กระชับสัมพันธ์เข้านอกออกใน ผสมช่างซักช่างถาม พลางซึมซัมความเป็นไปของกาแฟโลกใหม่ เมื่อความพร่าเลือนเลื่อนเข้าจุดชัด ร้านเสริมสวยขยับเข้าข่ายฐานเสียง ปานกรมประชาสัมพันธ์ ”สังคมคาโร”
ร้านเล็กแม่เหล็กซอย
ความหลงใหลสมัยร้านเล็ก หลักใหญ่เหนียวแน่นเกลียวกลม ตั้งแต่พนักงานหน้าคุ้นยันกลุ่มลูกค้าหน้าเก่า พื้นเพผู้คนอุดมความต่างทว่าอบอุ่นมิห่าง ก่อร่างสัมพันธ์จากพื้นผิวผืนน้อย พอกพูนตามการพบปะ
จุดแข็งเจ้าของขยันไถ่ถามสร้างบทสนทนาสีหน้าเริงร่า ไม่ว่าลูกค้าจะหน้าเดิมหรือเพิ่มเติม บางคราเป็นสะพานสานเพื่อนใหม่ ปลูกถ่ายความเป็นกันเอง บรรยากาศคล้ายหย่อมหย่อนคลาย ผสานอารมณ์เคลิ้มคล้อยร่ำไร มากน้อยใช้สอยต่างใจ
สุนทรียรส
ลูกค้าไทยเทศรุ่นบุกเบิก ต่างให้ทิศทางต้องกัน ไม่ใช่ลึกในแง่รสสัมผัส แต่นัยครอบคลุม ”สุนทรียรส” อันค่านิยมของรสชาติที่คาโรสร้าง สมานงานบริหารเชิงบริการ ก่อผู้คนบนดินแดน (Brand Royalty)
มิใช่รสสุดล้ำหรือใส่ใจไร้ที่ติ มันคล้ายเมล็ดพันธุ์จำเพาะอันไพเราะ (House Blend) ครั้นผ่านลิ้นลงคอพอจะรู้ในที ”นี่รสแห่งร้าน”
สั่งสมกลมกล่อม
เลาๆเคยถามคาโร คำตอบวันนั้นไม่มีศัพท์แสงทางกาแฟ กลับเรียบง่ายชวนฟัง รากฐานจากผัสสะที่สั่งสม ลองลิ้มผลิตซ้ำมิหยุดย้ำ แปรนั่นประสมนี่ ”กล่อมเกลากลืนกลายกลมกลึง”
ผสมการลงพื้นที่ต้นทางอย่างฟาร์มกาแฟ เก็บรายละเอียดเมล็ดเชิงมิติสัมพันธ์ กะเทาะเปลือกเปลื้องธาตุแท้ กระทั่งเปรื่องทั้งวิธีเล่นหนทางแก้ (นี่กระมัง เงื่อนแง่ความฉมัง)
สะสมวัน สะท้อนวัย
ลูกสาวผู้เขียนอายุมากกว่าร้านราวปีกว่า กำลังก้าวผ่านปฐมวัย (หวิวๆในใจ) ใคร่เก็บโมเมนต์นั้นไว้ บางครั้งอยากยั้งเวลา ”ถือครองความอ่อนหวานไว้ตราบนาน” ด้านความเป็นไป ”สะสมวันสะท้อนวัย” แต่ละย่างชวนตาม ไม่ต่างจากร้านคาโร แค่เคียงห่างอย่างห่วงใย มิหวงการเติบใหญ่
เย็นวานฟ้าคลายครึ้ม พาลูกไถสกู๊ตเตอร์ กะทันหันจะเข้าสุขา สองเราทอดน่องพึ่งร้านเพื่อน ปะเหมาะพบคาโร ทักทายหัวร่อแล้วร่ำลา
เบ็ดเตล็ด เอ็ดตะโร
มาตุภูมิคือมัลดีฟส์ อายุยังมิเข้าหลักสี่ กับรางวัลผู้สร้างปรากฏการณ์คลาคล่ำ ”คนล้นร้าน รถล้นลาน” ไม่รู้คาโรรับมือกับชื่อเสียงอย่างไร แต่เพื่อนบ้านรับรู้ถึงเรือนชาน
โควิดระบาดสั่นสะท้านทุกย่าน หนึ่งในผู้ต้านทานฐานะเจ้าของกิจการ เสือหัวขาดผงาดรายรับเป็นกอบเป็นกำ ”แจ่มชัดในมาตรวัดความนิยม” แต่ถ้าถามว่ารอดจากโรคไหม? (ตอบเลยว่าไม่)
ผ้ายันต์ มิ่งขวัญ
อารีอารอบมอบไรเดอร์ ”พี่ไรเดอร์ดื่มกาแฟไหม? ดำหรือขาว? ร้อนหรือเย็น?” ชุดคำถามอันโอบอ้อม (บางวันผู้เขียนใคร่พรางตนเป็นไรเดอร์)
ผ้ายันต์ประดับผนัง คือความเลื่อมใสในสิริมงคล ก่อนจะคลี่ขยายคล้ายสัญลักษณ์แห่งสถาน ด้านโลโก้ร้านคือความดาลใจจาก ”ยันต์เสือหัวขาด”
มนตรากาแฟ
ระนาบราคาหมวดหมู่เดียวกันจัดว่าไม่ต่าง จะด้วยนางกวักแมวไกว หรือคุณสมบัติอย่างแม่เหล็ก จึงจูงใจคอกาแฟกลุ่มใหญ่จากขั้วอำนาจเก่า บางคนผู้เขียนรู้จักมักจี่ บางคนไม่เคยเสวนาแต่เห็นหน้าเป็นรู้คอ
รังใหม่หลังใหญ่
ปรีดีพนมยงค์26 มีชุมชนชื่อพัฒนเวศม์ ร้านเล็กดั้งเดิมตั้งอยู่ระหว่างพัฒนเวศม์สามและห้า ”พ้นสามปีผันหน้าร้านสู่สี่แยก ระหว่างเลขหนึ่งและแปด” เสมือนสัญญะที่ขับเน้นเป็นประวัติการณ์
ว่าด้วย คาเฟ่ราคาหรู ผู้ก่อความคึกคัก ปลุกเร้าสังคมการค้าแนวหวือหวา (ปัจจุบันอุบัติสี่ซ้าห้าร้านหน้าใหม่ราคาใหญ่)
กล้วยหอมหมอลำ
ฟากพ่อชมชอบ ”นมเย็นเมล็ดหมอลำ กลมกลึงนวลนุ่มหนักแน่น” ฝั่งลูกเบบี้ชิโน่แกล้ม ”เค้กกล้วยหอม” เดิมเริ่มทานจากรับมาขาย จนน้องไอซ์ทำเอง ผลพวงเข้าครัวควงหรรษา กอปรนางช่างเสาะสรร สู่ผู้สร้างเมนูคู่กาแฟ
หลังม่านของร้านคืองานน้องไอซ์ ผู้ลงทะเบียนแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ เป็นล่ามประสานหลายฝ่าย จัดแจงสิ่งละอันพันละน้อยแต่มาก ผนวกทักษะของคาโรที่พอจะมีคนรู้จักอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าค่อนข้างแคบในยุคเริ่มต้น
วาดไว้ว่า
คำบอกเล่าสอดคล้องสองปาก ”มันเกินคาด ฝันที่วาด” แรกมาดมุ่งสนุกทุกวันสุข จำได้ว่า นางเองมีความหวาดหวั่น จะไหวไหม? ดั่งขั้วคิดคู่ตรงข้ามกะคาโร ซึ่งเชื่อมั่นในรสนิยมที่สั่งสม หากมองเป็นซีรี่ส์ นี่คือแกนของซีซั่น ”หวาดหวั่นมาดมั่น”
สู่พรีเมียร์ลีก
”วัฒนธรรมสุกงอม สังคมขยายขนาด ฐานเศรษฐกิจ” การรับมือคือการรับฟัง เกิดขึ้นในวันตั้งไข่ วันนี้ภาพลักษณ์ขานไขแทนคำอธิบาย
จากทีมขนาดเล็กสู่ทีมขนาดใหญ่ นักเตะหน้าใหม่แวะเวียนทดสอบฝีเท้า บ้างได้ไปต่อ บ้างพอแค่นี้ แนวทางทำทีมยึดสังคมแห่งการแลกเปลี่ยน ”ไถ่ถามและรับฟัง” แหล่งรวมความต่างทางรสนิยม เปิดประตูการมีส่วนร่วม เพราะบาริสต้าไม่ใช่พหูสูต พึงหน้ามิบูดตัวมิตึง
พื้นผิวผูกพัน
ชุมชนพัฒนเวศม์ คือหลักแหล่งแห่งแรกที่คาโรเคยพำนักฐานะผู้พลัดถิ่น ละม้ายแรงเคลื่อนขับรอยประทับ ประจวบห้วงหาที่ทางสร้างร้าน เพื่อนพ้องส่งข่าวคูหาในซอยว่าง บรรจงวางอนาคตบนความผูกพัน
เข้าใจว่าร้านแนวนี้ ”แน่วเน้นจุดขายรสนิยม มองทำเลทองเรื่องรอง ตีฆ้องตลาดออนไลน์” แต่ก็ใช่ว่าทุกร้านจะชักแถวสัมฤทธิ์
สังเขป สังคม
สังคมคาโรอายุย่างหกขวบ ต้อนรับผู้มาเยือนทั่วสารทิศ เป้าหมายชวนใจต่างไป บัดนี้สถานะเยี่ยง ”ชุมทางการค้า” ผู้เขียนอาศัยในชุมชนเกษมสำราญ ระยะทางระหว่างบ้านและร้านห่างกันราวห้าร้อยเมตร
ถ้านับร้านเป็น ”ศูนย์กลาง” ที่นี่ดังสะพานเชื่อมเครือข่ายอีกหลายชุมชน บางช่วงของวันคล้ายชุมนุมนานาชาติพันธุ์ ”ภาษาอังกฤษและกาแฟ คือสื่อกลางสังคม”
จากวงชุมชนขยับลงถนนปรีดีพนมยงค์ ชำแรกแทรกซึมครอบคลุมพื้นที่สุขุมวิท71 สังคมออฟไลน์ลุกลามแบบปากต่อปาก สังคมออนไลน์หลากไหลราวทำนบแตก รูปแบบตามสมัยนิยม
ปราการความคิด
กำแพงบ้านปานปราการความคิด สังคมใหม่เก่าระคน พื้นถิ่นพลัดถิ่นปะปน ”สลายซ่อมแซมสร้างสรรค์” สหวิทยาสวมเครื่องแบบวัฒนธรรม บางบ้านเปิดรับเรื่องนี้ปิดตายหัวข้อนั้น บางบ้านเปลี่ยนปรับรับมือไปตามกาล ประตูความคิดชุดความรู้เข้าถึงง่ายกว่ารุ่นคุณปู่ บ้างเสพสิ่งที่อยากได้ยิน บ้างเสพสองขั้วกลั้วกล้ำ บ้างเสพฟีดเฟ้นเน้นกระแส
ถ้าผู้เสพคือผู้กระหาย เราต่างกระหายบนความต่าง บางคราเราต่างสร้างความด่างพร้อยแก่กัน จะบังเอิญหรือจงใจ เหตุผลประดามีคล้ายโต้วาที ยากจะแยกฟากใดฝั่งใครควรถอย ”ถ้อยทีถ้อยอาศัย” กระมัง
น้ำพึ่งเรือ เสือหัวขาด
สังคมต้องการพื้นที่ ที่ทางที่ว่าทั้งออฟไลน์ออนไลน์ แม้กระทั่งพื้นที่ความคิดยังจำแนกย่อยแยกสังคม ”สมองคือผู้สมานความต่าง” บ้างใช้ตรรกะ บ้างใช้อารมณ์ บางหนใคร่ผสาน บางคราวไม่สน บางความรู้ถูกบิดเบือน จองจับประทับความทรงจำ
ขนาดของสังคมแคบกว้างต่างรูปทรง หนึ่งบุคคลประกอบด้วยหลายสังคม มากน้อยลดหลั่นตั้งแต่เกิดจนตาย หากมองสังคมราวดวงดาว แผ่นฟ้าทะมึนคือผืนพสุธา ช่างพร่างพร้อยพราวตา
บางสังคมอยู่ยันตาย บางสังคมกลับล้มหาย บางหลักหมายหลายสังคม
ในใจ
ไหลบ่ากาแฟ
หากกาแฟคือวัฒนธรรม สังคมคาโรคือ ”พื้นที่วัฒนธรรม” พัฒนาการของกาแฟ สร้างผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาด กระทั่งทางเลือกอย่างหน้าร้าน สังคมกาแฟจึงเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในทุกจังหวัด คาเฟ่กาแฟสดที่เคยชุกชุมเฉพาะเมืองหลวงและหัวเมืองหลัก เดี๋ยวนี้กลับดกดื่นทั่วหล้า ”สะท้อนการไหลบ่าทางวัฒนธรรม”
พื้นที่วัฒนธรรม
สังคมกาแฟ พอจะใบ้เค้ารางอดีตได้บ้างไหม? ถ้าภาษาถูกใช้ในฐานะวัฒนธรรมร่วม จุดรวมผู้คนร้อยพ่อพันแม่ เรืองรองสำคัญฉันมือถือปัจจุบัน ตระกูลภาษาในภูมิภาคหนึ่งแตกแขนงเป็นอีกหลายกลุ่มภาษา กระทั่งพัฒนาการสังคมของบางกลุ่มเริ่มสุกงอม
พื้นที่วัฒนธรรมยกระดับเป็น ”ชุมทางการค้า” หล่อหลอมผู้คนต่างกลุ่มภาษา จากแค่ใคร่ค้ายอมร่วมภาษา ไปมาหาสู่บางครั้งบางคราว นานวันถักเกลียวเป็นพวกเดียวกัน วัฒนธรรมแต่ละกลุ่มถูกแลกเปลี่ยนปะปนบนชีวิตประจำวัน กาลเดินทางเกิดดับสลับขั้วอำนาจทางภาษา ยุคสมัยย่อมมีปัจจัยในตัวเอง
ภาษากาแฟ
ในใจ
ลูกนำวิถี
ไม่มีความเป็นวิชาการ ไม่ใช่งานรีวิว เพียงรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน ปัจจุบันลูกเปลี่ยนโรงเรียน แปรผันเส้นทางเวียนวน จากเคยเทียวคาโร ขยับห่างด้วยวิถี ทว่าทุกคราที่พบ ดังผืนผ้าผูกพัน (ลดความถี่สถานะลูกค้า มั่นคงสถานะเพื่อนบ้าน)
ประกอบสร้างอดีตจากปัจจุบัน
ผู้เขียนแลเห็นภาพปะติดปะต่อ โดยอาศัยประวัติการณ์ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างสังคมคาโร เพื่อจุดประกายความสำคัญของ ”พื้นที่วัฒนธรรม” มองเค้าความอดีตหมาดๆ สู่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ราวสามพันปี บนพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พลางเท้าคางสงสัยอันความเคลื่อนไหวของภาษา น่าจะถูกใช้ดั่งเครื่องมือแบ่งข้างและร้อยความต่าง ประสมปนเป จนยากจะแยกขาดจากกัน คงขึ้นกับว่า ”จะตั้งต้นนับช่วงชั้นของภาษา ผู้คนบนดินแดน ในช่วงเวลาใด?” (เท่าที่สรรพหลักฐานส่องถึงกระมัง)
ประวัติศาสตร์ คือรอยเลื่อนความเคลื่อนไหว
เค้ารางอย่างมีเค้าเงื่อน หรือเค้าเงื่อนอย่างเลื่อนลอย น่าจะเป็นประดิษฐกรรมทางปัญญา ปะติดปะต่อแผนภาพอดีต ตีความประวัติศาสตร์ กลับมาที่ ”หลักฐานห้าปี” อันผู้เขียนตระหนัก
คาโรบนหลักหมายประวัติศาสตร์สังคม ปรีดีพนมยงค์26 ความว่า
ร้านเล็กแม่เหล็กซอย ผู้ถางพงเพดานราคา บุกเบิกความหวือหวา
ในใจ
สังคมคาโร
”สถานะพ่อ นี่น่าจะถูกใช้เป็นบทเกี้ยว
ให้ลูกเหลียวราคาของความคร่ำคร่า”
ในใจ ในบล็อกดิท
พุธ 12 กรกฎาคม 2566
โฆษณา