19 มิ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น

เรียนรู้การฝึกคิดนอกกรอบ เมื่อชุดความคิดเดิมๆ ที่มี ใช้แก้ปัญหาไม่ได้อีกต่อไป

‘เวลา 07.00 น.’
1
เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นดึงเราให้ตื่นขึ้นมาจากความฝันในเวลาเดิมทุกๆ วันตอนเช้า เมื่อลุกขึ้นมาจากที่นอนก็เกิดความคิดหนึ่งที่เหมือนกับหลายๆ วันที่ผ่านมาว่า “ถึงเวลาต้องเตรียมตัวไปทำงานแล้วสินะ” เมื่อคิดดังนั้นเราก็ลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว เพื่อเตรียมพร้อมไปทำงานแต่เช้า
1
พอเวลาล่วงเลยมาถึงประมาณ 09.00 น. ก็ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มทำงานกันแล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงานก็จะเป็นภาพเดิมๆ ที่เราเห็นในทุกๆ วัน ตอนเช้านั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ตอนสายๆ ก็ต้องคุยเรื่องงานกับลูกค้า พอบ่ายๆ หน่อยก็ต้องประชุมกับทีม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดหนึ่งวัน หนึ่งเดือน และหนึ่งปี
1
เมื่อเราทำแต่งานเดิมๆ คุยกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าด้วยวิธีเดิมๆ และแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ มาเรื่อยๆ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเราทำมาจนรู้สึกชินและสบายใจกับกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ไปเสียแล้ว
1
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนอาจกำลังทำสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งหล่นหายไประหว่างทาง สิ่งนั้นคือ “Lateral Thinking” หรือ “การคิดนอกกรอบ”
1
“การคิดนอกกรอบ” พลังแห่งความคิดที่สำคัญต่อชีวิตและการทำงาน
1
การคิดนอกกรอบ เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่พยายามหาแนวทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงเพียงอย่างเดียว โดยการปรับกรอบความคิดเช่นนี้จะช่วยให้เราหาวิธีการทำงานและการแก้ปัญหาได้กว้างขึ้น แต่เมื่อเราทำแต่อะไรเดิมๆ ซ้ำๆ มันจะลดความสามารถตรงนี้ของเราลง
1
ขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า Lateral Thinking ถูกพัฒนามาจากนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Edward de Bono ผ่านหนังสือ The Use of Lateral Thinking ในปี 1967 โดยเขาได้บอกไว้ว่า การคิดนอกกรอบคือวิธีในการก้าวข้ามอคติทางความคิดของเรา รวมถึงยังช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นด้วย
1
หากอธิบายให้เห็นความสำคัญของการคิดนอกกรอบมากขึ้น ก็คงจะต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าโลกของเรามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเราลองมองโลกในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Blockchain หรือระบบ Automation ต่างๆ ก็คงจะเห็นกันแล้วว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมมีอะไรบางอย่างที่ล้าสมัยลงอย่างรวดเร็ว
1
เพราะฉะนั้น ถ้าเราพัฒนาตัวเองให้มีวิธีคิดใหม่ๆ หรือคิดนอกกรอบเป็น มันก็จะช่วยให้เราแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าเรานำแต่ชุดความคิดเดิมๆ มาแก้ปัญหา ผลลัพธ์ก็จะไม่ได้มีอะไรต่างจากเดิมมาก หรือบางทีมันอาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะชุดความคิดที่เราเคยใช้แล้วได้ผลเมื่อก่อน อาจนำมาใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
1
ซึ่งก็มีหลายคนเหมือนกันที่มองข้ามความสำคัญของการคิดนอกกรอบไป โดยจากการสำรวจความคิดเห็น 200 องค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมของ McKinsey พบว่า ผู้บริหาร 90% เชื่อว่าวิธีการทำธุรกิจของตัวเองจะเปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีผู้บริหารเพียงแค่ 21% เท่านั้น ที่เตรียมพร้อมเปิดรับโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อยเลยทีเดียว
2
5 วิธีพัฒนาตัวเองให้ “คิดนอกกรอบ” เป็น
1
เมื่อการคิดและแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไม่สามารถช่วยแก้บางปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เราก็ต้องพยายามฝึกและพัฒนาตัวเองให้คิดนอกกรอบเป็น เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้
1
1. ทำความเข้าใจรูปแบบความคิดของตัวเอง
จริงๆ แล้วมนุษย์เรามีอคติทางความคิดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เราติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ สิ่งนั้นก็คือ Anchoring Bias หรือการยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ ของตัวเอง โดยเราจะชอบนำข้อมูลเดิมๆ ที่มีอยู่มาคิดและตีความไปเองว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ โดยที่อาจจะยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลอื่นๆ ให้รอบด้านเสียก่อน
1
ซึ่งการติดกับดักนี้จะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่สามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่หลุดกรอบความคิดเดิมของตัวเองได้ แต่คนที่คิดนอกกรอบมักจะพยายามทำความเข้าใจความคิดของตัวเองและตระหนักได้ว่าตัวเองไม่ควรมองแค่ชุดความคิดเดิมที่มี ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถหลีกเลี่ยงอคติทางความคิดและจัดระเบียบข้อมูลใหม่ๆ ในหัวได้ดีกว่า
1
โดยเราสามารถหลุดพ้นจาก Anchoring Bias ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
[  ] รับรู้ว่าคนเราสามารถมีอคติทางความคิดแบบนี้ได้ หลังจากนั้นให้ระมัดระวังอคติเหล่านี้ ผ่านการไตร่ตรองก่อนตัดสินใจเรื่องใดๆ ก็ตามให้ดีเสียก่อน
[  ] ชะลอการตัดสินใจออกไปก่อนและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ เพื่อลดอคติทางความคิดลง
1
2. หัดสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัว
บางครั้งการที่เราติดอยู่แต่ในกรอบเดิมๆ เพราะเราไม่เคยหาเหตุผลสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเลย เช่น เมื่อหัวหน้าอยากให้แก้งาน เราก็แก้ไปตามที่หัวหน้าให้แก้ แต่ไม่เคยถามหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงอยากแก้งานเช่นนั้น ซึ่งบางครั้งหัวหน้าก็อาจจะมีไอเดียอะไรบางอย่างที่เรานึกไม่ถึงมาก่อนก็ได้
1
การสงสัยใคร่รู้สิ่งต่างๆ รอบตัวและพยายามหาสาเหตุว่า ทำไมเราหรือคนอื่นถึงทำสิ่งนั้น จะนำมาซึ่งความคิดใหม่ๆ หรือบางครั้งก็อาจทำให้เราได้เห็นถึงจุดอ่อนหรืออุปสรรคในงานที่ทำที่เราอาจไม่เคยเห็นมันมาก่อนก็ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหัดตั้งคำถามต่อสิ่งรอบข้างเยอะๆ ว่า “ทำไม…” เพื่อขยายกรอบความคิดให้กว้างขึ้น
1
3. พยายามมองหาทางเลือกใหม่ๆ เสมอ
เคยไหม เวลามีปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้น เราก็พยายามนำวิธีการแก้ปัญหาเดิมๆ มาใช้อยู่เสมอ?
1
เช่น พอเห็นว่าตัวเองทำงานไม่ทัน ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการทำงานนอกเวลาอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ แต่ถ้าเรามองในมุมอื่นๆ ปัญหานี้อาจจะมาจากการที่บริษัทมีคนทำงานไม่พอ เรามีการจัดการตารางเวลาการทำงานในแต่ละวันไม่ดี หรือเรามัวเสียเวลาทำสิ่งอื่นๆ ที่ไม่สำคัญอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้ก็จะมีทางอื่นที่นอกจากการทำงานเกินเวลาอยู่ เช่น ปรึกษาปัญหากับหัวหน้างาน  ให้บริษัทหาคนเพิ่ม จัดการตารางเวลาการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพขึ้น หรือรู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน
1
ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเราพยายามมองหาทางเลือกใหม่ๆ มันอาจจะมีทางที่เวิร์กต่อตัวเรามากกว่าเดิมอยู่ก็ได้ เราต้องรู้จักประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ มุมมอง เพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมๆ ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
2
4. หาสิ่งเร้าใหม่ๆ มากระตุ้นความคิด
การนั่งอยู่บนโต๊ะเดิมๆ และทำงานแบบเดิมตลอด 8-9 ชั่วโมงต่อวัน อาจทำให้เราติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ เพราะการอยู่ใน Comfort Zone แบบนี้เป็นเหมือนการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเอง
1
เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราอยากฝึกการคิดนอกกรอบ ก็ต้องหาสิ่งเร้าใหม่ๆ มากระตุ้นความคิดของตัวเอง เช่น การฟังเพลงหรือเล่นดนตรีเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ การหยุดพักสมองระหว่างวันเพื่อให้สมองมีพื้นที่กลับมาคิดเรื่องนั้นอีกครั้ง หรือการขอความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เพื่อรับฟังมุมมองอีกด้าน
2
5. ทำแผนผังความคิด
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมๆ ได้คือ เรามีความคิดที่ยุ่งเหยิงเต็มหัวไปหมด จนไม่รู้ว่าควรเริ่มคิดวิธีในการแก้ปัญหาจากตรงไหนก่อนดี ทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือ ให้ทำแผนผังความคิด โดยเริ่มจากการเขียนปัญหาหลักออกมาก่อน แล้วแตกมันออกเป็นส่วนๆ เพื่อที่เราจะได้จัดระเบียบความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น
2
แม้ว่าการที่เราจะคิดนอกกรอบได้ต้องใช้ความพยายามในการฝึกฝนเป็นอย่างมากในช่วงแรก แต่การพยายามฝึกตัวเองให้คิดกว้างขึ้นกว่าเดิมจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากนิสัยเดิมๆ ได้ และสุดท้ายเราก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีความสร้างสรรค์และหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ได้มากขึ้น
1
อ้างอิง
- What’s lateral thinking? Empower your team with creative ideas : Madeline Miles, BetterUp - https://bit.ly/3NiLpOY
- What Is Lateral Thinking? (With Techniques To Improve It) : Indeed - https://bit.ly/3MZxTyz
#selfdevelopment
#softskill
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา