19 มิ.ย. 2023 เวลา 07:36 • ความคิดเห็น
"หมดไฟ" .... "Burnout"
เชื่อว่าคนทำงานหลายคนเคยเป็น ที่ทำงานไปทำงานมา จะเบื่อ เซ็งเป็ดกะงาน ทำไปวัน ๆ เช้าชามเย็นชาม ไม่อยากคุยกะใครในที่ทำงานทั้งนั้น ถ้าทำได้อยากลายาวหรือ หายตัวไปเลยไม่โผล่มาทำงานอีก .... ถ้าคุณกำลังประสบกับภาวะเช่นนี้ คุณกำลังมีอาการ burnout ครับ !!!
“Burnout” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เวลาที่เราคุยหรือบ่นกันเรื่องงาน แต่ในภาษาไทยยังไม่มีคำที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ บางคนก็เรียกกันว่า “หมดไฟ” ในบทความทางวิชาการบางเล่มใช้คำว่า “ความเหนื่อยล้า” “ความเหนื่อยหน่าย” หรือบางครั้งก็เรียกกันยาวเหยียดว่า “ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน” แต่เพื่อไม่ให้สับสน ในที่นี้ผมจะขอใช้ทับศัพท์ว่า burnout ละกันนครับ
ฺBurnout มีอาการยังไง
 
Maslach นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้อธิบายอาการของ burnout ไว้สามด้านดังนี้
1. ความเหนื่อยหน่ายด้านอารมณ์ (emotional exhaustion) เป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดของ burnout คือ คนที่จะเป็นจะเบื่อ เซ็ง หมดกำลังใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน
2. การลดความเป็นคน (depersonalization) หมายถึง มองเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าในแง่ไม่ดี จนมักทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดูไม่เต็มใจที่จะบริการลูกค้า (หรือผู้มาติดต่อ) และดูแลลูกค้าแบบแห้งแล้งเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ
3. การลดความสำเร็จส่วนบุคคล (decreased occupational accomplishment) ผู้ที่มีอาการ burnout จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ และมองตัวเองในแง่ร้าย
Burnout พบได้บ่อยแค่ไหน
การ burnout นี่เป็นภาวะที่พบได้บ่อยม๊ากกก นะครับ จากการศึกษาส่วนใหญ่มักพบได้ประมาณ 15-50% ของคนทำงาน
ผลเสียของ burnout
Burnout มีความสำคัญต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร เพราะก่อให้เกิดผลเสียหลายๆ ด้าน โดยในแง่ของร่างกายพบว่า คนที่มีภาวะ burnout จะขาดงานบ่อย มีอัตราการลาป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 2-7 เท่า โดยส่วนใหญ่จะลางานด้วยอาการ ปวดหัว ปวดท้อง หรือไข้หวัด ส่วนในแง่ของอารมณ์ คนที่มีภาวะ burnout
มักจะโกรธง่าย ขี้หงุดหงิด มีสีหน้าไม่รับแขก ซึ่งก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมักจะแยกตัว ไม่สุงสิงกับผู้ร่วมงาน ไม่มีความกระตืนรือร้นในการทำงาน ขาดความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรแย่ลง และสุดท้ายหากเป็นมากๆ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ (depressive disorder) และมักนำไปสู่การลาออก
วงจรของภาวะ burnout
Freudenberger จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้เขียนถึง 12 ขั้นตอนของการเกิด burnout โดยเริ่มจากช่วงไฟแรก จนไปถึงการเกิด burnout เต็มรูปแบบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร (เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ต้องเคยรู้สึกอย่างน้อยหลายข้อในนี้)
1. ระยะพิสูจน์ตนเอง (compulsion to prove oneself) เป็นขั้นตอนแรก ส่วนใหญ่ก็เป็นตอนเริ่มงานใหม่ โดยคนๆ นั้นจะมีภาพของตัวเองในอุดมคติ มีความทะเยอทะยานต้องการที่จะพิสูจน์ตนเอง จึงเป็นระยะที่จะทำงานหนักเพื่อให้เพื่อนร่วมงานตระหนักถึงตนเอง
2. ระยะทำงานหนัก (working harder) เป็นขั้นที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่สามารถหาคนอื่นมาทดแทนได้ ทุ่มเทและสนใจแต่กับการทำงาน
3. ระยะไม่ใส่ใจความต้องการของตนเอง (neglecting their needs) เมื่อทำการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมากเกินไปจนเหมือน“บ้างาน” ทำให้คนๆ นั้นเริ่มละเลยความต้องการพื้นฐานของตนเอง เช่น ไปเที่ยวน้อยลง หอบงานไปทำที่งาน เสาร์-อาทิตย์ก็ยังทำงาน นอนน้อย ทำงานจนดึกดื่น ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวน้อยลง
4. ระยะเริ่มเกิดความขัดแย้ง (displacement of conflicts) เมื่อบ้างานถึงจุดหนึ่ง ในระยะนี้คนๆ นั้นจะเริ่มคิดแล้วว่าชีวิตของตนเองมันมีบางอย่างที่ “ผิด” ไปหรือรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่าง "ทะแม่ง ๆ" นะ แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าคืออะไร คนที่อยู่ในระยะนี้มักจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดท้อง นอนไม่หลับ เป็นต้น
5. ระยะปรับคุณค่าใหม่ (revision of values) หลังจากงง ๆ สับสนว่าเกิดอะไรกะตัวเอง ทำให้คน ๆ นั้นพยายามกลับมาคิดใหม่ว่า อะไรที่เป็นสิ่งที่มี "คุณค่า" ที่สุดสำหรับตัวเอง โดยคนที่จะ burnout จะมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ “งาน” เท่านั้น และงานนี่แหละที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ทำให้ยิ่งละเลยความต้องการพื้นฐานของร่างกายและความสัมพันธ์อื่นๆ ไปจนหมดสิ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจตนเองด้วยการไม่สนใจหรือไม่รับรู้เรื่องอารมณ์อีกต่างไป
6. ระยะปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา (denial of emerging problems) เป็นระยะที่จะเริ่มแสดงอาการ burnout ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะเริ่มแสดงอารมณ์บางอย่างออกมาให้เห็น เช่น ขาดความอดทน โกรธง่าย ดูก้าวร้าว มักจะต่อว่าหรือโทษว่าเป็นเพราะงานหรือเพราะคนอื่น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นตัวเองนั่นแหละที่เปลี่ยนแปลงไป
7. ระยะแยกตัว (withdrawal) เป็นขั้นที่คนๆ นั้นจะแยกตัว เข้าสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำงานโดยแทบไม่มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและไม่มีทิศทาง จึงทำงานแบบยึดติดกับกฏหรือคำสั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามกฎเท่านั้น ไม่ทำเกินกว่านั้นแม้ว่าจะทำให้ผลงานดีขึ้นหรือเป็นประโยชน์กับองค์กรก็ตาม
8. ระยะพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง (obvious behavioral changes) เป็นระยะที่บุคคลภายนอก (เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว) สามารถสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน จากคนที่เคยแอคทีฟ ร่าเริง มีความสุข กลายเป็นคนเก็บตัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว ดูทุกข์ และไม่ค่อยดูแลตัวเอง
9. ระยะขาดความเป็นบุคคล (depersonalization) เป็นระยะที่คนๆ นั้นจะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่น รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ ทำงานเดิมๆ แบบให้จบไปวันๆ ไม่มองถึงอนาคต และไม่รับรู้ถึงความต้องการของตัวเอง
10. ระยะว่างเปล่าภายใน (inner emptiness) ในขั้นนี้ผู้ที่เป็นจะรู้สึกว่าภายในใจตัวเองว่างเปล่า ทำให้อาจหันเหไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น กินมาก มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยลดความรู้สึกนั้น
11. ระยะซึมเศร้า (depression) จะมีอาการเหมือนภาวะซึมเศร้าอย่างเต็มที่ เช่น เศร้า ไม่อยากทำอะไร รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไร้ความหวัง ไร้อนาคต ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และมีอาการทางกายอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
12. ระยะ burnout syndrome อย่างเต็มที่ ในระยะนี้คนๆ นั้นมักอยากหนีจากสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เช่น คิดจะลาออก หรือบางคนก็หนีไปไม่มาทำงานดื้อๆ ในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย โดยที่ในระยะที่ 11-12 เป็นระยะที่ควรไปพบแพทย์และรับการบำบัดรักษา
#หมอคลองหลวง
'เหนื่อยที่จะอธิบาย'
มันคือเรื่องจริง..ที่เป็นบ่อยเหมือนกัน
...
โฆษณา