19 มิ.ย. 2023 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

Climate Refugee: Visa for Climate-Stressed Migrants

คำว่า ผู้ลี้ภัย มักหมายถึงกลุ่มคนที่ถูกกดดันให้ออกจากประเทศของตนเองเพื่อหลบหนีจากภัยคุกคามร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม การได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายจะสมบูรณ์เมื่อบุคคลได้รับวีซ่าหรือเอกสารรับรองเพื่อแสดงที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทาง ที่ผ่านมาการลี้ภัยมักมีสาเหตุมาจากภาวะสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามศาสนา การลี้ภัยทางการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าเมื่อสภาพแวดล้อมหลายพื้นที่ในโลกไม่สามารถอาศัยอยู่ได้แล้ว “วีซ่าผู้ลี้ภัยสภาพภูมิอากาศ” อาจเกิดขึ้นเพื่อให้รับรองและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างถูกกฎหมาย
การลี้ภัยสภาพภูมิอากาศจะร้ายแรงกว่าการอพยพอันเนื่องมาจากผลกระทบของภัยธรรมชาติทั่วไป เช่น เหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นที่เคยเกิดขึ้นกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา หรือการย้ายที่พักชั่วคราวระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่เกิดเหตุสึนามิ เป็นต้น เพราะการลี้ภัยนี้จะมีลักษณะและกรอบเวลาที่ยาวนานมากกว่าและอาจหมายถึงตลอดชีวิตของผู้ลี้ภัย
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จะมีผู้ลี้ภัยอันเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศถึง 216 ล้านคน ทั้งแบบฉับพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ประเทศเกาะราว 48 ประเทศจะจมหายไปเพราะปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นภายในปี ค.ศ. 2100
ประเทศบนบกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราแอฟริกา เอเชียใต้ และละตินอเมริกาก็กำลังประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทั้งการขยายตัวของทะเลทรายซึ่งเพิ่มพื้นที่ออกไปถึง 100 ตารางกิโลเมตร ในช่วงปี ค.ศ. 1950 - 2015 และยังคงขยายตัวต่อเนื่องทุกปี ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม น้ำกัดเซาะชายฝั่ง วิกฤติการณ์ทางการเกษตร และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึง 50 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะได้รับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางพื้นที่ยังปลอดภัยพอที่จะรองรับคนเพิ่มได้ หรือบางประเทศอาจมีระบบการบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าว ประเทศซึ่งมีศักยภาพในการรับคนเข้าจึงอาจเป็นความหวังของผู้แสวงหาที่ลี้ภัย
แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นประเทศปลายทางก็มีข้อควรพิจารณาที่ซับซ้อนหลายประการ เช่น การรับรองสถานะผู้ลี้ภัย การประเมินศักยภาพการรับประชากรเพิ่ม เกณฑ์การรับคนเข้า ไปจนถึงความเป็นไปได้และผลกระทบในเชิงประชากร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงในแง่ของมนุษยธรรม เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 2020 รัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ได้เสนอแนวคิดจะรับผู้ลี้ภัยอันเนื่องมาจากความกดดันทางสิ่งแวดล้อมเข้าประเทศปีละ 100 คน โดยเริ่มจากประเทศเกาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถูกยุติไปเนื่องจากแรงต่อต้านของประชาชน โดยประชาชนเสนอให้รัฐบาลเน้นไปที่การควบคุมการปล่อยมลพิษ การสนับสนุนการปรับตัวในพื้นที่ และการศึกษาแนวทางการอพยพอย่างมีเกียรติตามกฎหมายก่อน หากไม่สำเร็จจึงค่อยนำโครงการวีซ่าผู้ลี้ภัยกลับมาพิจารณาใหม่
ดังจะเห็นได้จากการออกแผนรับมือภัยพิบัติแห่งชาติอันเนื่องมาจากภาวะโลกรวนในปี ค.ศ. 2022 ความพยายามนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีศักยภาพในการรับมือไม่ควรนิ่งเฉยต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่อาจเมินเฉยต่อความเสียงของประชาชนในพื้นที่ได้เช่นกัน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การจัดตั้งหน่วยงานระดับนานาชาติที่จะให้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศได้
- ประเทศปลายทางจำเป็นต้องมีแนวทางการจัดการผู้ลี้ภัยที่จะเข้ามาพำนักในประเทศทั้งการให้สิทธิเข้ารับการศึกษา การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในบริบทของประเทศปลายทาง เช่น การจำแนกแรงงานทักษะและความชำนาญการสูง เป็นต้น
- การต้องย้ายถิ่นฐานไปพำนักในประเทศปลายทางอาจทำให้ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและเกิดบาดแผลทางใจจากการพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิด
- นโยบายเพื่อยับยั้งความรุนแรงและการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศที่มีความเสี่ยงควรได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สุดขั้วเช่นการอพยพออกจากประเทศอย่างมหาศาลดังที่คาดการณ์ไว้
++ อ่านเรื่องเกี่ยวกับ Climate Change และ Futures of Sustainability เพิ่มเติมได้ที่ www.futuretaleslab.com และ www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #ClimateRefugee #ClimateVisa #MQDC
โฆษณา