20 มิ.ย. 2023 เวลา 11:28 • ประวัติศาสตร์

การขยายอาณาจักรของรัสเซีย

ปัจจุบัน “รัสเซีย” คือชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พื้นที่ของรัสเซียนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยพื้นที่กว่า 17 ล้านตารางกิโลเมตร หากแต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ รัสเซียอาจจะไม่ได้กว้างใหญ่เช่นนี้มาตั้งแต่แรก
ก่อนศตวรรษที่ 16 รัสเซียมีอำนาจควบคุมเพียงดินแดนในยุโรปภาคพื้นทวีป รวมทั้งดินแดนบางส่วนทางตะวันออกของเทือกเขาอูราลเท่านั้น
ดังนั้นหลายคนก็คงสงสัย เหตุใดรัสเซียจึงขยายอาณาเขตได้ใหญ่ถึงขนาดนี้? และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
1
ดินแดนรัสเซีย
ลองไปดูกันครับ
ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะมองรัสเซียในแง่ลบ มองว่าเป็นดินแดนที่บ้าสงคราม ภาพลักษณ์ในมุมมองของหลายๆ คนอาจจะไม่ดีนัก หากแต่ย้อนกลับไปในยุคกลาง รัสเซียเป็นดินแดนที่อาจจะเรียกได้ว่าน่าเห็นใจ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกลที่นำทัพโดยทายาทของ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ได้เดินทัพมาถึงยุโรปตะวันออก และขยายอำนาจครอบครองรัสเซีย
ภายหลังจากมองโกลได้มีอิทธิพลเหนือรัสเซีย ก็ได้เกิด “แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโก (Grand Duchy of Moscow)” ซึ่งภายในศตวรรษที่ 15 ก็ได้กลายเป็นมหาอำนาจในดินแดนรัสเซีย และสามารถโค่นล้มอำนาจของมองโกลได้
1
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15-ต้นศตวรรษที่ 16 เมื่ออำนาจของมองโกลล่มสลาย แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโกก็ได้เข้าพิชิตดินแดนต่างๆ ที่เคยเป็นขุมอำนาจของมองโกล และขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ
1
แต่การขยายอำนาจของรัสเซียก็ต้องมาหยุดชะงักในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เมื่อ “อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible)” ซาร์แห่งรัสเซียสวรรคต และผู้ปกครองพระองค์ต่อๆ มาก็ทรงอ่อนแอ ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วดินแดน
ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย โปแลนด์-ลิทัวเนียและสวีเดนได้เข้าโจมตีรัสเซีย และกองทัพโปแลนด์ก็สามารถยึดครองมอสโกและแต่งตั้งให้เจ้าชายแห่งโปแลนด์ขึ้นนั่งบัลลังก์รัสเซีย
อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible)
หากแต่ปัญหาก็เกิดขึ้น นั่นคือกองทัพโปแลนด์ไม่มีกำลังมากพอที่จะรักษาอำนาจของตนไว้ได้ ทำให้เกิดการลุกฮือของฝูงชนและโค่นล้มอำนาจโปแลนด์
จากนั้น รัสเซียก็ได้เสนอบัลลังก์ให้ “พระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟัส (Gustavus Adolphus)” กษัตริย์แห่งสวีเดน หากแต่พระเจ้ากุสตาวุสนั้นทรงลังเล ทำให้มีการเลือกขุนนางที่มีชื่อว่า “มีไฮล์ โรมานอฟ (Michael Romanov)” ขึ้นเป็นพระประมุขแห่งรัสเซีย มีพระนามว่า “ซาร์มีไฮล์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Michael I)”
3
ซาร์มีไฮล์ที่ 1 ทรงก่อตั้งราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งปกครองรัสเซียไปจนถึงค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) เมื่อจักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย
ซาร์มีไฮล์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Michael I)
ซาร์มีไฮล์ที่ 1 ทรงครองราชสมบัติจนถึงค.ศ.1645 (พ.ศ.2188) และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้ขยายอำนาจไปทางตะวันออกถึงไซบีเรีย และสามารถขยายอำนาจไปถึงรอบนอกของจีนเลยทีเดียว
2
พระประมุของค์ต่อมาคือ “ซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexis of Russia)” พระราชโอรสในซาร์มีไฮล์ที่ 1 และซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 ก็ได้นำรัสเซียเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครนในปัจจุบัน และขยายอำนาจไปทางตะวันตกถึงแม่น้ำนีเปอร์ รวมทั้งเข้าไปยังเบลารุสอีกด้วย
1
แต่ถึงรัสเซียจะสามารถขยายดินแดนออกไปได้กว้างไกล แต่รัสเซียก็ยังคงเป็นประเทศที่ยากจนและไม่พัฒนาเท่าที่ควร อากาศหนาวเหน็บ ภูมิประเทศก็ไม่ดีเท่าที่ควร ถนนหนทางก็ไม่ดีและทำให้การเดินทางยากลำบาก
ซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexis of Russia)
ซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 สวรรคตในปีค.ศ.1676 (พ.ศ.2219) และในทศวรรษต่อมาก็เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่มั่นคงเนื่องจากทายาทของพระองค์ก็ล้วนแต่อ่อนแอหรือยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะเป็นผู้ปกครองที่มีพระปรีชา แต่ช่วงเวลานี้ก็ได้จบลงเมื่อ “จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (Peter the Great)” ขึ้นครองราชย์
ภายหลังจากขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชก็ทรงให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบการบริหารราชการ และทรงรบกับจักรวรรดิอ็อตโตมันและสวีเดนเพื่อขยายพื้นที่
จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชได้ทรงก่อตั้ง “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg)” ซึ่งได้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิรัสเซีย
จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (Peter the Great)
แต่หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช เหล่าผู้ปกครององค์ต่อๆ มาก็ล้วนแต่ครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ จนกระทั่ง “จักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย (Elizabeth of Russia)” พระราชธิดาในจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช ทรงขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.1740 (พ.ศ.2283)
1
จักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธทรงครองอำนาจเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้เข้าร่วมรบใน “สงครามเจ็ดปี (Seven Year’s War)” และได้เข้ายึดครองปรัสเซียตะวันออก หากแต่เมื่อพระองค์สวรรคตในปีค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) พระประมุของค์ต่อมา นั่นคือ “จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย (Peter III of Russia)” ก็ได้ทรงสงบศึกและเจรจาสันติภาพกับ “พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (Frederick the Great)” พระประมุขแห่งปรัสเซีย และได้ยอมคืนดินแดนที่ได้ยึดไป
1
รัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ดำเนินไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากนโยบายของพระองค์นั้นไม่เป็นที่เห็นด้วยของหลายฝ่าย ทำให้พระองค์ถูก “สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย (Catherine the Great)” พระมเหสีของพระองค์ กระทำรัฐประหารล้มอำนาจ
1
สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย (Catherine the Great)
จากนั้น ราชินีแคทเธอรีนก็ทรงดำเนินพระราโชบายที่จะขยายดินแดน และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้รบกับจักรวรรดิอ็อตโตมัน ได้เข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมียและชายฝั่งในทะเลดำไปจนถึงดินแดนโรมาเนียในปัจจุบัน
ยุโรปตะวันออกคืออีกหนึ่งดินแดนที่ราชินีแคทเธอรีนทรงจับตามอง และพระองค์ก็ได้ทรงร่วมมือกับจักรวรรดิฮาพส์บวร์คและราชอาณาจักรปรัสเซีย โดยรัสเซียสามารถยึดครองดินแดนโปแลนด์-ลิทัวเนียได้เป็นจำนวนมาก
ราชินีแคทเธอรีนสวรรคตในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) และพระประมุของค์ต่อมาก็คือ “จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย (Paul I of Russia)” พระราชโอรสในราชินีแคทเธอรีน
จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย (Paul I of Russia)
จักรพรรดิพอลที่ 1 ไม่ได้ทรงทะเยอทะยานอยากจะขยายดินแดนดังเช่นพระราชชนนี แต่ก็ยังส่งแม่ทัพไปรบกับฝรั่งเศสในอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์
จักรพรรดิพอลที่ 1 ทรงถูกรัฐประหารยึดอำนาจ และผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาก็คือ “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)” พระราชโอรสในจักรพรรดิพอลที่ 1
ในระหว่างค.ศ.1805-1807 (พ.ศ.2348-2350) จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ทรงรบกับฝรั่งเศส หากแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ผู้ปกครองฝรั่งเศส และจำเป็นต้องเจรจาสันติภาพกับฝรั่งเศส
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)
ภายหลังจากเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส รัสเซียก็ได้ทุ่มกำลังกับการสู้รบกับปรัสเซีย จักรวรรดิอ็อตโตมัน และสวีเดน
แต่สัมพันธภาพระหว่างรัสเซียและฝรั่งเศสก็ต้องสิ้นสุดลงในปีค.ศ.1811 (พ.ศ.2354) และนโปเลียนก็ได้ยกทัพเข้าโจมตีรัสเซียในปีค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) หากแต่โรคระบาดในกองทัพและอากาศในฤดูหนาวทำให้กองทัพของนโปเลียนต้องถอยทัพไปโดยที่ยังไม่สามารถพิชิตรัสเซียได้
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ทรงดำเนินสงครามต่อในปีค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) และได้พันธมิตรจากหลายชาติ ทั้งปรัสเซีย ออสเตรีย และสวีเดน รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหราชอาณาจักร จึงทำให้ชาติพันธมิตรเหล่านี้สามารถเอาชนะฝรั่งเศสได้ในที่สุด
1
ผลที่ได้ก็คือ รัสเซียได้เข้าครอบครองฟินแลนด์อย่างเป็นทางการ และจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์
1
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)
ด้วยชัยชนะของรัสเซีย ทำให้ขุมอำนาจในยุโรปตะวันตกเริ่มหวั่นเกรง และให้การช่วยเหลือจักรวรรดิอ็อตโตมันในสงครามไครเมีย และก็สามารถเอาชนะรัสเซียได้ในที่สุด ทำให้รัสเซียต้องถอนทหารออกจากทะเลดำ
แต่ถึงอย่างนั้น อำนาจของรัสเซียในเอเชียก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าครอบครองดินแดนต่างๆ ในคอเคซัสและเอเชียกลาง และเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ดินแดนซึ่งปัจจุบันคือคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และจอร์เจีย ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของรัสเซีย
2
นอกจากนั้น รัสเซียยังเล็งไปยังตะวันออกไกลและได้เข้าควบคุมแมนจูเรียภายหลังจากเหตุการณ์กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ในจีน แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัสเซียก็ต้องพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)
ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์สั่นคลอน และทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นก่อกบฏตามมา หากแต่กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ก็สามารถปราบปรามกลุ่มกบฏได้
1
แต่ว่าความขัดแย้งระหว่างประชาชนและราชวงศ์ก็ก่อตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ระบอบทาสชาวนาในรัสเซียจะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ค.ศ.1861 (พ.ศ.2404) หากแต่ชีวิตของชาวนาชาวไร่ก็ยังคงเป็นชีวิตที่ยากลำบาก ส่วนชีวิตของคนงานในเมืองใหญ่ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน
อีกทั้งในเวลานั้นเหล่าบัณฑิตต่างก็หัวก้าวหน้า และต้องการจะตั้งดินแดนอิสระของตน ไม่ขึ้นต่อราชสำนัก
แต่ทุกอย่างที่กล่าวมาก็คงจะไม่เลวร้าย หากรัสเซียไม่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทัพรัสเซียก็ไม่สามารถจะเอาชนะในแนวรบด้านตะวันออก ทำให้กระแสความนิยมราชวงศ์ยิ่งตกต่ำ และสุดท้าย ราชวงศ์ก็ถูกล้มล้างในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)
เมื่อราชวงศ์สิ้นสุดลงแล้ว ก็ได้เกิดรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ แต่ก็ถูกโค่นล้มโดยพรรคบอลเชวิก (Bolsheviks) ซึ่งนำโดย “วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)” ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)
วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)
แต่พรรคบอลเชวิกก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเท่าไรนัก และการยึดอำนาจของบอลเชวิกก็ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา ซึ่งภายหลัง บอลเชวิกก็ต้องยอมทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจกลาง และยอมเสียดินแดนจำนวนมากในยุโรปตะวันออก
แต่นับเป็นโชคดีที่เยอรมนีพ่ายแพ้ทางแนวรบฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นผลดีต่อสหภาพโซเวียต และทำให้ได้ดินแดนคืนมาจำนวนหนึ่ง หากแต่ก็มีอำนาจในดินแดนต่างๆ แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่หลายๆ ประเทศทยอยได้รับอิสรภาพ
ภายในปีค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) บอลเชวิกก็ชนะสงครามกลางเมืองและก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้ในที่สุด
สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของ “โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)” ก็ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน หากแต่ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากความอดอยากและการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล
2
โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)
ในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) สหภาพโซเวียตได้ลงนามสนธิสัญญากับนาซีเยอรมัน ตกลงที่จะจัดตั้งเขตอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก โดยทั้งสองชาติได้แบ่งแยกโปแลนด์ และสหภาพโซเวียตก็ได้เข้าผนวกดินแดนของรัฐบอลติกและเบสซาเรเบีย
ต่อมา สหภาพโซเวียตได้เข้าโจมตีฟินแลนด์ และบังคับให้ฟินแลนด์ยอมยกดินแดนให้
หากแต่ความอ่อนแอของกองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียต ก็ได้ทำให้ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ผู้นำนาซีเกิดความย่ามใจ และสั่งให้รุกรานสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484)
กองทัพเยอรมันสามารถทำให้กองทัพโซเวียตล่าถอยไปได้ หากแต่ก็ต้องมาสะดุดที่เลนินกราดและมอสโก
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
ในปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ความพยายามของเยอรมนีที่จะปิดล้อมดินแดนคอเคซัสนั้นล้มเหลว และในช่วงครึ่งหลังของปีค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) กองทัพโซเวียตก็เริ่มโต้กลับ ก่อนจะปิดล้อมเบอร์ลินได้ในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินก็ต้องการจะสร้างเขตกันชนที่จะปกป้องสหภาพโซเวียตจากการรุกรานในอนาคต และทำให้เกิดเป็น “กติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)” ซึ่งเป็นกติกาสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐบริวารของตนอีกเจ็ดแห่งในยุโรปตอนกลางและตะวันออกระหว่างช่วงสงครามเย็น
กติกาสัญญาวอร์ซอดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) หากแต่ในเวลานั้น รัฐคอมมิวนิสต์ต่างก็อยู่ในภาวะย่ำแย่และตามหลังสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
“มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)” ได้ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และตั้งเป้าที่จะปฏิรูปประเทศ หากแต่ก็ดูเหมือนจะสายเกินไป
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)
ด้วยความที่กอร์บาชอฟลังเลที่จะสนับสนุนทางด้านการทหารแก่พันธมิตร ทำให้ดินแดนคอมมิวนิสต์ต่างๆ ในยุโรปตะวันออกก็ทยอยล่มสลายไปเรื่อยๆ จนมาถึงความล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)
โฆษณา