19 มิ.ย. 2023 เวลา 12:28 • หนังสือ

EP.5 Part.2 : “ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ ”

มาต่อกันกับครึ่งเล่มหลังของหนังสือ “ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ ” ครับ ตอนที่แล้วลืมบอกไปครับ ว่าคุณเบิร์กแมน (ผู้เขียน) ได้มีการศีกษา อ่านหนังสือ งานวิจัยและผู้คุยกับผู้เชี่ยวชาญรวมถึงบุคคลเป็นจำนวนมาก กว่าจะกลั่นกรองหนังสือเล่มนี้ออกมา รวมถึงมีการทดลองการปรับการใช้ชีวิตของตัวผู้เขียนเองด้วยครับ เป็นการยืนยันว่าการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น (ไม่มากก็น้อย) น่าจะเป็นไปได้ไม่ยากครับ
การที่คนเรายุคปัจจุบันใช้ขีวิตอย่างเร่งรีบและใช้เวลาอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำเพื่ออนาคต ไม่ว่าเพื่อลูกหลานหรือเพื่อตัวเองอย่างการเกษียณก็ตาม เราเลยลืมไปว่าเรามีชีวิตอยู่แค่ในปัจจุบันเท่านั้น วันพรุ่งนี้จะมาถึงหรือไม่ไม่อาจทราบได้ ส่วนเมื่อวานเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้แล้ว และการที่เราทำงานใดงานหนึ่งก็จะหวังผลในตอนสุดท้ายของงานนั้น เมื่องานนั้นสำเร็จก็จะมีช่วงเวลาที่มีความสุขเพียงชั่วครู่
แต่ระหว่างทางที่ทำงานนั้นอาจไม่ได้มีความสุข ถ้าสามารถปรับให้ในช่วงระหว่างที่เราทำงานมีความสุขด้วย ไม่รวมถึงเฉพาะเราเท่านั้น และถ้าสามารถส่งต่อความสุขให้คนรอบข้างได้ด้วยจะยิ่งดีเลยครับ ดังที่ในหนังสือบอกไว้ครับว่า
“ค่าของชีวิต อยู่ท่ีกระแสการดำเนินไปของมัน ถ้าหลังจากนั้นก็สายไปเสียแล้ว” (หน้า 119)
“เราควรปฏิบัติต่อทุกประสบการณ์ด้วยความเคารพราวกับว่ามันเป็นครั้งสุดท้าย” (หน้า 120) (ก็ไม่ต้องถึงขนาดว่าคิดว่าเราจะตายวันตายพรุ่งแล้วต้องใช้เงินเก็บให้หมดวันนี้นะครับ)
อย่างที่เกริ่นไปแล้วตอนต้นเหมือนในโลกปัจจุบัน รวมถึงโรคแบบปัจจุบันด้วยครับ ที่คนส่วนใหญ่ต้องการผลิตผลหรือประสิทธิภาพของตนให้มากขึ้น บางคนมีอาการเสพติดในการที่ต้องผลิตงานให้ได้มากขึ้น เมื่อถึงเวลาพักผ่อนจะรู้สึกว่าใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ หรือไม่ได้พักผ่อนจริงๆ บางคนอาจคิดว่าพักผ่อนวันนี้เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้มีแรงกลับไปทำงาน ซึ่งก็เหมือนกับว่าไม่ได้พักผ่อนจริงๆ
ซึ่งเราทุกคนหนีไม่พ้นที่ต้องอยู่ในโลกทุนนิยมแบบปัจจุบัน (ประมาณว่าทำมากได้มาก ไม่ทำไม่ได้) ย่ิงขวนขวายให้ต้องมีความสำเร็จ ทรัพย์สินเงินทอง ให้ได้เหมือนกับคนรอบข้าง การพักผ่อนแบบที่ได้พักผ่อนจริงๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากย่ิง หรือในบางครั้งถ้ามีอะไรที่อยากทำก็ควรจัดสรรเวลาให้ได้ค่อยๆ เริ่มทำอย่างที่ตั้งใจครับ
โลกที่เร่งรีบแบบในปัจจุบัน ทำให้เรามีความอดทนลดน้อยลงอย่างมากในการที่ต้องรออะไรบ้างอย่าง ไม่เว้นแม้แต่แค่การรอการโหลดเปลี่ยนหน้าบนหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ (สำหรับคนที่เกิดทันยุคที่มีแต่โทรศัพท์บ้าน หรือยุคก่อนหน้าที่ยังต้องส่งจดหมาย ไม่รู้ว่าจะทนกันไหวไหม หรือถ้าสั่งของแล้วต้องรอไปรษณีย์มาส่ง คนในโลกยุคนี้จะรอกันไหวไหม)
ซึ่งใช้เวลาเสียวนาทีก็ยังรู้สึกว่าต้องรอนานมาก กลายเป็นว่ายิ่งเทคโนโลยีทันสมัย การคมนาคมสะดวกสบาย กลับไม่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นสักเท่าไร หรือบ้างครั้งกลับน้อยลงด้วยซำ้ เพราะเรามีความอดทนน้อยลง หรือในบางกรณีก็เร่งรีบมากขึ้น เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่า เพื่อประสิทธิภาพที่มากขึ้น เพื่อผลลัพธ์ที่ต้องการ
ดังนั้นจึงเกิดความเร่งรีบและกดดัน เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ความสุขจากส่ิงอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นแล้วการฝึกความอดทนก็ทำให้เรามีความสุขได้มากขึ้น หรือทำอะไรช้าลงบ้าง เพียงแค่นี้ก็ทำให้เรามีความสุขได้มากขึ้นเช่นกันครับ
บางครั้งสำหรับบางคน (หรืออาจจะหลายคนครับ) การใช้ชีวิตไม่จำเป็นต้องคุ้มค่าในแง่ของสถานะทางการเงิน เศรษฐกิจ อำนาจ หน้าตาทางสังคม หรือส่ิงอื่นใดก็แล้วแต่ หรือแค่ได้ทำสิ่งดีๆ คืนให้กับสังคมหรือโลกก็อาจมีความสุขได้เช่นกัน (หรือหลายคนมีประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว น่าจะยิ่งเห็นชัดว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร หรืออยากทำอะไรจริงๆ มากกว่า น่าเสียดายที่ตัวผมได้เผชิญกับการเฉียดตายในช่วงที่อายุน้อยไปหน่อย ไม่งั้นคงจะเห็นคุณค่าของชีวิต กับเวลามากกว่าที่เป็นครับ)
ก่อนจะจบครับ แนะนำให้ลองอ่านบทที่ 8 “คุณอยู่ตรงนี้” ครับ และถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรต่อไป ผมแนะนำให้อ่านหน้าที่ 208 - 209 สิ่งที่จำเป็นที่สุดเรื่องต่อไปครับ มีวลีที่เห็นด้วยอย่างยิ่งจากหนังสือคือ “ทำสิ่งที่ถูกต้องสิ่งต่อไป” เวลาสักพักลองใคร่ครวญ แล้วเริ่มลงมือทำครับ ขอให้สนุกและมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำครับ ชีวิตคือเวลาครับ ขอให้ใช้มันอย่างคุ้มค่าอย่างมีความสุขครับ
สุดท้ายแล้วครับ “ใช้ชีวิตวันนี้ในแบบที่ เมื่อคุณมองกลับมาจากวันพรุ่งนี้แล้วคุณไม่เสียดายเวลาและชีวิตที่ผ่านไป” ครับ
ขอให้มีความสุขกับการอ่านหนังสือ “ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ ” และใช้เวลาของคุณให้คุ้มค่าและมีความสุขนะครับ
ขอบคุณท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านครับ พบกันใหม่ตอนหน้าครับ
KeY_MaN
โฆษณา