19 มิ.ย. 2023 เวลา 13:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กรณีศึกษาหุ้น Enron - ตำนานหุ้นตกแต่งบัญชีโคตรเทพจากฝั่งอเมริกา

บริษัทที่มีการตกแต่งบัญชีให้มีรายได้สูงเกินจริงเพื่อปั่นราคาหุ้นให้พุ่งทะลุฟ้าไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยในกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น แต่หุ้นที่ตกแต่งบัญชีได้แยบยลเคยเกิดในอเมริกาช่วงปี 1995-2001 กับบริษัทที่ชื่อ Enron
บริษัท Enron ถูกก่อตั้งในปี 1985 จากการควบรวมสองบริษัทที่ชื่อ Lay’s Houston Natural Gas กับ InterNorth ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทพลังงานขนาดเล็กในระดับภูมิภาคของอเมริกา โดยนาย Kenneth Lay ที่เป็นซีอีโอของ Houston Natural Gas ได้กลายเป็นซีอีโอของ Enron เมื่อตอนควบรวมสองบริษัทเข้าด้วยกัน
ต่อมานาย Lay ได้ปรับเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นผู้ให้บริการทางด้านพลังงานและซื้อขายพลังงานในตลาดล่วงหน้า ในปี 1990 นาย Lay ได้ตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อ Enron Financial Corp และแต่งตั้ง Jeff Skilling เป็นผู้บริหารระดับสูง
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่เน้นหุ้นเติบโต คุณคงต้องสนใจในหุ้นตัวนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีรายได้ที่เติบโตก้าวกระโดดดังนี้
รายได้เติบโตจากปี 1995 ที่ $10,000 ล้าน เป็น 100,789 ล้านในปี 2000
กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก $236 ล้านในปี 1995 เป็น $1,101 ล้านในปี 2000
กำไรต่อหุ้นได้เพิ่มขึ้นจาก $0.67 ในปี 1995 เป็น $1.18 ในปี 2000
เมื่อเห็นงบการเงินดูดีขนาดนี้แล้ว นักลงทุนจึงกระโจนเข้าไล่ราคาหุ้น $20 ไปสูงสุดที่ $90.75 ในเดือนสิงหาคมปี 2000 ทำให้มีมูลค่าตลาดสูงถึง $70,000 ล้าน ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของตลาดหุ้นอเมริกาในช่วงเวลานั้น แต่แล้วความชั่วร้ายก็ได้ทยอยเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง
บริษัทเปิดเผยผลขาดทุนครั้งแรกรอบ 4 ปี แถมในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2001 บริษัทได้ออกมา เปิดเผยว่าได้รายงานผลกำไรเกินจริงไปกว่า $591 ล้านในช่วงปี 1997 จนถึงปี 2000
หุ้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากสุดสูงสุดลงมาที่ $0.26 ในเดือนธันวาคมปี 2001 หลังจากบริษัทประกาศล้มละลาย แล้วเรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร เรามาดูความซับซ้อนในการแต่งงบกันดังนี้
ในข้อแรกนาย Skilling ได้ปรับเปลี่ยนระบบบัญชีจาก Cost Accounting มาเป็น Mark-to-Mart (MTM) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก SEC หรือ กลตของอเมริกาในปี 1992 หลักการของระบบบัญชีแบบใหม่ก็คือบริษัทจะสามารถนำมูลค่าของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการตีมูลค่าของบริษัทเอง (Fair Market Value) เมื่อเทียบกับ Book Value มาเป็นกำไรในงบกำไรขาดทุนได้
ยกตัวอย่างเช่น Enron สร้างโรงงานไฟฟ้าขึ้นมาแห่งหนึ่งบริษัททำการคาดการณ์รายได้ในอนาคตของโรงงานแห่งนี้แล้วคิดกระแสเงินสดกลับมาที่มูลค่าปัจจุบัน ส่วนต่างของมูลค่าที่ประเมินเป็น Fair Value กับมูลค่า Book Value ของโรงงาน บริษัทได้นำมาเป็นรายได้ในงบด้วย จึงทำให้รายได้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้ในปี 2000 บริษัทได้ทำข้อตกลงกับ Blockbuster เพื่อทำธุรกิจ Video On Demand ร่วมกัน โดย Enron ให้บริการอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบก็คือบริษัทได้บันทึกรายได้ $100 ล้านที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเข้ามาตั้งแต่ปี 2000 เลย ทำให้รายได้สูงกว่าความเป็นจริงไปมาก สุดท้ายธุรกิจสตีมมิ่งก็ไม่รอดต้องปิดตัวไป
ในข้อที่สองบริษัทได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาภายใต้ Special Purpose Vehicles (SPV) เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถซ่อนหนี้สินไว้กับบริษัทลูก เพื่อให้หนี้สินไม่สูงเกินไปในงบดุลของบริษัท โดย SPV ได้ใช้ทุนทั้งหมดที่ผูกติดกับราคาหุ้นของ Enron ตราบใดที่ราคาหุ้นยังมีการปรับตัวขึ้นก็จะไม่เกิดผลกระทบต่อ SPV
อย่างไรก็ตามในช่วงที่บริษัทเกิดวิกฤติราคาหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรงมูลค่าของ SPV ก็ตกต่ำไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ Enron ต้องเข้ามารับผิดชอบผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับ SPV เนื่องจากสินทรัพย์มีมูลค่าลดลง
นักลงทุนหลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าบริษัทได้กระทำผิดทางบัญชีอย่างร้ายแรง แล้วผู้ตรวจสอบบัญชีปล่อยอนุมัติงบการเงินออกมาได้อย่างไร สุดท้าย Arthur Anderson ผู้ตรวจสอบบัญชีก็ไม่รอด บริษัทต้องปิดตัวไปเนื่องจากการสูญเสียความเชื่อมั่นกับบริษัทแห่งนี้
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารดูน่าตกใจเพราะนาย Lay ซึ่งโดนสืบสวนอย่างหนักได้เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 50 กว่าจากโรคหัวใจ โดยหลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็นสภาวะแรงกดดันมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ส่วนนาย Skilling ติดคุก 12 ปี ปัจจุบันได้ออกจากมาแล้วในปี 2019
อย่างไรก็ตามเมื่อมีวิกฤต ย่อมมีโอกาสเมื่อนาย Jim Chanos นักเก็งกำไรขา Short ชื่อดัง ได้ติดตามหุ้นแล้ววิเคราะห์เชิงลึกไปที่ต้นทุนการเงินของบริษัทหรือ Cost of capital อยู่ที่ 9% แต่ตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ Return on Investment อยู่ที่เพียง 7% นั่นหมายความว่าบริษัทไม่ได้ทำกำไรตามที่รายงานออกมา และเขาก็เริ่มมีมุมมองว่าหุ้นต้องลดลงอย่างหนักเมื่อความจริงเปิดเผยออกมา จึงเข้า Short หุ้น และได้กำไรไปหลายร้อยล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
บทสรุปจากกรณีศึกษาของ Enron คล้ายกับกรณีในบ้านเรา มันช่วยสอนนักลงทุนให้คิดวิเคราะห์สองชั้นเมื่อเจอกับบริษัทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดูว่ารายได้ที่เกิดขึ้นและกำไรมีเงินสดเข้ามาจริงไหม เพราะหลายครั้งการแต่งงบก็สามารถถูกตรวจสอบได้ด้วยงบกระแสเงินสดที่โชว์ว่าเงินเข้ามาจริงๆไหม สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
1
นอกจากนี้ลักษณะของผู้บริหารก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนสังเกตได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริหารชอบคุยโวเรื่องการเติบโตสูงๆ เมื่อนั้นนักลงทุนควรจะต้องทำการบ้านหนักขึ้นเป็นสองเท่า ถ้ายังอยากจะซื้อหุ้นตัวนั้น โดยส่วนตัวผมหลีกเลี่ยงผู้บริหารที่เราฟังแล้วเคลิ้มหรือคุยโวโอ้อวดเก่งครับ
1
Ref:
โฆษณา