20 มิ.ย. 2023 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์

Patient M ชายผู้รอดตายจากการโดนยิงที่หัว และฟื้นขึ้นมามองโลกกลับด้าน

เมื่อ 85 ปีก่อน ขณะเกิดเหตุสงครามกลางเมืองในสเปน ชายผู้หนึ่งซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะรอดชีวิตมาได้ราวกับมีปาฏิหาริย์ แต่เมื่อเขาฟื้นคืนสติขึ้นมา สิ่งรอบข้างที่มองเห็นเหมือนไม่ใช่โลกใบเดิมอีกต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ในตำแหน่งที่กลับด้านตรงกันข้ามกับความเป็นจริงทั้งหมด
แพทย์ที่ทำการรักษารวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษากรณีแปลกประหลาดของชายคนดังกล่าว เรียกเขาด้วยนามสมมติว่า “ผู้ป่วยเอ็ม” (Patient M.) ซึ่งนอกจากเขาจะมองเห็นสรรพสิ่งแบบที่ด้านซ้ายและขวาสลับตำแหน่งกันแล้ว เขายังเห็นภาพกลับหัวที่น่าตกใจ เช่นจู่ ๆ ก็มีคนงานก่อสร้างเล่นกายกรรม โดยห้อยหัวลงมาจากนั่งร้านในบางครั้งด้วย
1
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurologia ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกรณีศึกษาข้างต้น ซึ่งดร. จัสโต กอนซาโล นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวสเปนได้วิเคราะห์และบันทึกไว้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน
Justo Gonzalo Rodríguez-Leal (1910-1986) รูปภาพ Wikipedia
ผลงานของดร. กอนซาโลนั้น มีความสำคัญต่อวงการแพทย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรก ๆ ที่กรณีศึกษาแปลกประหลาดช่วยเปิดเผยเรื่องกลไกการทำงานของสมองที่เป็นปริศนามานาน แต่ก็น่าเสียดายว่า ที่ผ่านมากรณีศึกษาของผู้ป่วยเอ็มกลับไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
สมองที่ได้รับความเสียหายจากการถูกยิงเข้าที่ด้านหลังของศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยเอ็มมองเห็นทุกสิ่งกลับด้าน รวมทั้งได้ยินเสียงและรู้สึกถึงสัมผัสต่าง ๆ จากด้านที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงอีกด้วย
นอกจากนี้ เขายังสามารถอ่านตัวหนังสือและตัวเลขที่พิมพ์บนหน้ากระดาษได้ทั้งแบบปกติและแบบที่พิมพ์กลับกัน ซึ่งจะเรียงลำดับตัวอักษรสลับจากด้านหลังสุดมายังด้านหน้าสุด โดยเขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างการอ่านตัวหนังสือทั้งสองแบบแต่อย่างใด
ผู้ป่วยเอ็มยังสามารถอ่านเวลาได้จากทุกมุมของหน้าปัดนาฬิกาข้อมือ โดยเขาทำสิ่งนี้ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ว่าจะหันหน้าปัดนาฬิกาไปทางใดก็ตาม เขายังมีอาการประหลาดอื่น ๆ เช่นมองเห็นสีลอยตัวแยกออกมาจากพื้นผิววัตถุ มองเห็นภาพซ้อนที่ของชิ้นเดียวกลายเป็นสามชิ้น และตาบอดสีบางสีด้วย
ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ดร.กอนซาโลใช้กรณีศึกษาของผู้ป่วยเอ็มเป็นแนวทาง เพื่อเสนอแนวคิดใหม่ว่าด้วยการทำงานของสมอง โดยเขาชี้ว่าแท้จริงแล้วสมองไม่ใช่อวัยวะที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ทำงานแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการกระจายหน้าที่ในทุกเรื่องไปยังสมองทุกส่วนมากน้อยต่างกันไป
ภาพถ่ายและแผนภาพแสดงให้เห็นแผลเป็นที่ศีรษะ รวมทั้งอาการบาดเจ็บภายในสมองรูปภาพ GARCIA-MOLINA ET AL.ดร. อัลเบอร์โต การ์เซีย โมลินา ผู้ทำการวิจัยล่าสุดซึ่งศึกษาผลงานของดร. กอนซาโล กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ El Pais ของสเปนว่า “ในสายตาของดร. กอนซาโล สมองก็เหมือนกับกล่องใบเล็ก หากคุณเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในกล่องใบนั้น มันจะส่งผลกระทบไปทั้งหมด”
1
“ทฤษฎีเก่าที่มองว่าสมองแต่ละส่วนทำหน้าที่ต่าง ๆ แยกจากกันเป็นเอกเทศ ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของผู้ป่วยเอ็มได้ ดร. กอนซาโลจึงสร้างทฤษฎีใหม่ว่าด้วยพลวัตของสมอง ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการประสาทวิทยาศาสตร์โดยลบล้างแนวคิดหลักที่ครอบงำวงการในยุคนั้น” ดร. โมลินากล่าว
ดร. กอนซาโลระบุไว้ในผลการศึกษากรณีของผู้ป่วยเอ็มว่า ระดับความรุนแรงและลักษณะของความเสียหายในสมอง จะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บาดแผลจะไม่สร้างความเสียหายต่อการทำงานของสมองเพียงแค่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบต่อ “สมดุลของการทำหน้าที่” ในหลายประเด็นด้วยกัน
งานวิจัยของดร. กอนซาโล ที่ศึกษาวิเคราะห์จากผู้ป่วยเอ็มและผู้ได้รับความเสียหายในสมองรายอื่น ๆ สรุปว่ามีกลุ่มอาการสามแบบที่เกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บแต่ละครั้ง ได้แก่
กลุ่มอาการศูนย์กลาง (Central) ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติต่อประสาทสัมผัสต่าง ๆ โดยทั่วกัน
กลุ่มอาการข้างเคียง (Paracentral) คล้ายกับกลุ่มอาการศูนย์กลาง แต่มีการกระจายตัวของความผิดปกติไม่สม่ำเสมอในทุกประสาทสัมผัส กลุ่มอาการชายขอบ (Marginal) ส่งผลกระทบต่อกลไกทางสมองที่จำเพาะต่อประสาทสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น
ดร. โมลินายังบอกว่า หลังจากนี้ตัวเขาและบุตรสาวของดร. กอนซาโล จะร่วมมือกันทำงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งจะช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในผลงานของดร. กอนซาโล ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่บุกเบิกเส้นทางสายใหม่ของวงการประสาทวิทยาศาสตร์
Patient M (ผู้ป่วยเอ็ม)
ที่มา : BBC
เรียบเรียง : KONG MOVING BOOK
โฆษณา