9 ส.ค. 2023 เวลา 05:00 • สุขภาพ

ไรฝุ่นตัวร้ายกับโรคภูมิแพ้

ไรฝุ่นคืออะไร❓
ไรฝุ่น เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากจนมนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยด้วยตาเปล่า มีความยาวเพียง 0.1-0.3 มิลลิเมตร อยู่ปะปนกับฝุ่นภายในบ้าน กินผิวหนังของมนุษย์ที่ถูกผลัดออกมาเป็นอาหาร
ในคนที่แพ้ไรฝุ่น เมื่อหายใจเอาอากาศที่มีไรฝุ่นเข้าไปอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นในระบบทางเดินหายใจได้ โดยไรฝุ่นที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ มี 2 ชนิด คือ Dermatophagoides pteronyssinus (DP) และ Dermatophagoides farinae (DF)
รู้หรือไม่
ใน 1 วัน ผิวหนังมนุษย์จะถูกผลัดเซลล์ออกมาถึง 1.5 กรัม ซึ่งสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ถึง 1 ล้านตัว
โรคภูมิแพ้ไรฝุ่นคืออะไร❓
โรคภูมิแพ้ไรฝุ่น เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ (ไรฝุ่น) เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นขึ้นมา เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ (ไรฝุ่น) อีกในภายหลัง ภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะกระตุ้นให้ร่างกายมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นมากเกินไป ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติ
อาการของโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น มีอะไรบ้าง❓
🔶 อาการที่พบบ่อย ได้แก่
  • คัดจมูก
  • คันจมูก จาม น้ำมูกไหล
  • คันตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล
  • คันคอ ไอ
  • คันผิวหนัง เป็นผื่น
🔶 อาการที่พบในคนที่เป็นโรคหืด (Asthma) ได้แก่
  • หายใจลำบาก
  • แน่นหน้าอก
  • หายใจมีเสียงวี๊ด
  • มีอาการหอบหืดในเวลากลางคืนหรือช่วงตื่นนอน
เราจะวินิจฉัยอาการของโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นได้อย่างไร❓
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ร่วมกับดูอาการของโรค หากสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test, SPT) หรือการเจาะเลือดตรวจภูมิจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ (Specific IgE Blood Test)
การรักษาโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ทำได้อย่างไรบ้าง❓
🔶 จัดการที่ต้นเหตุ คือ กำจัดตัวไรฝุ่น
  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยแนะนำให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
  • ใช้เครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ชนิด HEPA filter
  • หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน
  • ควรซักทำความสะอาดเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนประมาณ 60 องซาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อฆ่าไรฝุ่น
  • ควรนำเครื่องนอนออกตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนควรทำมาจากผ้ากันไรฝุ่น หรือผ้าที่มีเส้นใยถี่แน่น มีรูห่างของผ้าทอเล็กมาก ซึ่งสามารถลดการเล็ดลอดของไรฝุ่นออกมาได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้พรม เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น
🔶 รักษาโดยการใช้ยา
  • ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เพื่อลดอาการคันจมูก น้ำมูกไหล ผื่นแพ้
  • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Nasal corticosteroids) เพื่อลดอาการบวมในโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดทา (Topical corticosteroids) เพื่อลดอาการคัน อาการอักเสบบริเวณผิวหนัง โดยความแรงที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เป็น
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน (Oral corticosteroids) กรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง
  • ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) กรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่น
⭐ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
ภูมิคุ้มกันบำบัด คือการรักษาด้วยวิธีให้สารที่ผู้ป่วยแพ้ (ไรฝุ่น) เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งในปัจจุบัน การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มี 2 วิธี คือ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous immunotherapy, SCIT) และการอมใต้ลิ้น (sublingual immunotherapy, SLIT) ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้ทั่วทั้งร่างกายได้
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นต้องใช้ความสม่ำเสมอในการรักษา อาจต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีจนผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อไรฝุ่น ส่งผลให้อาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นลดลงได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา