20 มิ.ย. 2023 เวลา 15:05 • ไลฟ์สไตล์

- ผู้สูงอายุไฟแรง -

ญี่ปุ่นได้กลายมาเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีมากที่สุดในโลก โดยมีเกือบ 30% หรือประมาณ 35 ล้านคน อีกทั้งมีอัตราการเกิดที่ค่อนข้างต่ำที่ 1.39% (ลำดับที่ 215 ของโลก) จึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 นั้น จำนวนประชากรจะลดลงไปอีกประมาณ 25% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นไปเป็นเกือบ 40% !!
พอได้มาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นหลายสิบปีทำให้ผมรับรู้และสัมผัสได้อย่างหนึ่งว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นนั้นถึงแม้สภาพภายนอกอาจจะดูแก่ชราตามสังขารธรรมชาติ เช่น ผมหงอกขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น ฯลฯ แต่สภาพภายในร่างกายนั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วย ‘พลังชีวิต’
ท่านที่เคยเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น น่าจะได้มีโอกาสสังเกตพบเจอกับ ‘ผู้สูงอายุไฟแรง’ คือ ยังสามารถทำงานและขยับร่างกายได้เหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป โดยปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างคล่องแคล่ว ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่เก็บค่าผ่านทางด่วน (น่าจะเกิน 90% ที่เป็นผู้สูงอายุ) คนขับแท็กซี่ หรือพนักงานทำความสะอาดตามตึกอาคารหรือตู้ขบวนรถไฟด่วน เป็นต้น
หรือในแวดวงวิชาการนั้น ตัวผมเองเคยมีเพื่อนเรียนมหาลัยร่วมรุ่นในญี่ปุ่นที่มีอายุ 65 ปี!! ซึ่งอายุเยอะกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเสียอีก คุณลุงท่านนั้นบอกในวันแนะนำตัววันแรกว่า ‘อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ’ ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกคนก็แอบลุ้นและคอยเอาใจช่วยคุณลุงท่านนั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพอมาถึงห้องแล็บวันแรกก็ถามว่า ‘เปิดคอมพิวเตอร์ยังไง’...
แต่คุณลุงท่านนั้นมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ พยายามเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า เรื่องไหนไม่รู้ก็ถามคนรอบข้างโดยไม่รู้สึกอายแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอในชีวิตมาก่อน เช่น การใช้โปรแกรม Microsoft Office การคำนวณพฤติกรรมโครงสร้างด้วยวิธีไฟไนต์อิลิเมนต์ (FEM: Finite Element Method) หรือการจำลองคลื่นให้แรงแผ่นดินไหว (Earthquake Force Simulation) กับตัวอย่างทดลองในห้องแล็บ เป็นต้น
เรื่องนี้ทำให้อดนึกถึงความสำคัญของการยอมรับกับคนรอบข้าง (ถึงแม้จะมีอายุน้อยกว่า) อย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ตัวเองรู้และสามารถทำได้แค่ไหน’ โดยไม่มีทัศนคติโอ้อวดว่าเคยเป็นผู้อาวุโสหรือมีประสบการณ์อาบน้ำร้อนมาก่อน แค่พยายามเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมา เพราะว่าโลกนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ผู้สูงอายุบางท่าน (โดยเฉพาะแม่บ้านญี่ปุ่น) พยายามหาเวลาใช้ชีวิตบั้นปลายของตัวเองเพื่อได้มีโอกาสทำ ‘สิ่งที่อยากทำแต่ไม่เคยได้ทำในอดีต’ เนื่องจากถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกฎระเบียบทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น...
พ่อบ้านญี่ปุ่นที่ต้องทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงดูครอบครัว แต่สุดท้ายไม่เคยได้มีโอกาสเจอหน้าและได้ ‘ใช้ชีวิต’ กับสมาชิกในครอบครัวแม้แต่น้อยในช่วงวันธรรมดา ออกจากบ้านแต่เช้ากลับรถไฟเที่ยวสุดท้ายทุกวัน พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็บอกว่าเหนื่อยกับงานและอยากพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ปล่อยให้แม่บ้านพาลูกไปเที่ยวข้างนอกกันเอง... แต่พอหลังเกษียณงานและมีเวลาอยู่ที่บ้านทุกวัน กลับทำให้แม่บ้านบางคนรู้สึกอึดอัดใจเหมือนมี ‘คนนอกที่ไม่รู้จัก’ แต่เคยส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัวมาโดยตลอดแต่กลับต้องมาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
เคสแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะลงเอยด้วยการขอหย่าร้าง เพราะว่าลูกๆ ก็โตกันหมดแล้ว ฝ่ายแม่บ้านก็อยากจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่เหลือของตัวเองหลังจากที่ต้องทนเหนื่อยมาคนเดียวเพราะว่าต้องดูแลเรื่องในบ้านทั้งหมด ทำหน้าที่ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแม่ของลูก ภรรยาของสามี และคนรับใช้ในบ้าน (เพราะว่าค่าจ้างคนใช้ในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างสูง)
ในทางกลับกันผู้สูงอายุบางท่าน (โดยเฉพาะพ่อบ้านญี่ปุ่น) นั้นสามารถตัดสินใจ ‘ตัดขาด’ จากสิ่งรอบตัวทั้งหลายที่ไม่จำเป็นได้ทัน เพราะเริ่มรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจของตัวเองรับไม่ไหวกับสภาพที่เกิดขึ้น ณ เวลาขณะนั้น... โดยบางท่านต้องกลายเป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาทางสภาพจิตใจ แต่พอได้ตัดขาดจากสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเหล่านั้น ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ ถึงแม้อาจจะไม่สมบูรณ์แบบตามคำนิยามของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถช่วยยืดและต่อลมหายใจของชีวิตตัวเองได้
ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิต (Work Life Balance) เป็นคำที่เริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาไม่นาน บริษัทส่วนใหญ่ก็เริ่มใช้นิยามของคำนี้เพื่อพยายามดึงเด็กรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการทำงานที่ได้เปลี่ยนไปแล้วในสังคมปัจจุบัน เช่น งานคือส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานประจำ (ตลอดชีพ) ก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ หรือการให้พนักงานสามารถทำงานหารายได้เสริมกลับช่วยให้บริษัทได้แนวคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เป็นต้น
ประสบการณ์และแนวความคิดของ ‘ผู้สูงอายุ’ ทั้งที่ไฟแรงและไม่แรงนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการเรียนรู้เกี่ยวกับกรอบความคิดทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ที่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถเข้าใจคนรุ่นเก่า ในทางกลับกันคนรุ่นเก่าก็อาจจะตามไม่ทันความคิดของคนรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็น่าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางความคิดผ่านข้อกำหนดของ ‘กาลเวลา’
EP039
Kenko2022
2023/06/20
โฆษณา