22 มิ.ย. 2023 เวลา 07:32 • ไลฟ์สไตล์

ความเชื่อว่าเราไร้ค่าอาจเป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด

.
สวัสดีครับทุกคน เมื่อวานนี้ผมได้ไปเจอคลิปวิดีโอหนึ่งของ Dr. Sia (Sia Bandarian) นักจิตบำบัดสาย ISTDP (Intensive Short-Term Dynamic Psychotherapy) มา เขาพูดถึงสิ่งที่น่าสนใจว่า ความคิดความเชื่อหลักหรือ core belief ที่เรามีกับตัวเองว่า "ฉันเป็นคนไร้ค่า" อาจเป็นหนึ่งในกลไกป้องกันตัวเองทางจิต (defense mechanism)
Dr.Sia ถึงกับออกปากว่านี่คงขัดใจนักจิตบำบัดสาย cbt ซักหน่อย (ฮา) เพราะนักจิตบำบัดสาย cbt อาจมองความคิดความเชื่อว่า "ฉันเป็นคนไร้ค่า" ในฐานะ core belief หรือแก่นความเชื่อหลักของมนุษย์ และมันก็เป็นต้นตอของความรู้สึกเชิงลบต่างๆ รวมถึงความคิดแบบไม่สมเหตุสมผลอื่นๆ ตามมา
.
ผมเคยอ่านแนวคิดเรื่อง core belief ของ cbt มาบ้าง เลยพอเข้าใจว่าในมุมมองแบบ cbt จะมองว่า ความเชื่อว่าตัวเองไร้ค่าเป็นแก่นความเชื่อพื้นฐานอย่างไร โดยหากมองในฐานะของเด็กทารกที่เพิ่งเกิดมาและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แก่นความเชื่อหลักของเด็กคนนั้นก็จะวนเวียนอยู่กับความคิดว่าตัวเองไร้ค่า (worthless) และไม่ถูกรัก (unlovable) จนกว่าผู้ปกครองจะคอยมอบความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความเชื่อหลักเหล่านั้นให้ผ่านการเลี้ยงดูที่เหมาะสม
(คิดภาพว่ามันคือคอนเซปของการที่เราเกิดมาโดยทุกอย่าง 'ไม่มีอยู่' ตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องคุณค่าและความรัก เราจึงต่างก็วนเวียนกับการหาความหมายของสิ่งที่ไม่มีอยู่เหล่านั้นด้วยความเชื่อแรกเริ่มว่าเรา 'ไม่มี' สิ่งนั้น)
.
แต่คราวนี้ย้อนกลับมาที่มุมมองของ Dr.Sia ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดสาย ISTDP
สำหรับแนวทางจิตบำบัดสาย ISTDP นี้ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ต่อยอดมาจากกลุ่ม Psychoanalysis/Psychoanalytic/Psychodynamic psychotherapy เพราะงั้นแนวคิดนี้ก็เลยจะเชื่อมโยงกับเรื่องสัญชาตญาณพื้นฐาน แรงขับ และอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ มากกว่าการโฟกัสไปยังเรื่องความคิดที่อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง (แนวคิดของสายนี้จะมีการมองคนในแนวคิดเชิงวิวัฒนาการมาจากสัตว์นิดหน่อย)
ซึ่งในด้านแรงขับตามสัญชาตญาณพื้นฐานของกลุ่มจิตวิเคราะห์ (ผมขอเรียกรวมๆ ของสาย psychodynamic ที่บอกข้างต้นว่ากลุ่มจิตวิเคราะห์แล้วกัน) ในแรกเริ่มก็มาจากแนวคิดของ Sigmund Freud ที่แบ่งสัญชาตญาณของคนออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ คือ สัญชาตญาณทางเพศหรือชีวิต และสัญชาตญาณแห่งความตาย
แต่ในกลุ่มนักจิตวิเคราะห์ยุคใหม่ที่สนใจมุมมองความสัมพันธ์มากกว่า และรับเอางานวิจัยเชิงประจักษ์เข้ามาในแนวคิดมากขึ้น สัญชาตญาณพื้นฐานที่นักจิตวิเคราะห์และนักจิตบำบัดเหล่านี้สนใจจึงตกอยู่ในประเด็นของความผูกพัน (attachment) มากกว่า โดยเฉพาะความผูกพันระหว่างแม่-เด็กทารก ซึ่งเป็นประสบการณ์ของความผูกพันพื้นฐานที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง
.
Dr. Sia มองว่าจริงๆ แล้ว ความคิดว่า 'ฉันเป็นคนไร้ค่า' จึงอาจเป็นกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตมากกว่าหากเรามองว่าทำไมคนเราถึงเลือกจะติดอยู่กับความคิดแบบนี้
เมื่อเราพูดถึงกลไกป้องกันตัวเองทางจิต นั่นหมายถึงเรากำลังมองว่าการทำเช่นนี้ (การคิดแบบนี้) มันมีประโยชน์พอๆ กับที่มีโทษให้เรารู้สึกแย่
สำหรับ Dr. Sia เขามองว่าการคิดว่าตัวเองไร้ค่ามีประโยชน์ 2 อย่างด้วยกัน คือ
1.มันช่วยป้องกันตัวเราจากความรู้สึกแท้จริงที่เรามีกับคนอื่นซึ่งเรายังไม่สามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะความรู้สึกในแง่ลบกับคนคนนั้น ซึ่งเรามักกังวลไปว่าความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้เรากับคนคนนั้นออกห่างจากกันมากขึ้น
คราวนี้มันก็จะไปโยงกับประโยชน์อีกข้อ คือ
2.มันช่วยปกป้องเราจากการเผชิญความสูญเสีย โดยการคิดแบบนี้อาจทำให้เราทำบางสิ่งเพื่อให้ยังมีคนอื่นอยู่รอบๆ เพื่อปกป้องตัวเรา หรือในบางกรณี ต่อให้การมีความคิดดังกล่าวจะทำให้เราถอยห่างจากสังคม แต่ในจิตไร้สำนึกของเรากลับยังรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ อยู่ อย่างน้อยมันก็คือเสียงในหัวเราเองที่เป็นตัวแทนของผู้คนเหล่านั้น (การมีเสียงของคนอื่นที่คอยตำหนิตัวเรายังดีกว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีสัมพันธ์กับใคร)
.
Dr. Sia เลยเสนอว่านี่เป็นกลไกป้องกันตนเองทางจิตที่มีประโยชน์พอๆ กับมีโทษ และการที่เราเข้าใจมันแบบนี้อาจทำให้เราสามารถก้าวข้ามมันไปได้ในอีกแง่หนึ่ง
โดยสิ่งที่ Dr. Sia เสนอคือการกลับมา connect กับความรู้สึกจริงๆ ของตัวเราเองให้ได้ ซึ่งนั่นคือหนึ่งในแก่นสำคัญของแนวทางการทำจิตบำบัดแบบสาย psychodynamic นั่นเอง (หันกลับมาทำความเข้าใจตัวเอง และมองเห็นศักยภาพของตัวเอง)
Dr. Sia ใช้คำถามที่ว่า "หากคุณไม่ได้ไร้ค่าอย่างที่คิด คุณรู้สึกยังไงกับสิ่งที่คนนั้นทำ?" ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้รับบริการของเขาหันกลับมามองเห็นถึงความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง และมองเห็นว่าจริงๆ แล้วเขามีคุณค่าในตัวเองมากพอกับคนอื่นๆ (เป็นการก้าวข้าม defense ของตัวเอง)
ในขณะเดียวกัน เขาก็เสนอว่าแนวทางแบบ cbt ก็ยังคงได้ผล และเสริมส่วนนี่เข้าไปได้เช่นกัน
โดยแนวทางแบบ cbt ตามปกติแล้วคือการท้าทาย (challenge) ความคิดเหล่านี้ไปเลยตั้งแต่ต้น ซึ่งเทคนิคสำคัญคือการหาหลักฐานในชีวิตจริงว่าอะไรบ้างที่บอกส่าเราเป็นคนไร้ค่าและอะไรบ้างที่บอกว่าไม่ใช่
ซึ่งหลังจากหาหลักฐานครบแล้ว เราอาจมองเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเราอาจมีคุณค่าอยู่ก็ได้ และสิ่งที่ Dr. Sia เพิ่มเข้าไปก็คือการใช้คำถามแบบเดิมว่า "หากคุณรู้สึกว่าจริงๆ แล้วคุณมีคุณค่าเพราะ... แล้วอย่างนั้นคุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาทำ?"
การเพิ่มคำถามนี้เข้าไปก็เพื่อจุดประสงค์แบบเดียวกัน นั่นคือการหันกลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเองในด้านอารมณ์ความรู้สึกด้วย ('ความรู้สึกของฉันก็สำคัญพอๆ กับคนอื่น') ซึ่งมันอาจได้ผลมากขึ้นสำหรับบางคนที่การเข้าใจด้วยความคิดเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องรับรู้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกไปพร้อมกัน
ท้ายสุดก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามุมมองแบบไหนจะถูกต้องกว่ากัน เพราะเราคงย้อนกลับไปพิสูจน์จุดกำเนิดของเราในฐานะมนุษย์ได้ แต่ผมคิดว่ามุมมองของ Dr. Sia ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและดูจะเป็นประโยชน์มากเช่นเดียวกัน
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
โฆษณา