Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
22 มิ.ย. 2023 เวลา 08:56 • ไลฟ์สไตล์
อริยสัจ ๔ คือทางเอก
ทางออกของความทุกข์ คือ อริยสัจ ๔ คือทางเอก ของทุกปัญหาที่คนเราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ในการดำเนินชีวิตปัจจุบันที่เน้นการเร่งรีบ หาเงินหาทองกอบโกยความสุขจากวัตถุต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัวเรา
สาระสำคัญ อริยสัจ ๔
การเกิดมาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีความทุกข์ติดตามมาแทบทั้งสิ้น เป็นพระราชาก็ทุกข์อย่างพระราชา เป็นพระก็ทุกข์อย่างพระ เป็นครูก็ทุกข์อย่างครู โดยส่วนมากบุคคลเมื่อพบปัญหาชีวิตแล้ว มักนั่งกลุ้มเครียด หาทางออกไม่ได้จนต้องทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลรอบข้าง แก้ปัญหาผิดหลงติดอบายมุข เป็นต้น
หลักอริยสัจ ๔
เป็นหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาชีวิตได้ ดังนั้น ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ แล้ว จะต้องมีการฝึกปฏิบัติแนวทางการประยุกต์ใช้หลักอริยสัจ ๔ พุทธวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตด้วย ความหมาย อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ
องค์ประกอบของอริยสัจ ๔ มีอยู่สี่ประการ คือ
๑. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่
ชาติ การเกิด
ชรา การแก่ การเก่า
มรณะ การตาย การสลายไป การสูญสิ้น การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ ๕
๒. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ
กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์
ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ
วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วย วิภวทิฏฐิ หรือ อุจเฉททิฏฐิ
๓. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้
๑. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
๒. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
๓. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
อริยสัจ ๔ นี้ เรียกสั้นๆ ว่า
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
กิจในอริยสัจ คือ สิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อได้แก่
๑. ปริญญา ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
๒. ปหานะ สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
๓. สัจฉิกิริยา นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
๔. ภาวนา มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา
กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ
กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ ๓ หรือญาณทัสสนะ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ ๑๒ ดังนี้
สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
๑. นี่คือทุกข์
๒. นี่คือเหตุแห่งทุกข์
๓. นี่คือความดับทุกข์
๔. นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
๑. ทุกข์ควรรู้
๒. เหตุแห่งทุกข์ควรละ
๓. ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
๔. ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
๑. ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
๒. เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
๓. ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
๔. ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
หลักอริยสัจ ๔ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
ลำดับที่ ๑ . ทุกข์
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงในชีวิต ในชุมชน หรือสังคม โดยจะต้องค้นหาปัญหา และเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา ปัญหาใดสำคัญที่สุดต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนนำขึ้นเป็นลำดับแรก จากนั้นเลือกปัญหาที่สำคัญที่สุดร่วมกันคิดวิเคราะห์หาสภาพของปัญหา เป็นการคิดอย่างมีเหตุผลโดยให้หลักอริยสัจ ๔
ลำดับที่ ๒ . สมุทัย
สาเหตุของปัญหา โดยทำการศึกษาว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรบ้าง เป็นการคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจต้องเรียงลำดับด้วยว่าสาเหตุใดสำคัญมากที่สุด
ลำดับที่ ๓ . นิโรธ
ขั้นตอนนี้ถือเป็นผล ซึ่งหมายถึงการตั้งความคาดหวัง สิ่งที่อยากเห็น เป็นการตั้งเป้าหมายไว้เพื่อให้เดินทางไปถึง ซึ่งคนเป็นจำนวนมากเมื่อเจอปัญหามักจะนั่งกลุ่ม ไม่ได้นั่งแก้ ทำให้เกิดความท้อแท้ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ปัญหามีไว้แก้ มิได้มีไว้กลุ้ม ทุกปัญหามีทางออกเสมอ เป็นการคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม
ลำดับที่ ๔ . มรรค
แนวทางการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และถูกต้องตามหลักมรรคมีองค์ ๘ (ศีล สมาธิ ปัญญา) หากแนวทางแก้ไขไม่ถูกต้อง แก้ไปก็อาจเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก หรือแก้ไม่ถูกจุดปัญหานั้นก็ไม่หมดไป ปัญหาบางอย่างต้องอาศัยจังหวะ เวลา บุคคล สถานที่ หรือปัจจัยอื่นๆ มาช่วยแก้
อีกประการหนึ่งคือ บางทีปัญหานั้นเป็นปัญหาใหญ่ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง พึ่งตนเอง ที่สำคัญจะต้องไม่ลืมกิจในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ควรรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง และมรรค ควรเจริญให้มากด้วย
ภาพ พระพุทธอังคีรสองค์จำลองภายในเจดีย์ใหญ่วัดราชบพิธฯ
บันทึก
2
1
1
2
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย