22 มิ.ย. 2023 เวลา 13:30 • ความคิดเห็น

ทำไม? ถึงกลัวการลงทุน แม้แต่เงินสลึงเดียวก็ไม่กล้า

รู้จัก Loss Aversion อาการของคนหวงเงิน
รู้ทั้งรู้ว่าควรลงทุน แต่ใจก็ไม่กล้า เพราะกลัวขาดทุน กลัวการสูญเสีย นี่แหละคือหลุมพรางที่เรียกว่า “Loss Aversion”
ใช่คุณรึเปล่า? อยากมีรายได้เพิ่มแทบตาย แต่ก็ไม่กล้าลงทุน และต้องพลาดโอกาสมีเงินก้อนโตเพียงเพราะไม่อยากเสียเงินเก็บไป นี่แหละอาการ Loss Aversion ความไม่กล้าลงทุนของมนุษย์เงินเดือน…
Loss Aversion คืออะไร?
Loss Aversion คือ พฤติกรรมของมนุษย์ที่มักหลีกเลี่ยง “การสูญเสีย” มากกว่า พยายามเสี่ยง “เพื่อที่จะได้อะไรมา”
Daniel Kahnman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2002 และ Amos Tversky ผู้ช่วยของเขา ได้ร่วมกันทำวิจัยในเรื่องนี้ เมื่อปี 1979 พบว่า “การสูญเสียทรงพลังกว่าการได้รับถึง 2 เท่า”
ยกตัวอย่างเช่น มีกล่องจับสลาก 2 กล่องให้เลือก และให้เลือกได้เพียงกล่องเดียว ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกอะไร?
- กล่องแรก ได้เงิน 10,000 บาทแน่นอน
- กล่องที่สอง อาจได้เงิน 20,000 บาท หรือ ไม่ได้อะไรเลย
1
คำตอบคือ คนส่วนใหญ่เลือกกล่องแรก…
Daniel และ Amos จึงให้คำนิยามทฤษฎีนี้ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายว่า “คนเราเกลียดการสูญเสีย มากกว่า ดีใจกับการได้รับมา”
Loss Aversion จึงมักถูกนำมาใช้อธิบายถึงสาเหตุที่หลายคนไม่กล้าลงทุน เพราะพวกเขากลัวขาดทุน และไม่อยากสูญเสียเงินไป อาการเหล่านี้ ส่งผลให้คนเราหวงเงินต้นมาก จนต้องหาวิธีมาปกป้อง ไม่ให้เสี่ยงต่อความเสียหาย บางคนเป็นหนัก ถึงขั้นไม่ยอมลงทุนเลยทีเดียว
นอกจากพฤติกรรม Loss Aversion แล้ว ยังมีเหตุผลเชิงจิตวิทยาอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังสาหตุที่ไม่กล้าลงทุนด้วย เช่น การติดกรอบความคิดแบบเดิมๆ, การลงทุนดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก, กลัวโดนหลอก, กลัวความล้มเหลว หรือแม้กระทั่งเคยลงทุนแล้ว แต่ขาดทุน หรือ มีประสบการณ์ไม่ดี บางคนก็จะเข็ดขยาด ไม่กล้าลงทุนอีกเลย ทำให้บางครั้งก็พลาดโอกาสไป
Loss Aversion รับมือยังไง?
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้โฟกัสไปที่โอกาสสร้างผลตอบแทน มันต้องใช้เวลา และอาจต้องฝึกฝนกันสักหน่อย แต่ไม่ต้องกลัว #aomMONEY มีทริกง่ายๆ มานำเสนอ…
1. เริ่มต้นทีละน้อย
ขั้นแรกของการเอาชนะความกลัวลงทุน คือ เริ่มต้นและลงมือทำ อาจไม่ต้องมาก แค่วันละ 100 บาท หรือ สัปดาห์ละ 1,000 บาท เอาตามงบที่มี พอได้กำไร ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่าลืมว่า "กรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว" ดังนั้น พอร์ตการลงทุนก็เช่นกัน ต้องทยอยสะสม ลงทุนอย่างต่อเนื่อง สักวันก็จะถึงเป้าหมายได้
2. ลงทุนในสิ่งที่ชอบ
สำรวจตัวเองก่อนว่า มีความถนัด หรือ ชอบลงทุนในสินทรัพย์ใด รูปแบบไหน เป็นพิเศษมั้ย? ถ้ามี ควรเริ่มลงทุนในสิ่งที่ชอบก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง เพราะถ้าเราได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ เราจะอยู่กับมันได้นาน
3. เปิดใจหาความรู้เพิ่มเติม
มนุษย์มักกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ดังนั้น วิธีเอาชนะความกลัว คือ การเรียนรู้ ลองอ่านหนังสือ ดูยูทูป ฟังพอดแคสต์ หรือ สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจดาวน์โหลดโปรแกรมจำลองการซื้อขายมาทดลองใช้ดูก่อนก็ได้ เชื่อเถอะว่า มันจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ในการลงทุนให้กับคุณได้จริงๆ ไม่มากก็น้อย
4. ปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่
มุมมองและความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ เราต้องคิดใหม่ว่า “การลงทุนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย” แม้จะมีขาดทุนบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีนักลงทุนคนไหนในโลกที่ไม่เคยขาดทุน ถ้าศึกษามาดีแล้ว เชื่อเถอะว่าความสำเร็จอยู่ไม่ไกล และสุดท้ายต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถทำงานหาเงินด้วยแรงงานไปตลอดชีวิตได้ แถมยังต้องกินต้องใช้อีก การลงทุนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ต้องถูกบรรจุให้อยู่ในแผนของชีวิตทุกคน
Nelson Mandela ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ และ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 1993 เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันได้เรียนรู้ว่า ผู้กล้าไม่ใช่คนที่ไม่รู้สึกกลัว แต่เป็นคนที่เอาชนะความกลัวนั้นได้ต่างหาก”
ไม่แปลกหรอกที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะมีอาการ Loss Aversion เพราะกว่าจะหาเงินมาได้แต่ละบาทมันเหนื่อยมากจริงๆ แต่เชื่อเถอะ คุณเอาชนะมันได้ อย่าให้เหตุผลของความกลัวแค่ไม่กี่ข้อ มาจำกัดชีวิตที่ดีและโอกาสที่จะมีเงินก้อนโตในกระเป๋านะครับ
#aomMONEY #Psychology #Investment #Financial #จิตวิทยา #การเงิน #การลงทุน #การใช้จ่าย
โฆษณา