23 มิ.ย. 2023 เวลา 03:04 • การศึกษา

วิธีอยู่ร่วมกับหัวหน้าทุกสไตล์ (และเข้าได้กับลูกน้องทุกแบบ)

สถิติแสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากไม่ได้ยื่นใบลาออกเพื่อหนีจากบริษัท แต่เพื่อหนีให้ไกลจากหัวหน้า ส่วนคนเป็นหัวหน้าก็มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่ทุกข์ใจกับความไม่เอาไหนของลูกน้องตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ต้องทำยังไง
หนังสือเล่มนี้คงจะเป็นแค่หนังสือปราบหัวหน้ายอดแย่ กำราบลูกน้องห่วยแตกอีกเล่มหนึ่ง ถ้าผู้เขียนบรรยายแค่วีรกรรมสุดแสบของเพื่อนร่วมงาน กรณีศึกษาน่าปวดหัว และวิธีเอาชนะคนเหล่านั้นโดยเหมารวมว่าคนที่มีปัญหากับเราล้วนแต่เป็นคนงี่เง่า แต่หนังสือเล่มนี้กลับบอกเราถึงประเด็นที่ลึกกว่านั้น โดยบอกว่าการที่เราไม่ลงรอยกับใครสักคน อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจ (และไม่คิดจะทำความเข้าใจ) กันมากพอ
โธมัส เอริคสัน นักเขียน Bestseller เจ้าของผลงาน วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า ที่แบ่งคนออกเป็น 4 สีตามระบบ DISC ชวนเรากลับมามองถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติที่แตกต่างของคนแต่ละแบบ แน่นอนว่าหัวหน้าที่เลวร้ายจริง ๆ นั้นมีอยู่แน่ และลูกน้องที่เอาแต่อู้ไม่ยอมทำงานก็มีอยู่จริง แต่ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร เขาเชื่อว่าเมื่อมีความขัดแย้งอย่างหนักเกิดขึ้น นั่นมักเป็นเพราะเราไม่ได้คุยกัน (มากพอ)
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่ง “ในวงล้อมของหัวหน้ายอดแย่” บรรยายให้เห็นหัวหน้าหลากหลายประเภท และอธิบายว่าทำไมหัวหน้าบางคนถึงได้ไร้ประสิทธิภาพนัก แล้วคุณในฐานะพนักงานคนหนึ่งจะรับมือกับหัวหน้าตัวเองได้ยังไงบ้าง เนื้อหาในตอนที่สองคือ “เมื่อรายล้อมด้วยลูกน้องสันหลังยาว” อธิบายให้คุณเข้าใจว่าทำไมลูกน้องบางคนถึงไม่ยอมทำงาน ลูกน้องก็ไม่ต่างจากหัวหน้าที่มีหลายประเภท และทุกคนมีจุดแข็งและจุดอ่อน เนื้อหาส่วนนี้จะทำให้คนเป็นหัวหน้ารู้ว่าจะช่วยลูกน้องให้ค้นพบศักยภาพของตัวเองได้ยังไง
เอริคสันตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้สะท้อนมุมมองสองฝั่ง คือฝั่งหัวหน้าและฝั่งลูกน้อง แทนที่จะให้เป็นหนังสือที่ชวนลูกน้องกร่นด่าหัวหน้าหรือผลักดันให้หัวหน้ากำราบลูกน้อง เขากลับต้องการสะท้อนให้เห็นความยากลำบากของการเป็นผู้นำ และความต้องการแรงสนับสนุนของคนเป็นลูกน้อง นอกจากอธิบายพฤติกรรมของคนแต่ละสี รวมถึงคนที่มีหลายสีในคนเดียว
เขายังอธิบายปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้หัวหน้ากับลูกน้องไม่ลงรอยกัน ประเด็นสำคัญอีกสองอย่างที่เขาเน้นยํ้า คือแรงขับและระดับของพัฒนาการในการทำงานของแต่ละบุคคล แรงขับคือสิ่งที่ทำให้เราอยากลุกจากเตียงไปทำงาน ส่วนระดับของพัฒนาการคือความมุ่งมั่นและทักษะในการทำงานของเรา เมื่อเราเข้าใจองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งของหัวหน้าและของลูกน้อง เราจะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในที่ทำงานได้ดีขึ้น
การเป็นหัวหน้าไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะเป็นหัวหน้าที่แย่ หากคุณอยากช่วยให้ลูกน้องเก่งขึ้นจริง ๆ ก็อย่ายอมแพ้ง่ายเกินไป ให้คุณมองพัฒนาการของลูกน้องแบบที่มองลูกของคุณหัดเดินทำความเข้าใจพวกเขา ให้เวลาพวกเขา และให้เวลากับตัวเองด้วย ส่วนลูกน้องก็มีส่วนต้องรับผิดชอบให้การสื่อสารระหว่างคุณกับหัวหน้าราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แน่นอนหัวหน้าต้องรับผิดชอบมากกว่า แต่อย่าผลักภาระทั้งหมดไปให้หัวหน้า เมื่อคุณพอจะรู้นิสัยของหัวหน้าและรู้จักตัวเองมากขึ้น คุณก็จะรู้ว่าต้องเข้าหาหัวหน้ายังไง และขอความช่วยเหลือตามความจำเป็น แต่ถ้าคุณมีหัวหน้าที่งี่เง่าสุด ๆ อาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้อะไรอีกมาก ลองมอบหนังสือเล่มนี้ให้พวกเขาคุณอาจจะมีโอกาสได้คุยกับหัวหน้ามากขึ้น
“วิธีอยู่ร่วมกับหัวหน้าทุกสไตล์ (และเข้าได้กับลูกน้องทุกแบบ)” โธมัส เอริคสัน เขียน ประเวศ หงส์จรรยา แปล สำนักพิมพ์ Amarin HOW-TO
สั่งออนไลน์ได้ที่
เว็บไซต์ Amarinbooks > https://bit.ly/43PiXKB
และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
มี E-book
โฆษณา