7 ก.ค. 2023 เวลา 13:00 • ธุรกิจ

Lean Digital Canvas ลดความสูญเปล่า สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมประสิทธิภาพการผลิต

LEAN เป็นแนวคิดที่ช่วยลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต เหมาะสำหรับผู้ประกอบการโรงงานหรือการผลิต ด้วยการเปลี่ยนความสูญเปล่าให้กลับมาเป็นคุณค่า ทำให้สามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังช่วยต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี ดร.สุริยะ เลิศวัฒนะพงษ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้าน Lean ได้แชร์ความรู้ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตร Digital Smart Manufacturing เพื่อ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลิตผล สู่ความยั่งยืน ESG ด้วย IoT
Lean Digital Canvas ลดความสูญเปล่า สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมประสิทธิภาพการผลิต
รู้จัก KAIZEN สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ดร.สุริยะ กล่าวว่า หากย่อ LEAN ลงมาให้ดูง่าย จะมีแค่เรื่อง “คุณค่า” กับ “ความสูญเปล่า” เครื่องมือสำคัญในการทำ LEAN คือ Value Steam Map เป็นครื่องมือช่วยให้เห็น FLOW และความสูญเปล่าให้มีความชัดเจน เน้นการมองเห็นและขจัดหรือลดความสูญเปล่าโดยไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบ คือให้ค่อยๆ ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนกลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า KAIZEN คำว่า “KAI” แปลว่า Change ส่วนคำว่า “ZEN” แปลว่า Good
ดังนั้น KAIZEN คือ การเปลี่ยนให้ดีขึ้น หรือ Good Change หรือ Continue Improvement เมื่อเห็นความสูญเปล่าแล้ว ให้หยิบขึ้นมาแก้ไข โดยจะดูว่าภายใต้สภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่จำกัด เราจะสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้าง
หลักการของ KAIZEN
- มอบหมายความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ให้กับคนหน้างาน (Empowerment)
- มีเป้าหมายให้กับ QCDPIS (คุณภาพ ต้นทุน การส่งมอบ ผลผลิต งานค้าง ความปลอดภัย)
- สมมติฐาน คือ ถ้าการทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน (Standard Work) ผลลัพธ์ควรต้องได้ตามเป้าหมาย
- เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น พนักงานจะรวมตัวกันเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและลงมือปรับปรุง
- พนักงานจะสรุปสิ่งที่ได้ปรับปรุงและการเรียนรู้ลงในรายงาน A3
Lean Digital Canvas ลดความสูญเปล่า สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมประสิทธิภาพการผลิต
ดร.สุริยะ ยกตัวอย่าง บริษัท Fast Cap ในสหรัฐอเมริกาว่า ผู้จัดการโรงงานได้สร้างวัฒนธรรมโรงงาน เรียกว่า Morning Walk เป็นการเดินไปที่สายการผลิตทุกวันในตอนเช้า ไปทักทายพนักงานทุกคน แล้วถามพนักงานว่า วันนี้อยากจะปรับปรุงอะไร ทำอะไรก็ได้ให้ดีขึ้น เพื่อช่วยประหยัดเวลา 2 วินาที
การที่ผู้จัดการโรงงานทำแบบนี้อาจเป็นดาบ 2 คม วิธีการที่จะประสบความสำเร็จคือ ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานว่าไม่ใช่การมาจับผิด แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยผู้บริหารต้องมีความสม่ำเสมอ ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างทุกวัน พอพนักงานปรับตัวได้ก็จะอยู่ตัวเอง การรักษา Standard ของโรงงานเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ผู้นำเป็นคนสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้
GEMBA วัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น
ดร.สุริยะ ได้กล่าวถึง GEMBA ว่าเป็นส่วนหนึ่งในหลักการ LEAN อีกด้วย โดยคำว่า “GEMBA” ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “สถานที่จริง” ประกอบด้วย 1.Genba สถานที่จริง เช่น การเดินออกไปสำรวจที่หน้างานจริง 2.Genbutsu สิ่งของจริง เช่น การไปดู จับ สังเกต ตัวสินค้าจริง 3.Genjitsu สถานการณ์จริง เช่น การออกไปดูสถานการณ์เกิดปัญหาจริง 4.Genri ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องจริง เช่น ดูมาตรฐานการผลิต และ 5.Gensoku เงื่อนไขประกอบที่เกี่ยวข้องจริง เช่น ดูข้อจำกัด ดูข้อบังคับที่ใช้
หลักการของ GEMBA คือ การไปดูด้วยตาของตัวเอง เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริง อย่าคิดไปเอง ให้เดินออกไปดูหน้างานของจริง และยังถือว่าเป็นการให้ความเคารพความคิดเห็นของพนักงาน โดยเจ้านายจะไม่เดินไปต่อว่า แต่ถ้าหากอยากให้ปรับปรุงแก้ไข อาจขอความเห็น ให้ช่วยกัน Brainstorm แล้วให้ทดลองทำดูว่า วิธีการใหม่จะเป็นอย่างไร เพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขแล้วคอยดูว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังมี 3 สิ่งที่นำมาซึ่งเกิดความสูญเปล่า (3 Contributors to Waste) ประกอบด้วย 1.MURI (Overburden) แปลว่า หนักเกินกว่าจะทำได้ อย่าให้พนักงานทำเกินขีดจำกัดของมนุษย์ เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดตามมา 2.MURA (Unevenness) แปลว่า ความไม่สม่ำเสมอ 3.MUDA (Current Process Methods)
วิธีการทำงานในปัจจุบันที่ทำให้เกิดความสูญเปล่า 8 ประการ ได้แก่ 1. ความขาดตกบกพร่อง (Defects) 2. การเคลื่อนย้าย (Transportation) 3. กระบวนการส่วนเกิน (Excess Processing)4. สินค้าคงคลัง (Inventory) 5. การผลิตที่มากเกินไป (Overproduction) 6. การรอคอย (Waiting) 7. การเคลื่อนไหว (Motion) และ 8. ใช้ทรัพยากรบุคคลไม่เต็มประสิทธิภาพ (Non-Utilized Talent)
Lean Digital Canvas ลดความสูญเปล่า สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมประสิทธิภาพการผลิต
รู้จัก PDCA วิธีการสร้างวงจรบริหารงานอย่างมีคุณภาพ
ดร.สุริยะ ได้กล่าวถึง PDCA ว่า เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางความคิดเพื่อให้มีการป้อนกลับและมีการตรวจสอบในการสร้างองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ Plan- วางแผน Do-ลงมือทำ Check-ตรวจสอบ และ Act -ปรับปรุง เป็นกระบวนการที่ใช้ปรับปรุงการทำงานให้เป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การทำ PDCA ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น ดร.สุริยะ กล่าวอีกว่า ผู้นำต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้พนักงานเห็นและเกิดความเข้าใจ ก็จะทำให้ PDCA สามารถประสบความสำเร็จได้
SMED เพิ่มการคล่องตัวในการผลิต
SMED ย่อมาจากคำว่า Single Minute Exchange Die หรือ การลดเวลาในการติดตั้ง คือ การ Set-Up Time ของเครื่องจักรให้เร็วที่สุด ในชิ้นสุดท้ายของกระบวนการผลิตครั้งก่อนจนถึงชิ้นแรกของกระบวนการผลิตครั้งถัดไป เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการผลิต ประกอบด้วย 5 หลักการ
1. แยก External Set-Up ออกจาก Internal Set-Up
2. แปลง Internal Set-Up ไปเป็น External Set-Up
3. ปรับปรุงวิธีการ Operation Methods
4. ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือ
5. ขจัดการ Set-Up
ก่อนจากกัน ดร.สุริยะ ได้กล่าวว่า หากผู้ประกอบการธุรกิจ SME สามารถทำความเข้าใจหลักการของ KAIZEN / GEMBA / PDCA และ SMED ได้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำ LEAN ภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญการทำ LEAN ให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยตัวเจ้าของธุรกิจเป็นผู้ริเริ่มและลงมือทำเป็นตัวอย่าง เพื่อให้พนักงานรับรู้เกิดความเข้าใจ สามารถปรับตัว และนำไปปฎิบัติจนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจะทำให้เกิด LEAN ภายในองค์กรได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : ดร.สุริยะ เลิศวัฒนะพงษ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้าน Lean ผู้อำนวยการหลักสูตร Digital Smart Manufacturing เพื่อ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลิตผล สู่ความยั่งยืน ESG ด้วย IoT เดือนพฤษภาคม 2566 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน
โฆษณา