24 มิ.ย. 2023 เวลา 10:41 • ท่องเที่ยว

วัดเฟยไหล (Feilai Temple) และจุดชมวิว .. เต๋อซิน

ฉันชอบถ่ายภาพ และชอบมองลึกเข้าไปในสังคม วิถีชีวิตของผู้คน .. จึงเก็บกระเป๋า แล้วก้าวเท้าทั้งสองออกเดินทางอีกครั้ง เพื่อไปเก็บเกี่ยวทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในสายตาและเลนส์กล้อง หวังว่าจะมีสิ่งสวยงามอีกมากมายรออยู่ในเส้นทางที่ฉันจะก้าวเดินในครั้งนี้ … เพื่อจะเอามาเป็นประสบการณ์ของชีวิต ให้ถวิลหานามที่หยิบภาพมาดู และอ่านเรื่องราวอีกครั้ง
วันนี้เราจะไปชมวัดทิเบตที่สวยงามอีกวัดหนึ่ง ซึ่งติดกับชายแดนทิเบต
วัด Feilai เดิมสร้างขึ้นในปี 1614 ในสมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) โดยมีประวัติยาวนานถึง 385 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตร.ม. สร้างขึ้นตามภูมิประเทศของภูเขาโดยมีสถาปัตยกรรมตามดุลยพินิจ วัดทั้งหมดประกอบด้วย Zisun (ลูกหลาน), Hall of God, Haichao (Sea Tide Hall), Liangxiang (ปีกห้อง) Hall, Liang'er (สองหู) Hall และ Sipei (ด้านข้าง) Hall เป็นวัดที่ผสมผสานระหว่าง 3 ศาสนา คือ พุทธ เต๋า และขงจื๊อ
วัดเฟยไหล เป็นวัดขนาดเล็กที่มีความเก่าแก่กว่าพันปีของชาวทิเบต เป็นที่รู้จักจากภูมิทัศน์ของ "แสงแดดบนภูเขา" ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น .. แสงอาทิตย์จะส่องแสงบนยอดเขา Kawakarpo อันเป็นยอดสูงสุดของเทือกเขา เหมยหลี่ มีความงดงามราวกับภูเขาหิมะที่เปล่งแสงสีทองอร่าม
... เป็นวัดที่ไม่มีนักบวช สร้างขึ้นเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ภูเขาที่อยู่ตรงหน้า ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวของ “ภูเขาหิมะเหมยหลี่” ซึ่งว่ากันว่า เป็นภูเขาหิมะที่สวยงามที่สุดในประเทศจีน
ภาพจาก internet
ภูเขาหิมะเหม่ยลี่ (Meili Snow Mountains) เป็น 1 ใน 8 ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต
ภาะจาก internet
วัดเฟยไหล ตั้งอยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่เราจะได้เห็น ยอดเขา คาวากาโป แบบพาโรนามาเต็มสุดลูกหูลูกตา ..
ภาพจาก internet
นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นเองจึงมาทำความเคารพบูชาภูเขาเทพเจ้าลูกนี้ ด้วยมีความเชื่อว่าถ้าใครได้มากราบไหว้ที่นี่ จะโชค แม้ตอนที่ตายไป ก็จะได้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดีนั่นเอง
ภาพจาก internet
ตำนานของวัด เล่าขานกันมาว่า .. Nanka Jiequ Rinpoche ผู้ที่สร้างวัดนี้ขึ้นมานั้น นั่งสมาธิอยู่ แล้วเกิดนิมิตบางอย่าง เห็น “ภาพพระพุทธเจ้า” กำลังบินมาจากอินเดียมาหยุดอยู่ที่ยอดเขาคาวาเกโป ก็เลยตั้งชื่อวัดนี้ว่า เฟยไหล ซึ่งแปลได้ว่าวัดบิน (Flying Temple)
… และสร้างให้วัดนี้หันหน้าเข้าหายอดเขาคาวาเกโป ทำให้ใครๆ ก็ต้องมากราบไหว้ที่วัดนี้ เพราะเหมือนเป็นการได้กราบไหว้ยอดเขาที่พระพุทธเจ้าได้ลงมาประทับนั่นเอง
รุ่งอรุณของวันใหม่ในความหนาว เราตื่นเช้าขึ้นมาท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ .. แม้ฝนจะตกแทบทั้งคืน แต่เราก็ยังหวังว่าจะได้เห็นแสงอาทิตย์สาดส่องลงมาทาทาบยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ คาวากาโป เหมือนนักท่องเที่ยวอีกหลายๆคนที่มีหมุดหมายเดินทางมาที่นี่ ..
ภาพจาก Internet
การได้มองดูภูเขาจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทุกครั้ง โดยเฉพาะภูเขาที่สูงเสียดฟ้าอย่างที่นี่ … เช้ามืดที่ฟ้ายังไม่สว่าง ฉันหวังว่าจะได้เห็นท้องฟ้าคลี่ขจายไปด้วยดวงดาวสุกใสชัดเจน และตามมาด้วยการแสดงที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
… เรายืนรอรุ่งอรุณท่ามกลางความเงียบ เสียงหวีดหวิวของลม และความหนาวเหน็บที่แทรกซอนผ่านเนื้อผ้าเข้ามาถึงเนื้อใน … จินตนาการเริ่มผ่านเข้ามาในสมอง
.. ยังจำช่วงเวลา Magic Moment ที่ร่ายมนต์สะกดให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังการปรากฏตัวของยอดเขาแห่งหิมาลัย เมื่อครั้งไปเยือนอินเดียและเนปาลได้ดี ..
… แสงแรกของพระอาทิตย์ยามที่ส่องมาชโลมผืนดิน … ขอบหยักๆของภูเขาสูงตระหง่านเริ่มมีสีส้มทองไล่โทนสว่างในทิศทางที่ตรงข้ามกับพระอาทิตย์ น่าพิศวง น่าหลงใหล ไล่เฉดสีลงมายังจุดที่ฉันรอคอยด้วยใจจดจ่อเพื่อต้อนรับตะวันกับเช้าวันใหม่ ไม่ยอมแม้จะกระพริบตา ด้วยเกรงว่าจะพลาดช่วงเวลาที่สำคัญ … A moment in time …
ภาพจาก Internet
ฉันอยากจะเห็นพระอาทิตย์ลืมตา … ปรากฏการณ์ที่เรารอเกิดขึ้นจริงๆ มิใช่พียงแค่ความโชคดี แต่เป็นสภาวะพิเศษที่ประกาศถึงความยิ่งใหญ่ ศักดิ์สิทธิ์ และงดงาม และก่อเกิดความตื่นเต้นแก่ผู้พบมอง
ความจริงที่โหดร้ายสำหรับคนที่เดินทางมาแสนไกลอย่างเรา ก็คือ .. ฝนที่ตกลงมาเมื่อวานและช่วงกลางคืนที่ผ่านมา ทำให้เมฆมีมากและหนาจนแทบจะมองอะไรไม่เห็นอยู่พักใหญ่ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เป็นความหวังที่จะมาเก็บภาพ … จินตนาการล้มไม่เป็นท่า ช่างเป็นเช้าที่เศร้าจริงๆ
.. สีขาวดั่งปุยนุ่นของคลื่นหมอกจากระยะไกลมองเห็นได้ชัดจากที่ที่ฉันยินในขณะนี้ .. ดูสวยงามจับใจ ระลอกหมอกที่ดูนิ่งสงบ พอๆกับความเงียบในยามเช้าตรู่
เมฆหมอกเริ่มเบาบางลง แต่ยังคงชั้นความหนาเกินกว่าจะเห็นยอด คาวากาโป .. แต่ยังชัดเจนพอที่จะมองเห็นเจดีย์สีขาวเบื้องล่าง
เราถ่ายภาพ เจดีย์สีขาว 8 องค์ ที่ตั้งเรียงรายอยู่เบื้องล่าง พร้อมกับนึกถึงภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวเดินมาในทริปนี้ .. แต่ไม่มีแสงเรืองรองของดวงสุริยาบนยอดเขาที่เราเฝ้ารอจะเก็บภาพ
หลายครั้งของบันทึกการเดินทางของฉัน เริ่มขึ้นจากแรงจูงใจผ่านภาพถ่ายของใครบางคน ซึ่งเป็นเสมือนเชื้อไฟโหมกระตุ้นทำให้อยากออกเดินทาง .. การบอกเล่าในความงดงามผ่านภาพถ่ายและบทความ ทำให้ฉันตัดสินใจมายืนยังดินแดนแห่งนี้ในเข้าวันนี้
ฉันยืนมอง เจดีย์สีขาวสวยที่ตั้งเรียงกัน 8 องค์ที่มองเห็นอยู่ด้านล่าง .. เจดีย์หันไปในทิศทางอันเป็นที่ตั้งของภูผาที่สูงตระหง่าน .. ดูงดงาม
มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า ... เจดีย์สีขาวสวยที่ตั้งเรียงกัน 8 องค์ และกองแผนหินสลักภาษาทิเบตที่กองทับๆ กัน ... ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงนักปีนเขา 17 คนที่พยายามพิชิตยอดเขาคาวาเกโป ในปี 1991 ซึ่งเป็นคนจีน 5 คน และเป็นคนญี่ปุ่นอีก 12 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นทีมงานและไกด์ท้องถิ่นที่ได้พยายามจะเข้าไปสำรวจพื้นที่ภูเขาหิมะเหม่ยลี่
.. แต่โชคร้ายที่การพิชิตยอดเขาครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และร่างของพวกเขาถูกฝังไว้ภายใต้ภูเขาหิมะ ณ ที่ใดที่หนึ่งแห่งนี้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์การปีนเขาของประเทศจีน
.. นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านเค้าเชื่อว่า ภูเขาหิมะเหม่ยลี่ (Meili Snow Mountains) เปรียบเสมือนเป็นมหาบรรพตที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครที่จะพิชิตยอดเขานี้ได้ .. แม้จะมีความพยายามจากนักปันเขาหลายกลุ่มแล้ว จนรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้กระทำโดยเด็ดขาด
เราเก็บภาพเพื่อนร่วมทริปกันเอง เป็นที่ระลึก แล้วหวนคิดถึงคำกล่าวของใครบางคนที่ว่า
.. "การรอคอยบางอย่าง อาจทำให้เราผิดหวัง แต่เมื่อหวนคิดถึงเรื่องราวการเดินทาง ก่อนที่เราจะตั้งใจมาเฝ้ารอบางอย่าง มันคุ้มค่า และทำให้เรามีความสุข แม้ว่าเราอาจจะผิดหวังกับสิ่งที่เฝ้ารอก็ตาม"
เราเดินทางต่อไปยังจุดชมวิวภูเขาหิมะอีกแห่งหนึ่ง .. เมื่อก้าวเท้าลงจากรถก็ยังรู้สึกหนาวเย็น แต่อากาศเช้านี้แจ่มใส แสงแดดไม่แรงมากนัก ท้องฟ้าสวยใสเป็นสีน้ำเงิน รู้สึกว่าอากาศมีกลิ่นหอมจนต้องสูดดมเข้าไปเต็มปอด …
.. กระนั้น เรายังรู้สึกได้ถึงสภาวะความบางเบาของอากาศ ทำให้คำพูดที่ว่า “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว” นั้น เป็นความจริงที่เรารู้สึกได้ทั้งกายและคำเปรียบเทียบ
ประตูทางเข้า .. มีเจดีย์เรียงรายอย่างสวยงาม และมองเห็นกงล้อมนตรา.. ตอกย้ำถึงศรัทธาอันแรงกล้าของชาวทิเบตที่มีศาสนาอยู่ใกล้ตัวทุกที่
กระบอกมนต์ขนาดใหญ่ พบเห็นได้ทั่วไปทุกวัด … ชาวบ้านแวะมาหมุนกระบอกมนต์พร้อมสวดมนต์ไปด้วย
.. และหากหยุดก็เพียงแค่ไปนั่งพัก อาจจะหมุนกระบอกมนต์อันจิ๋วที่มีคำสวดมนต์เขียนซุกเอาไว้ในกระบอก
เสียงสวดมนต์ “โอม มณี ปัทมี ฮัม” (Aum Mani Padme Hum) ซึ่งเราเห็นคนทิเบตหรือลาดักสวดกันเป็นประจำนั้น มีความหมายว่า
โอม หมายถึง พระพุทธเจ้า มีสีขาวเป็นเอกลักษณ์ เป็นการขอให้หลุดพ้นจากเทวภูมิ
ม หมายถึง อสูร มีสีน้ำเงินเป็นเอกลักษณ์ เป็นการขอให้หลุดพ้นจากอสูรภูมิ
ณี หมายถึง มนุษย์ มีสีเหลืองเป็นเอกลักษณ์ เป็นการขอให้หลุดพ้นจากมนุษยภูมิ
ปัท หมายถึง สัตว์ มีสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ ขอให้หลุดพ้นจากเปรตภูมิ
มี หมายถึง อมนุษย์ มีสีแดงเป็นเอกลักษณ์ ขอให้หลุดพ้นจากเดรัจฉานภูมิ
ฮัม หมายถึง เปรต มีสีดำเป็นเอกลักษณ์ ขอให้หลุดพ้นจากนรกภูมิ
ความหมายของมนตราหกพยางค์นี้ หมายถึงการนำพาสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และให้ได้ไปเกิดในสุขาวดี เป็น Gem in the heart of lotus flower ซึ่งคืออัญมณีในดอกบัว
ดอกบัว หมายถึง ปัญญา และจิตใจของผู้ผ่านการฝึกฝน บำเพ็ญสมาธิอย่างแน่วแน่
มณี คือ ความกรุณา ซึ่งเปรียบดังสัจจะธรรมของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อคามหลุดพ้นวิมุตติและนิวรณ์
การท่องมนต์ เป็นการเตือนตนให้ตระหนักรู้อยู่เสมอ … เชื่อกันว่า ผู้ที่สวดมนต์และท่องบทสวดนี้อยู่เสมอวันละหลายๆหน เป็นร้อย เป็นพันรอบ จะเป็นการบ่มเพาะความรักต่อทุกสิ่งในมวลโลก แคล้วคลาดจากอันตราย และ จะหลุดพ้นจากการเกิดใหม่ในภาพภูมิทั้งหก … เราจึงได้ยินสียงสวดพร่ำภาวนาอยู่ทุกหนแห่ง
ตามความเชื่อ ทุกครั้งที่ผู้เลื่อมใสหมุนกระบอกมนต์ในมือครบ 1 รอบ นั่นหมายถึงได้สวดมนต์ครบ 1 จบ และยิ่งหมุนได้มากรอบเท่าใด ยิ่งหมายถึงจำนวนครั้งของบทสวดมนต์ที่ได้มากขึ้น
… เป็นนัยยะแย้มเตือนสติให้เรานึกถึงสัจจะธรรมของชีวิต … ในกระบอกมนต์ จะมีบทสวดมนต์เขียนบนกระดาษบรรจุอยู่ภายใน
ศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิต ทัศนคติของชาวบ้านที่นี่มากมาย เช่นเดียวกับหลายสถานที่ที่มีคนทิเบตอาศัย ..
… ชีวิตประจำวันของพวกเขาดำเนินไปตามครรลองแห่งศรัทธา ความยึดมั่นในคำสอน โดยมีหลักสำคัญเน้นปัญญาและคามกรุณาอันจะนำไปสู่การบรรลุธรรม …
…พวกเขาเชื่อในเรื่องการเวียนว่าย ตาย เกิด และเพียรทำบุญ ปฏิบัติธรรมเมื่อมีโอกาส เพื่อส่งผลให้ชีวิตสูงส่งในภาพหน้า
เจดีย์ทิเบต .. เรียงรายอย่างสวยงาม และมีทิวทัศน์ของภูเขาเป็นฉากหน้า
ศาสนาในทัศนะของชาวทิเบต ไม่ใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ให้คนคอยปฏิบัติตาม แต่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา
… ดังที่ท่านสังฆรักขิตะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาในทิเบตคือวิถีชีวิต ทั้งชีวิตของชาวทิเบตคือพระพุทธศาสนาภาพแวดล้อมคือพระพุทธศาสนา ทุกอณูของพื้นแผ่นดินทิเบต เราจะเห็นเฉพาะภาพพระพุทธศาสนา
ริ้วธงมนตราสีสันสดใส หลากสี ... เป็นธงที่คนนำมาแขวนไว้ เพื่อให้บทสวดมนต์ คำสอนของพรพุทธเจ้าแผ่ไปคุ้มครองผู้เดินทาง พวกเขาจะติดธงไว้ในที่ที่ลมพัดแรง
.. ช่วยสร้างบรรยากาศความศักดิ์สิทธิ์ให้ลอยฟุ้งอยู่ในทุกอณูของอาราม เหมือนเรากำลังอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่จิตวิญญาณและศรัทธามีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด
ธงมนตรา .. เป็นสิ่งที่ไม่เคยห่างไปจากผู้คนและวิถีชีวิตของชาวทิเบต
ธงหลากสีซึ่งพาดอยู่ตามสถูป ศาลา หรือแม้แต่กิ่งไม้ระหว่างทาง .. ได้ลงอักขระจารึกบทสวดมนต์ต่างๆ …
… ยามเมื่อลมพักธงมนต์ปลิวไสว สายลมได้พัดพาความเคารพศรัทธาอ่างแรงกล้าไปเป็นพุทธบูชา
ฟ้าวันนี้สดใส แดดยังแรงจ้า .. บรรยากาศทั่วไปปลอดโปร่ง แจ่มใส ภาพที่ปรากฏในสายตาคือความกว้างใหญ่ ในขณะที่พวกเราเดินชมทัศนียภาพส่วนหนึ่งของวัด
ภาพภูเขาสูงที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า .. บอกให้เรารู้ว่า โลกที่อยู่ข้างหน้านั้นกว้างใหญ่ เปี่ยมด้วยสีสันของแผ่นดิน และผู้คน .. รอยยิ้ม หยาดน้ำตา ด้านดี-ด้านร้าย อย่างที่โลกควรจะเป็น
เราถ่ายรูปในอีกมุมหนึ่งที่สวยงาม … ดูเป็นความสงบนิ่ง ซ้อนทับอยู่บนความลื่นไหล วุ่นวายของโลกเบื้องล่าง ..
… ที่นี่ เป็นความงดงามที่น่าอัศจรรย์ของเต๋อซิน มีเปี่ยมสีสันอันเป็นของขวัญจากธรรมชาติ
แชงกรี-ล่าสำหรับฉัน .. มิใช่เป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นดินแดนที่ควรได้มาเห็น มาสัมผัสจิตวิญญาณของอดีต มาเพื่อเดินผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ที่ยืนยงผ่านอิฐและหินมากระซิบเล่า ราวสายลมเว้าวอน ให้เราได้ทึ่ง ได้ชื่นชมมาจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา