24 มิ.ย. 2023 เวลา 15:30 • ประวัติศาสตร์

อภิวัฒน์สยามรฤก 24 มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครองครั้งสำคัญ เมื่อได้มีคณะบุคคลหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร ร่วมกันยึดอำนาจและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในนามของ “คณะราษฎร”
การนี้ คณะราษฎรได้ทำการพลิกบทบาทของอำนาจการปกครองประเทศ โดยสถาปนาให้ “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ซึ่งได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน พร้อมกับอัญเชิญพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีเสด็จสถิตยังฐานะของความเป็นพระประมุขแห่งชาติ (Head of State) ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในหลายทิศทางด้วยกัน ด้านหนึ่งก็มองว่า เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เพราะประชาชนในสมัยนั้น ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มากพอ พร้อมทั้งมีความกังวล เกรงกลัวว่า การปกครองซึ่งเป็นของใหม่ รวมถึงคณะราษฎรที่เข้ามามีอำนาจในตอนนั้น เป็นการมาแบบ “ขอไปที” เพื่อเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงได้อ้างว่า เร็วเกินไปสำหรับเรื่องการเมืองของประชาชน
แต่มันจะเป็นไปได้จริง ๆ อย่างนั้นหรือ? หรือเพราะไม่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงหาเหตุผลสารพัดเพื่อคัดค้าน
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มองว่า การครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ชนิดที่สามารถพลิกหน้ามือเป็นหลังอย่างอื่นได้ ถ้าก่อการสำเร็จก็ว่าไป แต่ถ้าไม่สำเร็จ ผลที่ตามมาคือ คำว่า “กบฏ” และคนรอบข้างก็จะพลอยได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามไปด้วย ทำให้คณะราษฎรต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม เป็นความลับ รวมถึงสภาพของสังคมไทยที่เป็นอยู่ในขณะนั้น รอไม่ได้แล้วหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเกิดขึ้น
กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยุติลง นับเนื่องจากสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั้น เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างมาก แล้วยังส่งผลกระทบต่อสยามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ประกอบกับการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การตัดทอนรายจ่ายเหลือเท่าที่จำเป็น การปรับปรุงระบบภาษี รวมถึงการปลดข้าราชการออกหรือที่เรียกว่า “การดุล” ก็ยังไม่สามารถจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศให้บรรลุผลไปได้
รวมถึงผลจากการปฏิรูปการศึกษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกได้รับเอาแบบแผนการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาด้วย ประกอบกับสื่อมวลชนต่าง ๆ พากันแสดงความคิดเห็น เสนอข้อเขียนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยกันอย่างแพร่หลาย หรือแม้แต่อิทธิพลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมโลก เช่น การปฏิวัติในจักรวรรดิจีน รัสเซีย ก็พลอยเป็นเหตุให้เกิดเป็นจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่มีความต้องการการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
และที่สำคัญ กลุ่มชนชั้นปกครอง ประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่างใช้อำนาจที่อย่างตามอำเภอใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎรมากเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม อาจนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของบ้านเมือง หากยังคงมีการใช้ระบบศักดินาอยู่ต่อไป
ด้วยทั้งหมดทั้งมวลนั้น จึงทำให้กลุ่มนักเรียนและนักเรียนทหารไทยที่ไปศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรปได้รวมตัวกัน พร้อมกับมีการวางแผนในทุกขั้นตอน จนกลายมาเป็นคณะราษฎร ซึ่งทำการปฏิวัติได้สำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้บรรลุเป้าถึงหมายหลัก 6 ประการที่ตั้งไว้ ดังนี้
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ตระหนักถึงการสร้างระบอบใหม่ให้สมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาที่ยาวนาน ให้เกิดเป็นความมั่นคง ที่สำคัญก็เพื่อเป็นการป้องกันการแทรแซงของประเทศมหาอำนาจ หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเสียเนื้อภายในประเทศ จึงได้ใช้ยุทธวิธีการยึดอำนาจรัฐแบบฉับพลันทันทีหรือที่เรียกว่า “Coup d'état” ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในวันก่อการ เวลาย่ำรุ่ง พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ได้นำกำลังจากกรมทหารม้าที่ 1 พร้อมกับพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ซึ่งได้นำกำลังจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
และพันโท พระเหี้ยมใจหาญ (เหม ยศธร) ได้นำกำลังจากนักเรียนนายร้อย ทหารจากกรมทหารช่าง รวมถึงนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ระดมกำลังจากทหารเรือ รวมทั้งหมดราว 2,000 นาย เข้าชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีรถหุ้มเกราะคอยคุมเชิงอยู่โดยรอบ
ส่วนคณะราษฎรคนอื่น ๆ ได้ดำเนินการตามแผนที่ได้มีการวางเอาไว้ ทั้งการควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญ จำนวน 25 พระองค์/คน รวมถึงสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในฐานะผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงการตัดสายโทรเลขกับโทรศัพท์ และการนำกองทัพเรือที่นำโดย เรือเอก หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ทำการยึดที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อตัดการสื่อสารของรัฐบาล
เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อ่านประกาศคณะราษฎรท่ามกลางทหารและราษฎรทั้งหลายในลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ทำการเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ แล้วได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เสด็จนิวัตพระนครเพื่อทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพิเศษถึงสถานีจิตรลดา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2475 เวลา 0.37 น.
ทหารกำลังแจกประกาศคณะราษฎรให้กับประชาชนในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (ภาพ: BBC News ไทย)
ต่อมา คณะราษฎรได้มีการร่างกฎหมาย 2 ฉบับขึ้นถวาย คือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” และ “พระราชกำหนดนิรโทษกรรม” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระปรมาธิไธยลงในพระราชกำหนดนิรโทษกรรม
หากแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พร้อมกับอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติฉบับนั้นว่า “ชั่วคราว” เพราะทรงเล็งเห็นว่า มิใช่สิ่งที่คณะราษฎรจะกำหนดได้แต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการประนีประนอมต่อกันระหว่างพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของอำนาจเดิมกับฝ่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยองค์ใหม่
เท่ากับว่า “การปฏิวัติสยาม” หรือที่นายปรีดี พนมยงค์กล่าวว่าเป็น “การอภิวัฒน์สยาม” นั้น ประสบความสำเร็จและได้รับพระราชทานอภัยโทษ พร้อมกับการมีสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นครั้งแรก หลังจากนั้น ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแห่งราชอาณาจักรสยาม แล้วประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ในฐานะประธานคณะกรรมการราษฎรแต่เดิม ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนแรกของสยาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้รับการประดิษฐานภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (ภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา)
หนึ่งในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 คือ อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นแบบแผนในการตรารัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ สืบมา
คณะราษฎร ได้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากในทางการเมืองการปกครองและสังคมไทย แม้ทางฟากฝั่งพระมหากษัตริย์ ตลอดจนฝ่ายกษัตริย์นิยมจะมีการต่อต้านคณะราษฎรทุกวิถีทาง เช่น การปิดสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 หรือแม้แต่กบฏบวรเดช ที่นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เพื่อการนำสังคมไทยกลับไปสู่ระบอบเดิม และถวายพระราชอำนาจคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รวมถึงกบฏพระยาทรงสุรเดช ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) กับพันเอก พระยาทรงสุรเดช ก็ตาม แต่คณะราษฎรก็สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาได้โดยสวัสดีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 14 – 15 ปี
กระทั่งได้มาสิ้นสุดอำนาจลงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ โดยอาศัยเหตุต่าง ๆ เป็นข้ออ้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ปัญหาการปลดปล่อยทหาร
หรือแม้แต่การที่ไม่สามารถคลี่คลายกรณีการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้กระจ่างแน่ชัด จนถึงกับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสวรรคต จึงต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศนานหลายสิบปีด้วยกัน
รถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์ในวันรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2490 (ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์)
นับแต่นั้นมา พัฒนาการทางประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ในลักษณะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่อยากแก่การคลายตัว กล่าวคือ เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น น้อยนักจะสามารถดำรงการบริหารให้ครบตามวาระได้ เพราะไม่เกิดวิกฤติทางการเมือง ก็ความขัดแย้งภายในรัฐสภาหรือรัฐบาลด้วยกันเอง จึงเป็นโอกาสที่ทหารได้เข้ามาทำการรัฐประหาร โดยอ้างว่า “เข้ามาเพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ” อยู่บ่อยครั้ง
การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช., ภาพ: Youtube Thairath Online)
ในขณะที่บางรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร กลับสามารถดำรงการบริหารครบตามวาระได้ หรืออาจจะเกินวาระด้วยซ้ำไป เพราะมีกองกำลังที่แข็งแกร่งและสามารถออกกฎหมายต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ทำให้ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงตกอยู่ในฐานะคับขัน ไม่สามารถออกเสียงหรือความคิดเห็นต่าง ๆ ได้อย่างสนิทใจ
ซึ่งในการที่คณะราษฎร ต้องประสบความล้มเหลวกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย จนนำมาสู่การสิ้นสุดบทบาทนั้น นายปรีดี พนมยงค์ได้เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ของสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย (BBC Thai) ผ่าน ดร.จริยวัฒน์ สันตะบุตร ขณะพำนักอยู่ที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในโอกาส 50 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2525 ความว่า
นายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงนามเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์)
การที่พัฒนาประชาธิปไตยล่าช้าไปในช่วง 14 ปีแรก (ตั้งแต่ปี 2475 – 2490) นั้น เกิดจากความขัดแย้งภายในขบวนการการเมือง ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภา ซึ่งต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในพรรคบ้าง ต่อให้พรรคใดได้ขึ้นบริหารประเทศแล้ว แต่ความขัดแย้งภายในพรรคก็ยังคงมีอยู่ ต่อมาเป็นความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ทั้งการที่สมาชิกขาดความระมัดระวังต่อสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดจะฟื้นฟูหรือนำเอาแนวคิดแบบเดิมกลับมา
หรือแม้แต่การคิดแต่จะเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ ขาดความตระหนักถึงการสร้างระบอบใหม่ให้สมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาที่ยาวนานและให้เกิดเป็นความมั่นคง การมีความรู้ในทางทฤษฎี แต่ขาดการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง และความคาดหวังที่สูงเกินไปในการเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการปฏิวัติ ถึงกับมีการปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
หากจะพิจารณาจากสิ่งที่นายปรีดี ได้แสดงทัศนะไว้ในวันนั้น เรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 จนมาถึงทุกวันนี้แล้ว ก็คงไม่คาดคิดว่า จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองขึ้นภายในสังคมไทยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดพ้นออกไปได้เมื่อไร นอกจากจะเกิดเป็นวงจรอุบาทว์แล้ว มรดกต่าง ๆ ที่คณะราษฎรเคยมอบให้แก่สังคมไทยก็ได้ทยอยถูกทำลายไปโดยฝ่ายกษัตริย์นิยม ไม่ว่าจะเป็น
- วันชาติที่จากเดิมเป็นวันที่ 24 มิถุนายน ก็กลายมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2503 ได้ถือเอาวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นวันชาติแทนโดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ซึ่งหากได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นวันประกาศอิสรภาพจากความเป็นรัฐในอาณานิคม หรือแม้แต่แนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ประเทศไทยได้ยึดถือตามชาติตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักรเองก็ไม่พบว่ามีวันชาติ หรือการนำเอาวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ยกให้เป็นวันชาติแต่อย่างใด เนื่องจากในสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งหาวันชาติ “ร่วมกัน” ได้ยาก เขาจึงไม่มีวันชาติ
- หมุดคณะราษฎร ที่ได้มีการวางไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 แต่ได้ถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ ซึ่งได้มีการนำข้อความจากคาถาภาษิตซึ่งแปลมาจากภาษาบาลีของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์มาใส่ในหมุด เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560
หมุดคณะราษฎร (ซ้าย, ภาพ: ประชาไท) ก่อนถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส (ขวา, ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์)
- อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการปราบกบฏบวรเดชนั้น ได้หายไป โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่าถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลายไปแล้ว และ
การทำพิธีก่อนรื้อถอนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 (ภาพ: มติชนออนไลน์)
- เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการเปลี่ยนชื่อค่ายทหารของศูนย์การทหารปืนใหญ่ ที่ตั้ง ณ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พระราชทานนามจากเดิม “ค่ายพหลโยธิน” เป็น “ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือ “ค่ายภูมิพล” และค่ายทหารของกองพลทหารปืนใหญ่ พระราชทานนามจากเดิม “ค่ายพิบูลสงคราม” เป็น “ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” หรือ “ค่ายสิริกิติ์”
การรื้อถอนซุ้มทางเข้า-ออกของค่ายพหลโยธิน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นชื่อ "ค่ายภูมิพล" (ภาพ: ประชาไท)
การถอนชื่อค่ายพิบูลสงครามออกจากซุ้มทางเข้า-ออก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นชื่อ "ค่ายสิริกิติ์" (ภาพ: BBC News ไทย)
ยังดีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่ ไม่ได้ถูก “อุ้มหาย” ไปไหน ไม่เช่นนั้นคงเป็นเรื่องใหญ่แน่...
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
ฉะนั้นแล้ว การจะหยุดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยและผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่คณะราษฎรได้ร่วมกันวางแผนและก่อการสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้กลับมาเป็นระบอบที่สมบูรณ์และมีเสถียรภาพได้นั้น ต้องเริ่มจากการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น ควรที่จะมีการดำเนินการพัฒนาค่านิยมประชาธิปไตยให้กับคนในชาติอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ที่สำคัญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง ไม่ว่าจะระดับสูงหรือระดับไหนก็ตาม ควรที่จะมีการทำความเข้าใจถึงสภาพทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ไม่ใช่จะหลับหูหลับตาบริหารบ้านเมืองไปอย่างสบายใจ นอนใจไปวัน ๆ จนสิ่งที่ประชาชนได้รับคือ ความทุกข์ยาก อันเกิดจาการบริหารงานที่ผิดพลาด ฉะนั้นแล้วก็ควรที่จะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง “ทุกรูปแบบ” อย่างเต็มที่ พร้อมกับเปิดรับฟังทุกความความคิดเห็นของประชาชนอย่างบริสุทธิ์ จริงใจ และหยุดใช้อำนาจ “ทุกรูปแบบ” อย่างไม่เป็นธรรมในการกำจัดผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองได้แล้วเสียที
แล้วจงระลึกไว้ในใจอยู่เสมอว่า อำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน ฉะนั้นแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาล นักการเมืองต่าง ๆ หรือทหารก็ดี หาได้ใช่เจ้านายของประชาชนไม่ แต่ประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้านาย และอำนาจไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ถาวรอยู่กับตนเสมอไปตามหลักโลกธรรม 8 ที่ว่าการมียศ ย่อมต้องเสื่อมยศไป ไม่เช่นนั้น อำนาจที่ท่านทั้งหลายกำลังถือครองอยู่ด้วยความแน่นอนใจว่าเป็นของตนเองแน่ ๆ นั้นก็จะกลายกลับมาเป็น “อาวุธที่มีความแหลมคม” คอยทิ่มแทงตัวท่านเสียเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ที่กล่ามาก็เพื่อ...การดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ (ที่ต้องมาจากมติของประชาชนอย่างแท้จริง) พร้อมด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีเสถียรภาพ ปราศจากการถูกรัฐประหารทุกรูปแบบ และความมั่นคงของชาติอย่างถาวรต่อไป หากทำได้ดังนี้แล้ว ประเทศไทยก็จะสามารถดำรงความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์และเต็มภาคภูมิต่อไปตราบนานเท่านาน
อ้างอิง:
  • 24 มิ.ย. 2475 : จุดอ่อนของคณะราษฎรในมุมมองปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2525 โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/thailand-53129135)
  • 24 มิถุนายน 2475 “ประชาธิปไตย” ไทยครบรอบ 90 ปี โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_88290)
  • 24 มิ.ย. 2475 ไม่ใช่แค่ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แต่เคยเป็น “วันชาติ” ด้วย โดย กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/politics/1011748)
  • 24 มิถุนายน 2475: อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์ (https://pridi.or.th/th/content/2021/06/744)
  • การปรับปรุงการเมืองการปกครอง ในรัชกาลที่ 7 (ยุคเปลี่ยนแปลง) พ.ศ.2468-2475 : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร โดย มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/article/news_1010233)
  • การเมืองไทยยังไม่พ้นวงจรอุบาทว์ โดย สยามรัฐ (https://web.archive.org/web/20211220154522/https://siamrath.co.th/n/53547)
  • กำเนิดและจุดจบของ “โรงเรียนรบ” ที่มั่นสุดท้าย “พระยาทรงสุรเดช” แห่งคณะราษฎร โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_65423)
  • คณะราษฎร โดย พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (https://parliamentmuseum.go.th/ar63-People_team.html)
  • คณะราษฎร : โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนาม "ค่ายพหลโยธิน" และ "ค่ายพิบูลสงคราม" เป็น "ค่ายภูมิพล" และ "ค่ายสิริกิติ์" โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/thailand-52024179)
  • คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ? โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_49539)
  • แชร์ว่อน! หมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน ผอ.เขตดุสิตปัดเกี่ยว กรมศิลป์แจงไม่อยู่ในความรับผิดชอบ โดย มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/politics/news_529711)
  • บทบาทพลเมืองสยามปราบกบฏบวรเดช ลางาน 7 วันพิทักษ์รธน. ถึงรวมกันบู๊ไล่ทหารได้ โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_40051)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1092867.pdf)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๐ ก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๖ เมษายน ๒๕๖๐ (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2103519.pdf)
  • รายงาน เรื่อง การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและยั่งยืน โดย พลอากาศโท พงศธร ไชยเสน หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ ๓ สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  • วันชาติรอบโลก: ชาตินั้นสำคัญอย่างไร ทำไมถึงมี “วันชาติ” โดย ประชาชาติ (https://prachatai.com/journal/2021/12/96249)
  • สาเหตุ “รัฐประหาร 2490” จากปัญหานานัปการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_41697)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
 
#24มิถุนา #ปฏิวัติสยาม #คณะราษฎร
โฆษณา