2 ก.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

จงเคารพตัวเอง ก่อนจะก้มหัวให้คนอื่น

“ทำไมฉันจึงเป็นทุกข์ ขณะที่ทุกคนก็ดูมีความสุขกันดี” นี่คือชื่อหนังสือที่เขียนโดย คิม ซัง-จุน แต่เป็นคำถามที่คนจำนวนมากสงสัยกันตลอดในหลายช่วงชีวิต
เราเห็นภาพของคนรู้จักใน Social Media มีชีวิตที่ดี กินอาหารร้านหรู ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แล้วก็ลงรูปตัวเองยิ้มกว้างอยู่เสมอ และภาพเหล่านี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าทุกคนนำหน้าเราไปหมดแล้ว ทำไมเราถึงย่ำอยู่กับที่แบบนี้ล่ะ มีบทนึงในหนังสือที่ให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้ดีครับ
คิม ซัง-จุน เล่าให้ฟังว่าครั้งนึงมีคนมาปรึกษาเขาว่า “ผมรู้สึกตัวเองเหมือนคนนั่งกินนอนกินไปวัน ๆ ถึงจะอยากลองทำอะไรแต่ก็รู้สึกกลัว เหมือนหายใจทิ้งไปวัน ๆ”
ผู้เขียนบอกว่า จริง ๆ แล้วการกินและการนอน ถือเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ มันเป็นสิ่งสำคัญของการมีชีวิต แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้คนคนนึงมองว่าการกินและการนอนเป็นเรื่องแย่
มันสะท้อนว่าคนในสังคมกำลังด้อยค่าตัวเองมากแค่ไหน ซึ่งการด้อยค่าแบบนี้มักเกิดจากการที่เราประเมินค่าตัวเองโดยอิงจากมาตรฐานสังคม เช่น ต้องทำงานดี ๆ หาเงินได้เยอะ ๆ และทำประโยชน์อะไรให้สังคมได้
แต่ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เราจะเห็นเลยว่าไม้บรรทัดที่ใช้วัดมาตรฐานนี้ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยุคนึงเราเคยเทิดทูนกษัตริย์เยี่ยงเทพเจ้า หมอผีเคยเป็นอาชีพที่ทรงคุณค่า พอเวลาเปลี่ยน เราก็ไม่ได้มองแบบนั้นอีกต่อไปครับ
ในปัจจุบันนี้คนเรายกย่องชื่นชมหมอและดารามาก ๆ ซึ่งทั้ง 2 อาชีพนี้ก็เคยเป็นเพียงอาชีพธรรมดา ๆ เหมือนกัน สิ่งนี้พิสูจน์ว่าความเชื่อมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแหล่ะครับ บางอย่างที่เคยยิ่งใหญ่ วันนึงอาจไร้ความหมายก็ได้
บังเอิญยุคนี้เราดันสร้างมายาคติขึ้นมาว่า “ถ้าเราอยู่นิ่ง เราจะกลายเป็นคนไร้ประโยชน์” เราโหมพูดเรื่อง Productivity กันหนักมาก ใครที่ไม่ใช้ทุกเศษเวลาอย่างชาญฉลาด ก็อาจถูกมองว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนจะใช้ชีวิตแบบเดียวกันได้ ถ้าเรามองว่าใครไม่สร้างผลผลิตอะไรเท่ากับไร้ประโยชน์ แบบนี้พระกับนักบวชก็แย่เลยสิครับ
จริง ๆ เราควรจะมองว่า แม้พระกับนักบวชจะไม่มีผลผลิตอะไรออกมา แต่พวกเขาก็ช่วยปลอบประโลมจิตใจของผู้คนได้
ตัวคุณเองก็เช่นกัน เราต้องแยกให้ออกว่ามาตรฐานทางสังคมที่เราเผชิญอยู่นี้มันเหมาะกับเราไหม เราต้องเป็นคนตัดสินตัวเอง ไม่ใช่ให้มาตรฐานสังคมมาตัดสินครับ
ข้อคิดที่ผมต่อยอดออกมาได้จากบทดังกล่าวก็คือ “จงเคารพตัวเอง ก่อนจะก้มหัวให้คนอื่น” ผมว่าเนื้อหาบทนี้มันสอนให้เรารู้ว่าคุณค่าในตัวเราต้องเกิดจากภายใน ไม่ใช่กำหนดโดยปัจจัยภายนอก
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องการก้มหัวให้คนอื่นก็ได้ครับ เวลาเราก้มหัวให้ใคร ถ้าเรามีความเคารพตัวเองเต็มเปี่ยม การก้มหัวนั้นจะเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เราจะไม่ได้รู้สึกด้อยค่ากว่าคนตรงหน้าเลย เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่าเรามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ในทางกลับกัน หากเราก้มหัวให้ใครโดยที่เราไม่ได้เคารพตัวเองเลย มันก็อาจเป็นไปได้ที่เราแค่กำลังพินอบพิเทา หรือเห็นว่าคนอื่นมียศศักดิ์สูงกว่า หรือแค่ทำเพื่อเอาตัวรอดไปเท่านั้น ซึ่งการพบเจอคนเหล่านี้มักทำให้เราเป็นทุกข์ครับ
มาตรฐานสังคมมีผลกับเรื่องนี้มากทีเดียว เรามีแนวโน้มจะเคารพคนที่มียศ มีเงิน มีอำนาจ มากกว่าคนอื่น (รวมถึงตัวเอง) ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ดีกับสุขภาพจิตเท่าไรครับ เพราะงั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้เท่าทันความคิดตัวเอง และอย่าลืมเคารพตัวเองให้มาก ๆ นะครับ
ชื่อหนังสือ: ทำไมฉันจึงเป็นทุกข์ ขณะที่ทุกคนก็ดูมีความสุขกันดี
ชื่อสำนักพิมพ์: broccoli
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา