26 มิ.ย. 2023 เวลา 03:56 • ประวัติศาสตร์

หากว่า “ไททานิก (Titanic)” ไม่อับปาง?

ข่าวที่กำลังมาแรงที่สุดในเวลานี้ เห็นจะไม่พ้นเรื่องของ “เรือไททัน (Titan)” ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่ลงไปสำรวจซากเรือ “ไททานิก (Titanic)” และเกิดระเบิด ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต
2
เมื่อข่าวนี้โด่งดัง ก็ทำให้ชื่อของ “ไททานิก (Titanic)” เรือในตำนานแห่งประวัติศาสตร์กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) เรือ “อาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic)” ได้ชนกับภูเขาน้ำแข็งและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนจะอับปางลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติก คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 1,496 คน
ไททานิก (Titanic)
โศกนาฏกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้โลกทั้งโลกช็อค หากแต่ยังเกิดเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในปัจจุบัน เรื่องราวของไททานิกก็ถูกนำมาเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ บทละคร และบทความต่างๆ และคงเป็นที่เล่าขานต่อไปไม่รู้จบ
แต่คำถามสำคัญที่น่าคิดก็คือ หากในคืนนั้นไททานิกไม่อับปาง หากไททานิกเดินทางถึงฝั่งได้อย่างราบรื่นปลอดภัย บทสรุปสุดท้ายของไททานิกจะเป็นอย่างไร?
ลองมาคิดกันครับ
ไททานิก คือเรือเดินสมุทรจากบริษัท “ไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line)” ทำหน้าที่บรรทุกผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การจราจรทางน้ำในด้านของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือกำลังเป็นไปอย่างครึกครื้น บริษัทขนส่งต่างๆ ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด
หนึ่งในบริษัทคู่แข่งของไวท์สตาร์ไลน์ก็คือบริษัท “คูนาร์ดไลน์ (Cunard Line)” ได้สร้างเรือที่เด่นเรื่องความเร็ว เรือหลายลำของไวท์สตาร์ไลน์จึงถูกสร้างขึ้นโดยชูจุดเด่นเรื่องขนาดที่ใหญ่โตและความหรูหราบนเรือ
หากว่าในคืนนั้นไททานิกไม่อับปาง เดินทางถึงฝั่งอย่างปลอดภัย หลังจากนั้นเพียงแค่สองปี ก็จะเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI)” ขึ้นในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) และไททานิกก็คงจะถูกใช้ในกองทัพ
ไททานิกน่าจะถูกใช้เป็นเรือที่ขนกำลังพล หรืออาจจะใช้เป็นเรือพยาบาล ซึ่งขนาดที่ใหญ่โตของตัวเรือ ก็น่าจะบรรทุกคนได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อกองทัพ แต่ก็ต้องลุ้นต่อว่าไททานิกจะรอด ไม่อับปางในช่วงสงครามหรือไม่
กองเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
สมมติว่าไททานิกรอดจากสงคราม สามารถผ่านพ้นสงครามโลกมาได้ ไททานิกก็น่าจะพบกับยุครุ่งเรืองอีกครั้ง
ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) การเดินเรือข้ามมหาสมุทรกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และเรือขนาดใหญ่อย่างไททานิกก็คงจะได้รับความนิยม มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อมาถึงช่วงเวลาของ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” ซึ่งเริ่มต้นในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) และดำเนินต่อไปจนถึงยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) ซึ่งเป็นภาวะที่กระทบไปทั่วโลก ไททานิกก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3
จำนวนผู้โดยสารไททานิกคงลดฮวบฮาบ ประกอบกับมาตรการการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกาที่เข้มงวดมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ไททานิกกลับมาเงียบเหงา
ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ในปีค.ศ.1934 (พ.ศ.2477) สถานการณ์ของคูนาร์ดไลน์และไวท์สตาร์ไลน์นั้นย่ำแย่อย่างหนัก ทำให้ทั้งสองบริษัทซึ่งเคยเป็นคู่แข่งกัน ต้องควบรวมเป็นบริษัทเดียวกันอย่างช่วยไม่ได้
ความตกต่ำของธุรกิจเดินเรือ จำนวนผู้โดยสารที่น้อยลง ทำให้ความต้องการเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ไม่ได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป ทำให้ทั้งสองบริษัทตัดสินใจขายเรือเก่าๆ ของตนเป็นเศษเหล็กเพื่อประหยัดงบประมาณในการดูแล
ซึ่งหากไททานิกยังอยู่ ก็คงหนีไม่พ้นชะตากรรมนี้
หากวิเคราะห์โดยสรุปก็คือ หากไททานิกไม่อับปาง ไททานิกก็อาจจะไม่ได้โด่งดังมากเท่าทุกวันนี้
ทุกคนอาจจะรับทราบว่าไททานิกเคยเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่มากในอดีต หากแต่คงไม่มีเรื่องเล่า หนังสือ ภาพยนตร์ หรือการถ่ายทอดเรื่องราวของไททานิกต่างๆ ตามสื่อดังเช่นทุกวันนี้
และบทสรุปสุดท้าย ไททานิกคงไม่พ้นถูกขายเป็นเศษเหล็กโดยบริษัทที่สร้างมันขึ้นมาอย่างแน่นอน
โฆษณา