25 มิ.ย. 2023 เวลา 13:01 • ไลฟ์สไตล์

ในชีวิตของคนเราเหมือนจะถูกวัดด้วยเส้นชัยเสมอ

ใครที่เข้าถึงก่อนคนนั้นชนะ
เป็นแพทเทิร์นที่ถูกส่งต่อไปยังทุกๆเรื่อง ตั้งแต่เรียน สอบเข้า เรียนจบ ทำงาน มีครอบครัว การประสบความสำเร็จ
แต่มันก็มีบางคนที่วิ่งอย่างไรก็ยังไม่ถึงเส้นชัยสักที
อย่าลืมว่าคนเรามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน
หากเราพูดกันในสมัยนี้
จะต้องถูกแย้งด้วยหลักการของ How to success ว่ามันคือข้ออ้าง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอ้ต้นทุนชีวิตนี้แหละ
ที่มันโคตรจะเป็นแรงส่งให้แต่ละคนไปถึงเส้นชัยได้เร็วหรือช้าต่างกัน
ยกตัวอย่าง
คนเราเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พร้อม มีปัญหากับญาติพี่น้อง
แถมยังมีภาระที่กดดันส่งผลต่อ อารมณ์ของเด็ก ความคิดสติปัญญา และการใช้ชีวิต
ในตอนที่เราเป็นเด็ก ไม่มีใครสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้มากนักหรอก ถึงเราจะเป็นเด็กดีตั้งใจเรียน หากไม่มีต้นทุน
หรือผู้ใหญ่ที่สนับสนุน มันก็ทำให้โอกาสในการสำเร็จน้อยลงไปอีก
และยิ่งบางคนจากที่เก่งแต่เจอสิ่งที่ทำให้สะเทือนอารมณ์
หรือบาดแผลทางครอบครัว โดยเฉพาะไม่รู้จะรับมืออย่างไรแล้วมาส่งผลในตอนที่โตขึ้น มันก็เหมือนกับคนโตแต่ตัวที่ไม่เคยแก้ปมในวัยเด็ก
เลยเป็นเหตุผลสำคัญว่า คนที่เก่งจริงๆบางคนทำไมถึงยังไม่ถึงเส้นชัย
1
นี้ยังไม่รวมปัญหาชีวิตอื่นๆที่พบเจอในระหว่างทาง
บางคนทางเดินอาจราบเรียบ ต้นทุนชีวิตพอเหมาะพอเจาะกับการแก้ปัญหา แต่บางคนพบเจอปัญหาที่ใช้เวลาในการแก้นานกว่าคนอื่น
เมื่อเราฉายภาพชีวิตให้กว้างขึ้น
เราจะยิ่งพบว่า เราไม่มีทางรู้ว่าคนหนึ่งคนเจออะไรอยู่
เพราะมันมีองค์ประกอบหลายปัจจัยที่ทำให้คนหนึ่งคนประสบกับโชคร้ายหรือประสบกับโชคดี
มีหลักการมากมายที่สอนให้เราสำเร็จ
แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครมาสอนเราว่า จะรับมืออย่างไรถ้าล้มเหลว?
เหมือนชีวิตถูกยันด้วยสองเท้าสองมือให้วิ่งเข้าเส้ยชัยอย่างเดียว
ซึ่งบางคนยังไม่รู้เลยว่าเส้นชัยของตัวเองมันอยู่ตรงไหน?
เราเคยคิดบ้างไหมว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ถ้ามันล้มเหลว
เราจะจัดการกับมันอย่างไร?
บางครั้งความล้มเหลว เหมือนเป็นความจริงที่คนไม่อยากพูดถึงและหันมอง เพราะมันดูโหดร้าย
แต่มันจะแย่กว่านั้นมากๆ ถ้าเราตั้งคำถามว่า
“แล้วถ้าความสำเร็จไม่มีจริงล่ะ”
อ้าวงั้นก็ไม่ทำน่ะสิ!!
ถูกต้อง ใครจะไปทำ ถ้ารู้แต่แรกว่าล้มเหลว
เหมือนกัน คือ คนเรามักชอบคิดว่าตัวเองไม่ตาย
เดี๋ยวเราก็ต้องตาย เดี๋ยวต้องพรากจากสิ่งที่สมหวังทุกสิ่ง
แต่ก่อนตายมันต้องมีอะไรให้สมองได้เรียนรู้ว่า
เราเคยใช้ชีวิตผ่านมาอย่างไร
นี้แหละคือสิ่งที่เรามักจะมองพลาดไป ระหว่างที่วิ่งหาเส้นชัย
คือเรากำลังเจออะไรระหว่างทาง การถอดบทเรียนจากสิ่งที่เจอ
อาจจะเป็นผลลัพธ์ที่ล้ำค่ามากกว่าสิ่งที่เราคาดหวังก็ได้
การเป็นคนที่มีประสบการณ์ มันคือการวัดคุณภาพการใช้ชีวิต
ว่าคนหนึ่งคนได้ลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง บทเรียนคืออะไร
เพราะสิ่งสำคัญคือ อะไรในชีวิตเกิดขึ้นก็แล้วแต่
ถ้าเรายังมีชีวิตต่อ
มันคือโจทย์สำคัญที่เราต้องแก้ให้ได้
ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรไม่ใช่หรือ?
เพราะฉะนั้น ลองตั้งคำถามดูว่า
“ถ้าความสำเร็จไม่มีจริง แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไป?”
โฆษณา