Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
26 มิ.ย. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
มหากวีศรี “สุนทรโวหาร”
วันนี้ถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวงการภาษาและวรรณคดีไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ในโอกาสครบ 200 ปีแห่งชาตกาล เมื่อปี พ.ศ. 2529 อย่างพระสุนทรโวหาร (ภู่)
พระสุนทรโวหาร หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “สุนทรภู่” เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ณ ทางด้านเหนือของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีรถไฟธนบุรีในปัจจุบัน
สถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีรถไฟธนบุรีในอดีต ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง (ภาพ: Pantip)
หลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน กล่าวกันว่า พ่อกับแม่ได้เลิกรากัน โดยผู้เป็นพ่อได้ไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนผู้เป็นแม่ได้เข้าถวายตัวเป็นพระนม หรือแม่นมของหม่อมเจ้าจงกล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
โดยสุนทรภู่ได้อาศัยอยู่กับผู้เป็นแม่ที่วังหลังนั้น แล้วได้ถวายตัวเป็นข้าในพระองค์กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เท่ากับว่าสุนทรภู่เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด หากใช่เป็นชาวระยองไม่ นอกจากนั้น สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างพ่ออีก 2 คน ชื่อว่าฉิมและนิ่ม
ในวัยเด็ก สุนทรภู่ได้รับการศึกษากับพระที่สำนักวัดชีปะขาว ริมคลองบางกอกน้อย หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน เมื่อเจริญวัย ได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ก็ไม่ได้ชอบงานที่ทำอยู่มากเท่าไรนัก หากเทียบกับการแต่งคำประพันธ์แล้ว ดูเหมือว่าสุนทรภู่จะสามารถได้ดีตั้งแต่ยังหนุ่มก่อนอายุ 20 ปี
อนุสาวรีย์ของสุนทรภู่เมื่อครั้งวัยเด็ก ในบริเวณวัดศรีสุดาราม หรือสำนักวัดชีปะขาว (ภาพ: MGR Online)
ทว่าชีวิตกลับต้องพลิกผัน เมื่อสุนทรภู่ได้แอบไปลอบรักกับนางข้างหลวงในวังหลังที่ชื่อว่าจัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล เอาง่าย ๆ ก็คือลูกผู้ดี สุนทรภู่จึงถูกกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขลงพระอาญา ถึงขนาดสั่งให้โบยและจำคุกทั้งสอง แต่ภายหลังที่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขได้ทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงได้รับการอภัยโทษ
หลังจากนั้น สุนทรภู่ก็ได้เดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งในการเดินทางครั้งนั้น สุนทรภู่ก็เกิดแรงบันดาลใจ จึงได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น พรรณนาถึงสภาพแวดล้อม และบรรยากาศต่าง ๆ ระหว่างเดินทาง ในนิราศก็ได้ระบุว่า พ่อของตนเป็นถึงพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่ “พระครูธรรมรังสี” ซ้ำยังเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำด้วย
หลังจากที่กลับมาจากเมืองแกลงแล้ว สุนทรภู่จึงได้นางจันเป็นภรรยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อว่าหนูพัด แต่ไม่นานทั้งสองก็ได้เลิกรากัน เพราะมักมีเรื่องระหองระแหงกันอยู่เสมอ นอกจากนางจันที่เป็นภรรยาของสุนทรภู่แล้ว จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ระบุว่า สุนทรภู่ยังมีนางนิ่มและนางม่วงเป็นภรรยาด้วย
สันนิษฐานว่า สุนทรภู่ต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์ถึงได้สาวมาชอบพออย่างมากมายพอสมควร จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ได้หยิบยกจุดนี้ไปแต่งเป็นเรื่องราวต่าง ๆ แล้วมักจะใช้ถ้อยคำในการประพันธ์พรรณนาถึงนางผู้เป็นที่รักอยู่เสมอ
ในปี พ.ศ. 2359 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แรกรับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษร จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ พระองค์ก็โปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง
สุนทรภู่ก็ได้แสดงฝีมือในการแต่งคำประพันธ์ของตนในชนิดที่ไม่ติดขัดและไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” ซึ่งรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ครานั้น คือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และศึกสิบขุนสิบรถ หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุนทรโวหาร” พร้อมบ้านหลวงที่ท่าช้าง ใกล้วังท่าพระ และเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่งเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
จากความสามารถด้านการแต่งคำประพันธ์ จนไม่มีใครสามารถต่อกลอนนั้น ว่ากันว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานบทพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ตอน ท้าวสามลจะให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ แก่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ช่วยแก้กลอนบางส่วน แต่ก็ถูกสุนทรภู่แก้กลอนได้ก่อน และ
มีอีกครั้งหนึ่งในระหว่างที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อ่านถวายบทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บน เพื่อตรวจแก้ไข สุนทรภู่ก็ได้กล่าวขอแก้ความในบทพระราชนิพนธ์ขึ้นท่ามกลางที่ประชุมกวีนั้น จึงก่อให้เกิดเป็นความไม่พอพระทัยแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นอย่างมาก
ในระหว่างที่รับราชการนั้น สุนทรภู่ก็ได้ต้องโทษจำคุกอีกครั้ง ด้วยเหตุเมาสุราและทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่ได้นานก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แล้วโปรดให้ไปเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และช่วงเวลานั้น กล่าวว่า สุนทรภู่ได้แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ขึ้นด้วย
หลังจากที่รับราชการได้ 8 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2367 สุนทรภู่จึงได้ลาออกจากราชการไปบวช โดยให้เหตุผลว่า ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน
แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการบวชเพื่อหลบเลี่ยงจากอิทธิพลทางการเมือง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ได้ปรากฏผู้มีอำนาจทางการเมืองมากถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์เป็น “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 3) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (ภายหลังถูกถอดอิสริยยศเหลือเพียง “หม่อมไกรสร”) และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
ช่วงเวลา 18 ปีแห่งการครองกาสาวพัสตร์ ปรากฏว่า พระภิกษุสุนทรภู่ได้มีการย้ายไปจำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ หลายแห่ง เท่าที่พบจากผลงานการประพันธ์ มีทั้งวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดเทพธิดาราม
ภายในกุฏิเดิมของสุนทรภู่ที่วัดเทพธิดาราม (ภาพ: วัดเทพธิดารามวรวิหาร)
ซึ่งในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม โดยได้รับการอุปการะจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้ประพันธ์เรื่อง รำพันพิลาป ขึ้นมา โดยพรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบมาในชีวิต และได้ปรากฏว่า มีการประพันธ์ผลงานนิราศเรื่องต่าง ๆ เช่น นิราศภูเขาทอง เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่ออายุได้ 56 ปี ก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวตาย
วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ปรากฏอยู่ในนิราศภูเขาทอง (ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
แต่หลังจากที่ลาสิกขาบท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้ประทานพระอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่กลับเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณด้านงานวรรณคดี ในช่วงนี้ สุนทรภู่ได้แต่งบทประพันธ์เรื่อง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม บทละครเรื่อง อภัยนุราช รวมถึงพระอภัยมณี ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2394 พระภิกษุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ วชิรญาโณ ได้ทรงลาผนวช แล้วเสวยราชย์เป็น “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงรับพระบวรราชาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
สุนทรภู่จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” แล้วได้แต่งนิราศเพิ่มขึ้นอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธมและนิราศเมืองเพชร
ในบั้นปลายชีวิต สุนทรภู่ได้มาพำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม กรุงธนบุรีใกล้หอนั่งของพระยามณเฑียรบาล (บัว) กล่าวกันว่า ได้อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ตราบจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริอายุรวม 69 ปี
บริเวณพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี (ภาพ: เนวี่ 24)
นอกจากผลงานการประพันธ์ที่ได้นำเสนอไปผ่านชีวประวัติข้างต้นแล้ว ยังมีผลงานอีกมากมายที่เหลือไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าทางวรรณกรรมของไทย ซึ่งครอบคลุมแทบจะทุกลักษณะของคำประพันธ์ไทย ทั้งโคลง กาพย์ ฉันท์ กลอน นิราศ (ยกเว้น ลิลิต) ซึ่งแฝงไปด้วยสุภาษิต ข้อคิดต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดที่ค่อนข้างทันสมัยแบบตะวันตก
นอกจากนี้ ยังเป็นกวีรายแรก ๆ ที่มีการพลิกบทบาทของตัวละครหญิงในวรรณคดีให้มีความเก่งกาจ และมีสติปัญญาเฉียบแหลมไม่ต่างไปจากตัวละครผู้ชาย แล้วยังมีการสื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่าย จึงเป็นเหตุให้ผลงานการประพันธ์ของสุนทรภู่ได้รับความนิยมเรื่อยมา และไม่มีใครที่ไม่รู้จักกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์และกวีเอกของโลกที่ชื่อว่า “สุนทรภู่”
“ศรีศรีกวีแก้ว ประกาศแล้วก้องโลกา
ยอดกวีผู้ปรีชา สุนทรภู่ชูเกียรติไทย
ภูมิใจไทยทั้งชาติ อภิวาทปราชญ์เกรียงไกร
บูชิตจิตแจ่มใส ด้วยบุปผามาลาพรรณ
จัดงานเฉลิมฉลอง สองร้อยปียินดีครัน
ผลงานท่านสร้างสรรค์ ควรเทิดเด่นเป็นเมธา
เลิศลักษณ์อักษรไทย กาพย์พระไชยสุริยา
อีกสวัสดิรักษา สุภาษิตเตือนจิตจำ
เพลงยาวถวายโอวาท อนุศาสน์เพื่อน้อมนำ
จิตใจให้ซึ้งธรรม เป็นหลักยึดประพฤติดี
นิราศนิทานกลอน บทละครไว้วาที
เสภาสง่าศรี เสนาะโสตปราโมทย์มาน
เห่กลอมพระบรรทม รสรื่นรมย์เร้าสำราญ
บทกวีที่ไขขาน คือมรดกพสกไทย
พระคุณสุดพรรณนา น้อมบูชาด้วยดวงใจ
ท่านสถิต ณ แดนใด รับคารวะประจักษ์เทอญ”
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ประพันธ์
อ้างอิง:
●
'วันสุนทรภู่' 26 มิถุนายน เปิดประวัติกวีดัง ไม่ใช่คนระยอง? โดย กรุงเทพธุรกิจ (
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886677
)
●
สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” ผู้มีเสน่ห์มากกว่าการเป็นกวี โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.silpa-mag.com/history/article_9972?fbclid=IwAR2_F2oNxFfnygzWij7JySfk7VWG3yNJyTznUtHQbqckpkxba-1R6VXmn8A
)
●
สุนทรภู่และวัดเทพธิดาราม โดย วัดเทพธิดาราม (
http://www.watthepthidaramqr.com/web/p2.php?fbclid=IwAR0F0hmts-yDL917GPHxJMYbp8FknCir2IBdE_1p7fOS8_YjYIJ6tsHV2l8
)
●
หนังสือ อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี โดย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#สุนทรภู่
สุนทรภู่
ภาษาไทย
วรรณคดีไทย
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย