27 มิ.ย. 2023 เวลา 00:00 • การศึกษา

Productive Note Taking เรียนแล้วชอบมาก

<เค้าไม่ได้จ่าย>
เราจดเพื่ออะไร?
เพื่อกันลืม.. ไม่ใช่
เพื่อเอาไปสอบ.. ไม่ใช่
แต่เพื่อเอาไปคิด!
ผมได้ไอเดียนี้มาจากคุณดาริน สุทธพงษ์
เปล่า.. ผมไม่ได้เจอเค้า แต่บังเอิญเรียนกับเค้าในคอร์ส Productive Note Taking ซึ่งเป็นคอร์สออนไลน์ของ Cariber
ตอนนี้ผมกำลังมีปัญหาเรื่องการจัดการความรู้ คือผมลงเรียนอะไรเยอะมาก ทั้งเรียนออนไลน์ อ่านหนังสือ ดูยูทูบ
คือตอนเรียนมันก็เข้าใจแแหละ แต่เวลาผ่านไปมันก็ลืม
ยิ่งถ้าไม่ค่อยได้ใช้ ลืมแน่นอน
ทางแก้คือจด แต่จดก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ และเป็นเรื่องที่ใช้พลังใจเยอะมาก (จริงไหม)
ผมเลยอยากรู้ว่า คนเก่ง ๆ เค้ามีวิธีจดกันยังไง?
พอดีผมเป็นสมาชิกรายปีของคาริเบอร์ ขณะกำลังไล่ดูว่ามีคอร์สอะไรน่าเรียน ก็สะดุดกับชื่อคอร์ส และเห็นว่าคอร์สนี้ยาวแค่หนึ่งชั่วโมง ก็เลยลองคลิกดู
เป็นการคลิกที่ต้องขอบคุณ และขอบอกว่าสุดท้ายแล้วใช้เวลาเรียน 6 ชั่วโมง (เฉลยตอนท้ายว่าทำไม)
คอร์สนี้สอนอะไรบ้าง?
สอนเทคนิคการจดโน้ตแบบที่คนเก่ง ๆ ใช้กัน
[การจดโน้ตมีกี่แบบ?]
ถ้าคิดเร็ว ๆ น่าจะมีสองแบบ
คือ จดสิ่งที่เราเรียน
กับ จดสิ่งที่เราคิด
แต่.. คุณดารินบอกว่ามี 4 แบบ นั่นคือ
1. Fleeting Note
2. Literature Note
3. Permanent Note
4. Hub Note
[Fleeting Note คืออะไร?]
ถ้าอธิบายง่าย ๆ คือการจดบันทึกประสบการณ์และความรู้สึกของเรา เช่น
วันนี้เราเจอเหตุการณ์อะไร
วันนี้เรารู้สึกยังไง
วันนี้เราควรจะขอบคุณใคร
คล้าย ๆ จดไดอารีนั่นแหละ
[Literature Note คืออะไร?]
คือการจดบันทึกการเรียนรู้สิ่งใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ดูยูทูบ ฟังพ็อดแคสต์ เช่น
หนังสือเล่มนี้เขียนว่าอะไร
คลิปนี้มีอะไรน่าสนใจ
พ็อดแคสต์นี้พูดว่าอะไร
[Permanent Note คืออะไร?]
คือสิ่งที่เรา ‘กลั่น’ ออกมาจาก Literature Note
ผมแปล Permanent Note (เอาเอง) ว่า “ไอเดียโดด ๆ”
Literature Note อาจมี 20 ไอเดีย แต่ Permanent Note คือไอเดียที่เราปิ๊ง
คำว่า ปิ๊ง อาจตัดสินด้วยความรู้สึก (ผมนึกถึงคำว่า Spark Joy ของคุณมาริเอะ คนโดะ)
อาจไม่จำเป็นต้องมาจากการเรียน การอ่านหนังสือ แต่อาจเป็นไอเดียที่ได้จากการจด Literature Note
(เวลาจดไอเดียนึง อาจได้อีกไอเดียนึง) หรืออาจนำไปผสมตรมแต่งกับประสบการณ์
ข้อสำคัญคือ Permanent Note ต้องมีแค่ไอเดียเดียว
แปลว่า Literature Note 1 อัน อาจแตกเป็น Permanent Note 10 อันก็ได้
[Hub Note คืออะไร?]
Hub Note ไม่ใช่การบันทึก แต่คือการโยงความสัมพันธ์ของโน้ตต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
เช่น ถ้านึกถึงเทคนิคการนำเสนอด้วยกราฟ มี Literature Note, Permanent Note อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง
พูดง่าย ๆ คล้ายการทำโฟลเดอร์ หรือการทำแผนผังความสัมพันธ์นั่นแหละ
[มีโน้ตตั้ง 4 แบบ แล้วจะจัดการยังไง?]
เทคนิคการจดและจัดการโน้ตที่มีชื่อเสียงอันหนึ่งชื่อว่า Zettelkasten
(Zettel มาจากภาษาเยอรมันแปลว่า กระดาษ)
(Kasten มาจากภาษาเยอรมันแปลว่า กล่องไม้)
(Zettelkasten จึงแปลตามตัวว่า กล่องไม้เก็บกระดาษ)
ซึ่งเป็นเทคนิคที่คิดค้นโดยคุณ Niklas Luhmann ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน
เทคนิคนี้ประกอบด้วย 4 กระบวนการที่เรียกว่า 4C หรือก็คือ
1. Capture
2. Connect
3. Crystalize
4. Create
 
[Capture คืออะไร?]
ก็คือการที่เราจับประเด็นออกมาเป็น Fleeting Note และ Literature Note นั่นเอง
[Connect คืออะไร?]
คือการเชื่อมโยงโน้ตต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
หรือเชื่อมโยงสิ่งที่เราเพิ่งศึกษากับความรู้ที่เราเคยมี
หรือคล้ายการทำ Hub Note นั่นเอง
[Crystalize คืออะไร?]
คือการกลั่นความรู้ที่ได้จาก Capture และ Connect ออกมาเป็น Permanent Note
หรือการ ‘สกัด’ ความรู้เพื่อเอาไปใช้ในอนาคต
จริง ๆ แล้วจะแปลคำว่า Crystalize เป็น “สรุปความรู้” ก็พอได้
แต่ผมไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร เพราะคำว่า “สรุป” คล้ายเป็นการย่อความ หรือทำให้สั้นลง
แต่การ Crystalize ต้องผ่านเชื่อมโยง เรียบเรียง และเขียนใหม่ด้วยภาษาของเรา
ตัวอย่างเช่นบทความนี้ ผมเขียนโดยไม่ได้เรียบเรียงตามที่คุณดารินสอน แต่เรียบเรียงตามความเข้าใจของตัวเอง
นอกจากนี้ ผมไม่ได้เขียนโดยดูแค่คอร์สในคาริเบอร์ แต่ยังไปตามดูคลิปอื่น ๆ ในช่องยูทูบของคุณดาริน แล้วนำมาผนวกเข้าด้วยกัน
[Create คืออะไร?]
คือการส่งต่อความรู้จากการ Capture และ Crystalize ให้ผู้อื่น
ซึ่งอาจเป็นการเล่าให้เพื่อนฟัง เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ก ทำคลิปในยูทูบ หรืออะไรก็ได้
ผมคิดถึงคอนเซปต์การทำ Output ของคุณหมอคะบะซะงะ ชิอง
ใช่, มันเหมือนกันเลย
เรียนแล้วต้องส่งออก ไม่งั้นก็ลืม
[แล้วจะจดโน้ตยังไง?]
จากกระบวนการ 4C
C ที่จัดการยากก็คือ Connect เพราะต้องเชื่อมโยงโน้ตต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
คุณดารินแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันชื่อ Notion
เพราะใช้งานง่าย เชื่อมโยงโน้ตเข้าด้วยกันได้ แถมใช้งานฟรี!
(ในคอร์สมีเวิร์กช็อปสอนการใช้ Notion ด้วย)
จริง ๆ แล้วจะใช้แอปพลิเคชันอะไรก็ได้ ขอแค่เริ่มต้นจดโน้ตก็พอ พยายามจดให้เป็นนิสัย
แล้วพอโน้ตเริ่มเยอะขึ้น เดี๋ยวจะเห็นการเชื่อมโยงของโน้ตเอง 🙂
[สรุป]
ถ้าคุณเป็นสมาชิกรายปีของคาริเบอร์ ผมแนะนำให้เรียนคอร์สนี้แบบไม่ต้องคิด
จุดเด่นของคาริเบอร์คือโปรดักชัน ภาพ เสียง มุมกล้อง ป๊อปอัพเท็กซ์ มีครบหมด
นอกจากนี้ ผมยังชอบอวัจนะภาษาของคุณดาริน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง สายตา ภาษามือ ทำได้เยี่ยมยอด
คือดูแล้วรู้เลยว่า เตรียมตัวมาอย่างดี
แอบเมาธ์นิดนึงว่าคุณดารินน่าจะแอบเกร็งตอนถ่าย ช่วงแรกดูแข็ง ๆ นิดนึง 🙂
คือผมไปดูคลิปในช่องยูทูบของคุณดาริน บอกเลยว่าเพอร์เฟกต์
ส่วนนึง(น่าจะ)เพราะคุณดารินถนัดภาษาอังกฤษ (คลิปในยูทูปเป็นภาษาอังกฤษ) จังหวะจะโคนคือลื่นปรื๊ด แถมเสียงพูดภาษาอังกฤษมีพลังมาก
แต่ คุณดารินถ่ายทอดได้ดีขนาดนี้ ก็เต็มใจให้คะแนนเต็มสิบแบบไม่หัก 🙂
[คอร์สยาว 1 ชั่วโมง ทำไมใช้เวลาเรียน 6 ชั่วโมง]
เพราะผมกดหยุดเพื่อคิดตามเป็นระยะ
บางครั้งเรียนไปหนึ่งนาที กดหยุดสามนาที แล้วคิดตามว่าคล้ายแนวคิดที่เคยรู้มาหรือเปล่า (เช่น แนวคิดของคุณหมอคะบะซะวะ ชิอง) หรือเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือเปล่า เห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร
เรียนจบแล้ว ชอบมาก แต่ถ้าไม่ทำอะไร ลืมแน่นอน
ก็เลยจดบันทึกจนกลายเป็นบทความนี้
เรียนบวกจด ทั้งหมดก็หกชั่วโมง
เรียนเรื่องการจดโน้ต ก็ต้องจดโน้ตด้วยสิ จริงไหม 😊
โฆษณา