26 มิ.ย. 2023 เวลา 13:52 • กีฬา

ซอฟต์เพาเวอร์ไม่เคยซอฟต์ : ว่าด้วย "ความฉาบฉวย" ของการปรับใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในไทย

หนึ่งในศัพท์ที่ใช้กันเสียจนเกร่อในสังคมไทยระยะหลัง นั่นคือ “ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power)” ซึ่งมักนำมาใช้อธิบายหรือเคลมปรากฏการณ์ความนิยมบางอย่างในสินค้าทางวัฒนธรรมของไทย เช่น มิลลิรับประทาน “ข้าวเหนียวมะม่วง” กลางคอนเสิร์ต Coachella, นักท่องเที่ยวสาวจีนซื้อ “ชุดนักเรียนไทย” ใส่ถ่ายรูปทั่วกรุง หรือกระทั่ง “กางเกงช้าง” ก็โดนนับรวมมาแล้ว
แน่นอนว่าในโลกกีฬาก็ไม่น้อยหน้า เพราะถือว่ามีการออกมา “เคลม” สารพัดว่ากีฬานี้เป็นของเราและใช้เพื่อเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ ที่เห็นได้บ่อยคือพวก “กีฬาประจำชาติ” ในประเทศไทยที่มีการตอกย้ำประหนึ่ง “กีฬาแทบทุกชนิดในไทยคือซอฟต์เพาเวอร์” โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น มวยไทย เซปักตะกร้อ ลุกลามไปถึงกีฬาสากลอย่าง เจ็ตสกี ฟุตบอล หรือวอลเลย์บอล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากว่าแนวคิดนี้ “ง่าย” ต่อการตีตราว่าสิ่งไหนใช่ ไม่ใช่ เข้าเค้า ไม่เข้าเค้า ขนาดนั้นเลยหรือ ?
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในเชิงลึกย่อมเกิดคำถามว่า ดูเหมือนอะไร ๆ ก็สามารถเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้หมดสากกะเบือยันเรือรบ เช่นนี้จะถือว่าซอฟต์เพาเวอร์ “ไร้แก่น” และเป็นอะไรก็ได้เช่นนั้นหรือ ? หลายคนที่นำมาประกอบใช้ทำความเข้าใจ “Origin” ของแนวคิดนี้อย่างจริงจังแค่ไหน ? และที่สำคัญแนวคิดดังกล่าวเมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ในประเทศไทยยังคงความเป็นแนวคิด “เพียว ๆ” ที่มาจากโลกตะวันตกอยู่หรือไม่ ?
ร่วมคลี่ปม “ความฉาบฉวย” ของการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในประเทศไทย และเสนอแนวทางการทำความเข้าใจใหม่ ๆ เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ไปพร้อมกับ Main Stand
ซอฟต์เพาเวอร์ ไม่เคย “ซอฟต์”
ก่อนอื่นหากจะสร้างความเข้าใจเพื่อการทำความเข้าใจในส่วนอื่น ๆ ได้ต้องจำกัดความศัพท์ ซอฟต์เพาเวอร์ ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ซึ่งเชื่อได้เลยว่าส่วนมากนำศัพท์ไปใช้อย่างเดียว น้อยคนจริง ๆ ที่จะทราบว่าแนวคิดนี้ใครเป็นคนเสนอ
ศัพท์นี้ปรากฏในหนังสือ Soft Power: the Means to Success in World Politics เขียนโดย “โยเซฟ ไนย์ จูเนียร์ (Joseph Samuel Nye Jr.)” นักรัฐศาสตร์สำนักอเมริกาชื่อดัง (เพราะหนังสือเล่มนี้) ในปี 2004 โดยไนย์ได้อธิบายซอฟต์เพาเวอร์ไว้ในหน้าที่ 5 ความว่า
“ความสามารถที่จะทำให้ผู้อื่นปรารถนาผลลัพธ์ที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ” โดยมีกลไกหลักที่สำคัญของการใช้คือการสร้างความดึงดูดใจ (Attraction) ต่อผู้อื่น ผลของการใช้ซอฟต์เพาเวอร์นั้นเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่มี “ความดึงดูดใจที่ไม่สามารถจับต้องได้ซึ่งชักจูงพวกเราให้คล้อยตามจุดประสงค์ของผู้อื่นโดยปราศจากการคุกคามหรือการแลกเปลี่ยนสิ่งใด ๆ”
เช่นนี้ หมายความว่าข้อเสนอหลักเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ของไนย์นั้นอยู่ที่ “ความดึงดูดใจ” เป็นสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับ “ฮาร์ดเพาเวอร์ (Hard Power)” ที่มีลักษณะ “คุกคาม” หรือชี้นิ้วสั่งนู่นสั่งนี่แบบที่รัฐกระทำมาตลอดในช่วงกระบวนการเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่เรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น
แน่นอนว่าคำถามสำคัญที่ตามมาคือ เราจะวัดว่ารัฐใดรัฐหนึ่งสร้างความดึงดูดใจต่อรัฐอีกรัฐหนึ่งได้อย่างไร ? โดยตรงนี้เป็นข้อสังเกตที่แยบคายของ ไนออล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์สายปะทะชื่อดังในโลกตะวันตก ที่ได้ให้ทรรศนะถึง “ความไร้เดียงสา” ของความรับรู้เข้าใจการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ ความว่า
“เด็กน้อยในพื้นที่ของชาวมุสลิมทั่วโลกนั้นอิ่มเอม (หรืออยากจะอิ่มเอม) ไปกับขวดเครื่องดื่มของโค้ก บิ๊กแมค ซีดีเพลงของ Britney Spears และแผ่นดีวีดีที่มี Tom Cruise ปรากฏในภาพยนตร์ ความต้องการเหล่านี้ทำให้พวกเขารักสหรัฐอเมริกามากขึ้นหรือไม่ น่าแปลกใจที่พวกเขาไม่รักสหรัฐอเมริกามากขึ้นเลย”
ตรงนี้หากอ่านระหว่างบรรทัดจะพบว่า การบริโภคสินค้าจากอเมริกาของโลกมุสลิมนั้นสามารถทึกทักได้อย่างเต็มปากไหมว่าพวกเขารักอเมริกา ? แล้วที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 สงครามศาสนา หรือการปะทะกันของชุดคุณค่าสัมพัทธ์ของโลกมุสลิม จะหาคำอธิบายได้อย่างไร ?
หรือในตัวอย่างทางโลกกีฬา ในประเทศไทยที่มีการประโคมเรื่อง “มวยไทย” อย่างหนาหูว่าเป็นกีฬาประจำชาติและต้องการจะยกขึ้นมาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ดึงดูดต่างชาติ แต่คำถามสำคัญคือ เรารู้ได้อย่างไรว่าชาวต่างชาตินั้น ๆ ชื่นชอบมวยไทยเพราะนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ?
หรือก็คือ ทั้งสองกรณียากที่ใช้จะอธิบายเรื่องการตกลงปลงใจ เพราะไม่มี “เครื่องชี้วัด” อย่างแน่ชัดว่าสิ่งที่ทำมานั้นส่งผลให้เกิดการโน้มน้าวอย่างแท้จริง หรือก็คือ โดยปกติการให้เหตุผลของซอฟต์เพาเวอร์มักเป็นแบบ A ไป B (เพราะเราใช้ซอฟต์เพาเวอร์คนเลยถูกใจสิ่งนี้) แต่แท้จริงนั้นในโลกที่สลับซับซ้อน การให้เหตุผลดังกล่าว “ตื้นเขิน” ไปหรือไม่ ?
ตรงนี้งานศึกษาที่ครบถ้วนที่สุดที่เป็นภาษาไทยในเรื่องซอฟต์เพาเวอร์เป็นของ ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล ที่ชื่อ พินิจแนวคิด Soft Power อย่างจริงจัง: ปัญหาและความเข้าใจผิดในการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในงานวิชาการไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงการแก้ต่างของไนย์ที่ได้ให้คำตอบไว้ในช่วงที่เขาเริ่มสร้างแนวคิดนี้ว่าแท้จริงก็เป็นปัญหาในการ "พิสูจน์" ประเด็นข้างต้นเช่นกัน แต่เขาได้หมายให้ใช้ “โพล (poll)” เพื่อวัดมติมหาชนด้วยเหตุที่ว่ารัฐบาลมักจะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อมติมหาชน
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การใช้โพลสะท้อนความจริงแห่งการยินยอมพร้อมใจได้มากน้อยขนาดไหน ? เพราะอย่าลืมว่าภาษาที่เปล่งออกมาไม่ได้สะท้อนว่าพูดจริงหรือคิดเช่นนั้นจริง ๆ เสมอไป โดยเฉพาะในประเทศที่เป็น “เผด็จการ” หรือ “อำนาจนิยม”
ยกตัวอย่าง หากชาวต่างชาติไปชมกีฬา “ชีรึม (씨름)” ที่เกาหลีเหนือ แล้วทาง KCTV ขอสัมภาษณ์ แล้วพวกนี้ตอบว่า รู้สึกหลงรักในกีฬาชนิดนี้ สมเป็นกีฬาประจำชาติเกาหลีเหนือ คำถามคือ ตอบเพราะความชอบใจจริง ๆ หรือตอบเพราะ “กลัวท่านคิมจับลงเหมือง” กันแน่ ?
อีกคำถามตามมาที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันมีการใช้คำว่าซอฟต์เพาเวอร์กันอย่างดาษดื่น เรียกได้ว่าอะไร ๆ ก็จับยัดลงเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ทั้งนั้น ตรงนี้แม้แต่ไนย์เองก็ยังเอือมระอา ถึงขนาดเขียนงานที่ชื่อว่า The Future of Power ออกมาเพื่อหนุนเสริมทฤษฎีของตน ในปี 2011 โดยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“นักวิเคราะห์บางคนมองซอฟต์เพาเวอร์ราวกับเป็นเพียงแค่อำนาจของวัฒนธรรมป๊อบ (popular culture power) … พวกเขาสับสนระหว่างแหล่งที่มาทางวัฒนธรรมกับพฤติกรรมของการทำให้ผู้อื่นคล้อยตาม”
หรือก็คือ ไนย์พยายามชี้ให้เห็นว่าคนที่ใช้เกิดความสับสนหรือไม่มีความสามารถในการแยกระหว่าง “อำนาจ (Power)” และ “แหล่งที่มาของซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power Resource)” ออกจากกัน
โดยแหล่งที่มานั้นประกอบด้วยวัฒนธรรมและชุดคุณค่าทางการเมืองภายในและต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความสอดคล้องกับคุณค่าที่เป็นสากลต่าง ๆ ในระดับปฏิบัติการของการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐนั้น ๆ อย่างที่เราทราบกันดี แน่นอนว่ากีฬาก็เป็นหนึ่งในนั้น
ส่วนอำนาจคือ อำนาจที่ถูกนิยามโดยพิจารณาจากผลลัพธ์ทางพฤติกรรมของตัวแสดง (power defined as behavioral outcomes) ซึ่งเขากล่าวเสริมต่อไปว่า
“ยามที่ผู้คนนิยามอำนาจราวกับเป็นสิ่งเดียวกันกับทรัพยากร (ที่อาจจะ) นำไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนานั้น พวกเขามักเผชิญกับความลักลั่นที่ว่าผู้คนที่อิ่มเอมไปด้วยอำนาจ (ในฐานะทรัพยากร - เสริมโดยคนเขียน) และมักจะไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่พวกเขาต้องการ”
ซึ่งตรงนี้นับเป็นความเข้าใจผิด (หรืออาจจะไม่เข้าใจ) ของคนที่ใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในสังคม ณ ขณะนี้ ขนาด ดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นหน่วยงาน “หน้าด่าน” ในเรื่องของซอฟต์เพาเวอร์โดยตรงยังให้ทรรศนะไปในทิศทางที่สับสนระหว่างอำนาจและแหล่งที่มา ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า
“เรื่องที่เรามักจะมองข้ามและไม่ได้คิดเพราะคุ้นเคยกับมันคือ ซอฟต์เพาเวอร์ หรืออำนาจละมุนของไทย ซึ่งเป็นอีกอำนาจที่มีประสิทธิภาพอยู่ในวัฒนธรรมวิถีชีวิตของไทย สิ่งที่เราเห็นรอบตัวแม้แต่อาหารไทยที่เป็นตัวเอกในทุกมุมของโลก … มวยไทย ความสวยงามของภูมิประเทศ อะไรหลายอย่างที่เรามีอยู่มากมาย”
ซึ่งจะเห็นได้ว่าซอฟต์เพาเวอร์นั้น “ไม่เคยซอฟต์” แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุดการจะกล่าวว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างเต็มปากต้องยืนยันให้ได้อย่างน้อย 3 ประการ นั่นคือ
ประการแรก คือต้องไม่ใช้อำนาจให้คนยินยอมพร้อมใจ ประการต่อมา คือต้องวัดหรือพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ยินยอมพร้อมใจไปนั้นเพราะการดึงดูดจริง ๆ และประการสุดท้าย ต้องไม่สับสนระหว่างอำนาจและแหล่งที่มา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ประเมินได้ยากมาก ๆ ขนาดที่บิดาแห่งแนวคิดนี้ยังไม่สามารถที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมออกมาได้แม้จะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งก็ตาม (อย่างการใช้ Smart Power ซึ่งจะกล่าวต่อไป)
กระนั้นในเมื่อซอฟต์เพาเวอร์ใช้ยากใช้เย็นขนาดนี้ นอกจาก “ความไม่รู้” แล้ว เหตุใดจึงเกิดการใช้งานโดย “หลุด” ออกจากคำอธิบายเชิงทฤษฎีไปมากขนาดนี้ ?
ชะตากรรมเดียวกับ "วาทกรรม" ?
ในบทความ Wathakam: the Thai Appropriation of Foucault’s Discourse เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้ให้ข้อเสนอสำคัญถึงการใช้ศัพท์ “วาทกรรม” หรือ “Discourse” ในสังคมไทย ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความหมายดั้งเดิมจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะต้นทางอย่างฝรั่งเศสไปมากพอสมควร
ดังที่เห็นได้จากทั้งสื่อมวลชนหรือในชีวิตประจำวันต่างโพล่งปาว ๆ ว่านี่เป็นวาทกรรม นั่นเป็นวาทกรรม พวกท่านผลิตซ้ำวาทกรรม สร้างวาทกรรมชุดใหม่มากหลอกเยาวชน มอมเมาประชาชนด้วยวาทกรรม อะไรต่อมิอะไรสารพัด ซึ่งจริง ๆ แล้วหากถามย้อนกลับไปว่า “วาทกรรมคืออะไร ?” อาจยากแก่การตอบเสียด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าวาทกรรมเป็นอะไรที่สลับซับซ้อนและยากแก่การทำความเข้าใจ ขนาดโลกตะวันตกยังถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอีกดินแดนหนึ่งย่อมเกิด “การย่อย (Digest)” เพื่อให้เข้ารูปกับสังคมนั้น ๆ
ซึ่งไทยรับวาทกรรมมาจากขนบแบบ “อเมริกัน” อีกทอดหนึ่ง ซึ่งอเมริกันก็ไปรับจากโลกตะวันตกมาอีกที หรือก็คือเรานั้น “รับเดน” การย่อยวาทกรรมมาแล้วขั้นหนึ่งก่อนจะย่อยลงไปอีกทีให้เหมาะสมกับสภาพสังคม และเหนือสิ่งอื่นใด ไทยนั้นรับมาโดย “ไม่ตั้งคำถาม” ถึงแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่ชนชาติเอเชียประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ต่างรับเข้ามาเพื่อ “วิพากษ์” และตีแสกหน้าแนวคิดแบบตะวันตกทั้งสิ้น
หรือก็คือ ไทยนั้นเป็นแบบ “Critical Theory without Criticism” คือรับมาแล้วปรับแปรมาใช้เลยโดยไม่ได้นำมาคิดใคร่ครวญ ตกผลึก หรือวิพากษ์ตามขนบที่ทำกัน โดยธเนศได้ชี้ให้เห็นกระบวนการย่อยวาทกรรมในไทยด้วยกระบวนการดังนี้
1. วาทกรรมสามารถคุยกันได้ในไทย โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลาง
2. รับรู้ร่วมกันว่าวาทกรรมคือ Discourse และใช้ได้โดยมีขอบเขตอย่างไร ? ใช้ในบริบทใด ?
3. ย่อยความคิดออกมาจากนิพนธ์ภาษาไทยเท่านั้น และต้องมีมากพอ อะไรที่ไม่เข้าทีให้ตัดทิ้ง
แน่นอนว่าเมื่อผ่านกระบวนการ 3 ขั้นดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นเสียยิ่งกว่า “คิเมร่า” ที่ปนกันยุ่งเหยิงไปหมดจนจับต้นชนปลายไม่ได้ และแน่นอนว่าซอฟต์เพาเวอร์ก็อาจผ่านกระบวนการนี้เช่นกัน
ขั้นแรก อะไรที่จะทำให้ซอฟต์เพาเวอร์คุยกันได้ในไทย เป็นภาษาไทย แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมประเพณีที่รัฐไทยใช้หากินกับชาวต่างชาติและดูดเงินเข้าประเทศมาตลอด ต่อมา เมื่อรับรู้ร่วมกันแล้วว่าซอฟต์เพาเวอร์ใช้แทนอะไรได้ก็เป็นที่เข้าใจว่าใช้ได้ และประการสุดท้าย เมื่อนิพนธ์ส่วนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าใช้ถูกต้อง
ส่วนนิยามอื่น ๆ เช่น ทางวิชาการ การแก้ลำ หรือการให้ความรู้ใหม่ หากยากเกินไป ไม่เข้าใจ หรือไม่เข้ากับกระบวนการ ให้ตัดทิ้งไปเสีย
ประกอบกับ Critical Theory without Criticism ที่กล่าวไปในข้างต้นก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทีนี้การที่จะปรับความเข้าใจเรื่องซอฟต์เพาเวอร์จึงเกิดยากขึ้นเป็นเงาตามตัว
เราจะพิสูจน์ "ซอฟต์" ในซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างไร ?
จากที่กล่าวมาข้างต้น หากท่านใดที่คิดไปเรียบร้อยแล้วว่า “คุ้นชิน” กับซอฟต์เพาเวอร์อาจออกอาการ “เหวอ” ให้เห็น แน่นอนว่าเมื่อชี้แจงให้เห็นดังนี้ย่อมมีคำถามตามมาว่า หากซอฟต์เพาเวอร์เป็นเรื่องที่ “ใช้ยากใช้เย็น” เพราะเงื่อนไขเพียบ อย่างนี้สมควรที่จะใช้ต่อไปไหม ? หรือต้องหาแนวคิดอื่นมาใช้แทน ?
แน่นอนว่ามีการใช้ศัพท์อื่นมาแทนที่ โดยเฉพาะในแวดวงการทูตและการต่างประเทศอย่างคำว่า “Soft Diplomacy”, “Public Diplomacy” หรือ “Cultural Diplomacy” ซึ่งเป็นการพยายาม “เลี่ยงบาลี” ที่จะไม่ต้องพิสูจน์ “ซอฟต์” แต่ยังคงไว้ซึ่ง “แหล่งที่มา” ได้อยู่ อย่างการส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี ไปจนถึงกีฬาต่าง ๆ
1
กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีความพยายามในการหาทางออกเรื่องของการพิสูจน์ซอฟต์ในซอฟต์เพาเวอร์เสียทีเดียว
ไนย์เองได้เขียนเสนอไว้ในหนังสือ Smart Power โดยเขาพยายามที่จะสร้าง “สมาร์ทเพาเวอร์ (Smart Power)” หรือก็คือในเมื่อพิสูจน์ซอฟต์ไม่ได้ก็ใช้แบบ “Hybrid” เสียเลย คือผสาน “ทั้งฮาร์ดทั้งซอฟต์” ไปพร้อม ๆ กัน
หรือก็คือ ในเรื่องบางเรื่องก็ต้องมีการชี้นิ้วสั่งเพื่อโน้มน้าวให้เป้าหมายยินยอม เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอยู่ในเน็ตฟลิกซ์นานกว่าปกติโดยไม่โดนถอดออกแบบภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ หรือการพยายามประกอบสร้าง “กีฬาประจำชาติ” จากกีฬาที่ไม่อยู่ในสายตาของประชาชน ก็อาจจะเข้าข่ายได้เช่นกัน
หรือที่ เด็บบี้ ลาร์สัน (Deborah Welch Larson) เสนอไว้ในหนังสือ The Origins of Containment: A Psychological Explanation คือถ้าอยากให้เหตุผลแบบ A ไป B ได้อย่างประจักษ์แจ้งจริง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ลงมือค้นเอกสารในชั้นจดหมายเหตุ (archival research)” อย่างจริงจัง
แต่การค้นเอกสารจดหมายเหตุต้องเน้นไปที่เอกสารที่เป็นชั้นความลับหรือเอกสารที่ปรากฏข้อความช่วยจำที่ถูกเขียนไว้ตามเอกสารราชการต่าง ๆ เพราะอาจจะสามารถมองเห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของของผู้กำหนดนโยบายได้ผ่านถ้อยความที่เคยเป็นชั้นความลับหรือข้อความช่วยจำที่เขียนด้วยลายมือของผู้กำหนดนโยบาย
แต่ข้อเสนอของลาร์สันมีข้อจำกัดสำคัญคือ การไปค้นเอกสารชั้นจดหมายเหตุใช้ได้ในการศึกษา “อดีต” เท่านั้น
หรืออาจจะไปให้สุดด้วยการเสนอว่า “ไม่ต้องไปใช้เพราะไม่เคยมีอยู่จริงตั้งแต่แรก” อย่างที่ ชานีซ แมตแทร์ง (Janice-Bially Mattern) เสนอไว้ในบทความ Why ‘Soft Power’ Isn’t So Soft: Representational Force and the Sociolinguistic Construction of Attraction in World Politics ความว่า
“รัฐในเวทีการเมืองโลกที่มีลักษณะเป็นอนาธิปไตยจะไม่สามารถสร้างความดึงดูดใจได้อย่างสมบูรณ์ … ความดึงดูดใจไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง เพราะถ้าหากความดึงดูดใจสามารถเกิดขึ้นได้เอง ไนย์คงไม่จำเป็นจะต้องคิดค้นแนวคิด soft power เพราะคงจะมีสิ่งที่เรียกว่าความดึงดูดใจตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กับที่เพื่อดึงดูดตัวแสดงอื่น ๆ ไปแล้ว”
หรือก็คือ การดึงดูดใจโดยธรรมชาตินั้น “ไม่มีอยู่จริง” และ “ไม่อาจจะเกิดขึ้นจริง” เพราะตัวแสดงที่เป็นรัฐในการเมืองระหว่างประเทศที่มีสภาวะอนาธิปไตยนั้นยากที่จะสร้างความเชื่อใจเบื้องต้นได้
จากหลักเหตุผลดังกล่าว แมตแทร์งจึงเสนอว่าหากกล่าวให้ถึงที่สุด การใช้เครื่องมือและทรัพยากรซอฟต์เพาเวอร์บนเวทีที่ตัวแสดงต่าง ๆ ขาดความเชื่อใจพื้นฐานต่อกันนั้นทำให้เป้าหมายแทบเป็นไปไม่ได้
บทส่งท้าย: ตำรวจซอฟต์เพาเวอร์ ?
เมื่อมาถึงตรงนี้ แม้อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากว่าสิ่งที่พยายามคลี่ปมออกมาทั้งหมดเกี่ยวพันกับโลกกีฬาโดยตรง หรือก็คือ ในเรื่องของ “Content” แล้วกีฬาได้อะไรจากจุดนี้ ? ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกตั้งแง่ได้
ในเมื่อกีฬาเป็นหนึ่งในองคาพยพของซอฟต์เพาเวอร์ในแง่ของแหล่งที่มาของซอฟต์เพาเวอร์ ดังนั้นบุคลากรในวงการก็สมควรที่จะทำความเข้าใจแนวคิดอย่างถูกต้อง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
กระนั้นสิ่งนี้ไม่ใช่การหมายให้เกิดการ “จับผิด” หรือหมายให้เกิดผู้กระทำตนเป็น “ตำรวจซอฟต์เพาเวอร์” แต่อย่างใด เพราะแท้จริงการใช้แบบ “ผิด ๆ” ก็ก่อให้เกิด “ปัญหาในตนเอง” ที่อาจจะร้ายแรงเสียยิ่งกว่านั้น
โดยเฉพาะความเข้าใจในแนวคิดว่าด้วย "ประชาธิปไตย (Democracy)" ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม ณ ขณะนี้ แต่ใครเลยจะรู้ว่าแท้จริงนั้นรากศัพท์ของ Democracy มาจากภาษากรีกโบราณ ที่เป็นการประกอบกันของคำว่า “dēmos” ที่หมายถึง “คนส่วนใหญ่ (Majority)” และ “kratos” ที่หมายถึง “กฎ (Rule)”
ดังนั้น Democracy [δημοκρατία: dēmokratía] จึงหมายถึง “กฎของคนส่วนใหญ่” หรือที่อาจจะกล่าวแบบภาษาคนเดินถนนได้ว่า “กฎหมู่”
ฉะนั้น ประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องของ “อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข” ซึ่งมีความไปกันได้กับ “เผด็จการ (Dictatorship)” อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย
จึงไม่น่าแปลกใจหากจะเกิด "ประชาธิปไตยใส่คำวิเศษณ์" อย่างเช่น "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" เพราะหากเป็นเช่นนี้ “เกาหลีเหนือ” ที่หลายคนด่าสาดเสียเทเสียก็เป็นประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ (แถมบ่อยกว่าประเทศไทยเสียด้วย)
ดังนั้น ประชาธิปไตย จึงขาดแนวคิดแบบ “เสรีนิยม (Liberalism)” ไม่ได้ เพราะมันเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพว่าจะไม่เกิดการ “ครอบงำ” โดยคนส่วนมาก แต่ในโลกปัจจุบันได้ใช้ประชาธิปไตยให้ครอบคลุมความหมายนี้ไปด้วยประหนึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ ถือว่าแยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
แน่นอนว่า ประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่า “ออกไปเลือกตั้ง” แล้วก็จบ แต่เป็นที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า
“เมื่อคนเท่ากัน เหตุใดจึงต้องมีการเลือกตั้ง ? เหตุใดไม่ Random คนมาทำหน้าที่บริหารประเทศไปเสียเลย ?”
ไม่เช่นนั้นการถือตนว่าสมาทานประชาธิปไตยอาจได้รับการลดทอนลงเหลือเพียงแต่ “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” ดังที่เกิดขึ้นอยู่ก็เป็นได้
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
บทความ พินิจแนวคิด Soft Power อย่างจริงจัง: ปัญหาและความเข้าใจผิดในการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในงานวิชาการไทย
บทความ Wathakam: The Thai Appropriation of Foucault’s “Discourse” ใน The Ambiguous Allure of the West: Traces of the Colonial in Thailand
บทความ แนวคิดเรื่องเสรีนิยมกับประชาธิปไตย (Liberalism and Democracy) ในหนังสือ การเมือง อำนาจ ความรู้ : หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์
โฆษณา