คนตกงานอย่าเพิ่งหมดหวัง! (6/2566)

งานรายได้ดี แถมได้เที่ยวฟรีรอบโลกยังมี
ก่อนอื่นเลยขออนุญาตแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่ออภิชาติ นามประกอบ เป็นคนทำงานเรือสำราญมาตั้งแต่ปี 2000 ตำแหน่งปัจจุบันคือ Bar Manager ของบริษัท Princess Cruises ชื่อในวงการคนทำงานเรือและสื่อโซเชียลต่างๆ คือ น้าชาติเล่าเรื่องเรือสำราญ และตอนนี้เป็นครูใหญ่และ F&B Instructor ของโรงเรียนมารุ สอนอาชีพการเรือสำราญและการโรงแรม
ปัจจุบัน การทำงานเป็นพนักงานบริการบนเรือสำราญ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพที่พี่ๆน้องๆ และหลายๆ คนสนใจ เพราะสวัสดิการและค่าตอบแทนที่จะได้รับในตลอดระยะเวลาการทำงานบนเรือช่วงหนึ่งก็อาจจะมากกว่าการเป็นพนักงานประจำได้พอควร เรียกได้ว่า “ทำงานสามปีมีเงินเก็บเป็นล้าน” ซึ่งเป็นทางลัดสามารถสร้างเงินออมได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หลายๆคนก็คงจะได้ยินคำว่างานเรือนั้นหนักมาก แต่คำว่าหนักของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันและคำว่าหนักนั้น มันก็มีเหตุและผลของมัน อยากให้อ่านให้จบนะครับ
อยากไปทำงานบนเรือสำราญ ต้องเจออะไร? เตรียมตัวยังไง?
บทความนี้มีทั้งตัวอาจารย์เองและศิษย์เก่าที่โรงเรียนสอนอาชีพการเรือสำราญและการโรงแรม หรือเรียกว่า Maru CHOT( Cruise and Hotel Job Training School ) หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า มารุโชติ วันนี้อาจารย์ขอแชร์ข้อมูลและประสบการณ์จากการทำงานบนเรือสำราญมามากกว่า 20 ปี มาฝากน้องๆ และทุกคนที่กำลังสนใจงานเรือสำราญกัน โดยทั้งอาจารย์และรุ่นน้องที่เป็นพนักงานอยู่ภายใต้บริษัทเรือ Princess, Holland America, P&O และอีกหลากหลายสายเรือ โดยขอรวบรวมเรื่องราวบางส่วนมาจากประสบการณ์ส่วนตัว และเรียบเรียงมาแชร์ให้ทุกคนที่สนใจ
ทำไมถึงอยากไปทำงานบนเรือสำราญ?
สำหรับคนส่วนใหญ่คืออยากทำงานเก็บเงิน อยากเดินทางท่องเที่ยว อยากทำงานต่างประเทศ อยากสัมผัสบรรยากาศของเมืองนอก อยากได้ประสบการณ์ชีวิตในต่างแดน อยากทำงานกับองค์กรระดับโลก ได้ท้าทายความสามารถของตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งการทำงานบนเรือสำราญ เราจะเรียกรอบการทำงานว่า Contract (สัญญาจ้าง )โดย 1 Contract  จะอยู่ที่ 6-9 เดือน และกลับมาพักร้อนประมาณ 2-3 เดือน และการทำงานบนเรือสำราญนั้นจะไม่มีวันหยุด แต่เขาก็ไม่โหดร้ายขนาดนั้นหรอก เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องการ การพักผ่อนเขาก็จะมีช่วงเบรค
ช่วงพักเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วและก็ยังมีช่วงเวลาที่เรียกว่า Time Off ที่จะได้เวลาพักยาวๆ ในวันที่เรือจอดเที่ยบท่าให้ลูกค้าได้ลงไปเที่ยว และลูกเรือก็จะใช้ช่วงเวลานี้แหละที่ได้ออกไปเที่ยว ได้เห็นโลกกว้าง อย่างเช่นตัวอาจารย์เองถ้านับรวมๆ น่าจะเที่ยวรอบโลกมาไม่ต่ำกว่า 5-6 รอบแล้ว ในตลอดคอนแทรคของการทำงานบนเรือ เราจะต้องทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุดเหมือนบ้านเรา แต่ก็มีเวลาเบรค มีเวลาพัก ตามกฏหมายคุ้มครองแน่นอนครับ และเจ็บไข้ได้ป่วยมาก็มีหมอรักษาและหยุดพักซึ่งก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป
ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้ แล้วรับได้กับการทำงานที่ต้องจากบ้าน จากครอบครัว พ่อแม่ แฟน สามี ภรรยา ลูก หรือคนที่รักไป  6-9 เดือน แสดงว่าคุณได้ผ่านจุดวัดใจไปแล้วหนึ่งจุด หลายๆคนที่รู้จักบนเรือ ต่างคนต่างมีเป้าหมาย มีครอบครัว มีลูก มีคนทางบ้านที่รอ ต้องตั้งใจทำงาน เก็บเงิน เพื่อส่งไปให้คนที่รออยู่ข้างหลัง "
ขอยกตัวอย่าง ตำแหน่งที่เปิดรับสมัครและเงินเดือน
เงินเดือน
1. Dining Service Attendant DSA (ชาย-หญิง) 
รายได้ 850-1,200 USD (ประมาณ 29,325- 41,400 บาท/เดือน มีทิปบ้างนิดหน่อย คิดอัตราและเปลี่ยนที่ $1: 34.5 Baht ) สัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
2. Bar back, Bar Utility (ชาย)
รายได้ 850- 1,500 USD (หรือประมาณ 29,325- 51,750 บาท/เดือน มีทิปบ้างนิดหน่อย คิดอัตราและเปลี่ยนที่ $1: 34.5 Baht) สัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
3. Restaurant Asst Waiter/Waitress (ชาย-หญิง)
รายได้ 1,800-2,250 USD (ประมาณ 62,100-77,625 บาท/เดือน คิดอัตราและเปลี่ยนที่ $1: 34.5 Baht) ยังไม่รวมทิปสัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
4. Restaurant Waiter/ Waitress
รายได้ 2,800 - 3,400 USD (หรือประมาณ 96,600- 117,300 บาท/เดือน ยังไม่รวมทิป คิดอัตราและเปลี่ยนที่ $1: 34.5 Baht) สัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
5. Bartender (ชาย-หญิง)
รายได้ 2,400- 3,200 USD (ประมาณ 82,800-110,400 บาท/เดือน) ยังไม่รวมทิป สัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
6. Wine Steward (ผู้เชี่ยวชาญและแนะนำไวน์ ชาย-หญิง)
รายได้ 2,700- 3,600 USD ( 9,315- 124,200 บาทต่อเดือน) ยังไม่รวมทิป สัญญา 6-9 เดือน/พักร้อน 2 เดือน
ข้อดีของการทำงานบนเรือสำราญ
โดยทั่วไปเรือจะมี อาหาร, ที่พัก(cabin) Uniform, รักษาพยาบาล , ประกันชีวิต, Crew Gym, Crew Bar, Crew Party, Crew Tour เป็นต้น  โดยขึ้นอยู่กับบริษัทเรือ แล้วแต่เรือลำนั้นๆว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง แต่ที่แน่นอนคือ อาหารฟรี ที่พักฟรีแน่นอน และข้อดีอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวรอบโลก อันนี้น่าจะเป็นผลพลอยได้ที่ตีเป็นมูลค่ายากมาก
คุณสมบัติทั่วไปของคนที่จะมาทำงานตรงนี้คือ อายุ 21-35ปี มีประสบการณ์ จากโรงแรมในตำแหน่งที่เราต้องการสมัครอย่างน้อย 6 เดือน และบางสายเรือ บางตำแหน่งอาจจะต้องการประสบการณ์ที่มากกว่า หรือน้อยกว่านี้ก็มี แต่โดยทั่วไปจะมองกันอยู่ที่ 6 เดือน มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในเกณฑ์สื่อสารได้ ใจรักงานบริการ สุขภาพแข็งแรง
ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
ณ ปัจจุบันนี้การเดินทางไปทำงานบนเรือสำราญนั้นไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนเมือเมื่อก่อน สิ่งที่เราต้องเตรียมก็คือค่าเอกสารส่วนตัวและที่บริษัทเรือแต่ละบริษัทร้องขอมาเท่านั้น เช่น Passport, Seaman Book, Visa, Medical Exam, Vaccine, Criminal Check, STCW Training ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เราไม่ต้องจ่ายให้กับเอเจนซี่นะ โดยรวมก็เตรียมไว้ประมาณ 35,000 บวก/ลบ แต่เราเป็นคนจัดการทำเอกสารต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยตัวเราเอง และสำหรับเรือบางบริษัท
ค่าตรวจสุขภาพ ค่าวีซ่า เก็บใบเสร็จไปเบิกได้ เช่น Princess, Holland America, P&O บางบริษัทต้องจ่ายเอง ส่วนเรื่องตัวเครื่องบินทางบริษัทเรือจะเป็นคนจัดการให้ รวมถึงห้องพักในโรงแรมก่อนขึ้นเรืออีกหนึ่งคืน
สัมภาษณ์งานและสอบ “Marlins Test”
ก่อนที่จะขึ้นไปทำงานบนเรือได้ นอกจากมีประสบการณ์ในตำแหน่งงานจากโรงแรมแล้ว มีประสบการณ์ครบเกณฑ์ตามที่เขากำหนด สื่อสารภาษาอังกฤษได้แล้ว ที่นี้ถ้าเราผ่านคุณสมบัติขั้นพื้นฐานแล้ว ก็มาถึงกระบวนการในการสัมภาษณ์งาน ซึ่งลูกเรือทุกคนจะถูกสัมภาษณ์และคัดกรองโดยคนของบริษัทเรือ (ถ้าใครบอกว่าจ่ายเงินค่าดำเนินการแล้วสามารถส่งขึ้นไปทำงานเรือสำราญได้ อันนี้สันนิษฐานได้เลยนะครับว่าไม่จริงแน่นอน อันนี้แอบเป็นห่วงนะ)
หลังจากสัมภาษณ์เสร็จเขาก็จะขอหลักฐานอ้างอิงเรื่องของภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนั่นก็คือ Marlins Test ซึ่ง Marlins Test ก็คือแบบทดสอบทักษะความเข้าใจภาษาอังกฤษ 5 ด้าน ได้แก่ 1.Listening 2.Time and Number 3.Vocabulary 4.Grammar 5.Reading ทุกคนจะต้องผ่านการสอบตรงนี้และ ณ เวลานี้คนที่ทำงานเรือขนส่งก็ต้องสอบ Marlins Test ด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องของคำแนนสอบนั้นจะวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในตำแหน่งเริ่มต้นทั่วไปจะต้องได้คะแนนที่ 70% ขึ้นไป
พอกระบวนการตรงนี้เสร็จก็ถือว่าผ่านมาเกือบครึ่งทางในการเตรียมตัวล่ะ นอกนั้นก็จะเป็นเอกสารทั่วๆไปเช่น Seaman Book, STCW Training,( ชื่อเต็มคือ Standard of Training, Certification and  Watchkeeping แปลให้เป็นไทยให้เข้าใจได้ง่ายๆก็คือการอบรมด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐานล่ะกัน )
หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการทำ Visa ซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควรแล้วแต่จำนวนคิวสัมภาษณ์ในแต่ละช่วง แล้วก็ตรวจสุขภาพ และทำการฉีดวัคซีน และก็เตรียมตัวเดินทาง สำหรับการเตรียมตัวในคอนแทร็คแรกนั้นอาจจะดูเหมือนว่ายุ่งยากและหลากหลายขั้นตอน แต่ว่าเราจะทำอย่างนี้ก็แค่คอนแทร็คแรกนี้เท่านั้น คอนแทร็คถัดไปจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเยอะแยะขนาดนี้และเอกสารของเราหลายๆตัวก็จะมีอายุตั้งแต่ 2 ปี (ตรวจสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม) 5 ปี (Visa, STCW) และ 10 ปี ( Passport )
นี่คือการเตรียมตัวแบบคร่าวๆ แค่นั้นนะ ยังมีอะไรอีกนิดหน่อยที่ควรรู้ในการเตรียมตัวเดินทางไปทำงานบนเรือสำราญ และก็เทคนิคต่างๆที่ควรรู้ในการเตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์งานเรือสำราญอีกเยอะพอสมควร หากผู้สนใจที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานด้านงานบริการหรือไม่เคยทำงานโรงแรมหรือภาษาอังกฤษด้านบริการยังไม่มั่นใจพอ เรา คือ โรงเรียนสอนอาชีพ เป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับคุณภาพให้ความรู้ พัฒนาทักษะ และส่งเสริมอาชีพด้านการบริการบนเรือสำราญ โดยอาจารย์ที่มีความสามารถและประสบการณ์จากเรือสำราญโดยเฉพาะ ตัวอาจารย์เอง
และก็ทีมอาจารย์ที่มีทั้งจาก Princess, Holland America, Fred Oldsen และอีกหลากหลายสาขาวิชาชีพด้านการบริการอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Wine, Bar และ Barista และคลาสเสริมพิเศษอีกมากมาย เพื่อเติมเต็มความต้องการบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมเรือสำราญและโรงแรม และสนับสนุนแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล
โฆษณา