27 มิ.ย. 2023 เวลา 16:09 • หนังสือ

แ ว ว วั น

ผู้ที่ชอบนวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ของ “โบตั๋น” อาจจะเคยอ่านเรื่อง “แวววัน” ซึ่งเล่าเรื่องเด็กสาวบ้านสวนที่ใฝ่เรียนและสามารถยกระดับชีวิตตนเองให้ดีขึ้น หลายท่านคงรู้สึกประทับใจเนื้อหาเรื่องนี้กันไม่มากก็น้อยด้วยค่ะ
.
โบตั๋นมาจากครอบครัวชาวสวนในย่านเขตภาษีเจริญ ธนบุรี และได้แต่งเรื่องนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านได้ถ่ายทอดชีวิตชาวสวนและสภาพสังคมไทยด้านต่าง ๆ ในยุคนั้นให้เราได้รับรู้อย่างดี
.
แวววัน​ ผู้ที่เพื่อนบ้านเรียกขานว่า ไอ้แววหรือนังแววเป็นเด็กสาววัยสิบห้า เติบโตมาในสภาพที่แวดล้อมด้วยต้นไม้พืชผักนานาชนิด เช่น มะพร้าว หมาก พลู กล้วย ฯลฯ เธอคุ้นเคยกับน้ำคลองขุ่น ๆ บ้านหลังคามุงจาก ส้วมหลุม และการใช้ฟืนหุงหาอาหาร
.
แม้ยามค่ำคืนก็ต้องจุดตะเกียงอ่านหนังสือเพราะไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง... สภาพเหล่านั้นอยู่ใกล้ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แต่ในยุคนั้นช่างดูห่างไกลนักเมื่อแวววันต้องเดินทางออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อต่อรถต่อเรือมาเรียนชั้นมัธยมปลายหลังจากที่เธอสอบเข้า​รร.​เตรียมอุดมฯ​ ได้
.
พ่อแม่ของแวววันเป็นชาวสวนมา​แต่เดิม ทั้งคู่จึงอยากให้แวววันและไววิทย์น้องชายเป็นชาวสวนเช่นตนเอง ไม่เคยคิดว่าจะให้ลูกทั้งสองเรียนหนังสือสูงกว่าเกณฑ์ภาคบังคับที่รัฐบาลกำหนดไว้คือชั้นม. ๖ หรือ ม.ศ. ๕ ในยุคนั้น
.
พ่อแม่วางใจว่าเจ้าของสวนจะให้เช่าที่ดินทำสวนไปตลอดเพราะพ่อมีเงินจ่ายค่าเช่าทุกปี ถ้าเอาคืนไปก็ทำสวนเองไม่ไหว พ่อพูดว่า “ทำสวนงานอิสระสบายใจ เหนื่อยก็หยุดพัก ขยันก็ทำต่อ ค้าขายอาจจะร่ำรวยดีแต่ต้องเอาใจคนทั้งเมือง” (น.๖)
แต่แวววันเป็นคนฉลาดและคิดต่างจากพ่อ เธอบอกพ่อว่า “เขาไม่เอาคืนไปทำเองหรอกจ้ะ เขาเอาคืนไปขายให้คนอื่นปลูกบ้านต่างหาก ถ้ามีถนน มีน้ำ มีไฟ ดูแต่บางแคซี เขาตัดถนนไปถึงไหน ๆ แล้ว...” (น. ๙) คำพูดนี้ไม่ผิดนักเพราะในช่วงท้ายชีวิตของพ่อก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง​
.
แวววันรักเรียนและอยากมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ เธอไม่อยากทนอยู่กับความยากจนและชีวิตชาวสวนไปตลอดชีวิต ความขยันและมุ่งมั่นของแวววันไม่เสียเปล่า แม้เธอจะต้องประหยัดมัธยัสถ์และทำงานพิเศษรับจ้างเรียงพลูขาย และทำงานอื่น ๆ อีกก็ตาม
.
พ่อแม่ผิดคาดเมื่อแวววันสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้​ แม้แต่เพื่อนบ้านก็กล่าวขวัญถึง บ้างก็ชื่นชมบ้างก็อิจฉา เพราะโรงเรียนเตรียมฯ ในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและมีการแข่งขันสูง​ ถ้าใครเข้าได้ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเลือกสอบเข้าคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้
.
โลกรอบตัวแวววันเปลี่ยนไปมากเมื่อเธอโตขึ้นและได้สอบเข้าเรียนต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จนจบ โลกที่เธอเห็นและรู้จักยิ่งซับซ้อนไม่เหมือนที่เธอเคยคิด ทั้งเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาจากฐานะที่แตกต่างราวฟ้าและดิน รวมทั้งการงานและความรัก
.
แวววันเลือกที่จะเป็นครูและก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษา เช่นโรงเรียนต้องการเปิดสอนพิเศษและให้ครูเก็บเนื้อหาบางส่วนไว้ไม่สอนในชั้นเรียน และนักเรียนที่ก้าวร้าว ฯลฯ
.
เมื่อแวววันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความเจริญย่างกรายมาถึงสวนฝั่งธน เธอและครอบครัวก็ต้องตัดสินใจว่าจะย้ายที่อยู่หรือซื้อที่ดินปลูกบ้านใหม่ เพื่อน ๆ ก็ต่างมีชีวิตในแนวทางที่เลือกเองได้บ้าง หรือไม่ก็ด้วยเหตุจำเป็นของพ่อแม่ให้เลือกบ้าง
.
โบตั๋นสร้างพล็อตเรื่องชีวิตแวววันและเพื่อน ๆ ที่มีความเป็นมนุษย์อย่างสมจริงสะท้อนเรื่องโอกาสทางการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางสังคม แวววันและเพื่อนๆ ไม่มีใครมีชีวิตที่สมบูรณ์และสมปรารถนาตามที่หวังไว้ ทุกคนต่างเจอปัญหาและเติบโตทางความคิด...
.
แม้แต่ตอนจบก็มีคนเอ่ยถึงมาก โบตั๋นผูกเรื่องให้แวววันเลือกเส้นทางชีวิตตอนท้ายที่อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจผู้อ่านบ้าง แต่ก็สะท้อนให้เราเห็นประเด็นของผู้หญิงที่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างเด็ดเดี่ยวตั้งแต่เป็นสาวรุ่นจนเข้าวัยกลางคน แวววันได้ฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ มีทั้งสุขและทุกข์ สมหวังผิดหวัง ความคิดเธอตกตะกอนและก็ตัดสินใจได้ในที่สุดว่าเธอต้องการเลือกมีความสุขในเส้นทางชีวิตอย่างไร
.
เรื่อง “แวววัน” เป็นผลงานอีกเล่มที่ทรงคุณค่าของโบตั๋นเพราะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้อย่างดี มีเพื่อนๆหลายคนเล่าว่าอ่านแล้วอยากเข้าเรียนคณะอักษรฯ หรือตั้งใจเรียนและใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย
.
เราได้สัมผัสชีวิตชาวสวน ซึ่งปัจจุบันนี้ย่านฝั่งธนฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ไม่มีสวนให้เห็นอีกแล้ว เราได้รับรู้ว่าการเก็บพลูและตากพลูให้แห้งเพื่อขายในยุคที่คนไทยเริ่มลดความนิยมกินหมากกินพลู และการรดปุ๋ยคอกเป็นอย่างไร ชีวิตแวววันเป็นภาพสะท้อนลูกชาวสวนที่ยากจนดีมาก
.
นิยายเรื่องนี้ยังได้รับการคัดเลือกจาก กทม. เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักเขียนและวรรณกรรมประจำ ๕๐ เขตตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ให้เป็นวรรณกรรมของเขตบางแคอีกด้วย (อ้างอิงจาก https://pantip.com/topic/32693173)
.
โบตั๋นเป็นนามปากกาของ คุณสุภา สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่เรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออายุราว ๑๘ ปี เมื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้จึงอ่านหนังสือในห้องสมุดทั้งภาษาไทยและอังกฤษเสียจนเกลี้ยง เมื่อเรียนจบก็เริ่มทำงานเป็นครู และทำหนังสือสำหรับเด็กที่ชัยพฤกษ์ของไทยวัฒนาพาณิช มีโอกาสไปร่วมงานกับอาจารย์คุณหญิงนิลวรรณ ปิ่นทอง ทำ “สตรีสารภาคพิเศษสำหรับเด็ก” ด้วย
.
โบตั๋นมีงานเขียนเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้อ่านล้วนชื่นชอบกันเช่น ความสมหวังของแก้ว ตราไว้ในดวงจิต ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทองเนื้อเก้า ไผ่ต้องลม ไม้ดัด ทิพย์ดุริยางค์ ฯลฯ แม้งานเขียนของท่านจะไม่มากนักหากเทียบกับนักเขียนในรุ่นเดียวกัน แต่ผลงานของท่านก็มีนักอ่านชื่นชอบอย่างต่อเนื่องและมีการนำไปสร้างละครเสมอ นอกจากนวนิยายแล้วโบตั๋นยังมีผลงานแต่งและแปลนิทานอีกมากมายในนามปากกาอื่น
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ​ #โบตั๋น​ #แวววัน​ #สุภาสิริสิงห #ศิลปินแห่งชาติ​ #สาขาวรรณศิลป์​ #การศึกษา​ #ความเหลื่อมล้ำด้านสังคม​ #ชาวสวนธนบุรี​ #หมากพลู
โฆษณา