29 มิ.ย. 2023 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พูดถึงเรื่อง เงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉินคือ “เงินที่เก็บไว้ใช้กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินโดยที่เราไม่ได้คาดคิด” เช่น ตกงานขาดรายได้, เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล, ครอบครัวต้องใช้เงินด่วน เป็นต้น
ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เงินสำรองฉุกเฉินนั้นถือเป็นสิ่งแรกที่เราต้องมี โดยมีหลักการคำนวณดังนี้
เงินสำรองฉุกเฉิน = รายจ่ายประจำต่อเดือน x (6 ถึง 12 เดือน)
รายจ่ายประจำต่อเดือนคือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่เราต้องจ่ายทุกเดือน (ไม่จ่ายไม่ได้) เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าโทรศัพท์ ค่าของใช้จำเป็น ฯลฯ หรือใครมีหนี้สินต้องผ่อนทุกงวดก็รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย
โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน วิธีการที่จะรู้ว่าเรามีรายจ่ายประจำต่อเดือนเท่าไหร่คือ การทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย แนะนำประมาณ 2-3 เดือน แล้วดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน
6 ถึง 12 คือ จำนวนเดือนที่เราควรเผื่อไว้ โดยการเลือกเผื่อตัวเลขที่เท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงของอาชีพหรือแหล่งที่มาของรายได้ เช่น ข้าราชการ พนักงานเอกชนบริษัทใหญ่ บุคลากรการแพทย์ ที่มีความมั่นคงในอาชีพสูง อาจจะเผื่อสำรองไว้ที่ 6 เดือน อาชีพรับจ้างทั่วไป, freelance ที่อาจจมีความมั่นคงของรายได้ต่ำกว่า ก็อาจจะเผื่อสำรองไว้สูงหน่อยที่ 12 เดือน เป็นต้น
ยกตัวอย่าง
  • นาย A มีอาชีพรับราชการและมีรายจ่ายประจำ 15,000/เดือน นาย A ต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน = 15,000x6 = 90,000 บาท
  • นาย B มีอาชีพช่างภาพ freelance และมีรายจ่ายประจำ 15,000/เดือน นาย B ต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน = 15,000x12 = 180,000 บาท
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงความคิดเห็นของมันนี่ที่รักนะครับ ทั้งนี้เราไม่ควรเผื่อสำรองไว้น้อยเกินไปเพราะอาจจะมีความเสี่ยงที่เงินไม่พอใช้ และก็ไม่ควรเผื่อสำรองไว้สูงเกินไป เพราะจะเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน
แล้วเราควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ไหน?
มั่นนี่ที่รักแนะนำว่าควรเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการฝาก-ถอน ซึ่งแนะนำเป็นบัญชีธนาคาร โดยปัจจุบันมีบัญชีออมทรัพย์ประเภท E-saving ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติและฝาก-ถอน เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อน ๆ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมได้นะครับ
โฆษณา