Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พลการเมือง
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2023 เวลา 04:36 • ประวัติศาสตร์
เมื่อนายกไทยคนแรกหลงเข้าไปในที่ประทับของ Pope
น้อยคนจะรู้ ว่าครั้งหนึ่ง พระยามโนปณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีไทยคนแรกระหว่างปี 2475 - 2476 ในสมัยที่พึ่งจะเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษมาหมาด ๆ และกำลังเดินทางกลับสยาม จึงได้ใช้โอกาสนี้เที่ยวชมเมืองต่าง ๆ ในยุโรปร่วมกับ นายบุญช่วย วณิกกุล เพื่อนที่จบมาด้วยกัน
โดยเรื่องราวคราวนี้ถูกถ่ายทอดโดยพระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ผ่านสาร์นสมเด็จ ซึ่งพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของพระยามโนปกณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
กลับบ้าน
เมื่อการศึกษาของเราสำเร็จเรียบร้อยตามความต้องการของทางการกระทรวงยุติธรรม คือได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ซึ่งได้รับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2452 ครั้นรุ่งขึ้นอีก 2 วัน คือ วันที่ 25 มิถุนายน 2452 เราก็บ่ายหน้ากลับ
คราวนี้รู้สึกว่ามีความชำนิชำนาญในการเดินทางขึ้นแล้ว จึงตกลงกันกลับทางบกมาลงเรือที่อิตาลี ทั้งนี้เพื่อจะได้ในเวลาให้เร็วเข้า เพราะกระทรวงยุติธรรมต้องการให้รีบกลับ กับทั้งจะได้มีโอกาสเที่ยวชมเมืองต่าง ๆ ในยุโรปที่จะได้ผ่านไปด้วย
การไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ กับเจ้าคุณมโนฯ นั้น จะว่าสบายก็สบาย จะว่าไม่สบายก็ไม่สบาย ที่ว่าสบายก็คือ ข้าพเจ้าจะไปทางไหน ไปดูอะไร ก็เป็นอันได้ไปตามความประสงค์ของข้าพเจ้าทั้งสิ้น เจ้าคุณมโนไปด้วยทั้งนั้น เป็นอันไม่มีขัดคอเลย
ส่วนที่ว่าไม่สบายก็คือ ข้าพเจ้าต้องมีความหนักใจ ต้องคอยสอดส่องตรวจดูสมุดแนะนำเที่ยว (Guide Book) และสอบถามใคร ๆ ดูว่าควรจะไปดูอะไรที่ไหนบ้าง
เพราะในเรื่องนี้เจ้าคุณมโนฯ ไม่เอาธุระเลย ไปไหนก็ไปด้วย เช้าขึ้นก็บอกให้เท่านั้นว่าวันนี้จะไปไหนกัน
ในระหว่างเดินทางกลับนี้ มีเหตุการณ์ที่ต้องผจญด้วยกันอีก
ตอนหนึ่ง คือเมื่อมาพักเที่ยวที่เมืองโรม ประเทศอิตาลี เราพากันไปชมพระราชวังวาติกัน (Vatican) ซึ่งมีระเบียบให้เข้าชมได้โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่เขากำหนดไว้ เมื่อเราได้เสียค่าธรรมเนียมซื้อตั๋วเข้าไปแล้ว เราก็เข้าไปชม โดยไม่มีใครห้ามปราม เราก็เดินชมเรื่อยไป
พระราชวังวาติกัน (Vatican) ราวปี พ.ศ. 2453
เราได้พากันเดินเลยเข้าไปถึงชั้นในของพระราชวัง ซึ่งอันที่จริงตรงประตูที่จะเข้าชั้นในนั้น ควรจะมีทหารยามคอยห้ามไม่ให้คนเข้า แต่ขณะที่เราเดินผ่านไปทหารยามนั้นไม่อยู่เสีย เราจึงผ่านเข้าไป
ครั้นเข้าไปได้หน่อยก็พบทหารยามอีกชั้นหนึ่ง ทหารนี้ทำท่าเอะอะและพูดกับเราเป็นภาษาอิตาเลียน เราทั้งสองไม่เข้าใจคำพูดของเขาเลยแม้แต่สักคนละครึ่งคำ
เรามีความตระหนกตกใจ เพราะท่าทางของเขาทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรผิดสักอย่าง แต่เราก็ไม่เข้าใจคำพูดของเขา จึงรู้ไม่ได้ว่าเราทําผิดอะไร และเราก็ไม่อาจพูดอะไรให้เขาเข้าใจ ได้แต่นำตั๋วที่ซื้อมาให้เขาดู เขาสั่นหน้าแล้วทําท่าบอกให้เราตามเขากลับออกมา
พอถึงประตูที่เราควรจะถูกห้ามซึ่งคราวนี้มีทหารยามประจําอยู่ ทหารชั้นในที่พาเรามาได้ล้งเล้งกับยามที่ประตู แสดงว่าเป็นความผิดของยามนั้น ทําให้เราค่อยหายตกใจ แล้วเราก็กลับออกจากพระราชวัง
ต่อมาสอบถามผู้ที่รู้ ได้ความว่า ชั้นในที่เราเข้าไปนั้นเป็นที่ประทับของ Pope ซึ่งใครจะเข้าไปไม่ได้ นอกจากผู้ที่จะไปเฝ้า โดยได้รับอนุญาตพิเศษ
ในการเดินทางกลับประเทศไทย เรามาลงเรือที่ Naples เรือที่กลับชื่อเรือ Goeben และมาเปลี่ยนลงเรือเดลีที่สิงคโปร์ เรือเดลีมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อค่ำวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 เรือเดลีต้องหยุดอยู่ที่ปากน้ำ จะขึ้นมากรุงเทพฯ ในเวลากลางคืนไม่ได้ แต่โดยความเอื้อเฟื้อของเพื่อนฝูง เราได้ลงเรือไฟเล็กมาถึงบ้านในตอนดึกราวตี 3 ของคืนวันนั้นเอง ส่วนเรือเดลีขึ้นมาเทียบท่าตอนเช้า เพื่อนฝูงที่กรุณาไปรับที่ท่าเรือเก้อไปอีก...
ในเวลาต่อมาทั้งนายก้อน และนายบุญช่วย เนติบัณฑิตอังกฤษสองคนนั้น ก็มีความก้าวหน้าในงานราชการเป็นลำดับ
นายก้อนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการองคมนตรี ก่อนจะตอบรับคำเชิญของคณะราษฎรเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี 2475
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) และพระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี (บุญช่วย วณิกกุล)
นายบุญช่วยเอง ก็ได้ไต่เต้าไปถึงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นถึง อธิบดีศาลฎีกา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนฯ ได้แต่งตั้งท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย
โดยท่านพระยาทั้งสอง เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในจำนวน 37 คน ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวรุ่นแรก
และที่สำคัญมากก็คือ พวกท่านได้รับการเลือกให้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกในประวัติศาสตร์สยาม ที่มีพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นประธาน ก่อนจะประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ปรากฎเป็นวันรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปฏิทินนั่นเอง
เรียกได้ว่าเด็กหนุ่มที่หลงวาติกันเข้าไปในที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปากันในวันนั้น จะได้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจการงานเมืองของสยามกันในเวลาต่อมา
เรายังมีบทความให้ความรู้ดีๆอย่างนี้อีกมาก หากสนใจ สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมด้านล่าง และอย่าลืมกดติดตาม เพื่อจะไม่พลาดบทความใหม่ๆ จาก พลการเมือง ด้วยนะครับ 👍❤️
===========================
ติดตามคอนเทนต์จากพลการเมืองไปด้วยกัน !
Blockdit :
https://www.blockdit.com/polganmuang
Facebook :
https://www.facebook.com/polganmueang
Youtube :
https://www.youtube.com/c/พลการเมือง
===========================
แหล่งข้อมูล
-
wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี
- สาส์นสมเด็จ ภาคหนึ่ง พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกโท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2492
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ความรู้รอบตัว
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย