28 มิ.ย. 2023 เวลา 09:06 • ประวัติศาสตร์
โบสถ์พระคริสตสมภพ

สุดหล้าที่อิสราเอล

ศศิรี sasiree
ตอน ฝ่าด่านปาเลสไตน์สู่เบธเลเฮม ชม Church of Nativity
Nation - ชาติ
Native - คนพื้นเมือง
Nativity - การประสูต การกำเนิด การสมภพ
นาทีที่ได้ยินชื่อของโบสถ์นี้ ฉันสงสัยจนต้อง กูเกิ้ลทรานสเลท ทันที นี่คือโบสถ์ที่พระเยซูคริสต์เจ้าสมภพ ตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล *(1) เช้านี้การเดินทางสู่ Church of Nativity ณ เมืองเบธเลเฮม ลำบากยากเย็น สร้างความงุนงงกับคณะผู้จาริกน้อย (little pilgrim) อย่างเรามาก แม้ว่า เบธเลเฮม อยู่ห่างลงไปจาก นครเยรูซาเล็ม เพียงแค่ 10 กม เท่านั้น แต่เราใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลย ไกด์ท้องถิ่นอธิบายว่า เบธเลเฮม ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาเลสไตน์ *(2) ไม่ใช่ของประเทศอิสราเอล
รถบัสของนักท่องเที่ยว (หรือจะเรียกว่า เป็นนักจาริกแสวงบุญก็ได้ เนื่องจากแทบทุกคณะทัวร์ เป็นกลุ่มคาทอลิก หรือ โปรเตสแตนต์) เข้าแถวยาวเหยียดเพื่อผ่านด่านทหารตรวจ และสำหรับวันนี้คุณไกด์ท่องถิ่นซึ่งเป็นสัญชาติยิว เข้าเบธเลเฮมพร้อมเราไม่ได้ เนื่องจากเรากำลังเดินทางเข้าสู่รัฐปาเลสไตน์ ซึ่งต้อนรับผู้ถือพาสปอร์ตต่างชาติแต่ยกเว้นชาวยิว สภาพเบธเลเฮม ดูมี เศรษฐกิจสังคมที่ต่ำกว่าฟากเยรูซาเล็ม (ปกครองโดยอิสราเอล) อย่างชัดเจน
สองฝั่งถนนคราคร่ำไปด้วยชายฉกรรจ์ปาเลสไตน์ซอยเท้าข้ามมาฝั่งอิสราเอลมาทำงาน บ้างก็ยืนล้อมรถเข็นอาหารควันฉุย บ้างก็นั่งที่ขอบทางสูบบุหรี่ไปเรื่อยดูไม่ยี่หระกับชีวิต ฉันมองหาหญิงปาเลสไตน์บนถนนบริเวณพรมแดน แต่ไม่พบเลย หากเดินทางลึกเข้าไปในเบธเลเฮมก็พอมีบ้าง
เบธเลเฮม
ประตูทางเข้าโบสถ์พระคริสตสมภพ มีความเด่นแปลกไม่เหมือนใคร โดยที่มันมีความสูงเพียง 5 ฟุต และกว้าง 3 ฟุตวัตถุประสงค์ดั้งเดิมนั้น เพื่อป้องกันเหล่าม้า และวัว ที่อาจเดินหลุดเข้าไป แต่ต่อมา ความเล็กจิ๋วของประตูทางเข้า ก็กลายเป็นสัญญลักษณ์ ของความถ่อมใจ เนื่องจากเราทุกคนจะต้องก้มตัวมุดเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์
โบสถ์นี้ริเริ่มสร้างขึ้นด้วยทรัพย์ส่วนตัวของพระนางเฮเลนน่า มารดาของจักรพรรดิคอนแสตนตินในปี 329 ในช่วงพระนางอายุใกล้ 80 พรรษา ความอ่อนล้าในการเฝ้ามองดูลูกชายที่ต้องต่อสู้อยู่ในสังเวียนเลือดตลอดเวลาเพื่อปกป้องบัลลังก์ ทำให้พระนางตัดสินใจจาริกไปยังเยรูซาเล็ม หวังใจในการพักสงบและพบพระผู้เป็นเจ้า พระนางได้พบสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นจุดตรึงกางเขน *(3) และ อีกที่ๆ พระนางพบคือ สถานที่ที่เชื่อว่า คือที่ประสูติของพระเยซู อันเป็นที่มาของ โบสถ์พระคริสตสมภพแห่งนี้
โบสถ์แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ตั้งแต่การถูกทำให้เสียหายโดย Samaritan Revolt มีการบูรณะใหม่อีก 100 ปีถัดมาโดย จักรพรรดิ จัสตินเนียน I *(4) และเมื่อเปอร์เซียยิ่งใหญ่อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ในปี 614 ก็มุ่งทำลายโบสถ์ชาวคริสต์ต่างๆมากมาย แต่ได้ยกเว้นโบสถ์นี้ไว้ เหตุเพราะภาพวาดใหญ่ที่ผนังฟากหนึ่งแสดงถึงนักปราชญ์จากทิศตะวันออก 3 คน สวมใส่ภูษาชาวเปอร์เซียนมัสการพระกุมารเยซู *(5)
ต่อมาใน ปี 1099 โบสถ์ก็กลับมาเป็นของกองทัพครูเสด ต่อมาถูกทำลายอีกโดย สุลต่าน Mamluk บูรณะขึ้นมาใหม่อีกภายใต้จักรวรรดิออตโตมานในศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก world heritage แห่งแรกในรัฐปาเลสไตน์
จุดเด่นที่นักจาริกมุ่งไปถ่ายภาพที่สุด คือ บริเวณ ที่เรียกว่า Grotto of the Nativity เป็นลักษณะ เหมือน ถ้ำน้อยๆ มีรูปดาวสลักอยู่ที่พื้น เป็นที่ที่เขื่อว่าพระเยซูทรงบังเกิด ณ จุดนั้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่เล็กมากและอยู่ที่พื้นโบสถ์ใต้แท่นบูชา คณะของเราจึงผลัดกันเข้าไปถ่ายรูปทีละคู่ๆ คุดคู้กันอย่างน่ารัก บางคนสู้เอาหน้าแนบดาวที่พื้น เสมือนจะได้สัมผัสพระกุมารน้อยเยซู
พรุ่งนี้พวกเราจะเดินทางขึ้นเหนือไปทะเลกาลิลีและสถานที่รอบๆทะเล จากเบธเลเฮม หากนั่งรถไป ก็ 220 กิโลเมตร แต่ถ้าเดินเท้ายุคนั้น ก็น่าจะ 4-5 วันทีเดียว พระเยซูทรงทำพันธกิจมากมายบริเวณนั้น ฉันอยากรู้จริงว่ามันมีหน้าตาอย่างไร ทะเลที่พระองค์สั่งให้คลื่นสงบ ริมฝั่งที่พระองค์ปิ้งปลาคอยสาวก ว่าแล้วฉันก็หิว เพราะคุณไกด์สัญญาว่ามื้อเที่ยงของพวกเราคือปลาเปโตร ว้าว ! เอาล็อบสเตอร์ มาแลกก็ไม่ยอม
1
เชิงอรรถ
(1) พระธรรมมีคาห์ 5.2 แต่เจ้า เบธเลเฮม เอฟราธาห์ ผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์ จากเจ้า จะมีผู้หนึ่ง ออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอล
(2) ประเทศอิสราเอล และ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ Palestinian Liberation Organization PLO ได้เซ็นตกลงกันใน Oslo Accord 1993 โดยอิสราเอล ยก เบธเลเฮม (Area A of the West Bank)ให้อยู่ภายใต้การปกครอง ของปาเลสไตน์ อันเป็นก้าวแรกๆ ของกระบวนการสันติภาพ
(3) Church of the Holy Sepulchre (โบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์) ใน Old City Jerusalem
(4) Justinian I จักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ คศ. 527 – 565
(5) พระธรรมมัทธิว 2. 1-11
Church of Nativity, Bethlehem
โฆษณา