30 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ฉากทัศน์ใหม่” ของภาคใต้ ที่ไม่ได้มีแค่ SEA SAND SUN

sea sand sun ทิวทัศน์ที่ทำให้ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝัน อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่คนในอยากอยู่คนนอกอยากเข้า ด้วยเสน่ห์เมืองแห่งพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ
รวมทั้งคุณโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ และคุณสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา ที่ได้ “กลับบ้าน” คืนถิ่นมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ผ่านการทำงานร่วมกันของ ธปท. และภาคเอกชน ร่วมสร้างฉากทัศน์ใหม่ให้ sea sand sun ของดีที่มีอยู่แล้ว มีมูลค่าเพิ่มและยั่งยืนรอบด้านยิ่งกว่าเดิม
การทำงานที่ได้ “กลับบ้าน”
คุณโสภี : จะเรียกว่านี่เป็นการกลับบ้านก็ได้ เพราะเราเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด อยู่ที่หาดใหญ่ถึงห้าขวบแล้วย้ายไปกรุงเทพฯ ทั้งครอบครัว ทำงานที่ ธปท. สำนักงานใหญ่มายี่สิบกว่าปี เมื่อได้รับโอกาสกลับมาทำงานที่หาดใหญ่ก็อยากขยายผลความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมา
คุณสมพล : ผมก็เป็นคนหาดใหญ่โดยกำเนิด ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศ พอเรียนจบก็กลับมาทำงานที่หาดใหญ่เลย ครอบครัวเราทำโรงแรมอยู่แล้ว ก็ตั้งใจว่าอยากเข้ามาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดให้มากขึ้น เริ่มจากยกระดับผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน
สองคือหาโอกาสเพื่อสร้าง new S curve ใหม่ให้ได้ ไม่ใช่แค่เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ เมื่อได้กลับมาปักหลักบ้านเกิดทั้งทีเราก็อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นจากจุดที่เราอยู่ ก็คือภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว
ภาคใต้มีดีมากกว่า Sea Sand Sun
คุณโสภี : เวลาคนนึกถึงภาคใต้มักจะนึกถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งก็จริง ภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวเยอะมาก ด้วยความที่พื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเล แต่นั่นก็ทำให้ภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอื่นมากเช่นกัน อย่างสตูลมีถ้ำสวยงามอันดับต้น ๆ ของโลก หรือเรื่องการเกษตรที่คนไม่ค่อยนึกถึงแต่เป็นจุดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมาก
คุณสมพล : จุดเด่นของภาคใต้คือภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งเพาะปลูก ประมง หรือการค้าชายแดน
คุณโสภี : ยังมีจุดเด่นที่ไม่ใช่ทางกายภาพก็คือความเป็นพหุวัฒนธรรม การผสมผสานระหว่างไทย จีน มุสลิม สร้างอัตลักษณ์ด้านอื่นที่ตามมา เช่น สถาปัตยกรรม วัดไทย วัดจีน มัสยิดมีครบ
ลองไปเดินถนนนางงาม (หาดใหญ่-สงขลา) จะเห็นเลยว่าวัฒนธรรมหลากหลายอยู่รวมกันได้ในถนนเส้นเดียว หรืออาหารไทย จีน ฮาลาล ไปจนถึงนวัตกรรมอาหารอย่างเห็ดแครงที่ปลูกผสมในสวนยางได้ มีโปรตีนสูง เป็น future food ที่เป็นแพลนต์เบส ถือเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร สามารถทำสวนยางไป เก็บเห็ดแครงขายเพิ่มได้ด้วย
การชะลอทำให้ต้องเร่ง
คุณสมพล : จุดแข็งของเราคือทะเลก็จริง แต่ที่ผ่านมาเราก็พึ่งต้นทุนเดิมที่มีอยู่มากไป โควิด 19 ทำให้เราต้องปรับ ไม่ใช่แค่เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมด้วย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่ายังขาดการบูรณาการ ขาดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากต้นทุนเดิมที่เรามี
เช่น เมื่อก่อนเราขายแค่ sea sand sun เราก็ต้องมองหา new S curve ใหม่ อะไรที่จะเพิ่มมูลค่าได้ ก็เลยลองศึกษาเรื่องของสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์โลก และประเทศไทยก็มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เลยมองว่าการท่องเที่ยวเราต้องมุ่งไปทาง medical and wellness เพราะมันเป็นเทรนด์ที่มาแน่ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เยอะกว่ามาก
คุณโสภี : เทคโนโลยีก็สำคัญ เช่น การนำ smart farming มาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนที่จะเพิ่มพื้นที่การผลิต และทำให้ต้นทุนต่ำลง เพราะราคาพืชผลในภาคใต้เป็นไปตามราคาตลาดโลก เราไม่สามารถบังคับตลาดได้ แต่เราหาทางลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้
หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมการประมงตอนนี้ก็มีการจับตาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีมาตรการต่าง ๆ ให้เขาต้องปรับตัวตาม จะเห็นเลยว่าทุกกลุ่มต้องปรับตัว หานวัตกรรมใหม่ ๆ มาทำให้ดีขึ้น และกลายเป็นอุตสาหกรรมยั่งยืน เพราะที่ผ่านมา ด้วยความที่ต้นทุนเราดีเราก็ทำกันแบบเดิม ไม่ได้ปรับตัวอะไร
แต่โควิด 19 บังคับให้เราต้องปรับตัว ทาง ธปท. ทำงานเชิงนโยบายอาจไม่ได้เข้าไปขับเคลื่อนโดยตรง แต่เราก็ต้องศึกษาเทรนด์พวกนี้เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วเราก็จัดสัมมนาวิชาการ พูดถึงฉากทัศน์ว่าเราอยากให้ภาคใต้เป็นแบบไหน ทุกฝ่ายสำคัญ เราจะช่วยกันได้อย่างไร
คุณสมพล : ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ก็พยายามขับเคลื่อนทางนโยบายเช่นกัน เช่น จัด reskill upskill ผู้ประกอบการให้มีศักยภาพตามฉากทัศน์ที่เรามองร่วมกัน ทักษะที่เราส่งเสริมก็เป็นการสื่อสารกับผู้ประกอบการไปในตัวว่าเราอยากเน้นขาย value มากกว่า volume
เพราะอย่างหลังจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันเราต้องพิจารณาเรื่อง carbon credit ด้วย ถ้าเรายกระดับผู้ประกอบการได้ ทำให้เขาสร้างมูลค่าเพิ่มและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน รวมไปถึงคนรุ่นต่อไปด้วย
การรับฟังคือหัวใจ นโยบายที่มีชีวิตต้องปรับใช้
คุณโสภี : เรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หรือการนำความคิดสร้างสรรค์หรือเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสิ่งที่พูดกันมาสักพักแล้ว แต่โควิด19 ทำให้เราเห็นความเร่งด่วนของการผลักดันเชิงนโยบาย ไม่ใช่ว่าเราคิดปุ๊บแล้วบังคับใช้ทันที สำนักงานภาคอาจกำหนดนโยบายไม่ได้
นั่นเป็นขอบเขตงานของส่วนกลาง แต่เราสามารถส่งข้อมูลจากพื้นที่จริงไปส่วนกลาง เพื่อสะท้อนความต้องการและข้อจำกัดของผู้คนจริง ๆ และการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกันผลักดัน
คุณสมพล : เราเองเป็นผู้ประกอบการ ก็มีทั้งพูดคุยแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับ ธปท. มีการเข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความเห็นนอกรอบเพื่อสะท้อนปัญหาผู้ประกอบการที่เราทราบมาจากสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งนัดคุยกันสม่ำเสมอเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์จริง
เช่น ช่วงโควิด 19 ที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนแต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หรือเพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริง เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน และการทำ asset warehousing
คุณโสภี : ข้อมูลพวกนี้จะเป็นบริบทเฉพาะภาคใต้ ยกตัวอย่าง asset warehousing นี้ก็เป็นข้อมูลที่เราได้รับฟังว่าเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการเจอจริง ๆ ในช่วงที่เขาไม่มีรายได้แล้วต้องกู้หนี้ยืมสินมาชำระหนี้ เป็นข้อมูลหน้างานที่เราเอาไปคุยกับสำนักงานใหญ่เพื่อให้เป็นนโยบายขึ้นมา
คุณสมพล : เราคอยสะท้อนเสียงที่มาจากการพูดคุยกับภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น เรื่องการปล่อยสินเชื่อที่แต่เดิมอาจมีการขายพ่วงบริการต่าง ๆ ไปด้วย พอสะท้อนปัญหาไปก็เห็นเลยว่า ธปท. มีการออกระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเพราะจะได้ลดต้นทุนดังกล่าวลง อีกเรื่องที่สะท้อนไปคือจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนและความช่วยเหลืออย่าง soft loan ที่ ธปท. ปล่อยออกมาในช่วงโควิด 19 ได้จริง
คุณโสภี : นโยบายจึงมาจากข้อมูลหน้างาน และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับให้เข้ากับบริบทพื้นที่ อย่างเรื่อง soft loan ที่มีการจำกัดวงเงิน กำหนดคุณสมบัติ ตอนนี้ก็ขยายมากขึ้น และประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ในประเด็นที่มีปัญหา
หน้าที่สำคัญของภูมิภาคไม่ใช่แค่รับนโยบายส่วนกลางมาบังคับใช้ แต่ต้องรับฟัง เข้าใจ เข้าถึงพื้นที่ แล้วทำให้นโยบายตอบสนองความต้องการของผู้คน และเราเห็นเลยว่าการคุยกัน ร่วมงานกันต่อเนื่องทำให้เราทำงานด้วยกันได้ง่ายขึ้น
ฉากทัศน์ใหม่ให้ทิวทัศน์ที่มีดีมากกว่าเดิม
คุณสมพล : การทำงานบูรณาการร่วมกับหลายฝ่ายจำเป็นต้องเห็นภาพตรงกัน เราเลยมีการทำฉากทัศน์ขึ้นมาให้เห็นว่าถ้าเราอยู่แบบเดิม ขายการท่องเที่ยวแบบเดิมแล้วเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ฉากทัศน์นี้หากไม่ทำอะไรเลย อนาคตไม่รอดแน่ ๆ และยังส่งผลกระทบทุกด้าน
ถ้าเราใช้ทรัพยากรในอัตรานี้ในอีกห้าปี สิบปีข้างหน้าเป็นอย่างไร เอาข้อมูลมากางเลย ไม่ใช่เสนอแค่ความคิด พอเขาเห็นตรงกันก็จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวว่าเขาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการไปสู่ฉากทัศน์ที่เราอยากเห็นร่วมกันได้จริง เช่น เราพูดถึงการทำให้ภาคใต้เป็น medical and wellness center หรือเป็น creative, sustainable tourism การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นตามแนวทางนี้ เราต้องทำอะไรบ้าง
ที่สำคัญ ถ้าเราทำฉากทัศน์นี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ เราจะขยายผลต่อยอดไปภูมิภาคอื่นได้ด้วย เช่น Andaman Wellness Corridor ก็ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเขตอันดามันแต่ทำได้ทั่วประเทศ พอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทราบก็มีการทำกลุ่มเขตจังหวัดเพื่อสุขภาพ 9 เขตในไทย กลายเป็น Thailand Wellness Corridor มีการนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ตามบริบทของจังหวัดอื่น ทำให้เห็นว่าถ้าเรามีวิสัยทัศน์ชัดเจน มี sandbox ให้เริ่มทำ มันก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชน ภูมิภาค และประเทศ
คนรุ่นใหม่สนใจธุรกิจใส่ใจสังคม
คุณโสภี : สำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าเราให้ในสิ่งที่เขาอยากได้มันจะมีประโยชน์มากกว่า จึงเป็นที่มาของ flagship project ของสำนักงานภาคใต้ คือการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เช่น โครงการ Fin Forward สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา และโครงการ Fin Connect สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือโครงการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับคนทำงาน
เพราะพวกเขาอยากมีความรู้ทางการเงิน อยากลงทุนเป็น จะเห็นว่าสมัยนี้เขาไปพูดเรื่องการลงทุนกันแล้ว เราจะพูดเรื่องการออมอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว เราก็ต้องทำโครงการหรือสะท้อนไปยังผู้มีส่วนร่วมออกแบบนโยบายเพื่อให้ตรงความต้องการ เพราะความรู้ทางการเงินพื้นฐานพวกนี้ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเกิดปัญหา เป็นการทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน และภูมิภาค
คุณสมพล : สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้เรามีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากพอจะดึงให้คนรุ่นใหม่อยู่กับเรา หรือดึงคนเก่งเข้ามาเพิ่ม ที่เห็นชัดอีกอย่างคือคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจการทำธุรกิจอย่างเดียว
เขาสนใจสังคมด้วย เป็น social enterprise เขามองว่ามีปัญหาให้แก้ และในทางธุรกิจ ขนาดของปัญหาก็คือขนาดของมูลค่า เขามีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดใหม่ ๆ ภาคเอกชนก็ต้องสนับสนุนเรื่องการทำธุรกิจ และภาครัฐก็ส่งเสริมทางนโยบาย
คุณโสภี : คนรุ่นใหม่ภาคใต้รักพื้นที่มากนะ แต่แน่นอนว่าเขาอยากได้โอกาสด้วย เช่น กลุ่ม City Connext ที่รวมตัวกันพัฒนาเมือง เขาก็มีแนวคิดที่ต่อยอดได้ในเชิงธุรกิจและถ้าทำได้ก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เมืองที่อยู่ด้วย ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้อีก
และภาคใต้มีสถาบันการศึกษาที่เน้นการสร้างนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ มีคณาจารย์ที่ได้รับการยอมรับและมีงบประมาณสำหรับการวิจัยจำนวนมาก เรียกได้ว่าภาคใต้มีปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว
 
คุณโสภี : เรากลับมาบ้านเกิดเมืองนอนเราก็จริง แต่เราไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เราทำต้องกระจุกอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง ตอนย้ายมาทำงานที่นี่ก็ตั้งใจอยากผลักดันให้ความร่วมมือต่าง ๆ สำเร็จ พัฒนาศักยภาพผู้คน
และสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ให้มาก เพราะข้อมูลจริงคือสิ่งสำคัญทั้งในการออกแบบ ประเมินผล และขยายผล เราจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องฟังให้เยอะ เปิดใจให้เขาเชื่อ พร้อมช่วยเหลือมากพอจะบอกข้อมูลจริงกับเรา
คุณสมพล : ผมไม่เคยคิดอยากไปที่อื่น เพราะเห็นความพร้อมของภาคใต้ในหลายด้าน เราอยากร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรไปพร้อมกับเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ถ้าเราทำงานร่วมกัน ผมเชื่อว่าฉากทัศน์ต่าง ๆ ที่เราวาดภาพไว้ก็เป็นจริงได้ในเร็ววันครับ
ผู้เขียน
กองบรรณธิการ พระสยาม BOT MAGAZINE
ตอนย้ายมาทำงานที่นี่ก็ตั้งใจอยากผลักดันให้ความร่วมมือต่าง ๆ สำเร็จ พัฒนาศักยภาพผู้คน และสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ให้มาก เพราะข้อมูลจริงคือสิ่งสำคัญทั้งในการออกแบบ ประเมินผล และขยายผล เราจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องฟังให้เยอะ เปิดใจให้เขาเชื่อ พร้อมช่วยเหลือมากพอจะบอกข้อมูลจริงกับเรา
โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้
สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้เรามีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากพอจะดึงให้คนรุ่นใหม่อยู่กับเรา หรือดึงคนเก่งเข้ามาเพิ่ม ที่เห็นชัดอีกอย่างคือคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจการทำธุรกิจอย่างเดียว เขาสนใจสังคมด้วย เป็น social enterprise เขามองว่ามีปัญหาให้แก้ และในทางธุรกิจ ขนาดของปัญหาก็คือขนาดของมูลค่า เขามีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดใหม่ ๆ
สมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา
1 เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่นในประเทศ เนื่องจากภาคใต้พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในสัดส่วนสูง ส่วนภาคการผลิต แม้จะฟื้นตัวได้เร็วแต่สัดส่วนของภาคการผลิตต่อ Gross Regional Product (GRP) ไม่สูงเท่ากับของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2563 หดตัว 12% หดตัวสูงกว่าประเทศถึง 2 เท่า
2 “ก้าวใหม่เศรษฐกิจภาคใต้…ปรับกระบวนทัพรับกระแสโลก” (กรกฎาคม 2565) https://www.bot.or.th/th/thai-economy/regional-economic2/relatedcontent6.html
โฆษณา